เหมือนขวัญ เรณุมาศ
หนังสือแผ่นดินจินตนาการ ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี เป็นหนังสือเล่มหนา จำนวน 596 หน้า และแต่ละหน้ากระดาษก็ทรงไปด้วยคุณค่าทางวิชาการไว้มากมาย ที่สำคัญภายในหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความวิจัยจำนวน 9 เรื่อง จากนักวิชาการจำนวน 9 ท่านไว้ด้วยกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2551 และได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นบรรณาธิการ
สิ่งสำคัญที่หนังสือแผ่นดินจินตนาการบอกกล่าว คือ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หาใช่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเพียงเท่านั้น แต่ความรุนแรงยังเป็นผลมาจากโครงสร้างทางการเมืองรวมถึงเป็นผลมาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง ฉะนั้นความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกนำเสนอในหนังสือแผ่นดินจินตนาการนี้ จึงมีความเกี่ยวพันสลับซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคาดคิดกันไว้
หนังสือแผ่นดินจินตนาการมีการนิยามว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “พื้นที่พิเศษ” ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีนโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่ออกแบบมาสำหรับพื้นที่นี้โดยเฉพาะในนามของ “นโยบายความมั่นคงแห่งชาติจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในขณะที่พื้นแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่พิเศษ ความรู้ที่สังคมไทยผลิตขึ้นเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้กลับมีไม่มากนักและส่วนใหญ่ยังขาดหายความรู้ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงสำหรับพื้นที่ “ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง” คนและหน่วยงานทั้งทหารและพลเรือนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ควรต้องผ่านการคัดกรองด้วยการอาศัย “คู่มือ” เฉพาะที่จะช่วยเตรียมตัวข้าราชการ
ในขณะเดียวกัน จุดเน้นที่สำคัญของหนังสือแผ่นดินจินตนาการได้สื่อให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นมีทั้งส่วนที่สามารถช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้น ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่จึงเพิ่มความยากขึ้น มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและโลกมุสลิมก็พยายามเฝ้ามองสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวรบในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายภาคเอเชียอาคเนย์ของสหรัฐและกลายเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่มุสลิมกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมในสายตาของผู้คนบางส่วนจากโลกมุสลิม แต่เหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ที่เป็นราษฎรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องบาดเจ็บ เสียชีวิต
จนกระทั่งที่สุดแล้วความรุนแรงก็ได้ส่งผลให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นออกจากดินแดนแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดที่ผ่านมา หลายคนอาจเสนอแนะว่าเป็นผลมาจากความเกลียดชังระหว่างสองศาสนา แต่ รัตติยา สาและ (2551) ได้อธิบายใหม่ว่า ความสัมพันธ์ในแนวนอนระหว่างประชาชนชาวพุทธและมุสลิมยังคงตั้งอยู่บนฐานของการเคารพและการออมชอมต่อกันอยู่ อาจมีความขัดแย้งกันบ้างแต่เป็นเพียงความขัดแย้งส่วนบุคคลและด้านผลประโยชน์นอกระบบ ในขณะที่ความสัมพันธ์แนวตรงระหว่างรัฐกับประชาชนกลับเริ่มมีความห่างเหิน ไม่ไว้ใจกันมากขึ้น ดังนั้นหนังสือแผ่นดินจินตนาการจึงนับว่ามีความสำคัญมากในการเสนอแนะว่า ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถอธิบายได้เพียงแค่ในกรอบของศาสนา ประวัติศาสตร์ และการเมืองเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มผงาดขึ้นมาเนิ่นนาน แต่ตามแก่นคิดของผู้เขียนโดยส่วนใหญ่ได้เสนอตรงกันว่า ความรุนแรงจากความขัดแย้งนั้นเริ่มปะทุขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์การปล้นปืนในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2547 อันเป็นสัญญาณร้ายที่ประกาศการต่อต้านอำนาจรัฐอย่างเด่นชัดของกลุ่มขบวนการ
ผู้เขียนแผ่นดินจินตนาการพยายามมองภาพความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ที่ถูกเรียกขานว่าพื้นที่พิเศษด้วยการกลับไปทบทวนนโยบายด้านความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนได้ทราบข้อเท็จจริงบางประการว่า ในบางช่วงนโยบายความมั่นคงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่สามารถกะรันตีได้ถึงการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน เช่น นโยบายความมั่นคงนับตั้งแต่ปี 2521 เพราะรัฐมีการให้ความหมายความมั่นคงในแง่ “การปกป้องดินแดน” และ “การรักษาอำนาจรัฐ” มากเกินไป จนกระทั่งในช่วงปี 2542-2546 นโยบายนี้ให้ความหมายความมั่นคงในแง่ “ความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของประชาชน” เพิ่มเติมภายหลัง ซึ่งถือเป็นการยกระดับตัวนโยบาย
แต่แล้วปัญหาสำคัญที่ผู้เขียนมักหยิบยกมานำเสนอร่วมกันในแผ่นดินจินตนาการที่นอกเหนือจากตัวนโยบายคือ การปฏิบัติการที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักจะละเลยหรือปฏิบัติตรงกันข้ามกับสิ่งที่นโยบายกำหนด (มารค ตามไท และสมเกียรติ บุญชู, 2551) และในบางเวลาก็มีการผสานเอาตัวนโยบายมาสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติการที่รุนแรงต่อประชาชน เช่น นโยบายภายใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เน้นการปราบปรามและจับกุมในหลายกรณีอย่างไม่มีหลักฐานที่แน่นหนา พร้อมกันนั้นผู้เขียนในแผ่นดินจินตนาการจึงยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่พิเศษที่ได้ปฏิบัติงานออกนอกกรอบกระบวนการยุติธรรม เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในหนังสือแผ่นดินจินตนาการ มีความหนักแน่นในการยืนยันว่าการปฏิบัติงานที่ไร้ความเป็นฆาราวาสของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเกิดจาก (1) บางหน่วยงานไม่ได้มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน (2) กองทัพบกและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ถูกฝึกฝนให้ทำสงครามในรูปแบบกองโจร (3) ภาวะทางอารมณ์และจิตใจของเจ้าหน้าที่ ที่บางครั้งต้องการกระทำความรุนแรงเพื่อแก้แค้นแทนเพื่อนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตนั่นเอง (รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, 2551)
ดังนั้นปัญหาการปฏิบัติการที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยของผู้เขียนในแผ่นดินจินตนาการตลอดมาว่า ผู้รับผิดชอบหรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน “พื้นที่พิเศษ” ไม่เข้าใจปัญหา เพราะขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งฐานคิดนี้สะท้อนได้จากผลการทบทวนวรรณกรรมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศในช่วงปี 2542-2546 ที่พบว่า สังคมไทยผลิตองค์ความรู้ประเภท งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไม่มากและยังไม่ก้าวหน้ามากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรฐานในเชิงกระบวนการผลิตที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน นอกจากนั้นในแง่ประวัติศาสตร์ ก็พบว่างานวิจัยส่วนใหญ่มิได้ศึกษาปัตตานีในฐานะพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตน แต่เป็นงานศึกษาที่มองผ่านประวัติศาสตร์สยามเป็นหลักมากกว่า (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2551)
กระนั้น หลังจากที่ผู้เขียนโดยส่วนใหญ่ในแผ่นดินจินตนาการได้นำเสนภาพการปฏิบัติงานที่ล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว จึงมีการตอบโจทย์ครั้งสำคัญอีกต่อไปว่า แท้จริงแล้วภาครัฐได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรมากน้อยเพียงใดก่อนเข้าปฏิบัติงานจริง ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ถูกดำเนินการผ่านการศึกษา “คู่มือ” ข้าราชการจำนวนทั้งหมด 14 เล่ม จนกระทั่งพบคำตอบว่า “คู่มือ” เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามช่วงสมัย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยยังคงไม่เคารพหรือมีความจริงใจที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับคนต่างศาสนาอย่างชัดเจน
เช่นใน “คู่มือ” ข้าราชการที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2547 มีข้อความให้ข้าราชการแยกโต๊ะครูและโต๊ะอิหม่ามไว้เป็นพิเศษ และจึงค่อยเข้าไปสร้างความรู้จักคุ้นเคย เช่น ให้ทักทายปราศรัยหรือมีประชุม “เป็นพิเศษพอเป็นพิธี” ทั้งนี้ผู้เขียนวิเคราะห์คำว่า “พอ” ว่าเป็นการแสดงให้เห็นวาทกรรมของรัฐไทยได้หลายประการ อาทิเช่น สะท้อนความไม่ใส่ใจหรือไม่มีความรู้ภาษาไทย หรืออาจะสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ครั้งหนึ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษมาถึงวันนี้เพียงทำให้เป็น “พอเป็นพิธี” ก็เพียงพอแล้ว ในท้ายที่สุดผู้เขียนก็สรุปว่า วาทกรรมนี้เป็นการตรอกย้ำความไม่สำคัญของ “คนอื่น” ที่อยู่ในพื้นที่ในสายตาของรัฐไทยนั่นเอง (เดชา ตั้งสีฟ้า, 2551)
อย่างไรก็ตาม จุดต่างของหนังสือแผ่นดินจินตนาการก็มีปรากฏให้เห็น โดยมีการโต้แย้งเล็กน้อยว่าภาพลักษณ์ที่มองการปฏิบัติงานอย่างไร้ความเป็นฆาราวาสของเจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถมองแบบเหมารวมได้ เพราะแท้จริงแล้วเจ้าหน้าที่ทหารแต่ละหน่วยองค์กรจะมีวัฒนธรรมต่างกัน และนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่ต่างกัน ทั้งนี้ผู้เขียนเสนอว่า การปฏิบัติงานของทหารรักษาพระองค์ มีการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าองค์กรหน่วยทหารอื่นๆ เพราะสามารถเปลี่ยนท่าทีและทัศนคติของประชาชนให้ยอมรับการปฏิบัติงานของทหารด้วยการอาศัยวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้น เกียรติยศ และศักดิ์ศรี จึงพยายามไม่กระทำผิดพลาดแก่ประชาชน (พันโทหญิง พิมลพรรณ อุโฆษกิจ, 2551)
แต่อย่างไรแล้ว การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนที่เน้นใช้ความรุนแรงตลอดที่ผ่านมา ยังกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำลายความไว้วางใจที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่นที่ รัตติยา สาเละ ได้เน้นย้ำให้เห็นตลอดว่า ปฏิสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนเริ่มมีความห่างเหิน หวาดระแวงกันมากขึ้น แต่ปฏิสัมพันธ์ในแนวนอนระหว่างประชาชนต่างศาสนา คือ (พุทธ-มุสลิม) นับตั้งตั้งอดีตกาลมายังคงมีความเป็นกัลยาณมิตร ช่วยเหลือดูแลกันและกันมาโดยตลอด แม้ว่าช่วงที่เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมก็ยังคงมีความออมชอม เคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันอย่างมั่นคงภายใต้ระบบอุปถัมภ์ พร้อมกันนี้ตามทัศนะของผู้เขียนจึงมองว่า “ศาสนา” ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รัตติยา สาและ, 2551)
ส่วนทางด้านผลกระทบ ถูกนำเสนอว่าตลอดช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นนานกว่า 10 ปีนี้ มีผลกระทบด้านต่างๆ มากมาย เช่น การสร้างความเสียหายแก่ความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และการศึกษา รวมถึงส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาลง จนกระทั่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมมีการย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่เดิมเข้าสู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในระดับหนึ่ง แต่เมื่อพูดถึงการย้ายถิ่น ผู้เขียนมิได้เจาะจงว่า “ความรุนแรง” เป็นปัจจัยหลักทั้งหมดในการย้ายถิ่นฐานของประชาชน แต่มีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาร่วมกำหนดด้วย (ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, 2551)
กระนั้นก็ตาม ผลจากความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆ ดังที่กล่าวมาทำให้ผู้เขียนในแผ่นดินจินตนาเห็นคล้องกันว่า สันติภาพยังคงผลิบานได้ช้าเมื่อรัฐไทยมีความพยายามสูงสุดในการติดป้ายให้ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาภายในที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่าง JI หรือ อัลกออิดะห์ เพราะเกรงว่าจะถูกกดดันจากสหรัฐและประเทศโลกมุสลิมที่ไม่ชอบการ “ก่อการร้าย” (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2551) การทำให้เป็นแค่เรื่องภายในจึงยากต่อการแก้ไขปัญหา ในสองบทสุดท้ายของแผ่นดินจินตนาการจึงเป็นการที่ผู้เขียนพยามยามเน้นให้เห็นว่า ตำแหน่งแห่งที่ของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในจินตนาการของสหรัฐและโลกมุสลิมนั้นเป็นอย่างไร
