Skip to main content
ซาฮารี เจ๊ะหลง, อิสมาอีล ฮายีแวจิ
ผู้ปฏิบัติงาน สำนักสื่อ Wartani
 
แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ เพื่อเอกราชปาตานี (บีอาร์เอ็น) แขวนป้ายผ้าทั่วปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ำจุดยืนอย่าเอาสันติภาพภายใต้การยึดครองของนักล่าอาณานิคมสยาม หรือประเทศไทย มาแลกกับเอกราช
 
 
เช้านี้ 12 ธันวาคม 2556 พบมีการสื่อสารผ่านการแขวนป้ายผ้า เขียนว่า "Hinanya Marwah Bangsa Siam Membayar Agar Bangsa Patani Mengubah Dari Kemerdekaan Kepada Kedamaian di Bawah Penjajahan" ซึ่งมีการแปลออกมาอย่างหลากหลายในโลกโซเชียลมีเดีย อาทิเช่น
 
สำนวนแปลจากนายอัซฮัร สารีมะเจ๊ะ กรรมการ สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/bungapatani?fref=ts) แปลว่า
"ช่างน่าละอายในศักดิ์ศรีของสยาม ยอมจ่ายให้ปาตานีถอดใจในเอกราช แล้วหันมาหวังกับสันติภาพภายใต้เงื่อนไขนักล่าอาณานิคมของตน"
 
สำนวนแปลจากซอลาฮุดดีน กริยา คณะทำงาน สำนักพิมพ์ Awan Book (https://www.facebook.com/solar.garia) แปลว่า “ช่างน่าไร้เกีตรติเหลือเกิน สำหรับชนชาติสยามที่ยอมจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับความต้องการของชนชาติปาตานี จากสันติภาพ “เอกราช” มาเป็นสันติภาพ “ภายใต้ความเป็นนักล่าอณานิคม” และอีกหนึ่งสำนวนแปลในข้อความแสดงความคิดเห็นของซอลาฮุดดีน “ช่างเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีเสียเหลือเกินของรัฐชาติสยาม ที่มีต่อรัฐชาติปาตานี ให้ทำการเปลี่ยนแปลงจุดยืนจากที่ต้องการเอกราชสู่สันติภาพภายใต้รัฐอณานิคม”
 
และสำนวนแปลจากตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้บริหาร สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) (https://www.facebook.com/danial.struggle?fref=ts) แปลว่า "ช่างน่าไร้เกียรติเหลือเกินสำหรับชนชาติสยามที่ยอมจ่ายเพื่อแลกกับการที่ชนชาติปาตานีเปลี่ยนจากเอกราชมาเป็นสันติภาพภายใต้ความเป็นนักล่าอาณานิคม"
 
ซึ่งถูกพบแขวนไว้ในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ดังนี้
1. อำเภอ รือเสาะ (8 จุด)
2. อำเภอ เมือง (5 จุด)
3. อำเภอ สุไหงปาดี (5 จุด)
4. อำเภอ ยี่งอ (5 จุด)
6. อำเภอ เจาะไอร้อง (4 จุด)
7. อำเภอ ระแงะ (3 จุด)
8. อำเภอ จะแนะ (3 จุด)
9. อำเภอ สุคิริน (2 จุด)
10. อำเภอ บาเจาะ (1 จุด)
11. อำเภอ ศรีสาคร (1 จุด)
รวมทั้งหมดในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส (37 จุด)
 
 
ส่วนในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี พบมีการแขวนป้ายผ้าบนท้องถนน ดังนี้
1. อำเภอ เมือง (2 จุด) คือ บ้านกอแลบิเละ ม.6 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง และบ้านลามง ต.ปูยุด อ.เมือง
2. อำเภอ หนองจิก (2 จุด) คือ บ้านท่ากูโบ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก และบ้านแม่โอน ม.7 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก
3. อำเภอยะหริ่ง (3 จุด) คือ ข้างรั่วโรงเรียนอนุบาลยะหริ่ง ม.2 ต.ยามู อ.ยะหริ่ง, สะพานลอย ม.5 ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง และจุดกลับรถ ม.3 ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง
รวมทั้งหมดในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี (5 จุด)
 
ส่วนในพื้นที่ จังหวัดยะลา ผู้เขียนยังไม่สามารถสรุปได้อีก
 
บางป้ายผ้าก็เขียนสื่อสารออกมาในรูปแบบอื่นๆ ผู้เขียนสามารถแปลได้ดังนี้ แปลว่า  "ความย่ำแย่ ไทยจ้างรัฐปาตานี ไม่ให้มีเอกราช แต่ให้ปรองดองกัน ภายใต้การปกครองของไทย"
 
"ประเทศไทยกำลังย่ำแย่ พวกเราจะใช้โอกาสนี้เพื่อกอบกู้ความสันติสุขภายใต้การปกครองแห่งรัฐปาตานี"
 
"น่าสมเพชเกียรติของไทยที่หวังจะโค่นล้มรัฐปาตานี เพื่อต้องการปิดกั้นความเป็นเอกราชของปาตานีโดยการกดขี่ข่มเหง"
 
ในส่วนของรัฐไทย พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า “ตามที่ปรากฏมีการแขวนป้ายผ้าหลายจุดในพื้นที่ จชต. เป็นเหตุการณ์ก่อกวนรูปแบบหนึ่ง โดยแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เพื่อหวังผลให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและพยายามเปรียบเทียบการแก้ไขปัญหาของรัฐในพื้นที่ จชต. กับการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ กทม.” พ.อ.บรรพต กล่าว 
 
ขอบคุณภาพจาก คมชัดลึกออนไลน์ : http://www.komchadluek.net
 
พ.อ.บรรพต กล่าวต่อว่า “ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกสำนัก โปรดอย่าได้ให้ความสำคัญ หรือนำมาขยายผลต่อ ซึ่งแม้ว่าปัญหาแต่ละพื้นที่จะมีความซับซ้อนในหลายมิติคล้ายกัน และผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการเพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่เหมือนกัน แต่บริบทสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์แต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกันมาก จึงไม่ควรนำแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งสองพื้นที่มาเชื่อมโยงกัน จนทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคม”
 
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับนักสันติภาพทั้งหลายและผู้เฝ้าสังเกตการณ์ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีหรือสามจังหวัดชายแดนใต้ ป้ายผ้าถูกแขวนโดยพร้อมเพรียงกัน ในขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ศูนย์อำนาจกรุงเทพมหานครยังอยู่ในช่วงวิกฤต