Skip to main content

 

หมายเหตุ:  “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง”เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …... 

 

'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ': มีน้ำตา...ก็หัวเราะได้

เคลื่อน สร้างอำไพ
รุสนีย์ กาเซ็ง
ภาพประกอบ: วิโชติ ไกรเทพ

            ฉันฟังเรื่องเล่าจาก "ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ" หญิงชราวัย 70 กว่าตอนปลาย ด้วยความตั้งใจ เก็บคำพูดของย่าทุกคำมาคิด ฟังย่าเล่าเรื่องราวในชีวิตตัวเอง ฟังความคิดเรียบง่ายที่ออกมาจากจิตใจที่ใสสะอาดของย่าแล้ว....เกิดอาการอมยิ้มทั้งน้ำตา

            ย่าเคลื่อน เกิดและโตที่บ้านเฑียรยา หมู่ 1ตำบลตาแกะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ย่าเกิดมากำพร้าแม่ตั้งแต่เด็ก ย่าเรียกครอบครัวที่ไม่มีแม่ว่า "ครอบครัวแพแตก"  พ่อของย่าพาพี่ชายไปเลี้ยงที่จังหวัดยะลา ส่วนย่าได้ผู้เฒ่าผู้แก่คู่สามีภรรยาในหมู่บ้านขอไปเลี้ยง 

            หลายสิบปีที่ผ่านมา ใน 'หมู่บ้านเฑียรยา' มีชาวพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและผูกพันกันโดยไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความรู้สึกแปลกแยกสักนิด หมู่บ้านนี้มีชาวพุทธประมาณร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันชาวพุทธได้ย้ายออกไปจากหมู่บ้าน เนื่องจากความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วหลายครอบครัว ทั้งที่พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านเกิดที่พวกเขารักและหวงแหน

            ฉันแปลกใจที่ได้ยินเสียงหัวเราะของย่าเคลื่อน ทั้งที่กำลังเล่าอดีตที่น้อยคนจะรับได้ ใช่ว่าย่าจะรับได้เสียทีเดียว ย่าบอกว่าไม่อาจทำใจให้ลืมได้ ทุกวันนี้ตื่นมาตอนเช้าก็ยังคิดถึงสามีและลูกที่จากไป ยังคิดน้อยใจโชคชะตาตัวเองที่ต้องลำบากตั้งแต่เด็กกระทั่งแก่เฒ่าก็ยังต้องดิ้นรนต่อไปไม่หยุดหย่อนเสียที ต้องทิ้งบ้าน – รากเหง้า ทิ้งที่ทำมาหากิน หอบลูก หอบหลาน จากบ้านเกิดมาเช่าบ้านอยู่ในเมือง ต้องยอมรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเพื่อแลกกับความปลอดภัย

            ย่าเคลื่อนเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่าเสียลูกชายจากการถูกลอบยิงในพ.ศ. 2547 ถัดจากนั้นอีก 3 ปี คนร้ายฆ่าตัดคอสามี ราดน้ำมัน แล้วจุดไฟเผาไปพร้อมๆ กับบ้านหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน 

            ก่อนความสูญเสียครั้งใหญ่มาเยือน ย่าเคลื่อนเป็นผู้นำครอบครัวเต็มตัวหลังจากสามีตกต้นตาลจนขาพิการ และก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ร้ายย่าเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียลูกสาวในวัยกำลังมีอนาคตอีกยาวไกลไป 1 คน ย่าเคลื่อนต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเอ่ยคำพูดน้อยใจโชคชะตาตัวเองบ่อยๆ ว่า

            “ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องมาเกิดขึ้นกับฉัน....คิดดูฉันมีบุญ หรือมีกรรม?” 

            ฉันถามว่า ย่าเจอเรื่องร้ายๆ ขนาดนั้นแล้ว ย่าทำยังไง?

            "จิตของเรา ตัวเราต้องบำบัดเอง คิดของดีๆ คิดว่าวันนี้จะนวดใคร จะได้เบี้ยเท่าไหร่ ..." ย่าพูดไป ฉันอมยิ้ม

            ย่าเคลื่อนมีวิชาด้านสมุนไพรและการบีบนวดคลายเส้น หารายได้พิเศษโดยการขายสมุนไพรและรับจ้างนวดส่วนราคานั้น ย่าบอก "แล้วแต่เขา จะให้เท่าไหร่ก็เอา ไม่กล้าบอก เพราะฉันแก่แล้ว แรงน้อย ไม่เหมือนคนหนุ่ม คนสาวนวด เขามีแรงเยอะ" ส่วนสมุนไพรนั้นย่าก็ขายพอมีกำไรไว้ใช้จ่ายเท่านั้น นอกจากขายแล้วย่ายังได้นำไปปลูกบนพื้นที่สาธารณะด้วย "สมัยนี้หายากแล้ว สมุนไพรนะ อย่างมะรุมนี่ ก็ไปปลูกให้คนเขาได้มีกิน ทำทานกับต้นไม้ ได้บุญ" ย่าเล่าไปหัวเราะไป

            เมื่อความจริงของชีวิตคือสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ เพื่อการดำเนินชีวิตอยู่อย่างคนปกติทั่วไปในสังคม ไม่ว่ามันจะดีหรือร้ายแค่ไหน "ย่าเคลื่อน" ก็ต้องยอมกัดเหงือกสู้ (เพราะย่าไม่มีฟันแล้ว) กับความโหดร้ายที่อุบัติขึ้นให้ได้ ไม่ว่ามันจะยากเย็น เครียดจัดจนย่ามีเลือดไหลออกทางจมูกก็ตาม ถึงกระนั้นย่าก็ยังมีกะจิตกะใจแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นได้เสมอ แต่ไม่ว่าใจย่าจะยืนหยัดสู้ไหว สังขารเสียอีกที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาไม่อาจอยู่ยงคงกระพันได้ดั่งใจ

            "ปะทะเรื่องนี้แล้ว โรคหัวใจตามมาต้อยๆ" 

            ย่ารำพันความจริงที่กำลังเผชิญกับโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเครียด ครั้งหนึ่งย่าเล่าว่า ย่าเครียดจัดจนเลือดไหลออกทางจมูกเป็นกระโถนระหว่างที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี หมอให้ยารักษาโรคความดันกับยาแก้เครียด ย่ากินแต่ยารักษาโรคความดัน ส่วนยาแก้เครียดนั้น ย่าไม่ยอมกินด้วยเหตุผลว่ากินแล้วเบลอคิดอะไรไม่ได้ กลัวว่าจะดูแลลูกหลานไม่ได้ หมอบังคับให้กินเท่าไหร่ย่าก็ไม่ฟัง หมอไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ความดื้อรั้นของย่า

            มนุษย์ห่อหุ้มด้วยเนื้อหนังนิ่มๆ ไม่ใช่อิฐปูนที่จะต้านทานแรงกระแทกแรงๆ จากวัตถุหนักๆ ได้ ยิ่งผ่านกาลเวลายาวนานเท่าใด แรงต้านทานยิ่งน้อยลง แต่สิ่งมหัศจรรย์คือ มนุษย์มีจิตใจที่เหมือนเป็นสิ่งเร้นลับและมันถูกเปรียบเปรยเป็น "นาย" ของร่างกาย หมายความว่าจิตใจนั้นเป็นผู้นำ หากมันเข้มแข็งมันก็จะพาชีวิตให้รอดได้

            ย่าเคลื่อนเป็นตัวอย่างของคนที่มีจิตใจเข้มแข็งกว่าร่างกาย แม้ย่าจะมีหลายโรครุมเร้า แต่ย่าก็ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เป็นภาระให้ลูกหลานดูแล แต่กลับกันย่าเสียอีกที่เป็นฝ่ายดูแลลูกหลาน

            ในขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นั้น สายตาย่าเหลือบไปเห็นคอมพิวเตอร์แบบพกพาของฉัน

            "เครื่องนี้ราคาเท่าไหร่?" ย่าถาม ฉันนึกแปลกใจว่าย่าอยากรู้ไปทำไมแต่ฉันก็ตอบย่าไป

            "ของหนูเครื่องนี้หนูซื้อหลายปีแล้ว ตอนนั้นราคา 23,300 บาทค่ะ"

            "ที่ถูกกว่านี้ก็มีใช่ไหม?" ย่าถามอีก

            "ค่ะ ไม่ถึงหมื่นก็มีค่ะ..." ฉันตอบไป ในใจก็สงสัยว่าย่าถามเหมือนจะซื้อให้ใคร?

            "จะซื้อให้หลาน มันใช้เรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้ต้องมีใช้แล้ว" ย่าเล่าความในใจ

            ย่าคงพอมีเงินจากการเก็บหอมรอมริบในอดีต จากลูกหลาน จากการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐและจากการหารายได้ของตัวเอง ฉันนับถือความรักของย่าที่มีต่อลูกหลานทุกคน ย่าย้ำบ่อยๆ เรื่องการเรียนของลูกหลานว่าย่าต้องส่งเสียให้เรียนสูงๆ ให้ได้ ย่าเต็มใจแลกความสุขสบายของตัวเองเพื่อให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดี 

            ส่วนตัวย่าเองเรียนจบ ป.4 ในสมัยนั้นอาจนับได้ว่าย่าเป็นคนมีการศึกษาคนหนึ่ง

            ด้วยความรู้และประสบการณ์ของย่า ฉันจึงมักจะได้คำตอบที่เรียบง่าย แต่แฝงด้วยปรัชญาชีวิตแบบฉบับชาวบ้านที่ย่าสั่งสมมาหลายทศวรรษ เมื่อย่าเล่าถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ย่าอายุได้ 7-8 ขวบ ย่ายังจำความน่ากลัวของทหารญี่ปุ่นได้ ยังจำได้ว่าเมื่อเห็นเครื่องบินรบทุกคนต้องรีบหาที่หลบ ต้องนอนแต่หัวค่ำและห้ามจุดไฟเพราะกลัวทหารญี่ปุ่นจะเห็นแสงไฟ แต่อารามความเป็นเด็ก ย่าบอกว่าตอนนั้นสนุกดี

            ฉันถามว่าแล้วเหตุการณ์บ้านเราตอนนี้ล่ะเป็นยังไงบ้าง?

           "สมัยนี้ก็เรียกว่าศึกนะ เป็นศึกการเงิน เพราะเงินเฟ้อ ก็เลยมาฆ่าแกงกัน ศึกนี้น่ากลัวกว่า แต่ก็ต้องอดเหมือนกัน พวกเราต้องช่วยกันกู้บ้าน กู้เมืองทั้งพุทธ มุสลิม จีน จาม พระราม นกคูด มาช่วยกันกู้บ้านเมือง พอได้แล้ว ให้สงบเสียที ให้เหมือนเดิมเหมือนเมื่อก่อน สมัยพระยานิโว๊ะ" 

            คำตอบของย่าสะท้อนความคิดภายใต้จิตสำนึกของย่าอย่างหนึ่งที่ฉันเห็นได้ชัดคือ ย่าไม่ได้สงสัยใครหรือฝ่ายใดเป็นคนร้าย แต่ย่าแยกคนเป็นสองฝ่ายคือคนดีกับคนร้าย ย่าขอร้องคนร้ายให้หยุดทำลายบ้านเมือง และเรียกร้องคนดีไม่ว่าจะเป็นชาติใด ศาสนาใดก็ตาม ให้มาช่วยกันกู้บ้านกู้เมืองให้กลับมาสู่ภาวะปกติเสียที

             "เรื่องร้ายๆ มนุษย์ทำกันเอง ใครเป็นคนทำไม่รู้ ช่างมัน ใครทำพระเจ้าก็ลงโทษเขาเอง" เป็นคำพูดของย่าที่ช่วยตอกย้ำให้ฉันมั่นใจว่าฉันมองย่าไม่ผิด

            เหตุการณ์ลอบเผาสามีและบ้านเกิดขึ้นมา 5 ปีกว่าแล้ว เป็นเรื่องร้ายที่ย่าบอกว่าหนักที่สุดในชีวิต ฉันนับถือน้ำใจย่าเคลื่อนที่ต้องรับบทหนักเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้น ย่าต้องรับผิดชอบดูแลลูกหลานผู้หญิงทั้งหมด จนฉันนึกไปว่าย่าเหมือนเป็นแม่ทัพของครอบครัว

            เมื่อฉันบอกว่า "ย่าเหมือนแม่ทัพหญิง"

            ย่ายิ้มกว้างแล้วก็ตอบว่า "เป็นแม่ทัพหน่วยเคลื่อนที่ใช่ไหม?" ย่าเล่าว่าตอนเด็กๆ ย่าต้องย้ายไปอยู่กับญาติๆ เวียนกันเลี้ยงจึงเป็นที่มาของชื่อ "ย่าเคลื่อน" เพราะต้องเคลื่อนไป เคลื่อนมา ไม่อยู่กับที่ 

            ฉันคิดว่าที่ย่าเคลื่อนยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติเช่นคนทั่วไป โดยไม่เสียสติกับเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้นั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือการมองชีวิตบนพื้นฐานของความจริงนั่นเอง ย่ามองเห็นความจริงและสามารถยอมรับความจริงได้ ย่าสามารถอยู่กับความจริงที่โหดร้ายได้เพราะย่าเคลื่อนมีความรับผิดชอบกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองสูงมากและด้วยจิตใจที่มีคุณธรรม ไม่พยาบาทอาฆาตแค้นก็ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานในจิตใจได้เร็วขึ้น

            ปัจจุบันแม้ย่าเคลื่อนไม่อยากไปเหยียบย่ำสถานที่เกิดเหตุการณ์เพราะไม่อยากรื้อฟื้นอดีตที่เจ็บปวด แต่ย่าก็ยังมีใจผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านทั้งพุทธและมุสลิมไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แม้แต่เพื่อนเก่าแก่สมัยเด็กๆ ที่ไม่ได้พบเจอกันนานปีดีดัก เช่นตาของฉันซึ่งเป็นคนต่างหมู่บ้านแต่อยู่ภายในตำบลเดียวกัน ย่าก็ยังถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตามประสาเพื่อนที่มีความทรงจำในวัยเด็กเหมือนๆ กัน

            ฉันคิดว่าชีวิตเราก็เปรียบเหมือนเกลียวเชือกที่มีเส้นใยของความทุกข์และเส้นใยของความสุขสองเส้นพันกันจนเป็นหนึ่งเดียว 

            บางคนเมื่อมีทุกข์ก็จมปลักกับมันจนมองไม่เห็นความสุขอื่นๆ ที่มาพร้อมกับความทุกข์นั้น

            คงน่าเสียดายที่เราไม่ฉวยความสุขเก็บสะสมไว้เป็นรางวัลชีวิตตัวเอง 

            บางทีหากเราเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า

            "เวลาที่เรามีน้ำตา เราหัวเราะได้" 

            ความสุขก็อาจจะวิ่งเข้ามาหาเราเอง เหมือน 'ย่าเคลื่อน สร้างอำไพ' คนนี้'

พลังส่งกลับ|เธอ สู่ ฉัน

ฉันชื่อ...รุสนีย์ กาเซ็ง

            ฉันต้องติดตามการเขียนเรื่องเล่าของสองเคสหนักอย่างย่าเคลื่อน สร้างอำไพ หนึ่งหญิงไทยพุทธ และกะเราะห์ หรือ มาริสา สมาแห หนึ่งหญิงมลายูมุสลิม เธอทั้งสองทำให้ฉันรู้สึกว่า วิถีทางแห่งการหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ได้ผลที่สุด คือการศรัทธาต่อคำสอนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ 

            ฉันได้ยิน เธอทั้งสองเล่าให้ฟังว่า พยายามขัดใจให้สะอาดด้วยศาสนา ไม่อาฆาตมาดร้ายแต่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของการตอบสนอง ใครทำอะไรไว้เขาย่อมได้รับผลตอบแทนอย่างนั้น เมื่อใดที่ปล่อยวางความทุกข์ได้ ความทรมานใจจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดก็จางหายไป และทิ้งรอยแผลเป็นไว้ในความทรงจำ 

            แม้คำนิยาม คำว่า "พระเจ้า" ของทั้งสองคนจะไม่เหมือนกัน แต่ "พระเจ้า" ของทั้งสองคนได้ช่วยเยียวยาจิตใจของทั้งสองคนได้ดีไม่ต่างกัน

            ฉันได้รับคำสอนใหม่ๆ จากย่าเคลื่อน ชาวไทยพุทธ ที่ถูกล้างครอบครัว จนต้องอพยพออกจากบ้านเดิมมาพักพิงที่แห่งใหม่ ที่ไม่คุ้นเคย...เธอผ่านการให้สัมภาษณ์ เรื่องราวเจ็บปวดเหล่านี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉันเห็นความเข้มแข็งในตัวเธอ ย่าเคลื่อนของพวกเราคนนี้ มีวิธีรับมือการการฉายหนังเก่าที่เจ็บปวดซ้ำๆ แบบนี้ ด้วยไมตรีของแท้

            "เวลาเขาถามอะไรเราต้องตอบเขานะ ต้องพูดดีๆ ไปรำคาญเขาไม่ได้นะ" คำสอนที่เธอให้กับฉัน เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่อยากจะเอื้อนเอ่ยอีก บางคนอาจจะไม่อยากตอบ ไม่อยากเล่า ไม่อยากพูดถึง แต่ย่ากลับคิดว่าเราต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองและทำให้สิ่งที่ควรทำ เมื่อเขาพูดดีมา เราก็ควรพูดดีตอบเขาไป ย่ามักจะมีคำสอนที่เรียบง่ายให้ฉันได้จดจำแทรกอยู่ในบทสนทนาเป็นระยะๆ เป็นคำสอนที่สามารถสะท้อนความคิดและจิตใจของย่าเคลื่อนได้ดี ว่าย่าเคลื่อนเป็นคนอย่างไรและทำไมย่าถึงเป็นคนที่น่านับถือคนหนึ่ง

            “ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่งเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างตัวเป็นหนังสือเล่มนี้ แต่ด้วยบทบาทเพียงเท่านี้ฉันก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญต่อการสะท้อนเรื่องราวชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สู่สาธารณะ สิ่งที่อยากเห็นการสะท้อนกลับมา ไม่ใช่แค่ความเมตตาสงสาร เพราะแค่ความรู้สึกไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แต่การลงมือกระทำต่างหากที่จะก่อให้เกิดผล”

  

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา