Skip to main content

 

            “สันติภาพก็คือสงบ อยู่อย่างสบายๆ จะเดินหน้าไม่ต้องไปกลัว เดินหลังไม่ต้องไปกลัวหนุ่มขายน้ำปั่นในตลาดจะบังติกอ ปัตตานี บอก

            “เดี๋ยวนี้ตัวดูสบาย แต่ใจน่ะกลัวคำว่ากลัวของเขานั้นแน่นอนว่า ก็คือกลัวว่าจะต้องตกเป็นเป้าของเหตุร้ายหรืออยู่ตรงกลางระหว่างเขาควายของคนถือปืนนั่นเอง

ชาวบ้านอีกหลายคนในปัตตานีสะท้อนความเห็นคล้ายกัน สันติภาพของพวกเขาในรูปแบบที่จับต้องได้ก็คือความปลอดภัย ชาวบ้านเหล่านี้ล้วนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เพราะเมื่อถามถึงความหวังต่อสันติภาพ ไม่ปรากฏว่าจะมีรายใดที่วาดฝันสวยหรูว่าจะเกิดสันติภาพขึ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันใกล้แม้ว่ากระบวนการการพูดคุยระหว่างคู่ความขัดแย้งคือรัฐบาลและบีอาร์เอ็นจะเริ่มขึ้นแล้วก็ตาม หลายคนบอกว่ามันคงยากอย่างยิ่งเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน บางรายก็บอกว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ขณะที่อีกหลายรายเสนอให้คู่ความขัดแย้งฟังเสียงประชาชนบ้างว่าต้องการอะไร

เสียงของชาวบ้านไม่กี่รายที่ว่านี้คือเสี้ยวหนึ่งที่อยู่ในสารคดีสั้นเรื่องใหม่ ต้นบท: กระบวนการการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งสำรวจประเด็นที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของการสร้างสันติภาพโดยไล่เลียงทั้งความเห็นของผู้รู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม ชาวบ้านหรือทหาร โดยเน้นจุดหนักอยู่ที่การแสดงบทบาทของภาคประชาชน

คำถามสำคัญก็คือ ถึงที่สุดแล้วการสร้างสันติภาพคืออะไร ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาภาคใต้บอกว่า การที่ฝ่ายหนึ่งรบชนะ ก็คือสันติภาพเหมือนกัน แต่สันติภาพบนความเจ็บปวด ไม่ได้แก้ปัญหารากเหง้า หรือว่าการมุ่งเน้นหยุดการใช้ความรุนแรง อย่างคนไทยก็ ให้อภัยกันนะ ลืมความหลัง มันไม่ใช่ ศรีสมภพย้ำว่า การสร้างสันติภาพที่แท้จริงต้องแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอความขัดแย้งให้ได้ นี่ก็กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของที่มาของเนื้อหาในสารคดีที่มีความเห็นของหลายฝ่ายว่า แต่ละฝ่ายตีโจทย์สันติภาพกันอย่างไร เพราะการตีโจทย์พลาดก็คือแก้ปัญหาผิดทาง อย่างที่ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ชี้ว่า การตีโจทย์ความขัดแย้งของหลายฝ่ายนั้นยังไม่ถูก ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปต่อเรื่องต้นตอของปัญหาความขัดแย้งก็มีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะทั้งสังคมและภาครัฐพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา พูดง่ายๆว่า ปัญหาที่เป็นต้นตอที่มาของความต้องการจะแบ่งแยกดินแดนนั้น สังคมไทยยังไม่เข้าใจกันอย่างเต็มที่และอย่างทั่วถึง

และแน่นอนว่า เมื่อไม่เข้าใจต้นตอที่มาของปัญหา การแก้ปัญหาก็ไม่ตรงจุด ในขณะที่สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้างสันติภาพ

แต่การทำความเข้าใจกับต้นตอของปัญหาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีด้วย ก็คือการร่วมมือกันเพื่อแสวงหาวิธีการใหม่ในการแก้ไขความขัดแย้งและต้องเป็นวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง ดังที่ศรีสมภพย้ำว่า ในปัจจุบัน การคลี่คลายความขัดแย้งไม่ได้เน้นที่การหาทางให้คู่ความขัดแย้งตกลงกันให้ได้เท่านั้น เพราะถึงอย่างไรความขัดแย้งก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคม แต่มันคือการที่สังคมร่วมกันมองหาวิธีการใหม่ในการแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง และนั่นหมายถึงการจับมือกันทำงาน แต่ก่อนที่จะจับมือกันทำงานได้ ฝ่ายต่างๆในสังคมที่ยังใช้พื้นที่เดียวกันนี้จะต้องมีความไว้วางใจกันก่อน

กระบวนการสันติภาพ คือการคุยกันว่า เราจะอยู่ด้วยกัน จะไม่สู้กันอีก เราจำเป็นต้องเปิดกว้าง หมายถึงว่า  ผมจะไว้ใจคุณได้อย่างไร และคุณจะไว้ใจผมได้อย่างไร นั่นหมายถึงผมจะรับผิดชอบชีวิตคุณ และคุณรับผิดชอบชีวิตผม นั่นคือความไว้วางใจที่แท้จริง ถึงตอนนั้นเราก็ไม่ต้องมีปืนไว้ป้องกันตัว เพราะเมื่อมีความไว้วางใจกันอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น เราจึงจะสร้างสันติภาพได้” ข้อคิดจากไอแซค เคน คนทำงานภาคประชาสังคมจากพม่า ดินแดนที่ใช้เวลาอย่างยาวนานต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน คำพูดของเขาเน้นให้เห็นว่าการสร้างความไว้วางใจเพื่อทำงานด้วยกันให้ได้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
            การทำงานด้วยกันของคนในภาคประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไป ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันสันติภาพที่ยั่งยืนด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพวกเขาเข้มแข็ง แต่ละกลุ่มรวมตัวกันได้และปรองดองกันมากพอที่จะเปิดพื้นที่ให้กับการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง พวกเขาจะสามารถต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในกระบวนการสันติภาพได้ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้ทุกอย่างถูกตัดสินโดยคู่ความขัดแย้ง ประชาชนต้องจัดตั้งกันเป็นเครือข่ายและทุกคนต้องมีบทบาทประสิทธิ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ชี้ เขาบอกว่านี่คือแผนของสภาประชาสังคม ขณะที่อีกหลายเสียงสนับสนุนว่า ประชาชนต้องคุยกัน เราต้องคุยกันมากขึ้น ต้องเข้าใจ แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยการิม มูซอ จากสำนักปาตานีเพื่อสันติภาพและการพัฒนา คนทำงานด้านประชาสังคมอีกรายในพื้นที่และเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่คนหนึ่งกล่าว

           ประสิทธิ์และการิมคือตัวอย่างของ “คนใน” ของภาคประชาชนที่เริ่มจับเข่าคุยกันแม้ว่าจะเป็นการคุยในเวทีก็ตาม เพราะคำว่า “ประชาชน” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลากกลุ่มมากมาย และที่ผ่านมาผลของความขัดแย้งได้ทำให้พวกเขาเหินห่างกันไป เช่นคนพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างยาวนาน มาวันนี้แม้พวกเขาจะไม่ได้บาดหมางกันด้วยตัวของพวกเขาเอง แต่ความหวาดกลัวต่อการเป็นเป้าสังหารก็ได้ทำให้ชุมชน “คนใน” แยกจากกันโดยอัตโนมัติ บางกลุ่มตามแทบไม่ทันว่า กระบวนการสันติภาพไปถึงไหน ในขณะที่ความไม่เข้าใจต่อทั้งปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ออกมาในรูปแบบมาตรการสร้างความปรองดองบางอย่าง ก็กลายเป็นชนวนสร้างความไม่พอใจที่ทับถมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งต่อจากปัญหาเดิมๆที่มีอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อเสียงของ “คนใน” ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการก้าวเดินต่อของกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่

          เรียกว่ายังต้องทำงานกันอีกมากนักเพื่อจะให้เกิดสันติภาพ ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องของการที่ต้องรับมือกับกลุ่มคนที่ “ไม่เอาสันติภาพ” ซึ่งมีอยู่ในทุกฝ่ายและที่จะพยายามทุกทางเพื่อทำลายสันติภาพ
          และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของสารคดีความยาวราวครึ่งชั่วโมงเรื่อง ต้นบท: กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้
mso-fareast-font-family:Calibri;mso-ansi-language:EN-US;mso-fareast-language:
EN-US;mso-bidi-language:TH">
         
โปรดติดตามชมได้จากลิงค์ที่อยู่ด้านบนของบทความนี้