อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด : Awanbook
นับจากวินาทีที่ปลายปากกาถูกประทับรับข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐสยามกับอังกฤษ ในการแบ่งปันเขตแดนหรือที่รู้จักกันในนาม ข้อตกลงอังโกลสยามเมื่อปี ค.ศ. 1909 เป็นต้นมา ชะตากรรมของชาวมลายูปาตานีได้ตกอยู่ภายใต้ความมืดมัว ไร้แสงสว่างและความหวังในการที่จะได้รับความยุติธรรมอีกต่อไป
เมื่อสังคมมลายูปาตานีที่มีความแตกต่างกับรัฐส่วนกลาง(กรุงเทพ) ได้ถูกตัดขาดจากเมืองพี่เมืองน้องแห่งรัฐกลันตัน ที่ถูกมอบให้อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ โดยยึดสายแม่น้ำโกลกในการแบ่งปัน ซึ่งเป็นเขตแดนตามธรรมชาติ ส่วนปาตานีต้องตกอยู่ภายใต้หลังคาแห่งเมืองพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสมือนเป็นฝันร้ายของชาวมลายูปาตานี ที่มิสามารถคัดค้านออกเสียงของตนเองได้แม้แต่น้อยในการตัดสินใจ ว่าจะอยู่กับใคร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ชาวมลายูปาตานีเองก็เคยมีความพยายามร้องขอให้อังกฤษนั้นผนวกเอาปาตานีไปอยู่ในอาณาบริเวณของอังกฤษด้วย เพียงเพื่อมิอยากอยู่ภายใต้การปกครองของสยามประเทศที่มีการกดขี่รังแกชาวมลายูมาโดยตลอด อีกทั้งมิอยากตัดขาดกับเมืองมลายูที่มีสายสัมพันธ์ฉันเมืองพี่เมืองน้องมาอย่างยาวนาน
ทว่าทุกสิ่งอย่างล้วนถูกเรียบเรียงวางพล็อตเรื่องโดยผู้แสดงหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อการเมืองทางการทูตระหว่างสยามกับอังกฤษมีการบีบบังคับวางหมากต่อรองทางการเมืองได้อย่างแนบเนียน โดยการเสนอผลประโยชน์ที่ทั้งสองจะได้รับ ในขณะที่ประชาชนปาตานีได้แต่นิ่งเงียบเก็บความกดดันไว้ในทรวงอย่างเงียบๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจุดประกายพลุแห่งความคิด ถึงความโหดร้ายแบบเลือดเย็นของรัฐไทยจวบกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อโครงสร้างทางสังคมค่อยๆ เปลี่ยนโดยผ่านอิทธิพลของระบอบการปกครองของรัฐไทย ที่เป็นการปกครองแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางสู่ส่วนล่าง(ภูมิภาค) เพื่อเป็นการถ่วงดุลและรั้งไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของชาติสยามในขณะนั้น ให้มีความเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้น โดยที่มิยอมปล่อยให้ส่วนภูมิภาคมีความอิสระในการจัดการบริหารตนเองแม้แต่น้อย เพราะมีความเกรงว่า การกระจายอำนาจดังกล่าวอาจบั่นท่อนความเข้มแข็งของส่วนกลางได้ จนนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการปกครอง ที่มีรูปแบบการปกครองที่สำเร็จรูป ที่กำหนดโดยศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง เพื่อมาบริหารในส่วนภูมิภาคอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยอาศัยระเบียบการบริหารจัดการที่รัดกุม ซึ่งประจวบเหมาะกับในช่วงดังกล่าวสยามประเทศยังอยู่ในช่วงของการสร้างชาติ โดยใช้กฎแห่งชาตินิยมถึงความเป็นไทย(สยาม) จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่แฝงไปด้วยอุดมการณ์แห่งชาตินิยม กล่าวคือ ทุกคนในชาติต้องอยู่อย่างไทย ใช้วิถีชีวิตอย่างไทย พูดไทย เป็นต้น
ซึ่งแน่นนอนการปกครองแบบเบ็ดเสร็จรัดกุมนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภูมิภาคต่างๆ ที่ห่างไกลจากส่วนกลาง ที่มีความแตกต่างในด้านความคิด ตลอดจนหลักการและวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของแต่ละชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีอยู่และที่เคยสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทว่าภูมิภาคอื่นมิค่อยมีปัญหาเหมือนทางใต้มากนัก เพราะอย่างน้อยมีความเชื่อศาสนาที่เหมือนกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันตรงที่วัฒนธรรมเท่านั้น
สำหรับหัวเมืองทางภาคใต้อย่างปาตานี ภายหลังจากที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เสมือนเป็นการลงโทษทางความคิด ความรู้สึกต่อคนมลายูปาตานีที่ขื่นขมอย่างหนึ่ง ที่ความคิดดังกล่าวค่อยๆ เติบโตอย่างเงียบๆ ภายใต้ความหวังและความหวาดกลัว ที่อาจแยกมิออกว่าระหว่างความหวังที่ริบหรี่ที่จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมากับความหวาดกลัวต่ออำนาจที่ปิดช่องว่างให้กับประชาชนแสดงออกทางการเมืองที่ชีวิตอาจต้องถูกจับกุมหรือสาบสูญในที่สุด
หนึ่งในอัตลักษณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ การใช้ภาษาของคนในพื้นที่ ที่ต้องหยุดชะงักการเติบโตลงอย่างกะทันหัน ซึ่งนับจากยุคแห่งความโหดร้ายเป็นต้นมา ภาษามลายูถูกจำกัดเสรีภาพ ไม่มีความอิสระเช่นเคย จนกลายเป็นภาษาแห่งความมั่นคง ที่ฝ่ายรัฐจ้องเฝ้ามองทุกอิริยาบถของกิจกรรมสาธารณ ไม่เพียงแค่นั้น ตำราศาสนาก็ยังถูกกวาดล้าง เพียงเชื่อว่าอาจเป็นความรู้หรือศาสตร์ที่คอยปลุกระดมความคิดของประชาชนให้ต่อต้านรัฐ เกลียดชังเจ้าหน้าที่ อาจก่อให้เกิดการขบถได้ ซึ่งเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของภาครัฐในสมัยนั้น
และบวกกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่นับวันยิ่งรุนแรงทุกขณะ โดยที่รัฐเองได้อาศัยนโยบายในการออกกฎหมาย ปราบปรามเอกสารที่เป็นภาษามลายูอักษรยาวีอย่างแพร่หลาย และยิ่งตอกย้ำความแค้นขึ้นมาอีก เมื่อโรงเรียนประถมได้มีนโยบายห้ามพูดภาษามลายูในโรงเรียน ในสถานที่ราชการ เป็นต้น
ด้วยระยะทางของประวัติศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้รัฐจะพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทางอ้อมก็มิอาจขจัดความจริงออกจากความจริงแท้ได้ ในเมื่อภาษามันเป็นส่วนหนึ่งของเลือดเนื้อของชาติพันธุ์ อุปมากระดูกกับเนื้อมิอาจแยกออกจากกันได้จนกว่าลมหายใจจะหมดไปจากร่าง
เมื่อความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย รัฐเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก การยื่นมือยอมรับความจริงอย่างทุลักทุเล โดยเปิดโอกาสให้การสนับสนุนกิจกรรมของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านภาษา ที่นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตกเมื่อ ค.ศ. 2004 รัฐเริ่มหันมาให้ความสนใจในประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้ เพียงเพื่อบรรเทาและขจัดเงื่อนไขของความขัดแย้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้รัฐเองรู้อยู่แก่ใจว่า ประเด็นภาษามิใช่รากเหง้าของปัญหาแต่อย่างใด
ถึงแม้รัฐจะเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับภาษามลายูยาวี ให้สามารถโลดแล่นในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่รัฐเองยังไม่ยอมปล่อยให้ภาษามลายูเติบโตอย่างมีอิสระตามที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากป้ายโครงการของรัฐที่เป็นภาษามลายู ส่วนใหญ่มักจะเขียนแบบผิดๆ ทำให้สังคมเกิดคำถามอย่างมากมาย ถึงความจริงใจและศักยภาพของรัฐ ในการบูรณฟื้นฟูภาษามลายู ที่ถูกกดทับมาเนิ่นนาน
ความทุ่มเทของรัฐเริ่มประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น เมื่อได้จัดตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของคนในพื้นที่ ที่อยู่ในอาการกระหายมาอย่างช้านาน แต่อย่างไรก็ตามการก่อตั้งสถาบันดังกล่าว ก็มิอาจหลีกพ้นการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้
การก่อตั้งสถาบันภาษามลายูด้วยการเปิดตัวอลังการใหญ่โตมิสำคัญเท่า เนื้อหาที่อยู่ข้างในที่จะต้องออกมาในรูปแบบกิจกรรมและบทบาทของสถาบัน มิเช่นนั้นก็อาจเป็นได้แค่เพียงการกระพือข่าวเพื่อให้สังคมได้รับรู้ในวาระหนึ่งที่แสนสั้นเท่านั้น ก่อนจะถูกพับโต๊ะเก็บวางอย่างเงียบเช่นเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
อย่างไรก็แล้วแต่ หากว่ารัฐมีความจริงใจที่จะเห็นภาษามลายูที่ปาตานีกลับมีชีวิตชีวา มีความมาตรฐานเทียบเท่ากับภาษามลายูกลาง รัฐเองจะต้องออกกฎหมายผ่านกฎกระทรวงมีกฎหมายรับรองอย่างเป็นทางการ เสมือนเป็นภาษาหนึ่งของชาติ มิใช่เป็นเพราะเป็นภารกิจของหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉพาะกิจ
หากการมีสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นข้อดีสำหรับประเทศ รัฐต้องสงเสริมอย่างเป็นรูปธรรม และต้องลบล้างความคิดที่จะกลืน อัตลักษณ์และความเป็นชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ในชาติ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม มิเช่นนั้นแล้ว การทุ่มงบประมาณเพียงเพื่อบรรเทาอาการเฉพาะหน้า คงจะสูญเปล่าเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา