หมายเหตุ เรามักจะกล่าวจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินว่า การสร้างพื้นที่กลางหรือ “พื้นที่สาธารณะ” นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแสวงหาทางออกของความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะพื้นที่กลางช่วยเผยให้เห็นความคิดของความขัดแย้งต่างๆ ได้ปรากฎตัวต่อที่สาธารณะ ให้เกิดกระบวนการสื่อสาร เกิดการพูดคุย ยอมรับฟัง การหาฉันทามติที่พอเพียงเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ รายงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสรุปความจากการบรรยายสาธารณะ “เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส: การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ" โดยดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทาวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) อดีตผู้อำนวยการองค์การสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ หนึ่งในงานกิจกรรมวิชาการใน "งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้" ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 |
การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อหาทางออกของความรุนแรง:
ความคาดหวัง บทบาทสื่อทางเลือกชายแดนใต้
อารีดา สาเม๊าะ
ฐิตินบ โกมลนิมิ
ในสังคมที่มีเสรีภาพ คนทุกกลุ่มควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์จากมิติต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และกลไกทางสังคมกลไกหนึ่งที่จะสร้างสมดุลระหว่างมิติต่างๆ นั้นก็คือ “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) นั่นเอง เนื่องจากคุณสมบัติประการหนึ่งของ “ความเป็นพื้นที่สาธารณะ” ก็คือ ในพื้นที่ดังกล่าว คนทุกคนจะสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่สาธารณะจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกที่เข้มแข็งพอที่จะไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนบางคน/คนบางกลุ่มเข้ามาครอบงำได้ ส่วนพื้นที่สาธารณะจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขทางสังคมบางประการมารองรับ คือ การมีเสรีภาพทางความคิดและข้อถกเถียงกันบนหลักเหตุและผลหลายๆ ประเภท ซึ่งปัจจุบัน สังคมยังขาดเงื่อนไขดังกล่าวอยู่
“พื้นที่สาธารณะ” คืออะไร สัมพันธ์กับชีวิตเราและชีวิตการเมืองอย่างไร?
“พื้นที่สาธารณะ” ตามทัศนะของฮาเบอร์มาส นิยามว่า พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 'ความรู้สึกเป็นส่วนรวม' (sense of public) พื้นที่เช่นนี้มีความสำคัญมากสำหรับสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่บุคคลเข้าไปในปริมณฑลนั้นจะมีสถานะเป็น 'ผู้กระทำการ' (actor) ที่มีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ โดยผ่านกระบวนการสื่อสารแบบอภิปรายโต้แย้งกันด้วยการใช้เหตุใช้ผลเชิงการสื่อสาร (communication rationality) เพื่อตัดสินใจหาคำตอบที่ดีที่สุดร่วมกัน มิใช่การตัดสินใจบนฐานอำนาจของบุคคลใดบุุคคลหนึ่งหรือตัดสินใจตามแบบประเพณีที่เคยๆ ทำ ๆ กันมา
ฮาเบอร์มาส อธิบายพื้นที่สาธารณะต่อยอดแนวคิดจากนักปรัชญารุ่นดั้งเดิม เช่น จอร์จ ฟรีดริช เฮเกล, คาร์ล มาร์กซ์, อันโทนิโอ กรัมชี ฯลฯ ที่แยกพื้นที่ในสังคมออกเป็น 2 ส่วน โดยในแต่ละพื้นที่นั้นมีกลไกวิธีทำงานกันคนละแบบและมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน
นักปรัชญาเช่นเฮเกลได้แบ่งพื้นที่ในสังคมออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เกณฑ์เรื่องความเป็นส่วนรวมและส่วนตัว เรื่องราวที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เรียกว่า 'political society' เช่น เรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งในชั้นต่อมา กรัมชีได้ขยายว่าการทำงานของกลไกรัฐใน political society นี้ ได้แก่ กลไกรัฐด้านการควบคุมปราบปราม (repressive apparatus) เช่น ศาล กฎหมาย ตำรวจ ทหาร รัฐสภา พรรคการเมือง คุก เป็นต้น
อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ปัจเจกใช้อย่างเป็นส่วนตัว เรียกว่า 'civil society' เช่น ชีวิตในครอบครัว การทำงาน ชีวิตวัฒนธรรมของบุุคคล ฯลฯ พื้นที่ส่วนนี้ทำงานด้วยกลไกรัฐด้านอุดมการณ์ (ideological apparatus) เช่น การสั่งสอนของศาสนา การปลูกฝังค่านิยมผ่านสื่อมวลชน การอบรมจากพ่อแม่ เป็นต้น
ขณะที่ ฮาเบอร์มาสเสนอสิ่งที่เรียกว่า 'พื้นที่สาธารณะ' ในศตวรรษที่ 17 นั้น หมายถึง พื้นที่ที่อยู่กึ่งกลาง/เชื่อมต่อระหว่าง political society และ civil society ตัวอย่างรูปธรรมก็คือ ในร้านการกาแฟ ร้านน้ำชา ที่เรารู้จักกันในนาม 'สภากาแฟ' มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องราวต่างของสังคม หรือในห้องรับแขก โรงเหล้า เพื่อการพูดคุยถกเถียงกันอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17-18ในยุโรป ซึ่งดูเป็น 'พื้นที่ส่วนตัว' แต่ในพื้นที่เหล่านี้จะมีกลุ่มบุคคลมานั่งพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องราวของ 'สาธารณะ' เช่น ปัญหาบ้านเมือง และหากยึดตามความหมายนี้บรรดารายการโทรทัศน์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็สามารถถือได้ว่าเป็น 'พื้นที่สาธารณะ' ตามทัศนะของฮาเบอร์มาสด้วย
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ระบุว่าเนื้อหาหลักกว่าครึ่งเล่มแรกของหนังสือ The Structural Transformation of the Public Sphere ฮาเบอร์มาสให้น้ำหนักอธิบายถึงพัฒนาการของ 'พื้นที่สาธารณะ' และให้ความสำคัญแก่ยุคสมัยศตวรรษที่ 17-18 เมื่อชนชั้นกลางกระฎุมพีต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐได้และครอบครองอำนาจรัฐในช่วงศตวรรษที่ 19 และการค่อยๆ เสื่อมลงมาในเวลาต่อมา โดยสรุปนั้นฮาเบอร์มาสกล่าวถึงในศตวรรษที่ 18 กลุ่มชนชั้นกลาง ปัญญาชนได้สถาปนาตนเองเป็น 'พลเมือง' (citizen) และได้เริ่มสร้าง 'พื้นที่สาธารณะแบบใหม่' ที่เป็นของชนชั้นตนเองขึ้นมา ที่ใช้มากคือ ร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องรับแขก พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตปลอดจากอำนาจของกษัตริย์และศาสนา เนื่องจากสังกัดอยู่ใน civil society
เมื่อเวลาผ่านมา หน้าที่ของพื้นที่สาธารณะในยุคนี้ การพบปะพูดคุยของกลุ่มผู้สนทนาต้องการให้ผลลัพธ์จากการพูดคุยนั้นแปรออกไปเป็นการกระทำด้วย ดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางไปด้วย เพราะเป็นช่องทางหนึ่งให้ชนชั้นกลางได้เข้ามามีส่วนร่วมมีสิทธิ์เสียงในชีวิตสาธารณะ (public life) และยังสามารถเป็นช่องทางการตรวจสอบ/การคานอำนาจรัฐบาลในขณะนั้นด้วย และเงื่อนไขการเกิดและใช้พื้นที่สาธารณะแบบใหม่นี้มีปัจจัยสำคัญกับการเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์และขยายตัวในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หนังสือพิมพ์กลายเป็นศูนย์กลางของการป้อนข่าวสาร (ขาเข้า) รวมทั้งเป็นเวทีการแสดงออก (ขาออก) ของกลุ่มด้วย ทำให้มีลักษณะของการสื่อสารแบบสองทาง และกระจายตัวรอบทิศ
ฮาเบอร์มาสสรุปว่า พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 17-18 ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นกลางในการโค่นล้มสังคมแบบศักดินาในหลายๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น จนสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้
ข้อจำกัดและ 'ความเสื่อม' ของพื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ดร.โรเปอร์ส ชี้ให้เห็นข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากเป็นมุมของอุดมการณ์มากกว่าที่เป็นความคิด และกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ คือนายทุนหรือกลุ่มคนที่มีทรัพย์สิน มีการศึกษา รวมทั้งการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ก็อยู่เพียงในมือของคนกลุ่มน้อย ที่มีบทบาทในการควบคุม เป็นเจ้าของ ดูแลเนื้อหาของสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้
“ตอนต้นของงานเขียน ฮาเบอร์มาส ให้ความสำคัญเกี่ยวกับศตวรรษที่ 18ที่เป็นช่วงการขยายตัวของพื้นที่สาธารณะ แต่ตอนท้ายของงานเขียนจะกล่าวถึงความเสื่อมถอยของพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วมีการตั้งคำถามในเวลาต่อมา จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการฟื้นคืนของพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมาให้ได้”
ดร.โรเปอร์ส สรุปปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของพื้นที่สาธารณะ ประการแรก คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะเอง กล่าวคือ ยิ่งมีความขยายตัวของพื้นที่สาธารณะเท่าใด ยิ่งมีผู้ที่เข้ามาร่วมใช้พื้นที่มากขึ้น ย่อมก่อเกิดสังคมการเมืองในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว อาทิ ชนชั้นกลางที่มีอำนาจรัฐในมือก็แปลงความหมายของพื้นที่สาธารณะที่เคยเป็น 'เขตพูดคุยเรื่องการเมือง' ให้กลายเป็น 'เขตปลอดการเมือง' แล้วเปลี่ยนพื้นที่จากมิติการเมืองสู่มิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เช่น การสร้างศูนย์การค้า สวนสนุก โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ทำให้การรวมตัวจำนวนมากของผู้คนในพื้นที่สาธารณะกลายเป็นการหาความสนุกสนาน แสวงหาความรู้ การจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น
เมืื่อพื้นที่และวิธีคิดของการใช้พื้นที่ถูกตัดแต่งไปจากเดิมจนสิ้นสภาพ ย่อมทำให้ “ความเป็นพลเมือง” ที่เคยมีการส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน กลายเป็น “ผู้บริโภค (ทางการเมือง)” และผู้รับสารที่เฉื่อยชา แม้จะเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะต่างๆ แต่ก็ไม่มีการถกเถียง ไม่มีการเข้าไปร่วมในเหตุการณ์สาธารณะนั้นทั้ง 3 มิติ คือ มิติความเข้าใจ (ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้) มิติอารมณ์ความรู้สึก (ไม่รู้สึกอะไรในเรื่องนี้) และมิติการกระทำ (ไม่รู้จะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้) มากกว่านั้น ยังทำให้เกิด 'ระบบตัวแทน' หรือ 'ลัทธิรับทำแทน' ก็คือตัวแทนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง พวกมืออาชีพทางการเมืองเข้ายึดพื้นที่ ฮาเบอร์มาสเรียกว่า 'spatial-interest group' หรือ 'Knowledge broker' ตัวอย่างเช่น พวกนักการเมืองมืออาชีพ พวกล็อบบี้ยีสต์ ราษฎรอาวุโส นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองของสื่อมวลชนประเภทต่างๆ[1] แง่นี้เอง การใช้พื้นท่ีสาธารณะเพื่อคุยกันแบบตัวต่อตัวหรือสื่อสารในแบบที่ใช้ในพื้นที่สาธารณะในแบบเก่าลดลงแทบไม่เหลือเค้าลางเดิม และคำถามต่อเรื่องนี้คือ ความคิดเห็นของกลุ่มมืออาชีพเหล่านี้สอดคล้องกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่ง พลังความคิดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เป็นจริงหรือไม่
ประการที่สอง การเกิดขึ้นของสื่อสารมวลชน (Mass media) ที่ช่วงหลังถูกบรรษัท ธุรกิจยึดครอง ประกอบการขยายตัวของนักวิชาการเกี่ยวกับการสื่อสารในช่วงหลังมีมากขึ้น ทำให้เกิดการแยกตัวเพื่อผลิตสื่อของตัวเอง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป้าหมายหลักคือการมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เรียกว่าเป็น 'political press' เมื่อสังคมเปลี่ยนไปสื่อก็เปลี่ยนแปลงตัวเองตามกัน โดยเปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นเพื่อการค้าที่เรียกว่า 'commercial press' ทำให้หนังสือพิมพ์และสื่มวลชนหมดบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะไปทีละเล็กละน้อย
ประการที่สาม พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ทางความคิดเห็นหรือประชามติความคิดเห็น โดยผ่าน 'เครื่องมือ' การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้เป็นพื้นที่ความคิดเห็นของสาธารณะ ต่างจากเดิมที่เกิดจากการพูดจา หารือตัวต่อตัว คนต่อคน แต่แบบใหม่คือการใช้ 'แบบสำรวจความคิดเห็นโดยทั่วไป' ซึ่งมาจากการถามรายบุคคลแล้วนำมาอธิบายเป็นแบบส่วนรวม
คำถามที่หาคำตอบยาก “ทำอย่างไรให้เกิดสังคมประชาธิปไตย?”