แมตธิว วีเลอร์ (2551) เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทางการสหรัฐกับรัฐไทย โดยพิเคราะห์ว่า ท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อไทยนั้นถูกกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการวิเคราะห์แล้วถึงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ สหรัฐไม่เห็นประโยชน์ต่อตนเองหากเข้าไปมีบทบาทโดยตรงในปัญหาภาคใต้ของไทย ด้วยเหตุนี้ วีเลอร์จึงพบว่า สหรัฐมีความพยามทำให้โครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงต่างๆ ที่สหรัฐทำร่วมกับไทยไม่ถูกติดป้ายที่ทำให้ฝ่ายต่างๆ จะเข้าใจว่าสหรัฐเข้าไปมีบทบาทโดยตรงในการปราบปราบการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนก็ได้เผยให้เห็นถึงความกังวลของสหรัฐที่มีต่อโลกมุสลิมในประเด็น “ผู้ก่อการร้าย” จนนำมาสู่ความกังวลในสถานการณ์ภาคใต้ของไทยด้วย
ในขณะที่ อิมติยาส ยุซุฟ (2551) เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมในไทยกับโลกมุสลิม ได้ตอบคำถามว่า โลกมุสลิมมองเห็นปัญหาในทางภาคใต้อย่างไร ด้วยการชี้ให้เห็นข้อต่างระหว่างทัศนะทางการที่มาจากนักการทูตกับทัศนะที่ปรากฏในสื่อมุสลิม การศึกษาของยูซุฟ เผยให้เห็นว่า ทัศนะของสื่อเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวผสานกับความเห็นอกเห็นใจ “พี่น้องมุสลิม” และมองรัฐไทยเป็นผู้ร้ายที่รังแกชาวมุสลิม ในขณะที่ทัศนะจากนักการทูตเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ใช้อย่างระมัดระวัง เป็นต้น
ผู้วิพากษ์เห็นพ้องตรงกันกับผู้เขียนในประเด็นที่ว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหาและนโยบายที่ถูกนำไปปฏิบัติใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรงที่ยืดเยื้อส่วนหนึ่ง ซึ่งปัญหาส่วนนี้ส่อเค้าให้เห็นความไม่ธรรมเชิงโครงสร้างจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรม อาทิเช่น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งการที่ภาครัฐนั้นละเลยกระบวนการทำงานอย่างรอบด้าน มุ่งเสนอแนะปรับปรุงนโยบาย แต่ขาดกระบวนการอบรมและคัดเลือกข้าราชการอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดจนก่อให้เกิดความไร้เอกภาพในการปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้วิพากษ์อดสงสัยไม่ได้คือ แท้จริงแล้ว เจ้าหน้าทหารที่ละเลยไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบายที่แก้ไขปรับปรุงแล้วนั้น นอกจากจะตั้งตัวเป็นศัตรูกับกลุ่มขบวนการและชาวบ้านที่เป็นที่ต้องสงสัยอย่างชัดเจนแล้ว การเพิกเฉยต่อสิ่งที่ถูกต้องตามนโยบายเป็นการตั้งตัวเป็นศัตรูกับรัฐ โดยถือกุมอำนาจที่อยู่นอกเหนือคำสั่งรัฐด้วยหรือไม่ หากว่านี่เป็นเรื่องจริง ก็เป็นการยากขึ้นสำหรับการแก้ไขปัญหาที่นำไปสู่สันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนั้น การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบ ๒๖ปี (พ.ศ 2521-2547) ที่มีการค้นพบว่า วรรณกรรมส่วนใหญ่ยังไม่ก้าวหน้าและยังคงปรากฏแต่งานศึกษาที่มองผ่านแว่นประวัติศาสตร์สยามเป็นหลักมากกว่างานศึกษาที่มองผ่านแว่นท้องถิ่น เป็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าความขัดแย้งและสาเหตุแห่งความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้นเกิดขึ้นอย่างไรและเพราะเหตุใด ฉะนั้นด้วยความรู้ในความไม่รู้ของสังคมไทยที่ผ่านมานี่เองจึงเป็นเหตุให้ความยุติธรรมและสันติภาพจึงผงาดขึ้นยาก
กระนั้นก็ตาม ในทัศนะของผู้วิพากษ์ได้เห็นพ้องต่อไปว่า การที่สังคมไทยผลิตงานศึกษาที่มองผ่านแต่แว่นประวัติศาสตร์สยามนั้น เป็นเพราะในห้วงเวลาดังกล่าวรัฐไทยละเลยพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ทั้งที่ความขัดแย้งในพื้นที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานนับตั้งแต่ที่รัฐไทยได้ผนวกรวมพื้นที่แห่งนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยแล้ว แต่รัฐไทยก็ได้เพียงติดป้ายความขัดแย้งนั้นให้เป็นเพียงเรื่องอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดของรัฐที่ประเมินสถานการณ์ที่ผิดๆ ในการนี้จึงส่งผลให้ในช่วงแรกเริ่มนักวิชาการไทยย่อมไม่สนใจที่จะศึกษาพื้นที่สามจังหวัดผ่านแว่นท้องถิ่นอย่างจริงจังนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้วิพากษ์ก็ไม่เห็นพ้องในประเด็นที่ว่า “ศาสนา” ไม่ได้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการปลุกปั้นความรุนแรงและการทำลายสายสัมพันธ์ เพราะในประเด็นนี้ถึงแม้อ่านแล้วจะช่วยผ่อนคลายความเครียดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บ้าง แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “เหตุการณ์ กรือเซะ ,ตากใบ” เป็นการให้ภาพของรัฐไทยพุทธรังแกชาวมุสลิมอย่างโหดเหี้ยม ภาพเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมซึ่งยึดโยงอยู่กับมิติทางชาติพันธุ์ (ethnicity) ที่กลุ่มชาติพันธุ์มลายูซึ่งผูกโยงอยู่กับศาสนาอิสลามถูกกระทำความรุนแรงจากรัฐไทยพุทธ ถูกจับตัวนอนทับซ้อนกันจนกระทั่งขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
ในขณะที่รัฐไทยพุทธมีสิทธิอำนาจในการกระทำที่เหนือกว่ามาโดยตลอด พร้อมกันนี้เราก็ไม่อาจปฏิเสธภาพ “พระสงฆ์” ถูกทำร้าย ปล้น ยิง ฆ่าปาดคอ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการได้ ภาพทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอในมิติชาติพันธ์ จนนำมาซึ่งความเกลียดชัง หวาดระแวงกันเองในกลุ่มประชาชนที่มีอยู่ในใจ แต่กระนั้นก็ตาม คงจะไม่ถูกต้องทั้งหมดด้วยหากกล่าวอ้างว่า “ศาสนาอิสลาม” ไม่ถูกนำมาเกี่ยวข้องในการก่อการร้าย เพราะผู้วิพากษ์มองว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่เปาะบาง และเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดแล้วในการชักจูงเยาวชนให้เข้าร่วมกระบวนการ ดังที่อดีตสมาชิกฝ่ายการเมืองระดับกลางของกลุ่ม BRN-Coordinate คนหนึ่งมีการให้รายละเอียดไว้ในหนังสือ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ของ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช (2556) ตอนหนึ่งว่า “ฐานแห่งการปฏิวัติ คือ ศาสนา แนวทางการต่อสู้ คือ จับอาวุธ และเป้าหมายของการปฏิบัติการ คือ Merdeka (เอกราช)” ซึ่งจะเห็นว่า ถึงแม้ “ศาสนา” ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่แท้จริงในความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นรายวัน แต่ “ศาสนา” นั้นสำคัญในแง่ที่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์และการต่อสู้
ทว่า นอกเหนือจากเรื่องศาสนาแล้ว ภายในหนังสือแผ่นดินจินตนาโดยภาพรวมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการอธิบายที่มาของความขัดแย้งรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในรูปแบบที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองและสังคม แต่แผ่นดินจินตนาการยังไม่เน้นหนักในการเสนอแนะแนวทางการสร้างสันติภาพ ฉะนั้นแผ่นดินจินตนาการจึงถือว่าเป็นงานเขียนที่สอดแทรกเนื้อหาเชิงวิพากษ์และนำเสนอแนะปัญหา / ที่มาของปัญหาเสียมากกว่า
โดยปัญหาที่ถูกนำเสนอจะมาพร้อมๆ กับการให้ภาพตัวแสดงหลักๆ สองฝ่าย นั่นคือ “พระเอก” กับ “คนร้าย” อันพระเอกนั้นดูเหมือนไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน แต่คนร้ายโดยแท้แล้วจะเข้าใจได้ว่าเป็น “ส่วนต่างๆ ของรัฐไทย” ที่ผิดพลาดตั้งแต่การวางนโยบายผสมกลมกลืน นโยบายความมั่นคงสามจังหวัดชายแดนใต้ นโยบายการศึกษา ในขณะเดียวกัน ความไม่ใส่ใจ “คู่มือ” ข้าราชการ การขาดเอกภาพในการทำงาน การจับกุมโดยไร้การสอบสวน การไร้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จึงกลายเป็นภาพของผู้ร้ายที่สร้างความขัดแย้งให้หยั่งรากลึกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่เมื่อพิจารณาประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือแผ่นดินจินตนาการ ที่นับว่าเป็นการเผยม่าน “ความซับซ้อน” ของการทำความเข้าใจปัญหาเห็นทีจะเป็นเรื่อง อ่าน “คู่มือข้าราชการ” เขียนพื้นที่วัฒนธรรม: วาทกรรมวัฒนธรรมของไทย กับพื้นที่ในระหว่างไทย-มาเลเซีย ของ เดชา ตั้งสีฟ้า (2551) ซึ่งพบว่า รัฐไทยมีปัญหาในการเตรียมบุคลากรให้พร้อมก่อนการปฏิบัติงาน บุคลากรจึงไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐไทยยังคงจมอยู่กับวาทกรรมเดิมๆ ที่มองคนมลายูเป็นเพียง “คนอื่น” ที่ไม่สำคัญ วาทกรรมเหลานี้จึงเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกปฏิบัติของรัฐ ประเด็นนี้สำคัญในแง่ที่ส่งผลให้ผู้วิพากษ์เองมองว่า เมื่อมีเรื่องของวาทกรรมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงด้วยแล้ว การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเองที่กำลังดำเนินอยู่จึงไม่เพียงแต่กระทำการโดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายเท่านั้น แต่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงหรือสลายวาทกรรมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐและสื่อด้วย
ท้ายที่สุดขอจบลงด้วยการวิพากษ์ผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบทที่ 7 ว่าด้วยความรุนแรงกับการย้ายถิ่น ในบริบทนี้ผู้วิพากษ์มีจุดร่วมกันกับผู้เขียนคือ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ในการมองว่า ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดให้ผู้คนมีการย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ แต่พื้นที่ปลายทางนอกจากอำเภอหาดใหญ่แล้ว พบว่าในช่วงระยะเวลา 20 – 30 ปีที่เกิดความรุนแรงขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ยังมีประชาชนอพยพหนีตายเข้าไปในมาเลเซียประมาณ 3,000 คน มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่กลับมาฝั่งไทย ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ไม่ยอมกลับมาเมืองไทย มีความประสงค์จะพำนักอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นการถาวร (คำนวณ นวลสนอง และคณะ, 2551)
นี่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงได้ทำลายความเชื่อมั่นพร้อมกับการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนจนเป็นหนทางพร่างพรายให้ประชาชนเลือกที่จะย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยเลือกพื้นที่ที่มีฐานเศรษฐกิจมั่นคงกว่า อาทิเช่น อำเภอหาดใหญ่และบางรัฐในประเทศมาเลเซีย ที่สำคัญผู้วิพากษ์ยังมองว่า การย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ต้นทางของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นับเป็นสิ่งหนึ่งที่กลุ่มขบวนการเรียกว่า “ความสำเร็จ” จากการปฏิบัติการก็เป็นได้ อันเนื่องจาก สามารถสร้างความสะเทือนขวัญ แสดงความเป็นกลุ่มที่เหนือกว่าจากผลงานและยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการขยายพื้นที่ความรุนแรงอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
คำนวณ นวลสนอง นิสากร กล้าณรงค์ และ มูหำหมัด สาแลบิง. 2551. พัฒนาการและแนวโน้มการย้ายถิ่น ของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ : 3, (2).
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2551. บรรณาธิการ. แผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล. 2551. ความรุนแรงภาคใต้กับการย้ายถิ่น. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
เดชา ตั้งสีฟ้า. 2551. อ่าน “คู่มือข้าราชการ” เขียนพื้นที่วัฒนธรรม: วาทกรรมวัฒนธรรมของรัฐไทย กับพื้นที่ในระหว่างไทย-มาเลเซีย. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. 2551. ความรู้เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสังคมไทยในรอบ ๒๖ ปี. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
พิมลพรรณ อุโฆษกิจ,พันโทหญิง. 2551. วัฒนธรรมองค์กรของหน่วยทหารในภูมิภาคต่างๆ ที่มีผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
มารค ตามไท และสมเกียรติ บุญชู. 2551. นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเทียบในรอบ 30 ปี. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
แมตธิว วีเลอร์. 2551. สหรัฐอเมริกา สงครามต่อต้านการก่อการร้าย และความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. 2556. ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี. พิมพ์ครั้งที่ 2: โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. 2551. การคัดเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
รัตติยา สาและ. 2551. ปฏิสัมพันธ์ “ใหม่” : ชาวพุทธ-มุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.
อิมติยาส ยูซุฟ. 2551. ความรุนแรงในภาคใต้ของไทยและโลกมุสลิม. ในแผ่นดินจินตนาการ: รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน.