Skip to main content

ผมไม่เคยมีปัญหาเมื่อเข้ากับคนมลายูในปาตานี เพราะผมนับถือศาสนาเดียวกันกับพวกเขา และพูดภาษามลายูได้ดีกว่าภาษาไทยหลายเท่า ในตรงกันข้าม ก่อนหน้านี้ ผมไม่ค่อยมีโอกาสที่จะรู้จักคนไทยพุทธ (หรือคนสยาม ซึ่งคนปาตานีเรียกว่า ซีแย) อย่างใกล้ชิด อย่างน้อยเท่ากับคนมลายู ซึ่งทำให้ผมมีความรู้เกี่ยวกับชาวไทยพุทธน้อยมาก แต่ผมก็ไม่ค่อยพยายามเพื่อรู้ชาวพุทธโดยหาความรู้หรือหาข้อมูลโดยตรงจากพวกเขา ผมมักจะอาศัยการสร้างภาพลักษณ์ของพวกเขาตามข้อมูลจำกัดและอาจไม่ถูกต้องที่ผมได้รับมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความคิดหรือความเชื่อว่า “คนไทยเป็นแบบนี้” “พวกซีแยคิดแบบนี้” หรืออะไรทำนองนี้ ตามที่เพื่อนผมพูด (ที่ไม่ใช่คนไทยพุทธ ทั้งคนต่างชาติและคนมลายูในปาตานีพูด) ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า “คนไทยเป็นแบบนี้” จริงๆ หรือ “พวกซีแยจะคิดแบบนี้” จริงๆ  

แต่หลังจากมีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาสังคมเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ผมก็ได้โอกาสต่างๆ สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดอย่างใกล้ชิดและตรงไปตรงมากับคนไทยพุทธ หรือ “ออแฆซีแย” ตามชื่อเรียกในภาษามลายูถิ่น สิ่งที่ผมต้องยอมรับก็คือ คนไทยพุทธในโลกความเป็นจริงไม่เหมือนกับคนไทยพุทธในมโนภาพของผม เพราะผมได้ยึดถือภาพลักษณ์ของคนไทยพุทธที่ผมสร้างเอง สุดท้าย ผมก็เริ่มเข้าใจว่า คนไทย “ไม่ใช่แบบนั้น” และอาจจะ “ไม่คิดแบบนั้น”  

ภาพลักษณ์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ฯลฯ  ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือแต่เชื่อกันอย่างกว้างขวางเรียกว่า stereotype เมื่อมีกลุ่มคนสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ผู้นำของแต่ละกลุ่มมักจะโจมตีอีกกลุ่มหนึ่งโดยอาศัย stereotype ดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงการย้ำ stereotype จะสร้างความเชื่อว่า อีกฝ่ายหนึ่งทุกคนจะเป็นคนที่มีลักษณะที่สอดคล้องกับ stereotype ดังกล่าว เพราะฉะนั้น การยึดถือ stereotype เช่นนี้เป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะเราคิดไปเองว่า อีกฝ่ายหนึ่ง หรือ “พวกเค้า” เป็นคน “แบบนั้น” หรือคิด “แบบนั้น”

การด่า การใส่ร้ายป้ายสี หรือการไล่ออกจากประเทศ มักจะเกิดขึ้นในเมื่อเราปิดทัศนคติของเราเอง เพราะสิ่งที่เราโจมตีโดยใช้วิธีการนั้นคือไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของเรา แต่ส่วนใหญ่เป็นภาพลักษณ์ของศัตรูที่เราสร้างขึ้นมาเองโดยอาศัย stereotype ซึ่งขาดปัญญา ขาดความรับผิดชอบและขาดความเป็นมนุษย์ เมื่อมีการโจมตีกันลักษณะนี้เกิดขึ้น “อุณหภูมิ” ทางการเมืองก็สูงขึ้น บรรยากาศก็ยิ่งตึงเครียด จนถึงการปะทะกันเกิดขึ้น  

สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อแก้ไขความขัดแย้งคือการพูดคุยเพื่อทราบว่า อีกฝ่ายหนึ่งคิดอะไรและต้องการอะไร อย่างน้อย การพูดคุยสามารถทำให้เราตระหนักว่า “เค้าก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา” และมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถหาจุดร่วมได้ด้วย