Skip to main content

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …...

“ด้วยใจ”.... ภรรยาอดีตผู้ต้องหาความมั่นคง

ปัทมา หีมมิหน๊ะ
ภาพประกอบ: วิโชติ ไกรเทพ

“ฉันได้แต่นึกในใจด้วยความกังวล มันผิดปรกติแล้ว 10 นาทีผ่านไป 20 นาทีผ่านไป 30 นาทีผ่านไป ลองไปหาดูในตลาด ไปดูที่บ้านพักตำรวจ ไปหาที่โรงพัก “ก็ไม่มี” ฉันเริ่มกลัวแล้ว จึงเร่งตามหา “วี” สามีของฉัน ความทรงจำอันเลวร้ายเริ่มต้นจากตรงนี้”
....................

วันนั้น เป็นวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม 2551 เป็นวันที่ร้าน “คาลิด คาร์แคร์” ร้านที่เราเช่าเพื่อทำเป็นร้านล้างรถ อยู่ห่างจากสถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อยไม่เกิน 500 เมตร โดยปกติ วี จะรับส่งรถตำรวจสถานีน้ีมาทำความสะอาดเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการตีรถไปกลับ แต่ครั้งนี้ วีไปนานจนผิดสังเกตแรงสังหรณ์ใจเริ่มแรงขึ้น เมื่อฉันกลับมาบ้าน ถามมะ แม่ของฉัน คำตอบสั้นๆ ของมะ ยิ่งถาโถมความกังวลมากขึ้นอีก

“ยังไม่กลับเลย”

เมื่อมะบอกว่ายัง คราวนี้ฉันจึงกลับไปหาใหม่ หาทั้งวี ทั้งลูกค้า และรถของลูกค้า เขาเอาวีไปไหนนะ วียังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ทำไมหาไม่เจอ 1 ชั่วโมงผ่านไปแล้ว ทำไมวียังไม่กลับมา มะนั่งหลบอยู่ที่บันไดในร้านตัวสั่นด้วยความกลัว กลัวในสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ความทรงจำสุดท้ายก่อนที่ “วี” จะหายตัวไป ฉันจำได้ว่า เขาขับรถไปกับตำรวจคนหนึ่งที่เป็นลูกค้าประจำของร้านเรา และปลายทางที่ต้องไปส่งไก็คือโรงพักซึ่งห่างกันเพียง 5 นาทีเท่านั้น ฉันออกไปหาใหม่อีก หาอีก รวบรวมความกล้าเข้าไปหารอบโรงพักใหม่ สุดท้ายก็เจอรถคันที่ตามหาและเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันเห็นวี ออกไปกับเจ้าของรถคันนั้น เพื่อไปส่งเขาแล้วจะขับกลับมาเพื่อล้างรถให้เขา แต่ไม่เป็นเช่นนั้น...

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือป้ายทะเบียนรถเดิมถูกเปลี่ยนเป็นป้ายแดง ซึ่งรถคันนี้ถูกจอดซ่อนอยู่ด้านหลังโรงพัก ฉันเข้าไปถามร้อยเวรข้างในว่าเห็นวีไหม เขาก็บอกว่าอยู่ข้างบน เป็นคำตอบที่ทำให้สบายใจขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เอ๊ะใจถามต่อ จึงเดินขึ้นไปหาวีข้างบน

“กุญแจมือ !!!”

ช๊อค ! ! ! วีถูกสวมกุญแจมือ มีตำรวจคนหนึ่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ อีกคนหนึ่งยืนคุมอยู่ด้านหลัง ฉันงงไปหมด มันเกิดอะไรขึ้น ทำไม ทำอะไรไม่ถูก ไม่เข้าใจ อะไร อะไร อะไร ได้แต่ถามตัวเองอยู่ในใจ พวกเขาบอกว่าวีเป็นโจร เป็นแนวร่วม ฉันไม่เข้าใจ วีก็อยู่กับเราตลอด ก่อนแต่งงานเขาก็ทำงานอยู่ที่ร้าน ไม่ได้ไปไหน นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของฉัน ตำรวจที่ออกไปกับวีแค่บอกว่าจะล้างรถ ไม่เห็นจะพูดอะไรเลย

ฉันทำอะไรไม่ถูก เขาให้วีเซ็นต์เอกสารการสอบสวน โดยตำรวจแจ้งข้อหายาวเหยียด “....ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันก่อการร้าย สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือร่วมกันรวบรวมทรัพย์สินหรือกระทำผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนก่อการร้าย สมคบหรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วมไปก่อการร้าย หรือรู้ว่าจะมีการก่อการร้าย และกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อก่อการร้าย ร่วมกันมีอาวุธและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันควร จำเป็นหรือเร่งด่วนตามพอสมควร...”

เห็นใบแจ้งข้อกล่าวหาที่ตำรวจยื่นมาให้วี ฉันจึงเอามาอ่านก่อน ขาแข้งสั่น อยากเป็นลม แต่ก็พยายามตั้งสติ แล้วให้วีเซ็นต์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตำรวจเอาวีไปขัง รอตำรวจที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาสอบสวนในวันจันทร์ ฉันได้แต่เกาะลูกกรงห้องขังร้องไห้ วีก็ร้อง เราสองคนต่างก็ร้องไห้ เพราะงงกับชีวิตว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำอะไรไม่ถูก สักพักฉับรีบกลับไปบอกมะว่าเจอวีแล้ว ถึงมะจะโล่งใจ แต่มะก็ยังตัวสั่น มะยังกลัวอยู่

ฉันไม่เคยคิดเลยว่าความสุขของการมีชีวิตคู่จะอยู่กับเราได้ไม่นาน ภาพงานแต่งงานด้วยความสุข ภาพเราสองคนจูงมือกันต้อนรับแขกด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ภาพของแขกเหรื่อที่มาในงานเมื่อสองเดือนที่แล้วยังคงอยู่ในความทรงจำ ความฝันที่จะมีชีวิตครอบครัวที่สวยงามกลับกลายเป็นความมืดมิด ไม่เห็นแม้แสงสว่างที่อยู่ปลายทาง ชีวิตที่เรียบง่ายมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยรับรู้เรื่องคุก เรื่องเรือนจำ หรือเรื่องศาลก็ต้องรู้จัก เพียงเพราะกลุ่มคนที่ต้องการผลงาน เพียงเพราะกลุ่มคนที่ต้องการเงินเยียวยา เพียงเพราะผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่สนใจว่าได้ทำร้ายและทำลายชีวิตของคนอื่นไปทั้งชีวิต ตำแหน่งและเงินทองมันคงมีค่ามากพอที่จะไม่สนใจชีวิตของคนอื่น

….............................

