Skip to main content
อัญชนา หีมมิหน๊ะ
กลุ่มด้วยใจ
 
การเยียวยานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการฟื้นฟูสภาพจิตใจของครอบครัวเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจแล้ว การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจหรือการชดเชยค่าเสียหายก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาสภาพจิตใจ โดยเฉพาะการเยียวยาที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมก็จะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา มากกว่านั้นการเยียวยาทำให้ผู้เป็นเหยื่อหรือครอบครัวให้อภัยต่อการถูกกระทำและไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้บางกรณีกับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะการเยียวยามีทิศทางที่ทำให้ครอบครัวหรือเหยื่อเข้าใจได้ว่าถูกเลือกปฏิบัติ โดยมีสาเหตุจากหลายหลายกรณีอย่างเช่น :
กรณีที่ 1 ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องถูกยิงเสียชีวิตแต่ไม่ได้รับการรับรองจากสามฝ่าย
นายลุกมาน ดอเลอะ และ  นายสามือลี แจะคอ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้อง เมื่อได้รับอิสรภาพแล้วพวกเขาก็มีความตั้งใจที่จะอยู่อย่างเงียบสงบในชุมชนที่เขาเติบโตมา แต่การใช้ชีวิตที่มีอิสรภาพนั้นสั้นนัก ไม่เกิน 2 ปี พวกเขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2556 แต่ทั้งสองกรณีกลับไม่ได้รับการรับรองจากสามฝ่ายคือ ตำรวจ ทหาร และปกครอง (อำเภอ) ซึ่งมีผลต่อการไม่ได้รับเงินเยียวยา
กรณีที่ 2 ครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องถูกยิงเสียชีวิต
กรณีของพ่อแม่ของนายมูฮำหมัดมาโซ มามะ (ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกยกฟ้อง) ที่ถูกคนร้ายหลายคนดักซุ่มยิงในสวนยางพาราด้วยอาวุธสงคราม เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้เสียชีวิตในวันเดียวกันกับพ่อ (พ่อกับแม่ไม่ได้ตายในวันเดียวกัน) ได้รับการรับรองสามฝ่ายและได้รับเงินเยียวยาแล้วในขณะที่ครอบครัวของนายมูฮำหมัดมาโซ เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี กลับไม่ได้มีการดำเนินเพื่อการรับรอง เมื่อสอบถามก็ได้รับแจ้งว่ากำลังพิจารณา เพราะมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานจึงขอเวลาตรวจสอบ 1 ปี ทั้งนี้ทางลูก ๆ ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือแต่ต้องการความชัดเจนและความจริงใจของรัฐในการดูแลประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทางมายาคติ และทางเชื้อชาติ
ประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับรอง 3 ฝ่ายนั้นมีหลักอะไรบ้างสำหรับครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงนั้น สิ่งที่เราได้รับรู้มาคือพวกเขาไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งกับคนในชุมชน หรือมีเรื่องขัดแย้งในทางการเมือง นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และ ดำเนินคดีกับพวกเขา อีกทั้งอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องมือสังหารพวกเขาก็เป็นอาวุธสงคราม มีทั้งอาก้าเอ็ม16
ดังนั้นพวกเขาควรจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินร้อยละ 25 ของเงินเยียวยาในเหตุการณ์ความไม่สงบหากไม่ได้ระบุในทันทีว่าการถูกฆ่านี้มีสาเหตุจากอะไร แต่ครอบครัวของพวกเขาไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเลยจนในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนเจ้าหน้าที่ก็สรุปว่าไม่รับรอง แสดงว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ในมุมมองของครอบครัวหากเป็นเรื่องส่วนตัวก็ต้องมีมูลเหตุของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องมรดก ชู้สาว ทะเลาะวิวาท ชิงทรัพย์ หรือเจ้าหน้าที่ก็ต้องจับกุมหรือสอบสวนจนได้ผู้กระทำผิดที่เป็นคู่ขัดแย้ง
แต่ในกรณีของพ่อแม่นายมูฮำหมัดมาโซ นั้นถือได้ว่าเป็นกรณีของประชาชนที่เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมโดยเฉพาะการช่วยเหลือเบื้องต้น ร้อยละ 25 ของเงินเยียวยา แต่ในความเป็นจริงครอบครัวของพวกเขากลับไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ เลย และนั่นก็ทำให้ประชาชนเห็นถึงความไม่เท่าเทียม
จากทั้งสองกรณีเราพบสภาพปัญหาการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นเหยื่อซ้ำซ้อนดังนี้
1.     หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการรับรองสามฝ่ายไม่ชัดเจน
2.     เวลาในการพิจารณาไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 วันทำการ
3.     การพิจารณารับรองสามฝ่ายและการเยียวยามีการเลือกปฏิบัติ
4.     หากเป็นการกระทำของกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายควรจะมีหลักในการพิจารณา
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงนั้นเมื่อเขาผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วเขาก็ควรได้รับสิทธิอย่างที่ประชาชนคนไทยควรได้รับและเพื่อมิให้เป็นการผลักให้พวกเขาและครอบครัวต้องใช้ความรุนแรงหรือเลือกข้างใดข้างหนึ่งรัฐก็ต้องมีมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐและการเยียวยามิใช่เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังแฝงซึ่งความเป็นธรรม และ การไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐได้ในที่สุด
ทางกลุ่มด้วยใจจึงขอเสนอแนวทางต่อการเยียวยา ดังนี้
1.     สร้างความโปร่งใสเรื่องการรับรอง 3 ฝ่าย และ ระยะเวลาที่ชัดเจน
2.     การพิจารณาการเยียวยาไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา และ ปราศจากอคติใดๆ
3.     การสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและครอบครัวที่ยกฟ้องประกันตัว หรือครบกำหนดโทษ
 
ขั้นตอนกระบวนการการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ในกรณีที่ประชาชนเสียชีวิตจะมีการพิจารณาดำเนินการดังนี้
๑.  กรณีคณะกรรมการ ๓ ฝ่ายรับรองว่า ผู้ขอรับการช่วยเหลือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วน (ร้อยละ ๑๐๐) จากเงินทด รองราชการของจังหวัด (๕๐ ล้านบาท) 
๒.  กรณีคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย มีความเห็นเสียงส่วนใหญ่ (๒ ใน ๓) รับรองว่าผู้ขอรับการ ช่วยเหลือ “ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ” จากสถานการณ์ความไม่สงบฯ
๒.๑ ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไปก่อนร้อยละ ๒๕ จากเงินทดรอง ราชการของจังหวัด (๕๐ ล้านบาท)
๒.๒ ภายหลังผลสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกร้อยละ ๗๕ จากเงินทดรอง ราชการของจังหวัด (๕๐ ล้านบาท)
๒.๓ แต่หากภายหลังผลสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุว่า บุคคลดังกล่าวไม่เป็นผู้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้จังหวัดยุติการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทันที
๓.  กรณีคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย มีความเห็นเสียงส่วนใหญ่ (๒ ใน ๓) รับรองว่าผู้ขอรับการ ช่วยเหลือ “ ไม่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ” จากสถานการณ์ความไม่สงบฯ 
๓.๑ ให้งดการพิจารณาไว้ก่อน
๓.๒ ภายหลังผลสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุว่า บุคคลดังกล่าว เป็นผู้ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือให้ครบถ้วน ร้อยละ ๑๐๐ จากเงินทดรอง ราชการของจังหวัด (๕๐ ล้านบาท)
๓.๓ แต่หากภายหลังผลสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุว่า บุคคลดังกล่าวไม่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้จังหวัดยุติการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทันที
๔.  กรณีคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย มีความเห็นเป็นเอกฉันท์รับรองว่าผู้ขอรับการช่วยเหลือ    “ ไม่ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ” จากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ให้ถือว่าผู้ขอรับการช่วยเหลือไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขใน การให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยไม่ต้องนำผลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนมาพิจารณา
๕.  กรณียุติการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยา ตามข้อ ๒.๓ ข้อ ๓.๓  และข้อ ๔ 
หากต่อมาภายหลัง
๕.๑ ศาลมีคําพิพากษาคดีถึงที่สุด และคําพิพากษาระบุชัดเจนว่า เป็นคดีที่ผู้ขอรับการช่วยเหลือ “ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ” จากสถานการณ์ความไม่สงบฯ และ
๕.๒  ผู้ได้รับผลกระทบร้องขอนำคําพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วนั้น มาให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดกรณีดังกล่าว ให้จังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือให้ครบถ้วน ร้อยละ ๑๐๐ จากเงินทดรองราชการของจังหวัด (๕๐ ล้านบาท)
๖.  ให้คณะกรรมการ ๓ ฝ่าย  พิจารณาให้ความเห็นว่าผู้ขอรับการช่วยเหลือ “ เป็นผู้ได้รับ ผลกระทบ ” จากสถานการณ์ความไม่สงบฯ หรือไม่โดยไม่ชักช้า ทันที ไม่เกิน ๕ วัน ทำการ
 
เมื่อท่านยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือเยียวยา ณ ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ ระดับอำเภอ ซึ่ง ต้องยื่นที่ว่าการอำเภอในพื้นที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้กรณีร่างกาย (เสียชีวิตและบาดเจ็บ)               
๑.  ท่านยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือ ณ ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ ระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการ อำเภอในพื้นที่เกิด เหตุ               
๒.  เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารของท่าน พร้อมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุ เพื่อประกอบการ พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากความไม่สงบฯ หรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน          
 ๓.  หากตรวจสอบแล้วคณะกรรมการ ๓ ฝ่าย รับรองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิด จากความไม่สงบฯ จะได้รับการช่วยเหลือทันที๑๐๐ %      
๔. ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเหตุการณ์ หากผลรับรองเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยัง ไม่สามารถสรุปผลได้ ท่านจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น ๒๕ % จากวงเงินการช่วยเหลือ เช่น ประชาชนทั่วไป เสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยเหลือ ๑๒,๕๐๐ บาท        
  ๕.  หากผลการรับรองเหตุการณ์จาก ๓ ฝ่าย รับรองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากสถานการณ์ ความไม่สงบฯ ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ ระดับอำเภอ จะส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูล มาศูนย์ช่วยเหลือเยียวยา ฯ ระดับจังหวัด ซึ่งท่านจะได้รับเงินเพิ่มเติมอีก ๗๕ %  จากวงเงินที่เหลือ โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน         
๖.  จากนั้นศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ ระดับจังหวัด จะส่งเอกสารหลักฐาน ข้อมูลของท่านไปยัง หน่วยงานต่างๆ  

   

หมายเหตุ: กรุณาอ่านตอนที่ผ่านมาได้ที่

ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและความไม่สงบ (ตอน 1): กรณีเหยื่อซ้ำซ้อนของ ‘สามือลี เจะคอ’

ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงและความไม่สงบ (ตอนที่ 2): ฝันร้ายของครอบครัว “มูฮำหมัดมาโซ มามะ”