ข้อสรุปของฮาเบอร์มาสมีเยอะมาก แต่ ดร.โรเปอร์สได้สรุปส่วนที่สำคัญที่สุด คือ คำถามของฮาเบอร์มาสที่ทิ้งค้างไว้เป็นเวลานานแล้ว “ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดสังคมที่ดี สังคมประชาธิปไตย ให้เหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18”
หากกลับไปอ่านแนวคิดของ 'เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส' ดร.โรเปอร์ส ระบุว่ามีคำตอบบางประการแต่ไม่ทั้งหมดคือ ขึ้นอยู่กับทักษะของประชาชนที่จะสร้างพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมหลากหลายฝ่าย และการเข้าร่วมอย่างมีอิสระ สำหรับการสร้างพื้นที่สาธารณะและสร้างวาทกรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นใหม่ การสร้างพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมา มาจากการอาศัยการพูดคุยตัวต่อตัว คนต่อคน และใช้การกระทำเชิงการสื่อสาร (communication actions) เข้ามาประกอบด้วย ทั้งสองส่วนจึงจะสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เพื่อเกิดสังคมประชาธิปไตยได้
“แล้วโอกาสเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นไปได้หรือไม่?”
ดร.โรเปอร์ส อธิปรายสรุปว่า ความเห็นส่วนใหญ่มีความขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่า การสื่อสารในปัจจุบันมีความฉาบฉวย รายงานข่าวสารเพียงผิวเผิน ทำให้สังคมเกิดการย้อนกลับไปสู่ระบบศักดินาในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมเป็นอย่างมาก อีกฝ่ายมองว่าsocial media new mediaและalternative mediaสื่อออนไลน์ ทั้งหลาย กำลังสร้างชัยชนะ ยึดพื้นที่คืนมาได้ และสร้างการเมืองใหม่ในพื้นที่สาธารณะขึ้นมา ซึ่งทั้งสองเป็นความเห็นที่มีการถกเถียงและขัดแย้งกันอยู่
งานของฮาเบอร์มาส ตอบโจทย์ข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่สาธารณะอย่างไรบ้าง ซึ่งมี 3ประการ
- จากทฤษีการกระทำเชิงการสื่อสาร (Therory communication action) เป็นแนวทางชี้นำให้เกิดการปกป้องพื้นที่สาธารณะได้ สำหรับฮาเบอร์มาสแล้ว คำถามที่จำเป็นสำหรับการจัดระบบสังคม การเมือง และประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ คือ การกระทำเชิงสื่อสารที่สามารถจัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง “ระบบ” (system) ของอำนาจและทุน กับ “โลกแห่งชีวิต” (lifeworld) ที่รวมเอาทั้งปริมณฑลส่วนตัวและส่วนรวมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ศาสนาของบุคคลเอาไว้ด้วยกันได้อย่างไร? ทำอย่างไร “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลาง/เชื่อมต่อระหว่าง political society และ civil society ไม่ถูกครอบงำโดย “ระบบ” ทว่ายังรักษาความเป็นอิสระของปัจเจกไว้ได้
- การทำให้ความเป็นสมัยใหม่สมบูรณ์ขึ้น การสืบทอดแนวคิดของอิมมานูเอล คานท์ และนักปรัชญาสำนักแสงสว่างทางปัญญา (Endlightenment) ซึ่งฮาเบอร์มาสตีความว่า กระบวนการความเป็นสมัยใหม่ การจะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากค่านิยมแบบเก่าสู่โลกใหม่ และอยู่ร่วมกันในโลกที่หลากหลายทางวัฒนธรรม จำเป็นต้องเรียนรู้ 'เหตุผลของการกระทำ' และให้ความสำคัญเรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง 'การทำงานของสถาบันทางสังคม' (เช่น สถาบันรัฐ กฎหมาย การเมือง) กับ 'การก่อรูปอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล' โดยผ่านการทำงานของตัวกลางต่างๆ โดยเฉพาะ 'การสื่อสาร'
- วาทกรรมแห่งจริยธรรม ส่วนประกอบขั้นพื้นฐานหนทางแก้ไขความขัดแย้ง สืบต่อจากแนวคิดของคานท์ ฮาเบอร์มาส เห็นว่า เรื่องการใช้เหตุผลได้เข้าทะลุทะลวงแม้แต่คำอธิบายเกี่ยวกับจริยธรรมมนุษย์ เขาจึงประสานแนวคิดเรื่องจริยธรรมเข้ากับเรื่องการใช้ภาษาด้วย
สื่อทางเลือกชายแดนภาคใต้สร้างพื้นที่สาธารณะหาทางออกของความรุนแรง?
จากแนวคิดฮาเบอร์มาสสู่การวิพากษ์สื่อทางเลือกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.โรเปอร์ส ระบุว่า หากอ้างอิงหลักคิดสำคัญของฮาเบอร์มาสก็จำเป็นต้องพูดถึงการส่งเสริมการเกิดสันติภาพ ความยุติธรรมในพื้นที่ โดยสร้างพื้นที่สาธารณะ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อให้หลุดพ้นจากการใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจบังคับ ครอบงำ ผู้คนในพื้นที่มีอิสระ เสรีภาพในการออกแบบพื้นที่ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดอนาคตในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จึงเชื่อมั่นว่า ฮาเบอร์มาสกำลังอวยพรให้สื่อทางเลือกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ และสามารถกำหนดวาระข่าวสารได้!
คำพูดสุดท้ายของฮาเบอร์มาสคือ “No one is free ,Until we are all Free” (จากหนังสือ Religion and Modernity: Essays on Reason, God and Modernity. Cambridge 2002) อธิบายความได้ว่า "ไม่มีใครเป็นอิสระ จนกว่าเราทุกคนเป็นอิสระ”
ผู้เข้าร่วมฟังบรรยายสาธารณะมีคำถามแลกเปลี่ยน อาทิ “พื้นที่สาธารณะจากแนวคิดของฮาเบอร์มาส คือ สื่อเป็นหนึ่งเดี่ยว (Single Public Sphere) แต่ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ สื่อทางเลือกมากขึ้น จะทำให้การมีพื้นที่เดียวแตกกระจายหรือไม่
ดร.โรเปอร์ส กล่าวว่า “การเกิดของสื่อใหม่ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่สาธารณะ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ใช่ความกระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ แต่เป็นการให้พื้นที่แก่ปัจเจกบุคคลมากขึ้นที่จะมาร่วมกันใช้พื้นที่สาธารณะโดยตรง เป็นการเสริมสร้างความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะมากกว่า และในยุโรปก็มีกระบวนการทางพรรคการเมืองที่มีความสนใจในเครือข่ายสังหรือSocial mediaมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญในสังคมมากขึ้น”
อีกคำถามที่น่าสนใจ “สื่อกับคนชายขอบ ช่องว่างระหว่างเทคโนโลยี จะทำให้เกิดความห่างระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบทมากขึ้นหรือไม่ พื้นที่สาธารณะจะเข้ามีส่วนในแก้ปัญหาหรือเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างไร เมื่อต้องมีการจ่ายเพื่อการเข้าถึงระดับหนึ่ง?”
ดร.โรเปอร์ส อธิบายว่าน่าจะต่างกันอย่างมาก “ในประการแรก การมีส่วนร่วมของsocial mediaที่มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย คนเข้ามาดูเป็นล้านคลิก เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 21ความเป็นประชาธิปไตยมีสูงกว่ามาก อีกส่วนคือ ความเป็นโลกาภิวัฒน์ ที่มีกระบวนการขับเคลื่อนระดับโลกSocial mediaจึงทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมมากกว่าแต่ก่อน พูดได้ว่าSocial mediaมีส่วนร่วมมากกว่า” อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่อง 'พื้นที่สาธารณะ' แบบที่ต้องมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ที่จะมาพบปะกันในโลกจริงๆ นั้น อาจจะคลี่คลายออกไปเป็นการโต้แย้งอภิปรายกันใน 'พื้นที่สาธารณะในโลกเสมือน' (virtual public sphere) [2]
และคำถามสำคัญ “สังคมที่แตกต่างระหว่างความคิดเห็นของคนมุสลิมและพุทธที่ จะสร้างcritical massอย่างไร?” ดร.โรเปอร์ ยืนยันว่า เรายิ่งต้องการพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้นำไปสู่การสร้างพื้นที่ก้าวพ้นวาทกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเอกเทศ พื้นที่สาธารณะต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดการก้าวข้าม ต้องมีการสร้างพื้นที่แบบร่วมกันสร้างวาทกรรมโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจ หรือการควบคุมหรือการสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮาเบอร์มาสยืนยันเป็นอย่างยิ่ง และจากไดอาแกรมที่แสดงอยู่นั้น เห็นได้ว่า พื้นที่กลางคือพื้นที่สังคมจะสร้างความสมดุละหว่างพื้นที่อื่นๆ คือ พื้นที่ของรัฐ พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สังคมวัฒนธรรม ศาสนา ฯ กระบวนการเหล่านี้ จะสามารถทำให้เกิดความสมดุลของพื้นที่อื่นๆ ต่อสาธารณะได้
......................
ภาพประกอบโดย อิบรอเฮ็ม มะโซ๊ะ
อ้างอิง
[1] อธิบายความประกอบจากสายธารนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, น.381.
[2] อ้างอิงคำอธิบายประกอบจากหนังสือสายธารนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, น.388.