ฉันยังไม่ได้บอกใคร

มะแก่แล้ว เกษียณอายุราชการมาเกือบ 10 ปี รับเหตุการณ์แบบนี้ไม่ทัน ฉันยังไม่โทรไปบอก “มุมตัส” (อัญชนา หีมมิหน๊ะ) พี่สาวที่อยู่ด้วยกัน เขาไปส่งเศษยางที่โรงงานที่ปัตตานี ไม่รู้จะบอกอย่างไร กลัวเขาจะรีบกลับแล้วจะขับรถเร็วมันอันตราย ต้องกลับไปดูวีก่อน ไป มาทั้งร้านทั้งโรงพักอยู่อย่างนี้ ห่วงทั้งมะ ห่วงทั้งวี ทำอะไรไม่ถูก สับสนไปหมด ยืนเกาะลูกกรงไว้ มองหน้าวี ไม่ได้พูดอะไร พอตำรวจไล่ก็ออกมานั่งรอด้านหน้า เจอตำรวจที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นสารวัตร(สวป.) ก็ถามเขาว่า วีไม่เคยไปไหน ทำงาน กลับบ้าน กินน้ำชาในหมู่บ้าน ทำไมถึงถูกหาว่าเป็นโจร ถ้าวีเป็นโจรจริงๆ เขาคงไม่ทำงานหรืออยู่ในที่ที่ห่างโรงพักไม่เกิน 500 เมตรอย่างนี้หรอก

ร้านล้างรถของเราเป็นร้านใหญ่ที่สุดใน อ.สะบ้าย้อย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ เป็นทหาร ถ้าวีเป็นแนวร่วมเขาก็คงหนีไปนานแล้ว เขากลับพูดว่า “แค่กินน้ำชาโต๊ะเดียวกับแนวร่วม เขาก็เป็นแนวร่วม”ตำรวจคิดแบบนี้ได้อย่างไรนะ คิดได้แค่นี้เองเหรอ ง่ายไปหรือเปล่า? พอตำรวจอนุญาตฉันก็ไปดูวีอีก ไม่ได้พูดอะไรได้แต่ร้องไห้ตามเคย นึกขึ้นมาได้ว่าต้องบอกมะเขาจะได้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรดี มะเขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บอกอาเยาะ (พ่อของเขา) เขาก็ไม่สนใจ ฉันคุยกับพวกเขาเรื่องประกันตัว เราต้องหาหลักทรัพย์ พวกเขาบอกว่าไม่มี ให้เอาโฉนดที่ดินของครอบครัวฉันไปประกัน

ที่ดินเป็นชื่อพี่น้อง 5 คนและเขาก็อยู่ต่างประเทศกัน มาเซ็นต์เอกสารไม่ได้ ฉันเสียใจมาก เขาไม่ดิ้นรนอะไรเลย ได้แต่อ้างว่าไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่มีโฉนด แค่ดิ้นรนหรือกระตือรือร้นฉันก็พร้อมที่จะสู้ไปกับพวกเขาแล้ว ฉันคิดไม่ออกแล้วว่าจะทำอย่างไร ต้องกลับไปเอาแปรงสีฟัน ยาสีฟัน เสื้อผ้า ผ้าละหมาดไปให้วีก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากันว่าจะทำอย่างไรหลังจากตำรวจที่ทำคดีความมั่นคงสอบสวนเสร็จ

วันนี้ตำรวจที่สอบสวนเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาแล้ว ฉันเข้าไปนั่งฟังตอนสอบสวนด้วย ฉันถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่าไม่มีอะไร ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง ฉันก็ถามอีกว่าจะประกันตัวที่โรงพักได้ไหม เขาบอกว่าได้ แต่ว่าไปประกันที่ศาลจะได้ไม่ต้องเสียเวลาประกันตัวหลายรอบ ฉันก็สบายใจขึ้น ระหว่างรอประกันตัวที่ศาลในวันรุ่งขึ้นฉันก็ต้องหาหลักทรัพย์เตรียมไว้ก่อน คนรู้จักแนะนำฉันกับมุมตัสไปเช่าหลักทรัพย์ เขาพาฉันไปที่ อ.นาทวี ตอนกลางคืนเลย พบอดีตนายกเทศมนตรีคนหนึ่งที่เป็นทนาย เขาบอกว่า คดีแบบนี้ประกันตัวยาก ส่วนใหญ่ประกันตัวไม่ได้

ฉันเริ่มใจคอไม่ดี คนรู้จักบอกว่าไม่เป็นไร เขาพาฉันไปหาทนายอีกคนที่ อ.สะเดา ทนายบอกว่าสบายมากเขาทำให้ได้ประกันมาแล้วหลายคน เขารู้จักทั้งอัยการ ผู้พิพากษา แต่ต้องจ่ายค่าเช่าโฉนดก่อน คิดตามราคาประเมิน 1,000,000 บาท ฉันต้องจ่ายให้เขา 100,000 บาท เรามีเงินไม่พอ ดีนะที่มีคนแก่ใจดีถอดสร้อยที่เขาสวมหนัก 2 บาทให้ฉันก่อนที่ฉันจะมาหาทนาย เขาให้ฉันยืมเผื่อว่าจำเป็นต้องใช้มัน เราวางเงินกับสร้อยให้ทนายรวมแล้วเป็นเงิน 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่พอ ฉันสัญญาว่าจะให้อีกในวันพรุ่งนี้ ทนายบอกว่าได้

