รอฮานี จือนารา
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจากส่วนกลางทำให้การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นต้องหยุดชะงัก ในขณะที่หลายคนก็มองว่าเวทีพูดคุยดังกล่าวได้ล่มแล้ว ประจวบกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดทหารที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 คน ก็ยิ่งทำให้หลายภาคส่วนรู้สึกถอดใจ
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อกระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเพราะอาจมีการช่วงชิงทางการเมือง อย่างกรณีแอฟริกาใต้ ขณะที่กระบวนการสันติภาพเดินหน้าอยู่ในช่วง 3 ปีแรกนั้น ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากเดิม
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2556 ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ร่วมกันศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์ได้จัดประชุมรับฟังและทำความเข้าใจกระบวนการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย คือ ศอ.บต. และสมช. และต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจาก GAM อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และตัวแทนคณะตัวกลางของมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหวังเพื่อผู้รับฟังเชื่อมั่นต่อการพูดคุยเจรจาเป็นทางออกในการแก้ปัญหาโดยต้องใช้เวลาที่ยาวนาน
ซึ่งหากดูตัวอย่างการณีศึกษาของอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซียก็ใช้เวลาพูดคุยทั้งหมด 8 ปี Prof.Abhoud Syed หรือ lingga (Syed lingga ) ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีมินดาเนา ได้กล่าวในงานเดียวกันว่า สำหรับการพูดคุยสันติภาพของประเทศไทยถือว่าเป็นการเริ่มต้นพูดคุยดังนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจ และบอกว่า การให้วาระการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้การพูดคุยได้คุยอย่างต่อเนื่อง และหากล่มแล้วก็ยังต้องสื่อสารเพื่อให้การพูดคุยสามารถดำเนินต่อไปได้
ด้าน ผศ. ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “แม้ว่าขณะนี้จะมีการยุบสภา แต่กระบวนการเจรจาสันติภาพจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นนโยบายที่เป็นมติของคณะรัฐมนตรีโดยได้เสนอพร้อมรับรองจากรัฐสภาเมื่อต้นปี 2556 และตั้งกรอบเวลาทำงานตั้งแต่ปี 2555 – 2557”
นี่ก็อาจเป็นสิ่งยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเจตจำนงในการพูดคุยเพื่อหาทางออกซึ่งหากเทียบกับอดีตแล้วก็ถือว่าการพูดคุยมีความก้าวหน้า แม้หลายภาคส่วนอาจจะกังขาว่า ตัวแทนที่ไปพูดคุยนั้นเป็นตัวแทนจริงหรือไม่ YM Datuk Tengku Ab Ghafer Tngku Muhamed ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีมินดาเนา ให้ข้อสังเกตกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ที่ผ่านมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามที่จะพูดคุยกับรัฐไทยแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะไม่มีคนกลาง แต่ขณะนี้มาเลเซียยอมมาเป็นคนกลางก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี และควรสนับสนุนการพูดคุยต่อไป
ด้าน พ.อ. สมเดช โยธา ผบ.ร. 151 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามองว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เกื้อหนุนให้เกิดความขัดแย้ง ในขณะที่หลายองค์กรพยายามเข้ามาเพื่อเป็นคนกลาง แต่ไม่สามารถเข้าถึงบีอาร์เอ็น เพราะบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรลับ ดังนั้นโชคดีที่มาเลเซียอยากมาช่วย เพราะมาเลเซียสามารถเข้าถึงบีอาร์เอ็นได้
กรณีคนกลางที่เป็นคนต่างประเทศ สังคมไทยอาจจะมองว่าเป็นการแทรกแซงหรือเปล่า Syed lingga กล่าวว่า ในกรณีมินดาเนานั้นมีมติให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมตรวจสอบหรือโมนีเตอร์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อลดการละเมิด ซึ่งก็ได้ผลจริงกล่าวคือจำนวนสถานการณ์ลดลง และเขาบอกอีกว่า การที่ต้องให้คนนอกเข้ามาตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นเพราะว่าโดยปรกติแล้วคนที่ทะเลาะกันก็มักจะหาทางออกไม่ได้
Syed Lingga ได้กล่าวอีกว่า กระบวนการสันติภาพนั้นเป็นภาพใหญ่ ส่วนกิจกรรมเสวนา การเจรจาสันติภาพ หรือ การสร้างศักยภาพของผู้นำล้วนเป็นกระบวนการสันติภาพย่อย ซึ่งการทำงานเพื่อสันติภาพนั้นเราต้องนึกถึงภาพใหญ่ (Big picture) หรือประเด็นหลักที่เราต้องการ กล่าวคือ เราไม่ควรหลงทางกับสิ่งเล็กๆ น้อย ๆ แต่ต้องมุ่งสู่เป้าหมายหลัก และเขาเพิ่มเติมว่า สังคมต้องตระหนักร่วมกันถึงค่าใช้จ่ายของความขัดแย้งที่ผ่านมาว่าเราเสียต้นทุนมากน้อยแค่ไหน เช่น ในมินดาเนา คนเป็นล้านต้องย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทางกองกำลังของมินดาเนาก็ตระหนักดีว่า การต่อสู้โดยอาวุธนั้นไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ ดังนั้น Syed Lingga บอกว่า การเจรจาระหว่างคู่อำนาจแบบไม่สมมาตร (ไม่สมดุล) วิธีการคือ รัฐบาลต้องยอมรับอัตลักษณ์ของคนบังซาโมโร และสร้างหลักประกันว่า คนบังซาโมโรสามารถปกครองตนเองได้ ในทางกลับกันคนบังซาโมโรต้องยอมรับว่ามีคนฟิลิปปินส์อยู่ในมินดาเนาด้วย และต้องยอมรับว่าเป็นดินแดนของฟิลิปปินส์อยู่ ดังนั้นตอบโจทย์ของทั้งสองฝ่ายว่า แม้ว่ารัฐจะมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ แต่ต้องพยายามแก้ไขปัญหาของชาวบังซาโมโรด้วย เขาสามารถอยู่ในพื้นที่ของเขาและสามารถปกครองตนเองในระดับหนึ่งอยู่ แต่พื้นที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์
แม้ว่าฟิลิปปินส์เองหรืออาเจะห์ดูเหมือนการพูดคุยจะสิ้นสุดแต่สันติภาพที่เกิดขึ้นเพียงแค่สันติภาพเชิงลบหรืออยู่ในสถานะไร้ความรุนแรง แต่สันติภาพเชิงบวกก็ยังไม่เกิดขึ้น Mr.Muhammad Nur ได้สะท้อนสถาพสังคมในอาเจะห์ขณะนี้ว่า “หากไปอาเจห์แล้วก็อาจเห็นความเป็นปกติที่กำลังพัฒนาในทางที่ถูกต้อง เริ่มมีร้านค้าที่มีสินค้าถูกๆจากประเทศจีน รถรามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกขึ้น สันติภาพที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น หลังจากเซ็นสัญญาสันติภาพแล้วคนที่เคยสู้รบก็ตกงาน เหยื่อจากความรุนแรงก็ไม่ได้รับการเยียวยาและความยุติธรรม เด็กกำพร้าจำนวนเป็นแสนคนก็ยังไม่มีคนดูแล และหลายอย่างที่เราได้คุยกันในเอ็มโอยูสันติภาพ ผ่านมาแปดปีแล้วก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ”
คำถามที่น่าสนใจที Muhamad Nur ถามคือ ทำไมตอนนั้นถึงเซ็นสัญญาสันติภาพ คำตอบคือตอนนั้นทุกคนเบื่อสงครามเหลือเกิน หรือสันติภาพได้มาเมื่อคนขี้เกียจทำสงครามแล้วหรือ หรือว่าหลักฐานว่าเกิดสร้างสันติภาพขึ้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าในการที่จะทำให้สันติภาพยืนยงต่อไป
เขากล่าวอีกว่า การที่คนในสามจังหวัดบอกว่า สาเหตุที่ตัวแทนกองกำลังไม่อยากออกมาพูดคุยนั้นเพราะว่ากลัวว่าจะถูกจับ กรณีอาเจะห์ก็เคยเกิดขึ้นระหว่างที่เดินทางไปพูดคุยเจรจา ก็มีการจับที่สนามบิน แต่ทั้งนี้เราก็ต้องดูว่าถ้าไม่คุยเรามีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ถ้าไม่ใช่การเจรจา อย่างนักวิชาการก็เคยถามว่า ถ้าเราไม่เลือกการเจรจาเราจะต้องต่อสู้อีกหรือไม่ ซึ่งถ้าเราบอกว่า เราจะสู้ต่อเพราะเราเกลียดคนไทย แต่ถามว่าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกัน
ดูเหมือนเขาพยายามจะบอกว่า อุปสรรคการพูดคุยสันติภาพแม้ว่าจะถึงขั้นตายหรือเสียศักดิ์ศรีแต่ท้ายที่สุดแล้วสังคมต้องนึกถึงชีวิตของประชาชนที่อยู่เบื้องหลังว่าจะให้สันติภาพมันเกิดขึ้น หรือจะยังคงรักษาซึ่งความรุนแรงต่อไป
Mr. Muhamad Nur ทิ้งท้ายว่า เอกราชนั้นดี แต่ถามว่าเราจะได้รับมันหรือเปล่า มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ เราต้องเริ่มตัด หรือยกเว้นเรื่องอิสรภาพในบางอย่างหรือเปล่า ดังนั้นเราต้องคุยกันเพื่อให้เกิดการยอมรับเพราะประวัติศาสตร์เราไม่สามารถนำมาเขียนใหม่ได้
บทเรียนเพิ่มเติม การเจรจาสันติภาพของมินดาเนาและอาเจะห์
- การแถลงการณ์ภายหลังจากพูดคุยสันติภาพไม่ควรแถลงรายละเอียด เพื่อให้มวลชนทั้งสองฝ่ายเกิดความพอใจ และเนื่องจากการพูดคุยยังไม่ได้ตกลงกัน จึงรายงานเพียงภาพรวมเท่านั้น เช่น การพูดคุยเป็นอย่างราบรื่น
- สิ่งใดที่รัฐบาลสามารถให้ประชาชนได้ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้อีกฝ่ายเป็นคนขอ เพราะรัฐมีศักยภาพที่จะให้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่คาดหวังว่ากลุ่มติดอาวุธจะให้อะไรกลับไป ทั้งนี้เพื่อลดเงื่อนไขความรุนแรง
- ถ้ามีการลงนามข้อตกลงแล้ว ก็ต้องมีการติดตามในการปฏิบัติการ ทั้งรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธต้องมีเจตจำนงในการต่อรองผ่อนปรน
- การพูดคุยสันติภาพต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ และคิดนอกกรอบเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา
- ก่อนการพูดคุยสันติภาพทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจปัญหาที่ถูกต้องก่อน มิเช่นนั้นก็จะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
- การเจรจาที่ดี ต้องมีข้อตกลงทีดี คือต้องตอบโจทย์ความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่และสิ่งที่ได้ต้องไม่ใช่ทางออกชั่วคราว แต่ต้องเป็นทางออกที่ยั่งยืนและที่ไม่มีความรุนแรง
- ถ้าได้คุยเร็วเมื่อไรเราก็จะสามารถหยุดสงครามเร็วเมื่อนั้น
- ถ้ากองกำลังไม่ดี เขาก็อาจจะกลัวว่าอาจจะถูกหลอก ดังนั้นการสร้างความไว้วางใจ
- ทั้งสองฝ่ายต้องเอาชนะความกลัวที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รัฐกลัวว่ารัฐไม่อยากคุยกับกองกำลังเพราะเกรงว่าจะมีสถานะอื่น กองกำลังอาจกลัวรัฐบาลจะหลอก หรือว่าถูกบังคับ หรือล่อลวงให้มีการเซ็นที่ไม่เป็นธรรม