สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ตัวแทนครูจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรีบหามาตรการเพื่อยุติเหตุร้ายรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ ทำนายหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เกินสามปีคนไทยอาจได้เห็นประเทศเกิดใหม่เกินขึ้นในพื้นที่สามจังหวัด
ด้านนพ. แวมะหาดี แวดาโอะ หรือ หมอแว อดีตวุฒิสมาชิกจากนราธิวาสและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หนุนแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ำปัญหาก่อการร้ายในพื้นที่เรื้อรังมานานต้องใช้เวลา พร้อมตั้งความหวังรัฐบาลจะเร่งสะสางปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อดึงมวลชนไทยมุสลิมในพื้นที่กลับมายืนข้างรัฐบาล
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และศูนยืเฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกันจัดเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดี ที่ 7 ธันวาคม 2549 ภายใต้หัวข้อเรื่อง "ชายแดนใต้กับรัฐบาลใหม่ อะไรควรและไม่ควรทำ" โดยมี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากศูนย์ข่าวสารสันติภาพเป็นผู้ดำเนินรายการ
ครูประสิทธิ์ ซึ่งรับราชการเป็นครูในพื้นที่มายาวนานร่วมกว่า 34 ปี ได้แสดงความห่วงใยอย่างมากต่อสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในพื้นที่ที่นับวันจะโหดเหี้ยมและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้วิธีการที่ป่าเถื่อนทารุณในการลอบเข่นฆ่าสังหารผู้คนในพื้นที่ เพื่อให้คนไทยพุทธส่วนหนึ่งเกิดความหวาดกลัวและอพยพออกนอกพื้นที่ไป โดยครูประสิทธิ์ ได้ให้ตัวเลขที่น่าตกใจว่าในปัจจุบันมีคนไทยพุทธจำนวนไม่เกิน 90,000 คนที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถดถอยลงอย่างมากมายจากตัวเลขที่เคยมีคนไทยพุทธอาศัยอยู่ในพื้นที่ถึง 3.2 แสนคนเมื่อต้นปี 2547
"คนไทยพุทธในพื้นที่ตายเหมือนหมาข้างถนน" ครูประสิทธิ์ กล่าวในตอนหนึ่งและชี้ให้เห็นว่าจากเหตุร้ายรายวันที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ข้าราชการพลเรือนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เกิดความหวดกลัวอย่างมาก ถึงกับทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่กล้าลงทำงานในพื้นที่ ในขณะที่ครูเองก็ยังคงเป็นเป้าในการถูกทำร้ายจากกลุ่มโจร ครูประสิทธิ์กล่าวว่ามีครูทั้งสิ้นร่วม 60 รายจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 1,900 รายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบนับจากกรณีปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา
ในระหว่างการอภิปราย ครูประสิทธิ์ ได้ให้รายละเอียดถึงการลอบทำร้ายเพื่อนครูและชาวบ้านในพื้นที่ โดยกล่าวว่าคนร้ายได้แสดงความป่าเถื่อนและโหดร้ายในการใช้มีดสปาต้าเพื่อตัดคอเหยื่อหลังจากสังหารจนเสียชีวิตแล้ว และในศพบางรายที่ครูประสิทธิ์ได้พบเห็นก็มีร่องรอยของการที่ศพถูกถลกหนังหัว ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นต่อผู้พบเห็น ครูประสิทธิ์ ยังได้เล่าต่อว่าในบางครั้งก็มีการใช้น้ำมันราดศพเพื่อจุดไฟเผาทำลาย "ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เสียวสยดสยองสุดๆต่อผู้ได้พบเห็น"
"
ผมอยากบอกว่าจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในพื้นที่ในขณะนี้นั้น เจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้กฎหมายไม่ได้เลย ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้ ไม่เกินสามปีตรงนั้นมีประเทศใหม่เกิดแน่" ครูประสิทธิ์ กล่าวในอีกตอนหนึ่งพร้อมแสดงความห่วงใยว่าในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ "พี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่มีความหวาดระแวงกันอย่างหนัก ในขณะที่พี่น้องไทยพุทธหลายกลุ่มได้จับอาวุธขึ้นเพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กล้าพูดถึงกัน"
ครูประสิทธิ์ ได้กล่าวต่อว่าในปัจจุบันกลุ่มโจรก่อการร้ายได้เคลื่อนไหวติดอาวุธอย่างเปิดเผยในหลายพื้นที่พร้อมกับแต่งชุดสาธารณรัฐปัตตานี ปรากฏตัวตามหมู่บ้านพร้อมกับได้มีการแจกบัตรประชาชนของสาธารณรัฐปัตตานี ในพื้นที่ด้วย
"ในขณะที่ฝ่ายก่อการร้ายได้ทำการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในพื้นที่ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐยังแต่งตัวไม่เสร็จ มีคนตายทุกวัน" ครูประสิทธิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตในตอนหนึ่ง
ปัญหารีบด่วนในพื้นที่ที่ต้องรีบทำในสายตาของครูประสิทธิ์ คือการที่รัฐต้องยุติสถานการณ์ความรุนแรงลงให้ได้ เพราะ "คนที่ทำงานในพื้นที่นั้นลำบากสุดๆ "
ครูประสิทธิ์ ได้แสดงความหงุดหงิดไม่สบายใจต่อทัศนความเห็นของรมต.กลาโหม พล.อ บุญรอด สมทัต ที่ได้แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ถึงเหตุการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ว่าอาจมีสาเหตุมาจากปัญหายาเสพติด ซึ่งครูประสิทธิ์ เห็นว่าทัศนะดังกล่าวของผู้มีอำนาจากส่วนกลางเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และเป็นความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็น พร้อมกับยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของขบวนการก่อการร้าย และกลุ่มก่อการร้ายที่ปฏิบัติการในพื้นที่อยู่ในปัจจุบันคือกลุ่ม บี.อาร์.เอน โคออดิเนต ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการแบ่งแยกดินแดนและในสภาพการณ์ปัจจุบันกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวได้สร้างอำนาจรัฐซ้อนในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้งเครือข่ายของตนขึ้นในหลายหมู่บ้าน
ต่อการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และ หน่วยผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 สองหน่วยงานหลักเพื่อมาช่วยในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น ครูประสิทธิ์ ไม่มั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาการของคนไข้ที่ป่วยหนักอยุ่ในปัจจุบันนั้นต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค ไม่ใช่ใช้ยาในการรักษา
"คนตายกันเกือบทุกวัน แต่พตท. 43 ยังเป็นลมอยู่เลย รื้อฟื้นขึ้นมาเสียเงินเปล่า ขณะนี้เอกภาพในการปฏิบัติไม่มี รัฐนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ " ครูประสิทธิ์ กล่าวสรุปในตอนท้ายพร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการทำงาน หาไม่แล้วอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปทั่วว่านโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลนั้นคือการไม่บังคับใช้กฎหมายในการทำงาน ซึ่งเป็นทัศนะที่ผิดและอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ด้านหมอแว ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งข้อหาว่าเป็นตัวแทนกลุ่มก่อการร้าย เจ.ไอ จากอินโดนีเซียเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวชมรัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ ว่าแนวทางสมาฉันท์ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นนโยบายที่ถูกต้องเพื่อสร้างแนวร่วมกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่กรือเซะ หรือการชุมประท้วงที่สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
"เหตุการณ์ที่ตากใบเราต้องขอโทษครับ ไม่ขอโทษไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเอาใครมาเป็นแนวร่วมกับเรา" หมอแว กล่าวแสดงความเห็นพร้อมกับทำความเข้าใจว่าทำไมเมื่อขอโทษแล้วเหตุการณ์ยังไม่สงบ
"วันนี้มีการมองกันว่าทำไมเหตุการณ์ยังไม่สงบ ในเมื่องนายกรัฐมนตรีได้ขอโทษแล้ว นี่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน การไปถอนคดีที่ตากใบเป็นการถอนคดีกับคนที่ไม่มีความผิด การไปขอโทษก็เป็นการขอโทษกับคนที่ไม่มีความผิด แต่คนที่ก่อเหตุ ฆ่าคนนั้นไม่เกี่ยวกับเราเลย"
หมอแว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลดเงื่อนไขสงครามที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อขจัดเงื่อนไขที่จะทำให้ขบวนการก่อการร้ายใช้เป็นเหตุในการปลุก
ระดมสร้างแนวร่วมให้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ
"อยากให้ลดเงื่อนไขทั้งหมดในเรื่องของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น" หมอแว กล่าว พร้อมเสริมว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่การขอโทษของนายกรัฐมนตรีจะทำให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อยลงในทันทีเพราะความไม่เป็นธรรมที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มีอยู่อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทั้งจากกรณีตากใบและกรณีการอุ้มหายที่กระทำโดยคนของรัฐต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกลงโทษ และเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาผลักดันเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ และให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในแนวทางสมาฉันท์ที่รัฐบาลได้ประกาศออกไป
หมอแวยังได้กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่คนในพื้นที่ได้รับ อย่างเช่นการที่รัฐบาลบรรจุข้าราชการมุสลิมที่เป็นคนในพื้นที่เพียง 16% ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวไทยมุสลิม
"เมื่อ 100-200 ปีก่อนหน้านี้ เขามีส่วนร่วมในปกครอง 100% แต่ในปัจจุบันมีคนในพื้นที่เพียง 16% ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่แล้วเราจะอธิบายกับเขาอย่างไร" หมอแวตั้งข้อสังเกตุในอีกตอนหนึ่งถึงสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถสื่อสารกับพี่น้องในพื้นที่ด้วยภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษามาลายู หรือภาษาจีน นอกจากภาษาไทย อย่างเช่นเพื่อนบ้านประเทศมาเลเซีย ที่รายการทางโทรทัศน์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ภาษามาลายู แต่ยังมีภาษาจีน และอินเดีย ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้คนอีกหลายกลุ่มในประเทศที่มีลักษณะทางชาติพันธ์, ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
หมอแว ได้กล่าวว่าความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่หากได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็จะช่วยลดเงื่อนไขสำหรับกลุ่มโจรก่อการร้ายที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม
"อย่าเร่งเร้าให้สงบ ถ้าเราไม่พยายามาให้เขาพึงพอใจ อย่างลืมนะครับว่าเขามีประวัติศาสตร์ เขามีชาติพันธ์ และเขามีอัตลักษณ์ของเขา ขบวนการก็พยายามใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นเงื่อนไขปลุกระดมเข้ามา ถ้าหากว่าคนเหล่านี้ 95% ถึง 98% บอกว่าการเข้ารวมเป็นรัฐสยามแล้วเขาอยู่ด้วยความอุ่นใจ พอใจ สุขสบาย ผมเชื่อว่าแม้ว่าขบวนการจะปลุกระดมอย่างไรเขาก็คงไม่ตาม วันนี้แม้ว่าประชาชนร่วมกว่า 90% ไม่ได้ร่วมมือกับรัฐ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้คือแนวร่วม (กับโจร) เราอย่าไปใช่สไตล์อเมริกาที่ว่าใครไม่ร่วมปราบบิลลาเดน ต้องถือเป็นพวกก่อการร้าย" หมอแว กล่าวทำความเข้าใจในอีกมุมมองเหมือนจะเรียกร้องให้คนของรัฐเปิดใจกว้างและมองปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างคนที่เข้าใจไม่มองความแปลกแยกที่เกิดขึ้นด้วยความหวาดระแวง
หมอแว ยังได้เรียกร้องให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และคนที่ก่อการร้ายที่ทำร้ายทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมนั้นเป็นคนไม่ดี ที่มีอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม และไม่อยากให้คนนอกพื้นที่มองปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่ครั้งหนึ่งชุมชนทั้งสองเคยอยู่ร่วมกันมาด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกันแต่ก็มีความพยายามจากกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกขึ้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
หมอแวกล่าวว่า โจรก่อการร้ายในพื้นที่ ใช้เวลานับสิบถึงยี่สิบปีในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสะสมกำลังและอาศัยความผิดพลาดของรัฐบาลที่ช่วยทำให้ขบวนการเติบใหญ่ขึ้นจนสามารถกลับมาต่อกรกับอำนาจรัฐได้อีกครั้ง และการที่รัฐบาลจะเข้ามาแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความรู้ความเข้าใจ
หมอแวได้สรุปในตอนท้ายโดยแยกแยะให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นถึงลักษณะของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เป็นสี่กลุ่มใหญ่ และอยากเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมองผุ้คนในพื้นที่ด้วยสายตาที่เปิดกว้างและไม่กระทำผิดซ้ำซากเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขามาเมื่อโดนเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจเถื่อนอุ้มเพราะสงสัยว่าเป็นพวกเจไอ
เขากล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องมองอย่างแยกแยะระหว่างนักเคลื่อนไหวและนักการศาสนาที่มีหัวก้าวหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายที่รัฐต้องกดดันและปราบปรามอย่างจริงจัง และต้องไม่เหมารวมสงสัยในตัวชาวบ้านผู้บริสุทธิ์หาไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นเรื่องยากที่นโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาล พล.อ สุรยุทธ จะนำกลับมาซึ่งความสันติสุขในพื้นที่
หมอแว ได้กล่าวย้ำเตือนในตอนท้ายว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ต้องเลิกใช้วิธีการศาลเตี้ยในการตัดสินคน "ประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ เราต้องใช้หลักนิติธรรม ใช้หลักกฏหมาย ใช้อำนาจเถื่อนไม่ได้"
อ่านประกอบ - คำต่อคำ นพ.แวมะหาดี แวดาโอ๊ะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คำต่อคำ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ตัวแทนองค์กรครู 3 จังหวัดแดนใต้
|