นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 อันเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมของ “วิกฤติไฟใต้” ที่เวลาผ่านไปแล้ว 9 ปีจะย่างเข้าปีที่ 10 ไฟใต้ยังคงลุกโชน ไม่มีทีท่าว่าจะดับลงในระยะอันใกล้ ได้มีความพยายามหลากหลายที่จะดับไฟดังกล่าว และหนึ่งในกระบวนการนั้นคือ การแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ด้วยการจุดประกาย ขับเคลื่อนกระบวนการ โดยคาดหวังว่า วิธีดังกล่าวจะนำมาซึ่ง ความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆปรับขนาดของเปลวไฟให้ค่อยๆเล็กลง และนำไปสู่การดับมอดลงของวิกฤติไฟใต้ในที่สุด
ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม อันเป็นชื่อบทความนี้ นั่นคือ “ใครกันแน่ที่โหยหาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”
แน่นอนครับทุกฝ่ายจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้พื้นที่ส่วนนี้ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งสันติภาพในทุกอณูของพื้นที่
ในเมื่อทุกคนต่างปรารถนาสิ่งดังกล่าวเหตุใดการบรรลุถึง “สันติภาพ”ที่ได้ใช้จ่ายเวลาไปแล้วเกือบหนึ่งทศวรรษ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการเข้าใกล้หลักชัยแห่งความปรารถนาของทุกฝ่าย สันติภาพยังคงเป็นความปรารถนาที่ไกลเกินกว่าจะไขว้คว้า
เป็นไปได้ไหมที่ “สันติภาพ”ที่ทุกคนต้องการนั้น คือ “สันติภาพ” ของตาบอดคลำช้าง ซึ่งแตกต่างไปตามบริบทต่างๆของผู้ปรารถนาทุกฝ่าย
มันหาใช่ “สันติภาพ”บนนิยามและความเข้าใจ “เดียวกัน อันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย มันเหมือนกับ “การก่อสร้างอาคาร”ในขณะที่ “แบบแปลนของมัน”ยังไม่เป็นที่ยุติ ความพยายามตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างอาคารแห่งสันติภาพที่ต่างฝ่ายต่างสร้างจากนิยามของแต่ละฝ่าย
อาคารแห่งสันติภาพที่ต่างฝ่ายต่างสร้างขึ้นมานี้ จึงอาจจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่แปลกและพิสดารเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้และสิ่งสำคัญไปกว่านั้น มันไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารนี้ขึ้นมา
คำตอบของคำถาม “ใครกันแน่ที่โหยหาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย?” มิได้ต้องการคำตอบเพียง “ใคร?” เท่านั้น หากแต่ต้องการความพยายามที่สำคัญที่สุดคือ “แบบไหน?และอย่างไร?” และทุกฝ่ายต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมกันเขียน “พิมพ์เขียว” แห่งสันติภาพ “พิมพ์เขียว” ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
ผู้โหยหาสันติภาพที่แท้จริงจากทุกฝ่ายนั้น ย่อมทำสิ่งที่ยากลำบากแสนเข็ญนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ครับ อินชาอัลลอฮฺ