Skip to main content
โคทม อารียา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
 

เมื่อทำความเข้าใจถึงบริบท ภาคีหลักและเป้าหมายของพวกเขาในกระบวนการสันติภาพแล้ว จุดมุ่งหมายต่อไปคือการก้าวพ้นและแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง หากภาคีหลักเคร่งครัดในเป้าหมายที่เข้ากันไม่ได้ โดยไม่ขยายพื้นที่รอบ ๆ จุดยืนของตน หากไม่มีภาคีอื่นมาหนุนช่วย (แต่ก็ต้องระวังภาคีที่มาทำให้ป่วน) หากไม่มีการสร้างความไว้วางใจและลดทัศนคติเชิงลบ (ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ฯลฯ) ที่มีต่อกัน หากไม่มีการทุเลาเบาบางพฤติกรรมที่เป็นการประทุษร้ายต่อกันทั้งทางกายและวาจา และที่สำคัญคือ หากไม่มีการเยียวยาอดีต แก้วิกฤตปัจจุบันอย่างเอาจริงเอาจัง และสร้างวิสัยทัศน์การอยู่ร่วมกันแล้วไซร้ การพูดคุย/เจรจาสันติภาพก็คงไม่อาจนำสันติสุขสู่ จชต. ได้ ในที่นี้ จะขอขยายความสิ่งที่เสนอข้างต้น เป็นแนวทาง  4 แนว[1] และเพื่อช่วยในนำเสนอ จะขอใช้ชื่อแต่ละแนวทางโดยใช้คำที่เริ่มต้นด้วยอักษร ค ดังนี้

แนวทาง 4 ค (คลายปม คติใหม่ เคารพ คืนดี)

คลายปม

คลายปมหมายถึงการทำให้หลวม การทำให้ความขัดแย้งที่รัดรึงคลายตัวออก เป็นการเปิดมุมมองและเปิดใจให้กว้างขึ้น หรือเป็นการพิจารณาโดยไม่ลดทอนให้ความขัดแย้งเป็นเพียงการมีภาคีหลัก 2 ภาคี ซึ่งมีเป้าหมายที่เข้ากันไม่ได้ การคลายปมอาจทำได้ดังนี้

- การทำให้หลวมในระดับภาคี หมายถึงการพิจารณาว่ามีภาคีที่สำคัญ (important parties) และภาคีเหล่านั้นมีเป้าหมายอะไร ขอยกตัวอย่างภาคีที่สำคัญในกรณีความขัดแย้งของไอร์แลนด์เหนือมาเทียบเคียงกับกรณี จชต. ในกรณีไอร์แลนด์เหนือ นอกจากภาคีหลักคือรัฐบาลสหราชอาณาจักร และขบวนการปลดปลดปล่อยที่นำโดยกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA) แล้ว ยังมี

(ก) ขบวนการที่สนับสนุนการรวมกันของไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษ (Unionists) ซึ่งประกอบด้วยชาวโปรเตสแตนต์เป็นสำคัญ ในกรณี จชต. อาจเทียบได้กับฝ่ายที่สนับสนุนการรวมกันดังในปัจจุบันของ จชต. กับรัฐไทย ภาคีนี้ประกอบด้วยคนเชื้อสายไทยและเชื้อสายจีนที่อยู่ในพื้นที่เป็นสำคัญ

(ข) สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกและพูดภาษาเดียวกันกับชาวไอร์แลนด์เหนือ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีใจช่วยชาวไอร์แลนด์เหนือส่วนที่อยากแยกตัวจากอังกฤษ ในกรณี จชต. อาจเทียบได้กับประเทศมาเลเซีย ทั้งรัฐบาลและประชาชนของประเทศมาเลเซียมีความผูกพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับความขัดแย้งใน จชต.[2] แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีความระแวงว่าเป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียกับไทยจะเข้ากันไม่ได้ ในอดีตเมื่อนายกรัฐมนตรีมาเลเซียใช้คำว่า autonomy เมื่อครั้งที่มาประชุมที่หัวหิน รัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็ขอร้องให้ใช้คำอื่นที่อ่อนลง แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลมาเลเซียมารับบทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสานเสวนาสันติภาพตามข้อตกลง 28 กุมภา แล้วนั่นแหละ ที่ข้อเสนออีกครั้งหนึ่งเรื่อง autonomy ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน ไม่ได้รับการปฏิเสธ อันที่จริง นอกเหนือจากบทบาทความคนกลาง/ผู้อำนวยความสะดวกของ รัฐบาลมาเลเซียแล้ว ทั้งฝ่ายค้านและประชาชน มาเลเซียยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยทำให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จหรือล้มเหลวได้

(ค) สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้มอบภารกิจการดูแลระเบียบโลกแก่ตนเอง ได้เข้ามามีบทบาทเป็นคนกลางในความขัดแย้งนี้ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจ สหรัฐฯจึงสามารถเป็นคนกลางที่บทบาทชี้นำหรือมีอิทธิพลได้บ้าง ซึ่งขอใช้คำว่าสหรัฐฯเป็น ‘คนกลางไกล่เกลี่ย’ (more or less influential mediator or mediator with muscle) ซึ่งหากเป็นประเทศเล็กหรือเป็นองค์กรเอกชนก็มักจะมีบทบาทเป็น ‘คนกลาง/ผู้อำนวยความสะดวก’ (mediator/facilitator) อย่างไรก็ดี คนกลางที่ดี แม้จะมีอิทธิพลโน้มน้าวได้บ้าง ก็พึงระมัดระวังที่จะใช้อิทธิพลนั้นให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่ได้รับการร้องขอ มิฉะนั้นอาจถูกมองว่าลำเอียงหรือกลายบทบาทไปเป็นภาคีของความขัดแย้งในอีกแบบหนึ่งได้ ดังนั้น คนกลางหรือผู้อำนวยความสะดวกพึงทำหน้าที่ตรงตามชื่อเรียก และปล่อยให้ภาคีหลักเป็นผู้ตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น ๆ กรณีที่มาเลเซียรับทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกตามข้อตกลง 28 กุมภา และบีอาร์เอ็นมีข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนบทบาทเป็นคนกลางนั้น มาเลเซียอาจมีบทบาทเป็นคนกลางได้ แต่ไม่ใช่คนกลางไกล่เกลี่ย หากควรเป็นคนกลางอำนวยความสะดวก การมองเช่นนี้ ก็เท่ากับรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นโดยปริยายได้หรือไม่

(ง)   สหภาพยุโรป ทั้งสหราชอาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ต่างก็เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งมีคุณค่าหลักคุณค่าหนึ่งคือความสมานฉันท์ทางสังคม (social cohesion) ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงอยากเห็นการก้าวพ้นความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือซึ่งขัดกับคุณค่าดังกล่าว การมีสหภาพยุโรปนั้นเป็นการมอบอธิปไตยแห่งชาติส่วนหนึ่งให้แก่สพภาพฯซึ่งเป็นองค์กรเหนือชาติ (supranational) ภายในสหภาพฯมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในทางเศรษฐกิจ การเงินและการเมืองมากขึ้นตามลำดับ การเคลื่อนย้ายของคน สินค้า และเงินภายในสหภาพฯทำได้โดยสะดวกมาก ทำให้พรมแดนในฐานะขีดแบ่งระหว่างรัฐ-ชาติลดความสำคัญลงไปมาก ในกรณีของ จชต. การที่อาเซียนกำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจ (เออีซี) ในปี 2555 และการเป็นประชาคมทางความมั่นคงและทางสังคมวัฒนธรรมในลำดับต่อไปนั้น ทำให้อาเซียนสามารถช่วยให้ จชต. มีมุมมองในระยะไกลที่ก้าวพ้นขีดแบ่งในหลาย ๆ ด้าน โดยการเสนอคำตอบในเชิงบูรณาการที่เป็นธรรม การที่บีอาร์เอ็นมีข้อเสนอให้อาเซียนมาเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุย/สานเสวนา/เจรจาสันติภาพ ก็อาจจะมองในแง่บวกได้ว่า มิใช่เป็นเพียงความต้องการที่ยกระดับการยอมรับองค์กรของเขาในระดับประชาคมอาเซียนเท่านั้น หากเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่กังวลสนใจได้ด้วย 

(จ)   โลกคาทอลิกและโลกโปรเตสแตนต์ ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือสามารถสืบสาวไปในอดีตได้หลายร้อยปี ไปจนถึงการแตกแยกระหว่างนิกายคาทอลิกเดิมกับนิกายโปรเตสแตนต์ใหม่ ด้วยเหตุนี้ แม้ความขัดแย้งจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างศาสนา แต่อาจกล่าวได้ว่า หลัก ๆ แล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่โลกคาทอลิกและโลกโปรเตสแตนต์จะอยากช่วยให้ความขัดแย้งนี้คลี่คลายลง โดยเทียบเคียงแล้ว ความขัดแย้งใน จชต. ก็เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันด้วยเช่นกัน และในแง่นี้ ก็คาดได้ว่าโลกมุสลิมผ่านทางองค์กร เช่น องค์กรของที่ประชุมอิสลาม (OIC) สันนิบาตชาวมุสลิมโลก (Muslims World League) และโลกชาวพุทธผ่านทางองค์กร เช่น องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก จะมีความใส่ใจที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งนี้หากได้รับการเชิญชวน การที่บีอาร์เอ็นมีข้อเสนอให้ OIC มาเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุย/สานเสวนา/เจรจาสันติภาพ ก็อาจจะมองในแง่บวกได้ว่า มิใช่เป็นเพียงความต้องการที่ยกระดับการยอมรับองค์กรของเขาในระดับสากลเท่านั้น หากเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่กังวลสนใจได้ด้วย

(ฉ) โลกชาวไอร์แลนด์ ผู้ที่เกิดในไอร์แลนด์แต่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศมีประมาณ 1 ล้านคน ผู้ที่เป็นลูกหลานชาวไอร์แลนด์ในสองสามชั่วอายุคนมีประมาณ 3 ล้านคน ส่วนที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษชาวไอร์แลนด์ในโลกปัจจุบัน (diaspora) มีประมาณ 70 ล้านคน กว่าครึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา[3]  พลเมืองสหรัฐฯเชื้อสายไอร์แลนด์ที่มีจำนวนมากเช่นนี้ มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในสหรัฐฯพอสมควร จึงไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางในความขัดแย้งนี้ โดยเทียบเคียงกับกรณี จชต. โลกมลายู (Nusantara) ในความหมายของคนที่พูดภาษามลายูนั้น รวมถึงประชากรส่วนใหญ่หรือบางส่วนที่อาศัยในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ ไทย มาดากัสการ์ ฯลฯ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดหลายร้อยล้านคน[4]  เป็นธรรมดาที่โลกมลายูจะเห็นใจผู้ที่มีเชื้อสายมลายูใน จชต. ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินโดนีเซียให้ทุนการศึกษาแก่คนใน จชต. และแสดงความสนใจที่จะช่วยเหลือในการคลี่คลายความขัดแย้งหากมีการเชิญชวน

อันที่จริง เป็นเรื่องที่น่าสนใจหากจะการวิเคราะห์ว่าภาคีดังกล่าวคือ คนเชื้อสายไทย/จีนใน จชต. ประเทศมาเลเซีย อาเซียน OIC องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และอินโดนีเซีย น่าจะมีเป้าหมายเช่นไรในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่นอกเหนือความสามารถของผู้เขียนบทความ กระนั้นก็ตาม การทำความเข้าใจว่าใครเป็นภาคีที่สำคัญและอะไรคือเป้าหมายของพวกเขานั้น จะช่วยสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมและการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

- การทำให้หลวมซึ่งเป้าหมายของภาคีหลัก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เป้าหมายหลักของขบวนการน่าจะเป็นการปลดปล่อยและการขอคืนซึ่งดินแดน ส่วนเป้าหมายหลักของฝ่ายรัฐน่าจะเป็นบูรณภาพของดินแดนและความมั่นคงปลอดภัยของทุกคน ส่วนใหญ่เมื่อถามว่าถ้าได้ดินแดนไปแล้วขบวนการจะทำอย่างไร ก็มักได้คำตอบในทางหลักการว่าจะดูแลทั้งคนส่วนใหญ่และส่วนน้อยให้ดี จะมีธรรมาภิบาลและความยุติธรรม ฯลฯ ส่วนรายละเอียดรอให้ได้ดินแดนมาก่อนค่อยว่ากัน ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่า การดูแลทุกคน ธรรมาภิบาล  และความยุติธรรม ฯลฯ หากได้มาด้วยความร่วมมือและการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองการปกครองมาสู่คนในพื้นที่ตามลำดับ แต่ก็ต้องเริ่มต้นโดยเร็วอย่างจริงจัง นั่นคือ ถ้าเริ่มช่วยกันทำในสิ่งที่ขบวนการพึงกระทำถ้ามีอำนาจ จะสามารถตอบโจทย์ของขบวนการได้มากน้อยเพียงใด ถ้ามีการทำเป้าหมายให้หลวมในทำนองนี้ อาจหมายถึงการพูดคุยถึงอนาคตร่วม ในกรอบของการปกครองตนเองที่เป็นอิสระตามเจตจำนงของท้องถิ่นหรือ autonomy นั่นเอง

คติใหม่

หากจะลดความรุนแรง สิ่งที่ควรขจัดไปคืออคติตลอดจนความระแวง/ไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งเป็นผลจากการประทุษร้ายต่อกันมาแต่อดีต และหล่อเลี้ยงด้วยพฤติกรรมในเชิงลบที่มีต่อกันจนถึงปัจจุบัน และเป็นผลจากการยึดมั่นในเอกลักษณ์เชิงเดี่ยว[5] เช่น ความเป็นมลายูมุสลิม ความเป็นไทยพุทธ ทั้งๆ ที่แต่ละคนก็มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น ความเป็นพลเมือง ภูมิลำเนา เพศสภาพ การศึกษา อาชีพการงาน แนวโน้มทางสุนทรียภาพ แต่ถ้ายึดอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวก็จะไม่ให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์อื่น จึงเกิดการแยกขั้ว (polarization) แบ่งเขาแบ่งเรา นานไปจะไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์ (dehumanization) จะทำให้เขาเป็นยักษ์มาร (demonisation) จากนั้นก็เข่นฆ่าทำร้ายเขาได้ โดยไม่ผิด ไม่บาป 

การมีคติใหม่หมายถึงการแปลงเปลี่ยนทัศนคติ จากการมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น มามองเห็นความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกัน จากการยึดอัตลักษณ์เชิงเดี่ยว มาเป็นการตระหนักถึงอัตลักษณ์อันหลากหลายที่ตนเองและผู้อื่นมีอยู่และทับซ้อนกันบ้าง ส่วนการเลือกให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์ใดในขณะใดก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการตัดสินใจที่มีความไม่แน่นอน แต่ก็พยายามให้มีลักษณะของการใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผล

การมีคติใหม่มักเกิดขึ้นได้ยาก หากต้องฝึกฝนในด้านการมีสติ การไม่ด่วนตัดสิน การใคร่ครวญ ตลอดจนความรัก/ความเมตตา เป็นต้น อีกทั้งต้องพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์และการเปิดรับผู้เป็นอื่น ที่สำคัญคือ การใดที่เราไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นทำต่อเรา เราต้องไม่ทำต่อเขา เราต้องรู้จักตอบแทนในไมตรีจิตที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้ รู้จักห่วงใยแม้แต่ศัตรูด้วยเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ หากเรารักษาคำพูดที่ให้ไว้ รักษาเกียรติศักดิ์ของเราและของเขา ไม่ใช้เล่ห์กล/การหลอกลวง คติใหม่ที่เป็นความไว้วางใจก็อาจเอาชนะอคติต่าง ๆ ได้ตามลำดับ

 

หมายเหตุ: คลิกอ่าน สันติสุขจะได้มาถ้าเราช่วยกันพูดคุยสันติภาพใน จชต. (ตอน 1)

 

 


[1] ได้นำแนวคิดของ Johan Galtung โดยเฉพาะจากหนังสือทั้งสองเล่มที่อ้างถึงข้างต้นมาปรับใช้ แนวทาง 4 ค ที่เสนอได้จากการขยายความของข้อสรุปของหนังสือเรื่อง Transcend and Transform หน้า 186-187

[2] Omar Farouk Bajunid. 2006: The Malaysian Factor in the Prospects for Peace in Southern Thailand in Understanding Conflict and Approaching Peace in Southern Thailand edited by Imtiyaz Yusuf and Lars Peter Schmidt. Bangkok: Konrad Adenauer Stiftung, pp. 191-235

[5] อมารตยา เซ็น เขียน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ แปล 2555: อัตลักษณ์และความรุนแรง: ภาพลวงของชะตาลิขิต กรุงเทพฯ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล