ตูแวดานียา ตูแวแมแง
เป็นที่รับรู้ของสังคมสาธารณะอย่างชัดเจนหลังจากที่ได้มีโต๊ะการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการแบบนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ากระบวนการที่ดำเนินการนั้นเป็นการเจรจาต่อรองดีๆ นั้นเอง เริ่มด้วยฉากแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เสียงตอบรับจากสังคมสาธารณะอย่างครึกโครมว่าสันติภาพเชิงลบซึ่งนักวิชาการให้ความหมายว่า “เป็นภาวะของการไม่มีเสียงปืนเสียงระเบิดหรือพูดง่ายๆ คือประชาชนที่เคยจับอาวุธสู้กับความเป็นนักล่าอาณานิคมตัดสินใจเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธใช้แต่การเมืองอย่างเดียว” กำลังจะเกิดขึ้นเป็นจริงแล้ว โดยการปรากฎตัวของ BRN ภายใต้การนำของ ฮาซัน ตอยิบ บนโต๊ะที่มาเลเซียด้วยการทำข้อตกลงว่า “การพูดคุยสันติภาพจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
ระหว่างทางของกระบวนการพูดคุยนั้น ได้มีปฏิกิริยาจากในพื้นที่ทั้งที่มาจากกลไกของขบวนการด้วยการมีข้อความบนป้ายผ้า 2 ครั้ง ยูทูบ 4 ครั้ง จนล่าสุดโดยผ่านการแสดงจุดยืนและท่าทีผ่านเอกสารที่หลายๆ ฝ่ายเรียกว่าเอกสาร 38 หน้า หรือบางฝ่ายเรียกว่าเอกสารเรียกร้องออโตโนมีของ BRN โดยผ่าน ฮาซัน ตอยิบ และปฏิกิริยาที่มาจากภาคประชาชนโดยผ่านเวที Bicara Patani ทำการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการดังกล่าวว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่? สันติภาพที่กระบวนการครั้งนี้อ้างนั้น อยู่บนพื้นฐานของความจริงหรือไม่? เป็นวาระของประชาชนหรือไม่? หรือเป็นวาระของรัฐไทยกับมาเลเซียและตัวบุคคลที่อ้างเป็นแกนนำ BRN ซึ่งรัฐไทยและรัฐมาเลเซียยอมรับหรือไม่?
ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการพูดคุยจนถึงปัจจุบันเวที Bicara Patani ได้ดำเนินไปแล้ว 50 เวที ซึ่งแต่ละเวทีมีประชาชนมาร่วมตั้งแต่น้อยสุดประมาณ 200 คน ถึงมากสุดประมาณ 10,000 กว่าคน โดยภาพรวมของการวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง 50 เวทีนั้น ภาคประชาชนรู้สึกต่อกระบวนการพูดคุยครั้งนี้เสมือนว่าทั้งรัฐไทย BRN และรัฐมาเลเซียกระทำการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ต่อประชาชนปาตานี โดยความรู้สึกเหล่านี้อธิบายว่า สันติภาพที่ทุกฝ่ายทั้งที่มาจากนอกหรือในประเทศกำลังเร่งสร้างให้เกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่อ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน แต่กระบวนการครั้งนี้ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะมาถามประชาชนคนปาตานีว่า “สันติภาพแบบไหนที่ประชาชนคนปาตานีต้องการ” “ถ้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตมีเจตนารมณ์ที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ทำไมไม่มาถามประชาชน”
บางทีอาจจะมีการคัดค้านมาจากทั้งรัฐและขบวนการฯ ว่า “ได้ไปถามแล้ว ประชาชนไม่ยอมตอบ ประชาชนเงียบ แสดงว่าประชาชนเห็นด้วยแล้ว” เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเวที Bicara Patani ได้สะท้อนเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ปรากฏการณ์ที่ประชาชนไม่ส่งเสียงแสดงความคิดเห็นว่าสันติภาพแบบไหนที่ตนต้องการ ท่าทีเสมือนเงียบดังกล่าวคงไม่ใช่มาจากความสมัครใจหรือเต็มใจแน่นอน เพราะสถานการณ์ยังคงดำเนินการสู้รบกันอยู่ทั้งสองฝ่าย สมมติถ้าประชาชนส่งเสียงอย่างตรงไปตรงมาเหมือนข้อความที่อยู่ตามท้องถนน ตามหัวสะพาน ตามป้ายริมถนน คือคำว่า Patani Merdeka ซึ่งแปลว่า ปาตานีเอกราชนั้น จะมีใครกล้ารับประกันหรือไม่ว่าระบบโครงสร้างของความเป็นรัฐไทยปัจจุบันจะไม่โกรธและทำร้ายประชาชน ในขณะเดียวกันถ้าประชาชนส่งเสียงอย่างตรงไปตรงมาเหมือนการรณรงค์ของเหล่านักวิชาการคือการกระจายอำนาจหรือเหมือนกับจุดยืนของฝ่ายความมั่นคงคือแม้แต่การกระจายอำนาจก็ไม่ต้องการอยากอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะมีใครกล้ารับประกันหรือไม่ว่าขบวนการกู้ชาติปาตานีจะไม่โกรธหรือทำร้ายเฉกเช่นเดียวกันกับภาครัฐกระทำต่อประชาชนที่เห็นต่าง
เมื่อท่าทีของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองอันเป็นผลจากการได้รับชุดข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงที่เพียงพอสำหรับการกำหนดท่าทีและบทบาททางการเมืองภาคประชาชนเพื่อกำหนดชะตากรรมตนเองตามความพึงพอใจของตนเอง ในสถานการณ์ที่เอื้อซึ่งเป็นผลมาจากรัฐได้นำกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มด้วยการพูดคุย แต่ในทัศนะของขบวนการกู้เอกราชนั้นกระบวนการสันติภาพดังกล่าวคือยุทธวิธีทางการฑูตของปีกงานการเมืองระหว่างประเทศ (ชาติ) เมื่อประชาชนคนปาตานีเริ่มกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐไทยและขบวนการกู้ชาติปาตานี แต่เสียงดังกล่าวถูกกล่าวหาจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “นักรักสันติภาพ” ว่าเป็น “นักทำลายสันติภาพ”
