Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
คณะวิทยาการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 
 
1.
 
ไม่อยากเห็น ... อยากจะเห็น
 
ไม่อยากเห็น ... คนมาฆ่ากัน จับปืนถือมีดไล่ฟัน กันอีกเลย
อยากจะเห็น ... เหมือนดั่งเคย จับมือกอดคอกันเอ๋ย ที่เคยผ่านมา”
 
            ท่อนฮุกของเพลงที่ “พิราบขาว” กระแทกกระทั้นอารมณ์และดึงให้น้ำตาของผู้ชมให้ล้นเอ่อโดยไม่รู้ตัว บนเวทีประกวดไทยแลนด์ก๊อดทาเลนท์ (Thailand got talent season 3/2013: TGT) ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ภาพของเด็กหนุ่มหัวฟูหน้าตาธรรมดาๆ พูดจาสำเนียงปักษ์ใต้ สวมเสื้อยืดลายพรางทหารพร้อมกางเกงยีนส์ขาดๆ  สะพายกีตาร์เข้ามาร้องเพลงในเวทีประกวดด้วยท่าทีดูซื่อๆ และจริงใจ
 
            จะว่าไปแล้วเขาอาจจะไม่ใช่คนหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำงานเพลงเสียเลย ในพื้นที่นิวมีเดีย เขาคงเป็นที่ผ่านหูผ่านตาของแฟนเพลงอยู่บ้างเพราะมีมิวสิควีดิโอปรากฏอยู่ในยูทูบใช้ชื่อว่า “คุณชาย ไร้ลีลา” มีระบบให้ดาวน์โหลดเพลงเป็นเสียงริงโทนผ่านระบบค่ายมือถือ งานที่ผ่านมาดูเขาเป็นคนที่มีพื้นฐานด้านดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานอยู่ในเกณฑ์ดี การแสดงมิวสิควิดีโอด้วยตัวเองของเขาดูมั่นใจไม่เขินอายคล้ายมีพื้นฐานของการละคร วัยรุ่นในปัตตานีหลายคนอาจคุ้นเคยกับเขาอยู่บ้างแต่อาจไม่ใช่แวดวงที่กว้างขวางนัก เด็กหนุ่มผู้นี้คลั่งไคล้ “เสก โลโซ” ถึงขั้นเคยอาสาขนเครื่องให้เขามาแล้วนอกจากนี้ยังติดสอยห้อยตามได้เล่นเป็นวงเปิดให้คอนเสิร์ตในภาคใต้อยู่อย่างสม่ำเสมอ บทเพลงของเขามีเค้าประพิมพ์ประพายอิทธิพลของ “เสก โลโซ” อยู่มาก รวมถึงบางเพลงก็กระเดียดไปทาง “เอ๋ สันติภาพ” ด้วยการโหนเสียงยานๆ แบบเพลงร็อกสายปักษ์ใต้
 
            “สื่อสันนิวาส” ฉบับนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับ “สมชาย นิลศรี” หรือ “สมชาย ปัตตานี” หรือที่ก่อนหน้านั้นอาจเคยรู้จักเขา “ชาย ไร้ลีลา” เด็กหนุ่มจากอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีวัย 29 ปี ผู้เขย่าเวทีไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ อันเป็นเวทีโชว์ที่มีชนชั้นกลางติดตามมากที่สุดเวทีหนึ่งของรายการโทรทัศน์ของประเทศนี้ ให้กลับมาสนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง
 
            เหตุใดเพลง “พิราบขาว” จึงทรงพลังถึงขั้นเรียกน้ำตาจากชนชั้นกลางในเมืองหลวงได้ เราจะลองมาอ่าน “ตัวบท” ที่ปรากฏในเทปบันทึกรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทวีช่อง 3 ที่ออกอากาศเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2556 ซึ่งถูกอับโหลดขึ้นเว็บไซต์ในวันเดียวกัน เพจวิวในยูทูบของเขาที่ http://www.youtube.com/watch?v=7ReD2DUfsaw ในขณะนี้ยอดผู้ชมทะลุ 1,396,436 ไปแล้ว (เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556)
 
 
2.
 
กลับมาปกป้องโพยภัยให้พวกฉันที
 
“ผมต้องต้องการเพียงแค่ร้องเพลงนี้ให้ทุกคนได้ฟัง แต่ลึก ๆ ตอนประกวดก็แอบตื่นเต้น เพราะกลัวกรรมการกดไฟแล้วตนจะร้องเพลงนี้ได้ไม่จบ จริง ๆ แล้วจะให้เราผ่านหรือไม่ผ่าน ตนก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร ก็ขอแค่ให้ตนร้องเพลงนี้ให้จบเท่านั้นพอ  ยังไงขอให้ผมร้องให้จบเถอะ” สมชาย เผยความในใจช่วงท้ายของรายการถึงเข้าร่วมการประกวดเพลงครั้งนี้ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น  
 
การดั้นด้นเพื่อออกรายการตามที่เขากล่าวอ้างนั้น ได้ถูกบอกเล่าผ่านรายการเจาะข่าวเด่นโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หลังจากเรียกน้ำตาผู้คนในห้องส่งเวทีประกวด TGT โดยเล่าว่าเพลง “นกพิราบขาว” นั้นแต่งเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว จากความทรงจำเมื่อครั้งขณะจะไปรายงานตัวเป็นทหารกองประจำการ แต่ระหว่างทางไปแถวมัสยิดกรือเซะมีคนแจ้งว่าเกิดเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้น มีการปะทะกันอย่างรุนแรง (28 เมษายน 2547) ทำให้เขากังวลว่าจะไปรายงานตัวไม่ได้ แต่ทันใดนั้นก็มีชาวมุสลิมที่พยายามจะช่วยเหลือคุณสมชายจนสามารถรายงานตัวทัน โดยที่เขาไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เลย ซ้ำยังย้ำอีกว่าเมื่อถึงบ้านแล้วให้โทรศัพท์บอกเขาด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาซาบซึ้งใจในมิตรภาพระหว่างคนต่างศาสนิกเป็นอย่างมาก
  
“แม้จะเป็นชาวพุทธ แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ๆ ชาวมุสลิมได้อย่างมีความสุขมาโดยตลอด ที่บ้านทำไร่ทำนา ส่วนมุสลิมจะออกเรือหาปลา พอตอนเย็นเลิกงานก็ไปมาหาสู่ เอาผลไม้ เอาปลาที่หาได้มาแบ่งกัน”

            นี่คือประสบการณ์ที่ “สมชาย” คุ้นเคยและประทับใจมาตลอดช่วงชีวิตของเขา
 
 
 
3.
 
อยากจะเห็นเหมือนดั่งเคย ...  แรงโหยหาอดีต ที่อาจไม่วันหวนคืน
 
“อยากจะเห็นเหมือนดั่งเคย จับมือกอดคอกันเอ๋ย เหมือนอย่างที่เคยผ่านมา”
 
คือถ้อยคำท่อนจบในบทเพลงของเขา คงอธิบายภาวะจิตสำนึกบางของของสมชายและเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกับเขาและมิอาจปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เนื้อหาง่ายๆ ของ “สมชาย นิลศรี” นั้นเขาโหยอดีตที่แสนงดงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่งนัก หลายถ้อยคำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์สะท้อนสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนว่า
 
“เราช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด ไปมาหาสู่กันทุกวัน เพื่อนผมเป็นอิสลามก็ยังเคยสอนภาษาให้ผม ช่วยกันดำนา จับปลา แต่ตอนนี้แค่ไปทุ่งนาก็ไม่กล้าแล้ว ชาวนาทุกคนพกปืน ผมคิดว่ามันไม่ใช่ภาพที่ควรจะเห็น พอผมกลับจากฝึกทหาร กลับมาก็ได้ยินข่าวว่า ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์แถวบ้านของผมถูกยิงตาย เพราะผู้ก่อความไม่สงบ ต่อมาก็เป็นคนที่เราเคยรู้จัก เคยเห็นหน้า สักพักเหตุการณ์ก็เริ่มใกล้ตัวขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการพับนกพิราบสีขาว เพื่อสันติภาพโปรยมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็เลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมา”
 
เราอาจพบชุดความคิดบางอย่างของเขาผ่านภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา จากบทเพลงของเขา ประกอบขึ้นมาเป็นเนื้อเพลง การโปรย “นกกระดาษ” ในปลาย ปี  2547 ซึ่งยังคงกลายมาเป็นบุคลาธิษฐานในเนื้อเพลงของเขา ในการเป็นผู้ปัดเป่าทุกข์ภัยทั้งปวงให้กับผู้คนที่ทุกข์ยากและเรียกเอา “สันติภาพ” ที่เคยมีอันแสนประทับใจกลับคืนมา
 
