รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
เสียงนักข่าวรายงานผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง “เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมม์ที่บริเวณสยามสแควร์ในช่วงที่มีผู้คนเดินช้อปปิ้งกันขวักไขว่ แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 15 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 80 คน จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ”
ยัง..ยัง..นี่ยังไม่ใช่เหตุการณ์จริง แต่ทดลองจินตนาการไปว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ในช่วงหลายปีมานี้ ผู้เขียนทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้เป็นหลัก แม้ว่าจะได้ติดตามและเขียนเรื่องการเมืองส่วนกลางอยู่บ้าง แต่ก็มักจะทำหน้าที่อ่านและติดตามข่าวสารมากกว่าจะแสดงความเห็นในเรื่องนี้ สถานการณ์ในช่วงประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าบีบหัวใจของคนหลายๆ คน ทำให้ต้องครุ่นคิดทบทวนถึงจุดยืนและสามัญสำนึกทางการเมืองที่ตนมี
ผู้เขียนเริ่มหวั่นเกรงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่คาดธง เป่านกหวีด ภายใต้การนำของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ กำลังทำให้ขื่อแปของบ้านเมืองสั่นคลอน จนอาจนำไปสู่ภาวะที่ไม่เหลือกฎเกณฑ์หลักใดๆ ที่คนในสังคมเคารพร่วมกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งที่อ้าง “มวลมหาประชาชน” กำลังเตรียมจะกระทำการนอกรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนกติกาของบ้านเมืองไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ (ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายท่านที่ร่วมชุมนุมหรือเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมก็มีส่วนในการร่างด้วยในยุคหลังรัฐประหาร 2549) ยังไม่แน่ชัดนักว่าภาพวาดอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่อาจเชื่อได้ว่าจะเป็นการสถาปนาอำนาจของชนชั้นสูงและชนชั้นกลางให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยพวกเขาถือตนว่ามีความหวังดีต่อประเทศชาติ มีคุณธรรม สะอาด ไม่โกง และต้องการจะขจัด “ระบอบทักษิณ” ให้หมดไป พวกเขากำลังอ้าง “มวลมหาประชาชน” เพื่อล้มล้างสิบห้าล้านเสียงผู้ซึ่งแสดงเจตจำนงเลือกรัฐบาลนี้เข้ามาโดยผ่านการเลือกตั้ง
คำถามคือ แม้ปรากฏการณ์การซื้อเสียงมีอยู่จริงและคงไม่ใช่เป็นเพียงการกระทำของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราคิดว่าข้อกล่าวอ้างเช่นนี้จะทำลายล้างความชอบธรรมของเจตจำนงของประชาชนทั้งหมดที่เลือก (อดีต)รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาได้ทั้งหมดเลยหรือ การแก้ปัญหาเรื่องการซื้อเสียงและคอร์รัปชั่นจะกระทำผ่านการทำลายหลักประชาธิปไตยและกฎหมายสูงสุดของประเทศได้และในเวลาอันสั้นกระนั้นหรือ และความพยายามจะเปลี่ยนกติกาใดๆ ในบ้านเมืองจะมีพื้นที่ให้เสียงของคนที่คิดต่างจากผู้ชุมนุมที่เป่านกหวีดและพันธมิตรอย่างไร หากปราศจากพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีความหมายแล้ว คนที่เห็นต่างก็มีแต่จะถูกผลักให้ต้องแสวงหาหนทางอื่น ซึ่งอาจนำพาประเทศให้ตกไปสู่หลุมของความรุนแรงที่อาจยืดเยื้อและยากที่จะฉุดรั้งให้กลับคืนมาสู่สภาวะปกติได้อีก
แม้อาจมีบทเรียนในต่างประเทศที่เผชิญกับภาวะความขัดแย้งรุนแรงซึ่งสังคมไทยควรเรียนรู้ ผู้เขียนอยากจะชักชวนให้มองดูประสบการณ์ในบ้านเราเองที่อาจยังมิได้สรุปบทเรียนกันเท่าใดนัก เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่อนุมานขึ้นข้างต้น เป็นความเป็นจริงในชีวิตที่พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประสบในช่วงเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับผู้คนในเมืองฟ้าอมร ข่าวภาคใต้อาจเป็นเพียงแค่เหตุการณ์ดาษๆ ทั่วไป ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตอันศิวิไลซ์ของพวกเขา
ก่อนที่สถานการณ์ภาคใต้จะกลายเป็นภาวะความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ (armed conflict) เมื่อ 60 กว่าปีก่อน ชาวมลายูมุสลิมก็เคยต่อสู้ด้วยวิถีการเมืองแบบสันติวิธีเพื่อเรียกร้องการปกครองตนเอง นายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีในขณะนั้นได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อให้กับตัวแทนของรัฐบาลไทยเมื่อ พ.ศ. 2490 โดยหลักๆ พวกเขาต้องการให้คนในพื้นที่มีสิทธิในการเลือกผู้ปกครองของตนเอง ให้ข้าราชการในพื้นที่ร้อยละ 80 เป็นคนมลายูในพื้นที่ ให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทยและเป็นสื่อในการเรียนการสอนระดับประถม ให้มีการตั้งศาลพิจารณาคดีตามกฎหมายอิสลาม ให้มีการจัดเก็บภาษีและรายได้เพื่อใช้ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนาโดยผ่านความเห็นชอบจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
หลังการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นายหะยีสุหลงถูกจับและตัดสินจำคุกข้อหากบฏ เขาถูกคุมขังเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน สองปีหลังได้รับการปล่อยตัว เขาหายตัวไปอย่างลึกลับพร้อมกับลูกชายคนโต หลังถูกตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกไปรายงานตัว ซึ่งเชื่อกันว่าพวกเขาถูกตำรวจสังหารก่อนนำศพไปถ่วงน้ำ การปฏิเสธการเรียกร้องอย่างสันติวิธีนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตัวของขบวนการติดอาวุธในภาคใต้นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีบางช่วงบางตอนที่ขบวนการอ่อนแอลง รัฐไทยสามารถโน้มน้าวหรือกดดันให้บางกลุ่มบางคนวางอาวุธและ “เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย” แต่ว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธไม่เคยสิ้นสุด และอย่างที่เราได้เห็น นับตั้งแต่การปล้นปืนในปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงได้ขยายตัวมากขึ้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,700 คนและบาดเจ็บอีกกว่าหมื่นคน มิเพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงคือชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และคนมลายูมุสลิมเองที่ถูกมองว่าเข้าข้างรัฐสยาม
ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนที่เคยอยู่และยังอยู่ในขบวนการ ”ปลดปล่อย” ปาตานีจำนวนหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บแค้นที่การเรียกร้องอย่างสันติวิธีถูกรัฐไทยปิดปากด้วยการฆ่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ด้วยอาวุธไม่สิ้นสุด หะยีสุหลงเป็นกรณีแรกๆ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่ามีการปราบปรามอื่นๆ อีกหลายครั้งหลายคราหลังจากนั้น กรณีตากใบก็เป็นความผิดพลาดร้ายแรงในยุครัฐบาลทักษิณที่ยังคงเป็นแผลลึกในใจของคนมลายูมุสลิมจนถึงทุกวันนี้ พวกเขามองว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศนี้และความปรารถนาสูงสุดคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของไทย หลายฝ่ายวอนขอให้พวกเขาวางปืนและมาสู้ในระบบหรือพูดคุย แต่หลายคนในขบวนการยังไม่เชื่อว่าเสียงของพวกเขาจะได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง การพูดคุยที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งนับเป็นพัฒนาการในเชิงบวกก็ต้องสะดุดหยุดลงท่ามกลางกระแสการเมืองส่วนกลางอันวุ่นวายสับสน
ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจินตนาการของม๊อบนกหวีดและพันธมิตรของพวกเขาในขณะนี้กำลังจะผลักให้คนส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่ในประเทศนี้ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ เสียงของพวกเขามีค่าไม่เท่ากับเสียงของคนอีกกลุ่มหนึ่งกระนั้นหรือ การที่คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าจะถือเอาว่าเสียงของตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นจะเป็นการตอกลิ่มแห่งความแตกแยกในสังคมให้ลึกลงไปอีกหรือไม่ หากคนจำนวนหนึ่งเลิกเชื่อที่จะต่อสู้ในระบบการเมืองปกติและด้วยสันติวิธี บ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร เรากำลังจะผลักให้เกิดสงครามชนชั้นระหว่างคนไทยด้วยกันเองหรือไม่
ความรุนแรงในภาคใต้สุดซอยไปนานแล้ว อย่าทำให้สมรภูมิสงครามขยายจากภาคใต้ไปทั่วประเทศเลย