ทำให้บรรยากาศการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่ค่อยๆ ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีพัฒนาการของวุฒิภาวะทางการเมืองโดยมาจากการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงและถอดบทเรียนจากอดีตไปพร้อมๆ กับการเกาะติดความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ปัจจุบัน ถูกตัดตอนการเติบโตด้วยมีดอีโต้ที่ชื่อว่า “นักทำลายสันติภาพ” กลายเป็นว่าสันติภาพที่ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่อยากได้ต้องมาจากบนโต๊ะเจรจาเพียงเท่านั้น ซึ่งถ้าโต๊ะเจรจาไม่ได้ทิ้งวาระความต้องการของประชาชนแบบเนียนๆ โดยปิดบังด้วยคำว่า “สันติภาพ” และ “เพื่อสิทธิมนุษยชน” ก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ว่าในอนาคต ถ้าประชาชนเกิดไม่พอใจในผลลัพธ์สันติภาพที่ตนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกขึ้นมา แล้วตัดสินใจจับอาวุธสู้อีกครั้ง เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ณ ปัจจุบัน
แต่ในความเป็นจริงของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีที่มาเลเซียครั้งนี้ กระแสท่าทีของภาคประชาชนกับท่าทีของคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายไปคนละทิศคนละทาง กล่าวคือคณะพูดคุยทั้งของรัฐไทยและ BRN ค่อนข้างชัดเจนว่ากำลังจะตกลงปลงใจให้เกิดสันติภาพภายใต้กรอบการปฏิรูปประเทศไทยผลลัพธ์คือออโตโนมีใต้รัฐธรรมนูญ แต่ภาคประชาชนมีท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยตัวเองโดยการทำประชามติใต้กรอบกฎหมายสากล
เมื่อปรากฏการณ์ท่าทีของประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตนเอง เริ่มเห็นความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมโดยอาศัยการบ่มเพาะและพัฒนามาเป็น 10 ปี นับตั้งแต่ปี2547 ควบคู่กับการยืนระยะของกองกำลังติดอาวุธแบบกองโจรของขบวนการกู้ชาติปาตานี แต่ความตื่นตัวเหล่านั้นถูกเมินเฉยโดยคณะพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซียของทั้งรัฐไทยและ BRN จึงไม่แปลกที่ประชาชนคนปาตานีส่วนใหญ่จะรู้สึกเสมือนถูกกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีที่มาเลเซียครั้งนี้ “ชิงสุกก่อนห่าม” เพราะเมื่อปัญหารากเหง้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดขบวนการกู้ชาติปาตานีสู้รบกับรัฐไทยปรากฎตัวชัดเจนว่ามาจากความขัดแย้งทางชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมสยามเพื่อการล่าอาณานิคมกับชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมปาตานีเพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคม ทำให้ประชาชนคนปาตานีเริ่มมองเห็นภาพว่า ยุทธศาสาตร์ของการกู้ชาติปาตานีที่พอมีความหวังว่าจะได้มาซึ่งเอกราชนั้นต้องมาจากความต้องการแห่งชาติของประชาชนคนปาตานีที่มาจากการส่งลูกของยุทธวิธีกองโจร จากนั้นก็ยกระดับให้เป็นประเด็นปัญหาคาบเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสากลจากข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)
แต่ทว่าในทางปฏิบัติของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีที่มาเลเซียครั้งนี้ กลับเอากลไกหรือกระบวนการสากลเข้ามาคลี่คลายปัญหาความรุนแรงไม่ใช่เข้ามาคลี่คลายปัญหารากเหง้าที่ขัดแย้งในชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดไม่
จากที่ประชาชนคนปาตานีซึ่งตื่นตัวทางการเมืองคาดหวังว่ากลไกสากลภายใต้ชื่อกระบวนการสันติภาพจะเข้ามีบทบาทในช่วงเวลาที่ประชาชนกล้าที่จะส่งเสียงความต้องการที่แท้จริงและมีหลักประกันความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้จากการผนึกกำลังของความสัมพันธ์ทางพันธะทางยุทธศาสตร์เดียวกัน กลับกลายเป็นว่ากลไกสากลเข้ามาช่วงที่ประชาชนยังผนึกกำลังยังไม่ได้ มาในช่วงเวลาที่ประชาชนเริ่มก่อร่างก่อตัวจะยกระดับจากการต่อต้านด้วยอารมณ์อย่างเดียวและเริ่มขยายวงกว้างจากแนวร่วมมุมตรงเป็นแนวร่วมมุมกลับโดยอาศัยการจัดตั้งจากการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาครัฐเองสู่การมีพันธะทางยุทธศาสตร์แห่งชาติร่วมต่อต้านนักล่าอาณานิคมด้วยกัน
จึงไม่แปลกที่ประชาชนรู้สึกกำลังถูก “ชิงสุกก่อนห่าม” จากกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีที่มาเลเซียในครั้งนี้