“ผมอยากจะบอกว่าทุกชีวิตของทุกคนมีคุณค่า ค่าของตัวอยู่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเราต้องมาทำร้ายกัน ชีวิตใครๆ ก็รัก มาจับมือถือแขนทำมาหากินกันเหมือนเดิม หากินสุจริตกันดีกว่า หยุดฆ่า หยุดรบ สงบ สบายแล้วจะอบอุ่น”
 
สมชายกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะจบการให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องเด่น เย็นนี้” โดยจะพบว่า สิ่งที่เขากำลังกล่าวถึงอาจเรียกได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ของการ “โหยหาอดีต” (Nostalgia) จาก “ประสบการณ์” ที่เขาพานพบมาตลอดชีวิต อาจเพราะอาการ “โหยหาอดีต” (Nostalgia) เป็นลักษณะของอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นความ “ทรงจำ” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ที่ต้องสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงและหลักฐานอ้างอิง ภาวการณ์โหยหาเช่นนี้มาจากการรื้อฟื้นและนำเสนอภาพตัวแทน (Representation) ของความทรงจำในอดีต นำมาประกอบสร้างความหมายให้กับตัวเอง บนชีวิตของผู้คนๆ หนึ่งที่ต้องเผชิญกับความผันผวนในโลกสมัยใหม่ นัยหนึ่งมันเป็น ภาวะของจินตนาการของโลกที่เราสูญเสียไปแล้ว (Imagination of a world we have lost) ซึ่งเขาต่างตระหนักดีว่ามันคงไม่สามารถที่หวนกลับไปหามันได้อีกดังเนื้อเพลงว่า
 
“ผู้คนไม่เข้าใจกัน ต่างเข้าใจกันคนละทาง ไม่สามัคคีเหมือนอย่าง ที่เคยเป็น”
 
แน่นอนว่าแม้มันเคยเป็นจริง แต่บัดนี้ความงดงามเหล่านั้นได้เหลือไว้เพียงความทรงจำและประสบการณ์ไว้ให้ระลึกถึง “พิราบขาว” ในบทเพลงของเขาจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เป็น “การเรียกอดีตที่หายไปนี้ให้กลับคืน” (To call up a vanished past) ทั้งที่ลึกๆ สมชายก็รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตัวเขาตระหนักในสิ่งเหล่านี้ดี ความรู้สึกที่แสดงออกมาถึงความไม่เข้าใจถึงสาเหตุความรุนแรงที่มาพรากภาพความงามให้เปลี่ยนไป เป็นลักษณะที่เราก็หลงลืมไปว่าอดีตส่งผลออย่างไรต่อปัจจุบัน บทเรียนจากอดีตคืออะไร กระนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจอะไรสักอย่างเกี่ยวกับอดีตถึงปัจจุบันและตกอยู่ในอารมณ์อิหลักอิเหลื่อ ครึ่งๆ กลางๆ
 
“ทำไม ผมต้องถาม ได้แต่คิดคนเดียวว่า ทำไมอะไรอย่างนี้ ทุกอย่างบ้านเรามีพร้อม ทะเลบ้านเราน้ำใส หาเรือสักลำออกทะเล ทำไร่ทำนา อยู่กันสบายมีความสุขมากได้แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเยอะ”
 
“อารมณ์ของเนื้อเพลงทุกถ้อยคำเป็นสิ่งที่ชาวใต้โหยหา สำหรับตนก็เพียงอยากจะได้บรรยากาศในวัยเด็กกลับมา และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงจะคิดแบบนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่า ทุกวันนี้เราจะคุ้นชินกับการเป็นอยู่แบบนี้ แต่ลึก ๆ แล้ว ก็อยากให้บ้านเกิดเรากลับมาสงบสุขเหมือนเดิม”
 
            ลางทีเสียงตอบรับจากผู้ชมและกรรมการที่ท่วมท้น อาจเป็นภาวะชี้วัดบรรยากาศที่ผันผวนของการเมือง ห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งแตกต่างอย่างสูงทางประวัติศาสตร์ อนาคตได้จบสิ้นสุดลงไปแล้วต่อหน้าต่อตาของเขาหรืออาจอยู่ท่ามกลางภาวะสังคมที่กำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เมื่อนั้นมันจะออกมาเผยตัวและปรากฏตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว ผ่านคำบอกเล่า ผลิตซ้ำ รวมไปถึงปฏิบัติการทางสังคมแบบต่างๆ ดังที่ นักคิดสายหลังโครงสร้างนิยมพูดถึงการโหยหาอดีตว่า มันคือเรื่องของประสบการณ์ของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (an experience of impossible) เราต่างถวิลหามันเพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปหามันได้อีก คงมีแต่การจำลองมันขึ้นมาใหม่ ทั้งเรื่องเล่าและความทรงจำแบบอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อเข้าใจมัน
 
            หากเราใช้มุมมองตามกรอบนี้ ก็จะพบว่าผู้คนที่โหยหาอดีตอาจไม่ได้มีแค่สมชาย แต่อาจมายถึงหลายๆ คนที่มีประสบการณ์ร่วมกันบนเวที TGT ซึ่งอาจรวมไปถึงกรรมการตัดสินอย่างคุณเบนซ์ พรชิตา ที่เธอกล่าวกับผู้ชมว่าเธอก็คิดคล้ายๆ กับสมชาย ซึ่งหลายคนอาจจะตระหนักดีว่า “เราอาจไม่ได้กลับไปสู่ภาวะนั้นอีก”
 
 
4.
 
หลากความหมายจากผู้ฟังเพลงของ “สมชาย”
 
คำถามของผมต่อเพลงของสมชาย ที่เนื้อเพลงก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เหตุใดเพลงของเขาจึงกระแทกใจคนได้มากมายขนาดนั้น  ผมจึงทดลองพูดคุยกับนักศึกษาของผมโดยให้ฟังเพลงนี้ในคลิปบรรยากาศตอนวันที่เขาประกวด ร่วมกันสี่คน โดยคนแรกเธอเป็นนักศึกษาไทยพุทธจากจังหวัดกระบี่ คนที่สอง เป็นนักศึกษามุสลิมจากประจวบคีรีขันธ์ คนที่สามเป็นนักศึกษามุสลิมจากพัทลุง คนที่สี่ เป็นนักศึกษามุสลิมจากจังหวัดยะลา พวกเขาคิดกันอย่างไร ลองมาฟังทัศนะของพวกเขาส่วนใหญ่ต่อเพลงนี้ครับ
 
คนแรก
 
            “ฟังแล้วอินมากน้ำตามันจะไหล ขนมันลุกไปหมดเลย”
 
            “ไม่คิดหรอกว่าเฟค (โกหก) รึเปล่า ก็ดูแล้วเหมือนมันออกมาจากข้างในของเขา”
 
            “เขามาเวทีนี้คงมีความต้องการเรื่องเงินบ้าง อยากมีชื่อเสียง ก็เขายังไม่มีงานทำเลยนี่ ไม่งั้นคงไม่มาเวทีแบบนี้”
 
            “หนูเคยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบางกลุ่ม เขาบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย แต่หนูก็ไม่เข้าใจว่าในอดีตเขาก็เคยเป็นของเรา เคยแพ้เรา แล้วเขาก็ยังยึดติดอยู่กับความคิดเดิมๆ แต่ทำไมเขายังไม่ยอมรับสักทีว่าเขาเป็นคนไทย”
 
“ฟังเพลงนี้แล้วพวกเขาจะรู้สึกตามที่คนแต่งต้องการมั้ย?”
 
คนที่สอง
 
            “รู้สึกอินกับสิ่งที่เขาแสดงออกมา รู้สึกดีกับเขา เพราะเขามีพลัง มีความหนักแน่นเลยพาให้เราอินไปด้วย”
 
            “ถ้าไม่เรียนสื่อมา หนูคงอินกับมันมากกว่านี้”
 
            “แต่รู้สึกว่า คอมเมนเตเตอร์จะแปลกๆ เหมือนไม่ค่อยจะจริงใจ ดูมีวาระซ่อนเร้น”
 
            “แต่หนูแฮปปี้กับเพลงเขามากๆ นะ ถ้าเขาเป็นผู้ที่สูญเสียจริง ก็ถือว่าเล่าเรื่องได้ดีมากๆ เลย”
 
“เรื่องที่เขาพูดอาจเป็นแค่จุดเล็กๆ ที่ปกติใครพูดอาจจะไม่มีใครได้ยิน เพราะหลายคนคงคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเขา คงทำให้หลายๆ คนกลับมาสนใจปัญหาภาคใต้บ้าง”
 
คนที่สาม
 
            “เนื้อหาเพลงมันก็คงดี ตรงประเด็นกับที่คนฟังอยากอยากให้เป็น คนมันก็เลยอิน”
 
“แค่มาเรียกร้องให้รักกัน แต่ถ้าไม่ได้เข้าใจกันจริงๆ มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร”
 
            “ไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่ เพราะเรารับข้อมูลหลายด้าน เราเลยไม่เชื่อแบบที่เขาได้บอกมา”
 
            “แต่ทำไมคนชมในสตูดิโอต้องร้องไห้ด้วย ไม่เข้าใจ”
 
คนที่สี่
 
            “หนูอยากเป็นเหมือนในเพลง อยากให้กลับมาเหมือนเดิม”
 
            “แต่ภาพออกมาดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะไทยแลนด์กอตทาเลนท์ มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเรื่องการสร้างกระแส”
 
            “น่าสนใจดี สามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดี”
 
            “คนในพื้นที่ก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน”
 
            “ทำไมไม่พูดผ่านเวทีอื่น”
 
อ่านจากข้อมูลเร็วๆ เราจะพบว่า หลายคนรู้สึกคล้อยตามกับสารที่ปรากฏผ่านเนื้อหาและท่วงทำนองกับเพลงนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าเนื้อหาตัวบท อาจจะ “บางเบา” แต่บางทีมันก็ “โดน” ใจคน ขณะที่หลายคนก็ยังลังเลกับ ท่าทีบางอย่างในรายการเช่นการความรู้สึกซาบซึ้งกับเพลงนี้เป็นพิเศษราวกับถูกจัดวาง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากความน่าเชื่อถือของรายการ TGT ที่มักสร้างเหตุการณ์ให้เป็นข่าวเพื่อกระตุ้นเรตติ้งให้กับรายการเมื่อปีที่แล้ว
 
เพลงของสมชายเป็นเสียงเพรียกบนจุดยืนแบบ “อุดมการณ์ชาตินิยมไทย” ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังที่มีจุดร่วมแบบเดียวกับเขาอาจมองไม่เห็นประเด็นอะไรบางอย่างจากการเรียกร้องสันติด้วยวิธีการครั้งนี้ อาจเป็นการเรียกร้องสำหรับคนที่มีโลกทัศน์แบบ “สังคมเดี่ยว” ดังเนื้อเพลงช่วงท้ายที่ว่า “ก็เราคนไทยด้วยกันทั้งนั้น” ซึ่งข้อท้าทายของเพลงนี้ก็คือ จะทำให้ผู้ที่เห็นหรือมีสำนึกแตกต่างจากสังคมใหญ่อย่างที่นักศึกษาคนแรกได้แย้มพรายประสบการณ์ของเธอให้ฟังนั้น จะเข้ามามีส่วนร่วมในสันติภาพนี้ด้วยกันได้อย่างไร
 
            หรือบางที “สันติภาพ” ในแบบที่คุ้นเคยมีมิอาจเรียกกลับคืนมาได้อีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสร้าง “สันติภาพ” ขึ้นมาใหม่ไม่ได้ หากลองตั้งใจรู้จักและเข้าใจมันอย่างจริงๆ จังๆ บนจินตนาการใหม่ มากกว่าความเคยชินเดิมๆ แบบนักศึกษาคนที่สามบอกมาก็อาจเป็นไปได้
 
 
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารรูสะมิแล ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (2013) ในคอลัมน์ “สื่อสันนิวาส : มองชายแดนใต้ผ่านเพลง (4)” กรุณาคลิกดูต้นฉบับ ที่นี่ หรืออ่านวารสารทั้งเล่ม ที่นี่
 
 
 
พิราบขาว
 
เนื้อร้อง - ทำนอง :สมชาย นิลศรี
 
“นกพิราบสีขาวจงกลับคืนมา
ปกป้องดูแลรักษาประชาได้ไหม
นกพิราบสีขาว ตรงนี้ลุกเป็นไฟ
กลับมาปกป้องโพยภัยให้พวกฉันที
ผู้คนไม่เข้าใจกัน ต่างเข้าใจกันคนละทาง
ไม่สามัคคีเหมือนอย่าง ที่เคยเป็น
#ไม่อยากเห็น... คนมาฆ่ากัน จับปืนถือมีดไล่ฟัน กันอีกเลย
อยากจะเห็น...เหมือนดั่งเคย
จับมือกอดคอกันเอ๋ย ที่เคยผ่านมา
 
จะต้องล้มตายอีกสักเท่าใด
ก็เราคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
อยากจะเห็นเหมือนดั่งเคย
จับมือกอดคอกันเอ๋ย เหมือนอย่างที่เคยผ่านมา
 
 

 
 
เอกสารประกอบการเขียน
พัฒนา กิตติอาษา. (2546) มานุษยวิทยากับการศึกษาปรากฏการณ์โหยหาอดีตในสังคมไทยร่วมสมัย.กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
 
 
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต