Skip to main content

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวให้ความเห็นต่อกรณีความขัดแย้งทางการเมืองในรายการ 'ทางออกประเทศไทย' ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ @Srisompob Jitpiromsri : ผมเปรียบเทียบจากประสบการณ์ที่ผมอยู่ในพื้นที่ความรุนแรงในภาคใต้ มันผ่านมาสิบปี เป็นความรุนแรงถึงตาย บางคนอาจจะว่าเป็นสถานการณ์สงครามด้วยซ้ำไป ใช้เวลาประมาณสิบปีทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุด มีความสูญเสียมีผู้เสียชีวิตไปประมาณห้าพันกว่าคนแล้ว กว่าจะมาถึงจุดที่สามารถจะพูดถึงกระบวนการสันติภาพ หรือกระบวนการเจรจาพูดคุยกันได้ ก็เพิ่งเมื่อปีที่ผ่านมา และความสูญเสียอย่างนี้ เราก็พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนความขัดแย้งจากที่ใช้ความรุนแรงมาสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง และใช้วิถีทางทางการเมือง แต่ต้องใช้เวลานานมาก อันนี้คือระดับของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มีประชาชนอยู่สองล้านคนแต่ความสูญเสียขนาดนี้ ใช้เวลาขนาดนี้ และยังต้องดำเนินการต่อไปในแนวทางส้นติภาพ แต่ว่าในปัญหาของประเทศตอนนี้มันเป็นสังคมใหญ่ คนประมาณหกสิบล้านคน ผมคิดว่าถ้าหากปะทะกันสู่จุดของความรุนแรง ความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงแล้วความสูญเสียจะมากกว่า ถ้าหากมันเกิดถึงภาวะที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นถึงตาย คิดว่านี่คือจุดที่ว่าเรามาอยู่ปากเหว แล้วก่อนที่จะไปสู่ความรุนแรง เราหยุด ทำให้มันเป็นความขัดแย้งที่เป็นวิถีทางในทางการเมือง หาทางออกด้วยวิถีทางพูดคุย หรือการเจรจา ก่อนที่มันจะกระโดดไปสู่จุดที่เราดึงกลับมาได้ยากที่ต้องใช้เวลาเป็นหลายสิบปีทีเดียวกว่าจะจัดการได้ ...

ส่วนใหญ่แล้ว การจัดการด้วยวิถีทางสันติหรือการพูดคุยสันติภาพ มันต้องอาศัยการสร้างพื้นที่ร่วม พื้นที่ที่ปลอดภัย ที่ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งอันนี้ ได้เข้ามาช่วยกันสะสางหรือจัดการแก้ปัญหา และอาจต้องมีกระบวนการที่จะพูดคุย ที่เราใช้คำว่า Dialogue หรือการพูดคุยสันติภาพ อันนี้แหละที่น่าจะเป็นจุดที่เราต้องเริ่มก่อนที่มันจะไปถึงจุดที่มีความรุนแรงแล้วมันดิ่งลงไปแล้วอัตราเร่งความรุนแรงมันจะหยุดไม่ได้ ผมเชื่อว่า ตอนนี้ ณ จุดนี้ เป็นทางออกก่อนที่จะนำไปสู่ความสุญเสียที่เราไม่สามารถจะประมาณได้ ...

(การพูดคุยจะเกิดขึ้นได้) มันจะต้องมีพลังฝ่ายที่สามที่มาช่วย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็ฯพลังที่เกิดภายในสังคม ภาคประชาสังคม หรือคนกลุ่มอื่นๆ ที่ยังมองว่า ยังมีหนทางสันติในทางแก้ปัญหาก็พยายามที่จะเสนอแนวคิดแนวทางที่จะพูดคุยระหว่างสองฝ่าย ตรงนี้ก็ฝากความความคาดหวังกับพี่น้องประชาชน หรือสังคมในวงกว้าง จะต้องพูดถึงปัญหานี้ และจะต้องหาทางออกด้วยการที่พยายามอย่าให้มันขาวกับดำ ความขัดแย้งอย่าให้มันเป็นระหว่างความดีกับความชั่ว แต่ว่าเป็นการหาทางออกที่สองฝ่ายมีโอกาสจะทำผิดพลาดได้ทั้งคู่ในข้อเสนอต่างๆ แล้วมาพยายามหาจุดร่วมที่เราใช้คำว่า การสร้างพื้นที่ร่วม หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย ที่สามารถจะพูดกันได้ ที่ไม่ใช้การยั่วยุท้าทาย จุดนี้มันต้องเกิดกระบวนการ อันนี้เราอาศัย ฐานของภาคสังคมที่จะมาช่วย