รายงานพิเศษชุด "คนหายในไฟใต้"ตอน 1
โดย ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน
ไฟใต้ยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างไม่มีท่าทีว่าจะมีสงบได้ง่ายๆ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลนักการเมืองสามานย์ก็ยังไม่เห็นท่วงท่าว่าจะทำให้เหตุการณ์เฉพาะหน้าสังหารรายวันยุติได้โดยง่ายเช่นกัน
ความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ที่มีอยู่สูงมาก อาจเป็นเพราะในบรรดาเหตุผลหลักของการเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุข (คปค.) อ้างต่อสาธารณะนั้น มีเนื้อหาของที่สะท้อนเจตจำนงที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติ แน่นอน นอกจากปัญหาการเมืองที่ศูนย์กลางอำนาจแล้ว ปัญหาภาคใต้ก็เป็นหนึ่งในแขนงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย
ในขณะเดียวกัน เมื่อครั้งการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ..สุรยุทธ์ ก็ได้ประกาศภารกิจเร่งด่วน 3 ประการ หนึ่งในนั้นได้แก้การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความคาดหวังต่อบทบาทของ คมช.และรัฐบาลใหม่จึงสูงเป็นธรรมดา
รุกการเมืองหวังดับไฟใต้
รัฐบาลสุรยุทธ์จึงเดินหน้าแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยท่าทีที่แทบแตกต่างกับรัฐบาลเก่าราวฟ้าดิน เริ่มด้วยการรื้อคำสั่งเดิมในช่วงรัฐบาลทักษิณทิ้งเกือบทั้งหมดและฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.43) ขั้นมาอีกครั้ง นัยว่าจะรวมศูนย์การแก้ปัญหาด้วยแนวทางการเมืองเป็นหลัก
ไม่เพียงเท่านั้น สัญญาณที่สะท้อนออกมาจากผู้นำคนใหม่ยังเป็นการรุกคืบทางการเมืองเพื่อช่วงชิงจิตใจและความไว้วางใจจากมวลชนในพื้นที่ ผ่านคำกล่าว "ขอโทษ" แทนความผิดของรัฐบาลเก่า การฉีกบัญชีดำของหน่วยงานต่างๆ ที่มีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงกรณีการถอนฟ้องคดีตากใบ ซึ่งทำให้อุณหภูมิความตรึงเครียดระหว่างประชาชนกับรัฐคลี่คลายไปได้มากโข
แม้หลังจากนั้น จะพบท่าทีลุ่มๆ ดอนๆ อย่างกรณีการกล่าวในทำนองเหมารวมว่า "ร้านต้มยำกุ้ง" ในฝั่งมาเลเซียเป็นถุงเงินใหญ่ให้กับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ กระนั้น ภาคปฏิบัติยังเป็นข้อพิสูจน์สำคัญในการเอาชนะใจประชาชน
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของขบวนการผู้ก่อความไม่สงบต่อนโยบายใหม่ๆ เหล่านี้ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน พวกเขาตอบโต้รัฐบาลใหม่ทั้งยุทธวิธีทางทหารและยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลการการรุกกลับทางการเมือง ยึดเหนี่ยวมวลชนไว้กับพวกเขา
ท่าทีสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การประกาศเร่งรัดคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ของรัฐบาลใหม่ก็ให้ภาพที่แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณอย่างลิบลับ อาจเป็นเพราะคดีดังกล่าวกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างสำคัญ ในขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ในฐานะ "จำเลย" ยังหมายถึงเจ้าหน้าที่ที่เคยรับใช้ระบอบทักษิณอย่างแนบแน่น หากคลี่คลายคดีนี้ได้ รัฐบาลสุรยุทธ์จะดึงศรัทธาจากประชาชนได้จำนวนไม่น้อย
ในอีกด้านหนึ่ง ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลยังเป็นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่มุ่งรุกคืบทางการเมือง เพื่อหวังผลด้านบวกต่อจิตวิทยามวลชนในกรณีการแก้ปัญหาไฟใต้ เพราะการมีชีวิตอยู่และการหายตัวไปของทนายสมชายล้วนสอดคล้องสัมพันธ์กับสถานการณ์ในภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวที่ดำเนินการโดยดีเอสไอก็ได้รับการตั้งข้อกังขาในหลายประเด็น โดยเฉพาะจากนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาผู้เสียหาย ที่เคยยื่นหนังสือเรียกร้องให้ชะลอการออกหมายจับเพิ่มเติม เพราะหวั่นว่าหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่หนาแน่นพอ รวมทั้งแนะให้มีการเปลี่ยนทีมสืบสวนสอบสวน สำหรับเธอแล้ว การทำงานของดีเอสไอกับตำรวจนครบาลในอดีตก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก
ล่าสุดคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการรอพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักฐานในการนำสืบว่าสมชายได้เสียชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตี หากหลักฐานดังกล่าวไม่สามารถระบุอะไรได้ สัญญาณที่ส่งผ่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็ระบุว่าคดีนี้อาจเป็นคดีแรกๆ ที่ใช้ "พยานหลักฐานแวดล้อม" ฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาล
กล่าวโดยสรุป แม้จะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ก็ยังต้องจับตาว่างานนี้จะเป็น "มวยล้มต้มคนดู" หรือไม่
สมชาย - อิบรอฮีม ชะตากรรมเดียวกัน
กระนั้นก็ตาม คดีทนายสมชายก็ยังมีความคืบหน้าและมีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าเหล่านี้ก็อยู่ในสายตาของญาติผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ที่เชื่อว่าบุคคลที่ตนรักถูกทำให้หายตัวไปท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร้ร่องรอย ที่สำคัญ พวกเขาเชื่อว่าการ "อุ้ม" เหล่านี้ เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ การรื้อฟื้นเรื่องราวของพวกเขาจึงต้องอาศัยนโยบายพิเศษเหมือนในกรณีของสมชายเท่านั้น
"อย่างน้อยก็น่าจะติดตามคดีให้เราหน่อย เราก็เป็นประชาชนของเขา" นูรีอา ดาแม ภรรยาผู้พลัดพรากจากอิบรอฮีม เซะ สามีอันเป็นที่รักในค่ำคืนหนึ่งปลายเดือนมกราคม 2547 กล่าวอย่างเปิดเผย
เธอบอกด้วยว่า หลังมีรัฐบาลใหม่ได้ติดตามข่าวการรื้อฟื้นคดีสมชาย รวมทั้งกระบวนการในการติดตามค้นหาหลักฐาน แม้จะเหลือเพียง "ร่าง" ที่พอจะสืบสาวไปถึงผู้ที่กระทำผิดได้ นูรีอา เชื่อว่า กรณีของสามีเธอเอง น่าจะสามารถสืบค้นได้เหมือนในกรณีของ "ทนายสมชาย" แม้ว่าระยะเวลาของการหายตัวไปของสามีจะเป็นเวลาเกือบ 3 ปีเหมือนกัน
จากท่าทีของรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวคำขอโทษหรือการถอนฟ้องกรณีตากใบ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ เธอน่าจะได้รับคำตอบได้ดีว่าสามีของเธอ - อิบรอฮิม เซะ หายไปไหนและยังมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่
อิบรอฮีม เซะ ในวัย 41 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนตาดีกาแห่งหนึ่งในอำเภอระแงะ ถูกทำให้หายตัวไปต่อหน้าต่อตานูรีอาและลูกน้อยวัย 5 ขวบ โดยชายฉกรรจ์ในชุดดำสวมหมวกไหมพรมที่เดินทางมาพร้อมรถกระบะ 2 คันรถ ในค่ำคืนวันที่ 26 มกราคม 2547
เขาเป็นหนึ่งในผู้สูญหายจำนวน 23 ราย ซึ่งอยู่ในบัญชีผู้สูญหายที่ต้องได้รับการเยียวยาของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน กรณีของอิบรอฮีม ผู้เป็นภรรยาได้รับค่าชดเชยเยียวยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 1 แสนบาท ภายหลังมีการตรวจสอบข้อมูลจากหลายหน่วยงานจนเป็นที่น่าเชื่อว่าเขาหายตัวไปจริง
จากข้อมูลดังกล่าว เท่ากับเป็นการยอมรับว่า มีผู้ถูกทำให้หายไปท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่จริง แม้จะมีกระบวนการเยียวยาตามระเบียบของราชการ แต่ทว่ากระบวนการในการสืบค้นว่าเขายังมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่ เขาหรือศพของเขาอยู่ที่ไหน ตลอดจนหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร สำหรับญาติของผู้สูญหายเหล่านี้ พวกเขากำลังจะหมดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ให้คำตอบดังกล่าวกับพวกเขาเลย
จาก "อังคณา" สู่ "คณะทำงานยุติธรรมฯ" คลี่ปมคนหาย
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย บอกว่า กระบวนการเยียวยาโดยการให้เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับเธอเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาก็ปฏิเสธที่จะรับเงินก้อนดังกล่าว ด้วยเชื่อว่า กระบวนการเยียวยาที่ดีที่สุดคือการความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสามี ทว่านอกจากการเยียวยาแล้ว ในกรณีคนหายชายแดนใต้ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกระบวนการเสาะหาข้อเท็จจริงว่าคนที่หายตัวไปนั้น หายไปไหน ใครเป็นคนทำให้หาย ตลอดจนการเอาผิดกับผู้ที่มีความผิดที่ทำให้พวกเขาหายตัวไป
อังคณา กล่าวด้วยว่า กรณีคนหายเป็นปัญหาพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ข่าวลือประเภทนี้กระจายอยู่เต็มพื้นที่ บ้างก็ว่ามีคนหายเป็นร้อยเป็นพัน ทุกหมู่บ้านก็พูดถึงเรื่องนี้ ที่สำคัญคือชาวบ้านมีแนวโน้มที่จะปักใจเชื่อด้วยว่า ทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ
"รัฐบาลที่ผ่านมาแทบจะไม่พูดถึงกรณีคนหายใน 3 จังหวัดเลย ส่วนรัฐบาบชุดนี้ก็พูดเพียงแต่การฟื้นคดีคุณสมชาย คดีตากใบ แต่คนหายรายอื่นๆ ก็ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมา" อังคณากล่าว
เมื่อประมวลประสบการณ์ที่ผ่านมา อังคณา ก็ผันตัวเองจากแม่บ้านธรรมดามาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธมนุษยชน โดยการร่วมกันจัดตั้ง "คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ" ขึ้นมาภายใต้การร่วมมือขององค์กรเอกชน สภาทนายความและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมโดยเฉพาะประเด็นคนหาย ส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาจากการบังคับใช้กฎหมายการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน รวมไปถึงการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้ยึดถือหลักนิติธรรมและดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม
อังคณา เล่าย้อนให้ฟังว่า คณะทำงานฯ ที่จัดตั้งเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการที่ตนเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาของศาลในคดีทนายสมชายและเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการแสวงหาความจริง จึงเห็นว่าควรที่จะต้องมีการสังเกตการณ์ในคดีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาคใต้ด้วย
"เราเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจะนำมาสู่ความสงบสุขในอนาคต"
นอกจากนี้แล้ว จากการพบปะพูดคุย ทำให้เธอเห็นว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นญาติของผู้ต้องหาหรือญาติผู้สูญเสียจากกรณีคนหายก็มีข้อจำกัดต่อความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดี ในขณะเดียวกัน บางรายที่ยังรู้สึกว่ากระบวนการเยียวยาจากองค์กรเอกชนและภาครัฐก็ไม่ตอบว่าคนของพวกเขาหายไปไหนและใครเป็นคนทำให้หาย อังคณาสรุปว่า ถึงที่สุดแล้วแนวทางของการเยียวยาที่ผ่านมาอาจจะไม่ช่วยให้จิตใจของผู้สูญเสียดีขึ้นเลย
คณะทำงานฯ เริ่มต้นด้วยการจับประเด็นคนหายเป็นประเด็นหลัก อังคณา ให้เหตุผลว่า ขณะนั้นไม่มีองค์กรใดหรือหน่วยงานใดติดตามในประเด็นนี้มาก่อน นอกเหนือจากภารกิจในการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องของผู้สูญหายแล้ว การอบรมเพื่อให้รับรู้ถึงสิทธิและช่องทางในกระบวนการยุติธรรมเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับคนที่หายไปก็เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ล่าสุด คณะทำงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 โดยมีสำเนาถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสอบถามแนวทางปฏิบัติต่อกรณีคนหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และความคืบหน้าในแต่ละกรณี ซึ่งจากการรวบรวมของคณะทำงานฯ มีอยู่ทั้งสิ้น 27 กรณี ในรอบปี 2545 - 2549
นอกจากนี้ ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานยังเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ (Convention against Torture) และ อนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติเรื่องการป้องกันคนหาย (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance of 1998) เพื่อแสดงความจริงใจต่อการยกระดับการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และเพื่อยืนยันว่าการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมจะไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ
"จริงๆ แล้ว เงินก็ไม่ได้เยียวยาเราได้ทั้งหมด" อังคณาย้ำในตอนท้าย
บรรยายภาพ : 1) นูรีอา ดาแม ภรรยาอิบรอฮีม เซะ และ "มูอาวียะห์" ลูกสาววัย 5 ขวบ (ภาพโดยศูนย์ข่าวอิศรา)
2) อังคณา นีละไพจิตรกับบทบาทนักสิทธิมนุษยชน (ภาพโดยผู้จัดการรายวัน)