รุ่งเช้าฉันไปเยี่ยมวีที่โรงพักและบอกเขาว่าฉันจะประกันตัวให้ได้ เดี๋ยวจะไปรอที่ศาล เขายิ้มอย่างดีใจ แต่เมื่อไปถึงศาล ทนายคนนั้นก็ยังไม่มา ระหว่างที่รอทนาย ตำรวจบอกฉันว่าคนที่ซัดทอดวีขึ้นบัลลังก์ ฉันเข้าไปดูเพราะฉันโกรธเขามากที่มาซัดทอดวี แต่แล้วความโกรธของฉันก็หมดไปเมื่อฉันเห็นใบหน้าที่บวมปูดของเขา ตาที่แดงก่ำและมีน้ำตาไหลตลอดเวลาจากการถูกกระแทกอย่างหนัก อารมณ์โกรธกลายเป็นความเข้าใจแล้วว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง ฉันจึงออกมารอทนายต่อด้วยความร้อนใจมากขึ้น โทรไปเขาก็อ้างว่าเขาเป็นโต๊ะอิหม่ามว่ากำลังนิกะห์ (แต่งงาน) คนอยู่ให้รอก่อน ฉันเครียดมากเลย ตำรวจพาวีมาถึงศาล แล้วแต่ทนายยังไม่มาเลย

ฉันจะทำอย่างไรดี รอจนถึงบ่าย 2 ทนายจึงมาแต่เขาก็ไม่ทำอะไรเลย ฉันถามเขา เขาก็บอกว่ารอก่อน เขาเริ่มจะมาเขียนเอาตอน 4 โมงเย็น ศาลใกล้จะปิดแล้ว สุดท้ายเขาก็มาบอกว่าประกันตัวไม่ได้ เงินก็ไม่ได้คืน

ฉันออกมายืนงงหน้าประตูศาล ได้แต่มองรถของเรือนจำพาวีไปฝากขัง วียืนในรถมองฉันด้วยสายตาเศร้า ฉันเสียใจมากได้แต่ยืนมองและร้องไห้อย่างสิ้นหวังที่ช่วยวีไม่ได้ ทั้งที่ทนายนั่นพูดอย่างมั่นใจว่าทำได้ แต่ทำไมเป็นแบบนี้

ฉันไม่เข้าใจเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ฉันไม่ได้ไปเยี่ยมวีที่เรือนจำเลย มัวแต่เครียดเรื่องประกันตัว เขียนเรื่องประกันตัวไปศาลก็ไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า “เกรงจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน” “เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนี” พอประกันตัวไม่ได้ทนายที่ให้เช่าโฉนดเขาคิดค่าเสียเวลาครั้งละหมื่น เราก็ต้องให้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าทนายกลุ่มนี้เป็นพวกหลอกหลวงในศาลก็เสียเงินไปหลายหมื่นแล้ว แย่มากเลยหากินบนความทุกข์ของคนอื่น ฉันกับมุมตัสจึงคิดว่าหยุดก่อนดีกว่าแล้วค่อยตั้งหลักกันใหม่

ฉันกับมะไปเยี่ยมวีที่เรือนจำจังหวัดสงขลาหลังจากที่ศาลฝากขังมาแล้ว 2 วัน นี่เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ฉันได้เข้าเรือนจำหลังจากที่ได้แต่ขับรถผ่าน ฉันเข้าไปตรงจุดยื่นเอกสารเยี่ยมญาติอย่างงงๆ ดูคนอื่นว่าเขาทำกันอย่างไร ระหว่างรอคิวเยี่ยมฉันยืนมองรั้วเรือนจำที่สูงมีลวดหนามอยู่ข้างบน นี่หรือสถานกักขังคนที่กระทำผิด แล้ววีหล่ะผิดอะไร ทำไมวีต้องมาอยู่ในนี้ ฉันไม่เข้าใจจริงๆ เมื่อถึงเวลาที่เขาเรียกฉันกับมะก็เดินตามเขาเข้าไปมองหาวีว่าอยู่ตรงไหน

วินาทีแรกฉันดีใจมากที่ได้เห็นหน้าเขา ถึงจะดีใจอย่างไรฉันก็ร้องไห้อยู่ดี มะยืนอยู่ด้านหลังด้วยความสงสารเราทั้งสองคน ฉันคุยโทรศัพท์กับวีเนื่องจากเขากั้นระหว่างญาติกับผู้ต้องขังด้วยกระจก วีได้แต่ตัดพ้อว่าทำไมเพิ่งมาเขาเข้ามาตั้ง 2 วันแล้ว นึกว่าจะไม่มาเสียแล้ว แค่ 10 นาทีที่เขาให้คุยกัน ฉันรู้สึกว่ามันนานมาก เพราะฉันพูดอะไรไม่ออก มันติดอยู่ในลำคอ วีก็พูดไม่ออกเราต่างก็ยังงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ วีถามฉันว่า

“รอไหวไหม ถ้ารอไม่ไหวก็ให้บอกเขา...จะเซ็นต์ใบหย่าให้”

เมื่อได้ยินคำนี้ สิ่งที่ฉันยืนยันกับตัวเอง ว่าทางเลือกที่เสนอมาคงไม่ใช่สิ่งที่ดี คนเราแต่งงานกันแล้วก็ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน

ถ้าฉันและครอบครัวของฉันไม่ช่วยแล้วใครจะช่วยในเมื่อญาติๆ ของเขาไม่ช่วย แล้วเขาจะเป็นอย่างไร ฉันทิ้งเขาไม่ลงหรอก แรกๆ ฉันยังไม่รู้เลยว่าเอาของไปเยี่ยมได้ ฉันเลยไม่ได้ทำกับข้าวหรือซื้ออะไรไปฝากวี ต้องฝากเงินไว้อย่างเดียว ฉันกับมะไปเยี่ยมวีทุกวันศุกร์เพราะว่าร้านปิดวันศุกร์ ส่วนมุมตัสเขาต้องไปส่งเศษยางที่โรงงานเพื่อหาเงินมาช่วยเราในการสู้คดีและไปเยี่ยมเขา ฉันซื้อกับข้าว ซื้อผลไม้เยอะๆ ไปฝาก เพราะเขาบอกว่าต้องให้คนอื่นกินด้วย เอาเสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวันไปเยี่ยมเขา และทุกครั้งต้องฝากเงินไว้ให้เขาเผื่อว่าเขาจำเป็นต้องใช้ แต่ละครั้งฉันหมดเงินไปไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าของฝาก

.......................................

“!!! คดีเพิ่มเหรอ”

ในขณะที่ฉันทำตามขั้นตอนการขอเยี่ยมผู้ต้องขังตามปกติที่มาเยี่ยมวี จนมาถึงคิวของฉัน จึงเดินไปตามช่องเยี่ยมที่คิดว่า วีจะยืนรออยู่ แต่ฉันพยายามหาหลายรอบ วนหลายครั้ง ไม่เห็นร่างวีของฉัน ที่ควรจะยืนรอฉันมาเยี่ยม แต่วันนี้ไม่มีวียืนอยู่ ฉันจึงรีบไปถามเจ้าหน้าที่เพื่อให้ตรวจสอบว่า วี อยู่ไหน

เจ้าหน้าแจ้งว่า ได้ย้ายวีไปเรือนจำกลางสงขลา เมื่อรู้ฉันก็โล่งใจ แต่ทุกครั้งที่ฉันไปเยี่ยมวี ระหว่างที่ฉันขับรถไปเรือนจำ ฉันจะสวนทางกับรถเรือนจำที่ส่งผู้ต้องหาไปศาลนาทวี ฉันรู้สึกกังวลและนึกถึงภาพของวีที่อยู่ในรถคันนั้นในวันที่ศาลให้ฝากขังมันยังอยู่ในความทรงจำ และฉันกลัวว่าเขาพาวีไปศาลรับฟังคดีอื่นอีกโดยที่ฉันไม่รู้ หลังๆ ฉันพยายามจะร้องไห้ให้วีเห็นน้อยลง และฉันก็พยายามไม่เอาเรื่องความทุกข์ที่ฉันได้พบเจอจากญาติของเขา จากคนรู้จัก จากคนที่ฉันไปร้องขอความเป็นธรรม จากลูกค้าให้เขาฟัง ไม่อยากให้เขาต้องคิดมาก แค่นี้เขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว

เมื่อข่าวเริ่มขยายออกไปว่า วี โดนจับคดีแนวร่วม ลูกค้าเริ่มเข้าร้านน้อยลง เพราะเขากลัวไม่กล้าเข้ามาใช้บริการเหมือนเมื่อก่อน ทำให้รายได้เริ่มน้อยลง อีกทั้งฉันกับมุมตัสก็ไม่ค่อยมีเวลาดูแลร้านเพราะเราต้องไปร้องขอความเป็นธรรมในที่ต่างๆ ทำให้การล้างไม่สะอาดเท่าที่ควร มุมตัสได้ไปปรึกษาคนที่โรงงานรับซื้อเศษยาง เขาบอกว่ามีเพื่อนที่จะช่วยได้ ทำให้คดีเสร็จเร็ว (จริงๆ แล้วฉันกับมุมตัสคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เราก็ต้องลองดู) เพื่อนของเขาตัวเตี้ย และขาก็พิการ เขาอ้างว่าเขารู้จักนายทหารใหญ่ สามารถช่วยได้ แต่ต้องมีค่ากระเช้าผลไม้ ค่าน้ำชา 100,000 บาท

เราจึงบอกเขาว่าเราไม่มีเงินสดแล้วทยอยจ่ายให้ได้ไหม เขาบอกว่าได้ เพื่อนเขาพาเราไปพบนายทหารคนหนึ่งที่ค่ายสิรินธร แต่ดูท่าทางทหารคนนั้นจะไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ เขาเอาเงินไปหลายครั้งครั้งละ 10,000 บาทบ้าง 30,000 บาทบ้าง อ้างว่าไปติดต่อคน จนเราเริ่มรู้สึกว่าเขาทำไม่ได้ (แต่กว่าจะรู้สึกก็เสียเงินไปแล้ว 90,000 บาท) เราหยุดติดต่อเขา

สุดท้ายฉันกับมุมตัสคิดว่าเราสู้ด้วยตัวของเราเองดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้เราต้องโดนหลอกจนหมดตัวแน่ๆ เราจึงไปตามที่ต่างๆ ทั้งศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปค่ายสิรินธร ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด ไปพบหัวหน้าศาล ไปพบหัวหน้าฉก. 4 ส่งเรื่องไปที่ DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ไปร้องขอความเป็นธรรมที่ที่มีคนใหญ่คนโตที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีบ้าง ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานีบ้าง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาบ้าง ดักพบท่านชวน หลีกภัยที่สนามบินบ้าง พบท่านสาธิต วงศ์หนองเตยที่โรงแรมซีเอส ปัตตานีบ้าง ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.สงขลา ฯลฯ

เมื่อไปพบแต่ละคนต่างก็พูดว่ามันเป็นไปตามขั้นตอนของศาล จะไปแทรกแซงศาลไม่ได้ ตำรวจจับต้องมีหลักฐานชัดเจน ได้แต่พูดว่าจะเป็นกำลังใจให้นะครับ บ้างครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็พูดว่าวีเป็นแนวร่วมเขาช่วยไม่ได้บ้าง เราเป็นผู้หญิงร้องไห้เขาก็สงสาร ยิ่งร้องขอความเป็นธรรมไปหลายๆ ที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยิ่งไม่พอใจ ไหนจะเจอชาวบ้านรังเกียจ เขามองเราอย่างหวาดระแวง คนที่ไม่เกรงใจเขาจะพูดเลย เช่นเวลาไปส่งรถให้ลูกค้าที่โรงพยาบาลเขาก็พูดว่า “ส่งรถเรียบร้อยพร้อมระเบิด 1 ลูก” ลูกค้าทหารมาล้างรถก็บอกว่า “ยังไงพี่เว้นรถผมไว้สักคันนะ” เมื่อเจอคนรู้จักก็ได้ถามเขาว่ามาซื้ออะไร เขาก็ตอบว่า “มาซื้อไฟแช๊คอย่าบอกใครนะจะเอาไปเผาโรงเรียน” แทนที่หลายๆ คนจะเห็นใจหรือว่าสงสารเขาก็ยิ่งพูดให้ช้ำใจ ฉันไปซื้อข้าวยำในหมู่บ้านมีผู้ชายคนหนึ่งพูดขึ้นกลางวงน้ำชาถามฉันว่า

“จะเอาสามีใหม่ไหม เดี๋ยวเขาจะหาให้” เมื่อเขาพูดจบทุกคนในวงน้ำชาก็ยิ้ม ฉันเสียใจมากขับมอเตอร์ใซด์กลับบ้านด้วยน้ำตา ไม่คิดว่าจะเจอคนพูดแบบนี้ ลูกค้าที่เป็นตชด. มาที่ร้านฉันก็เข้าไปต้อนรับเขาก็พูดขึ้นว่า “มาดูแม่ม่าย” ไปซื้อกับข้าวที่ตลาดพ่อค้าถามฉันว่า “มึงไปหาผัวมาจากไหน เรียนมาตั้งสูงทำไมไม่หาให้ดี”

คนในหมู่บ้านถามฉันว่า “ทำไมก่อนแต่งไม่รู้จักเลือกให้ดี” ฉันอยากจะบอกเขาเหลือเกินว่าฉันไปสืบมาแล้วว่า คดีนี้เป็นคดีส่วนตัวที่คู่เขยทะเลาะกันเรื่องมรดก แต่ยิงพลาดไปโดนเมียซึ่งเป็นคนตัวใหญ่และเป็นคนขับรถให้สามีเขานั่งซ้อนท้ายระหว่างไปตัดยาง เมื่อประมาณตี 3 ของวันที่ 21 มกราคม2550 กว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลก็เป็นตอนเช้าแล้ว คนเจ็บเสียเลือดมากจึงเสียชีวิต ส่วนสามีก็ทิ้งเมียไว้แล้วหนีเอาตัวรอดโดยไม่ตามคนมาช่วย แล้วเขายังขอให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายช่วยลงให้เป็นคดีความมั่นคงเพื่อที่จะได้รับเงินเยียวยา

พวกเขาไม่รู้หรอกว่ามันได้ทำร้ายและทำลายชีวิตของคนอื่นอีกหลายคน ฉันพยายามสืบหาหลักฐานต่างๆ ให้กับทนายเพื่อใช้ในการสู้คดี ในบางครั้งฉันก็กลัวแต่ฉันก็ต้องสู้เพื่อคนบริสุทธิ์คนหนึ่ง และสู้เพื่อเกียรติ์และศักดิ์ศรีของพ่อแม่ที่สั่งสมมานานในชีวิตราชการที่ถูกคนใจร้ายมันทำลายจนย่อยยับ

ฉันและครอบครัวต่อสู้กันจนเกือบ 2 ปี เจออุปสรรคและคำพูดเยอะแยะมากมาย ฉันจำได้ดีในวันที่พยานพูดมีทั้งทหาร ตชด. ตำรวจในพื้นที่ ตำรวจที่สอบสวนคดีความมั่นคง กลุ่ม ตชด.พาผู้เสียหายมาที่ศาลและพูดเตรียมกันก่อนที่จะขึ้นศาล และที่สำคัญพยานคนหนึ่งที่เป็นตำรวจเข้ามาในศาลก่อนที่ผู้พิพากษาจะเข้ามา เขาได้ถามตำรวจศาลคนหนึ่งว่า ผู้ต้องคนนั้นชื่ออะไร คนนี้ชื่ออะไร เมื่ออัยการถามเขาก็ตอบถูกเหมือนว่าได้สืบมาจริง มาถึงวันที่ศาลได้ตัดสิน 11 มีนาคม 2553 ญาติๆ ฉันมาจากสงขลาและยะลามาให้กำลังใจฉันและครอบครัว ฉันตื่นเต้นและกังวลมาก

ความเครียดได้เข้ามาหาฉันอีกครั้ง ฉันใจคอไม่ดีเลย ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ายกฟ้องฉันจะดีใจมาก แต่ถ้าไม่ ฉันจะต้องทำอย่างไร ต้องสู้อย่างไรอีก ต้องเดินทางไปร้องขอความยุติธรรมกับใครอีกบ้าง จะต้องทุกข์ไปถึงเมื่อไหร่ หรือจะต้องเลิกกับวี เพราะถ้าตัดสินจำคุกหรือว่าประหารชีวิต ฉันจะต้องรอเขาเหรอ ฉันคิดไม่ออกจริงๆ

จนวินาทีที่ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา ฉันงงไม่เข้าใจ หูอื้อไปหมด เมื่อท่านอ่านจบฉันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี เมื่อรู้ตัวอีกที่ก็ตอนที่ทุกคนดีใจกับฉัน ฉันโผเข้าไปกอดวี ร้องไห้อย่างดีใจ แต่ฉันก็ยังงงว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างหลังจากนี้ ฉันเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่าทำอย่างไร เขาบอกว่าให้เอาเอกสารการปล่อยตัวไปรับวีที่ศาลในตอนเย็นๆ

ฉันดีใจจริงๆ แต่ก็ดีใจมากไม่ได้ ในเมื่อคนอีก 2 คนที่ถูกจับพร้อมวียังต้องฝากขังอยู่ และฉันก็รู้ว่าเขาก็ไม่ได้ทำผิดในคดีนี้ด้วยเหมือนกัน ตชด.ที่ดูแลศาลได้ถามฉันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ฉันเลยบอกเขาว่ายกฟ้อง เขาก็พูดว่า “ดีเลยก๊ะไม่ต้องหาสามีใหม่” จากความดีใจกลับกลายเป็นความโกรธ แย่จังเลย เขาพูดทุเรศแบบนี้ได้อย่างไร

ระหว่างรอไปรับวี ฉันกลับมาเตรียมเสื้อผ้าที่บ้านไว้สำหรับเปลี่ยน ฉัน มะ และมุมตัสไปรับตัววีที่เรือนจำตอน 4 โมงเย็น เรานั่งบ้างยืนบ้างรออยู่หน้าประตูเรือนจำอย่างใจจดใจจ่อ กว่าจะได้รับการปล่อยตัวก็เกือบหนึ่งทุ่มแล้ว เราไม่ตรงกลับบ้านกลัวว่าจะมีคนดักทำร้าย เราพาวีไปหาบาบอ พาไปบ้านญาติ กว่าจะกลับก็อีกวันแล้ว กลับมาก็เชือดแพะทำบุญเลย


......................

หลังจากกลับมาอยู่บ้าน วีได้บอกกับฉันว่า ถ้าฉันทิ้งเขา เขาจะออกมาเป็นคนเลวหรือไม่ก็จะออกไปเป็นแนวร่วมจริงๆ เพราะชีวิตได้สูญเสียทุกอย่างแล้ว ฉันสงสารเขา และคิดว่าจะดูแลเขาให้ดีที่สุด

ถึงแม้เราจะดีใจที่ได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ด้วยความกลัว เรากลัวว่าตำรวจจะทำแบบเดิมอีกที่มาหลอกเอาตัววีไป เพราะเรายังต้องเปิดร้านทำงาน ต้องหาเงินไปจ่ายค่าทนายที่ยังจ่ายไม่หมด ต้องหาเงินไว้สำหรับครอบครัวเพราะเงินเก็บที่บ้านก็หมดแล้ว แถมยังกังวลว่าลูกค้าจะคิดอย่างไร เนื่องจากเขาตัดสินเราตั้งแต่ที่ตำรวจเอาตัววีไป เขาไม่สนใจหรอกว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ฉันกลัวทุกครั้งที่ลูกค้าให้ไปส่ง กลัวเวลาที่เราต้องออกไปข้างนอก กลัวเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในพื้นที่แล้วตำรวจจะมาเอาวีไป กลัวเวลาตำรวจ ทหาร หรือคนที่มีลักษณะคล้ายกับเจ้าหน้าที่เข้ามาล้างรถ

ยังไม่เท่ากับเรื่องที่ฉันทำให้เราทะเลาะจนเกือบจะต้องเลิกกัน เมื่อเขารู้ความลับว่า ฉันแอบกินยาคุม หลังจากที่เขาได้รับอิสรภาพ เพราะความกลัวของฉันเอง ถ้าเรามีลูกด้วยกันในระหว่างนี้ แล้วเกิดเขาถูกจับไปอีกครั้งหรือถูกเก็บระหว่างทางที่เราเดินทางไปไหน ฉันกับลูกจะอยู่อย่างไร หรือต้องพาลูกไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำ เขาโกรธมาก เพราะเขาอยากมีลูกมาก

หลังจากวีกลับอยู่บ้านได้ไม่นาน ช่วงแรกๆ หัวหน้าหน่วยทหารเข้ามาบอกเราว่ามาเยี่ยม แต่เขาก็คงเข้ามาตรวจสอบว่าวีหนีหรือเปล่า แต่ละครั้งที่มาเขาก็จะถ่ายรูปเราไป บางที่เข้ามาบอกว่าจะให้เงินเรา เดี๋ยวก็มาบอกว่าจะพาไปเที่ยว เดี๋ยวก็มาบอกว่าจะส่งไปดะวะห์ เดี๋ยวก็มาบอกว่าจะส่งไปเรียนอาชีพ มันรู้สึกแย่มากที่เขาตบหัวแล้วก็ลูบหลัง ตอนที่เราไปร้องขอความเป็นธรรมกับเขา เขาต่างก็พูดจาให้เราช้ำใจ เสียใจ หมดหวัง และที่สำคัญไม่รู้ว่าเขาหวังอะไรหรือเปล่า สิ่งที่เราสูญเสียไปทั้งเงินทอง ที่ใช้จ่ายเป็นค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำ ค่าเดินทางไปศาล ค่าเดินทางไปร้องขอความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ค่าที่เขาจับกุมผิดคนจนทำให้ลูกค้าไม่เข้าร้าน รายได้ของเราลดน้อยลง ค่าเกียรติ์ยศและศักดิ์ศรีของครอบครัวที่พ่อแม่สั่งสมมาตลอดชีวิตราชการสูญหายไป ค่าความเครียดที่สะสมมาตลอด 2 ปี และกำลังจะเป็นความเครียดตลอดไป ค่ารายได้จากสวนยางที่ขาดคนดูแลต้องจ้างคนอื่นมากรีด และหลังจากที่เขาออกมาเราก็ไม่กล้าให้เขากรีดยางเนื่องจากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย พวกเขาได้คิดกันบ้างหรือเปล่า

และที่สำคัญมีวันหนึ่งฉันได้เห็นจดหมายเวียนของทหารที่เขียนไว้ว่า “เพื่อให้ผู้ก่อการร้ายกลายมาเป็นพวกเรา ผู้ก่อการร้ายที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมกลายมาเป็นพวกเรา” แล้วก็มีรายชื่อคนอีก 5 คน หนึ่งในนั้นมีชื่อวีอยู่ด้วย เขาจะให้ไปฝึกอาชีพ แต่เมื่อเราเห็นแบบนั้นเราก็ไม่รับข้อเสนอของเขา เพราะถ้าเรารับแสดงว่าเราก็เป็นแนวร่วม เป็นผู้ก่อการร้ายอย่างที่ทหารคิด แสดงว่าสิ่งที่ศาลตัดสินมามันไม่อยู่ในสายตาของเขาเลย มันแย่มากที่เขายังคิดแบบนี้อยู่

มีตชด.กลุ่มหนึ่งมากล่อมให้เรารับเงินตามจำนวนที่เขาจะให้ เราจึงบอกว่ามันไม่พอหรอกกับสิ่งที่เราสูญเสียไป เขาพูดใส่หน้าฉันว่า “กะเอาให้รวยเลยหรือไง” แล้วใครหล่ะที่จับเราไป เราอยากให้คุณจับแล้วเรียกเงินเยียวยาหรือ คิดบ้างหรือเปล่า ฉันจำได้ครั้งหนึ่งไปเรียกร้องขอเงินเยียวยาในงานเยียวยาที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี มีแต่คนหัวเราะ แล้วผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดว่า “แบบนี้ก็หากินนะสิ” นี่หรือที่หลายๆ คนชอบพูด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพราะในความเป็นจริงแม้แต่คำว่า เข้าใจ เขายังไม่เข้าใจเลย

ตอนนี้ความกลัวของฉันและครอบครัวเริ่มมีมากขึ้นอีก หลังจากที่มีคนมาบอกว่า ปลัดในอำเภอพูดว่าทางภาค 9 ให้เก็บคนที่ตัดสินยกฟ้องในคดีความมั่นคงในตำบลเปียน 4 คน ฉันไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าแต่ฉันกลัวมาก เราพึ่งมีความสุขหลังจากที่ฉันได้คลอดลูกสาว แต่ฉันต้องอยู่กับความกลัว ฉันกลัวจริงๆ ฉันไม่อยากให้ลูกต้องขาดพ่อ เพราะพ่อของฉันเสียตั้งแต่ฉันอายุแค่ 5 ขวบ ฉันจำอะไรเกี่ยวกับพ่อไม่ได้เลย ฉันได้แต่นั่งอิจฉาเพื่อนที่มีพ่อมารับ มีพ่อให้กอด มีพ่อคอยดูแล ฉันไม่อยากให้ลูกเป็นแบบฉันและที่สำคัญฉันไม่อยากต้องไปรับศพสามีในสภาพที่โหดร้าย

ฉันไม่รู้ว่าข่าวที่ได้รับรู้มาเป็นความจริงหรือเปล่า แต่ความกลัวของฉันมีมากจนฉันไม่อยากให้วีไปไหน ไม่อยากให้เขาไปห่างจากสายตาฉัน แม้แต่เวลาที่เขากลับไปเยี่ยมครอบครัว ฉันกลัวว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาอีก จนฉันได้สร้างความกดดันให้กับเขา เราทะเลาะกันหลายครั้ง ฉันเหมือนคนบ้า กลัวไปหมดทุกอย่าง ยิ่งเมื่อตำรวจ ทหาร หรือ อส.มาที่ร้าน เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ใจคิดระแวงไปหมด ว่าเขามาตรวจสอบเราหรือเปล่า ยิ่งวี เขายิ่งกลัวและระแงมากกว่าหลายเท่า แต่ก็พยายามปลอบฉันอย่ากังวลจนเกินไป อัลเลาะห์ได้กำหนดไว้แล้วว่าเราต้องเจอกับอะไร แต่ฉันทำใจไม่ได้จริงๆ ภาพเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่เขาเอาวีไปมันยังตามหลอกหลอนฉันอยู่ทุกวัน พวกเขาทำได้ทุกอย่าง อุ้มคนโดยที่ตัวเองไม่มีความผิด ฆ่าคนโดยบอกว่าเป็นวิสามัญ บอกว่าเป็นการปะทะ ทรมานโดยหาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันกลัวจริงๆ จะมีใครเข้าใจความรู้สึกของฉันบ้างไหมนะ ฉันต้องหนีไปอยู่ที่อื่นหรือเปล่า ฉันต้องอยู่กับความหวาดกลัวไปจนถึงเมื่อไหร่ ? มีใครตอบฉันได้บ้าง ?

เมื่อก่อนฉันอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวทางทีวีเกี่ยวกับโจรใต้ ฉันเข้าใจเหมือนที่ได้ฟังข่าวมา ฉันเชื่อในข่าว จึงรู้สึกไม่ดี แต่ตอนนี้เมื่อได้เจอกับตัวเอง จึงรู้แล้วว่าข่าวที่ออกมากับความเป็นจริงมันคนละเรื่องกัน ตอนนี้ฉันกลับรู้สึกไม่ดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารมาก เพราะเขาไม่รู้สึกผิดเลยที่ได้ทำลายชีวิตคนอื่น แถมยังพยายามที่จะพูดให้ฉันเชื่อว่าเขาทำถูก เขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

…...................

ย้อนกลับไประหว่างที่เราต้องรอการพิจารณาคดีในศาล ฉันกับมุมตัสก็ใช้ช่วงเวลานี้ในการค้นหาความจริงและเรียนรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยการใช้เวลาในวันหยุด และบางครั้งในวันทำงานก็ไปร่วมในเวทีสัมมนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ทำให้เราได้พบกับทนายปรีดา ทองชุมนุม ซึ่งต่อมาได้แนะนำให้เรารู้จักกับคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ในวันงานที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจัดงานเลี้ยงน้ำชาระดมทุนเพื่อไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงหรือถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมคนต่างจังหวัด ต่างศาสนา ไม่เคยรู้จักสนิทสนมชิดเชื้อหรือเคยช่วยเหลือกันมาก่อนจึงช่วยชาวบ้าน ช่วยคนอื่นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่เลือกว่าคนที่เขาช่วยจะเป็นใครทำให้เราประทับใจ ดีใจ และมีความรู้สึกว่าไม่ถูกโดดเดี่ยวจากสังคม ไม่ถูกทอดทิ้งจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และพวกเขายังสอนให้เราลุกขึ้นสู้เพื่อค้นหาความจริงและความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมให้กับวี

และในระหว่างการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับวีนั้นก็ได้พบกับผู้คนมากมายที่ให้โอกาสรับฟังเรื่องราวของเราอย่างอดทน เพราะในการเล่าเรื่องราวนั้นเราต่างก็ร้องไห้บ้าง พูดไม่ออกบ้าง ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องไปบ้างจึงเรียกได้ว่าพวกเขาอดทนในการรับฟังเรื่องราว หลายครั้งเข้าทำให้เราเรียนรู้ในการเล่าเรื่องให้ได้ใจความ และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผู้คนที่ช่วยเหลือเราเพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา ในเวทีแห่งหนึ่งที่ได้รับฟังและนำไปสู่การได้พบคุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัน คุณนิพนธ์ บุญญามณี ทำให้เรื่องราวของเราได้กลายเป็นประเด็นเข้าไปถกเถียงในรัฐสภา

และในที่สุดก็มีการพูดถึงกลุ่มผู้ที่ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกยกฟ้องมากขึ้น การเยียวยาผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ยกฟ้องในระบบการเยียวยากรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ มิใช่มาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือชาวบ้านครอบคลุมถึงปัญหานี้ ต้องขอบคุณคุณนารี เจริญผลพิริยะ ที่แนะนำว่าเราควรดำเนินการช่วยเหลือคนอื่นอย่างเป็นระบบ อีกทั้งในจังหวัดสงขลาก็ยังไม่มีองค์กรใดๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

ฉันกับมุมตัสจึงได้ก่อตั้ง กลุ่มด้วยใจ เพื่อให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงในด้านต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เมื่อเดือนมกราคม 2553 เพราะรู้ว่าในจำนวนที่เจ้าหน้าที่จับตัวไปก็ต้องมีคนที่เป็นแพะเหมือนที่วีเป็นมาก่อน

ช่วงแรกๆ ครอบครัวผู้ต้องขังเขาไม่รู้ว่าเรามีเหตุผล หรือมีจุดประสงค์อะไรที่เข้าไปหาพวกเขา แต่เราได้ใช้ความจริงที่เราเจอ และความจริงใจที่จะช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ เพราะเรารู้แล้วว่า คนที่เป็นแบบเราต้องเจอกับอะไรมาบ้าง เราต้องต่อสู้อย่างไร เราลำบากอย่างไร เราอยากให้เขาเข้มแข็ง และต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเองและเพื่อคนที่เรารัก

อย่างเช่นกรณีของครอบครัวหะยีแตะที่มีพี่น้องผู้ชายทั้งหมด 5 คน และ 4 คนถูกดำเนินคดีความมั่นคงจนทำให้ภรรยาและลูกๆ ของเขาที่นับแล้วจำนวนกว่า 20 คน ต้องลำบากทั้งกายและใจ และภรรยาไม่สามารถควบคุมสติได้ 3 เดือน ไม่รู้สึกตัว จนญาติๆ ต้องพาไปรักษา

ตอนนั้นทางคุณพรเพ็ญได้จัดค่ายสำหรับเด็กๆ เราจึงได้เชิญลูก ๆ ของเขาเข้าร่วม โดยเดินทางไปเชิญด้วยตัวเองที่บ้านและพบว่าบ้านเขาปิดประตู หน้าต่าง และมีตู้ปิดตรงหน้าต่างทุกบานเพราะความกลัวเจ้าหน้าที่ ในตอนแรกเขายังงง ๆ อยู่แต่ก็เข้าร่วมและเมื่อจบค่ายลูก ๆ เขามีความสุขมากที่ได้ทำกิจกรรม ตัวเขาเองก็ยิ้มให้อย่างจริงใจ ต่อมาจึงได้ไปเยี่ยมที่บ้านและมอบเงินให้ 1,000 บาท เขาจึงเอาเงินไปซื้อลูกชิ้นมาปิ้งย่างขาย จนมีคนมาชวนให้ไปทำงานที่โรงเรียน

และในที่สุดจากคนที่ไม่สามารถพบปะ พูดคุยกับใครๆ ได้ ก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และยังสามารถพูดคุย สอบถามถึงการทำงานในกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยตัวเองได้อย่างกล้าหาญ นั้นทำให้เรารู้สึกภูมิใจ และดีใจเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ต้องการอะไรนอกจากการที่ชาวบ้านลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรม และเป็นธรรม จากเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องความเป็นธรรม

ในเวลาต่อมา เมื่อเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็มีหลายองค์กรที่เข้ามาให้ทุนในการทำงาน ทั้งมูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถานทูตหลายประเทศ รวมไปถึงโอกาสที่ทางเรือนจำมอบให้ 'กลุ่มด้วยใจ' เข้าทำกิจกรรม ทำให้เราค้นพบว่าปัญหาในภาคใต้นั้นมีหลากหลายแง่มุม ทั้งปัญหาการทรมานในระหว่างการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและปัญหาสภาพจิตใจของครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ปัญหาการทำงานของระบบราชการต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากประชาชนเอง และปัญหาที่ผู้ได้รับผลกระทบทางตรงได้พบ ยิ่งทำให้เราอยากจะทำงานให้ได้มากยิ่งขึ้น

แต่เราก็ต้องเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อที่จะนำไปเผยแพร่ และให้คำแนะนำกับผู้ที่เจอปัญหาต่างๆ ในพื้นที่นี้ และเราก็อยากให้ทุกคนที่ประสบปัญหาเฉกเช่นเดียวกับเราทำได้อย่างเรา หรือคนอื่นที่ได้รับรู้ปัญหาเข้าใจปัญหามากขึ้นและนำไปสู่การหาทางออกเพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างที่ทุกคนต้องการ

ถึงแม้สิ่งเหล่านี้คือผลตอบแทนที่ฉันได้รับจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่นั้นก็ทำให้เราได้ค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ที่ทำให้เราได้มองเห็นมุมดีๆ ในสังคม คนดีๆ ที่ช่วยเหลือเรา ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ และค้นพบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะไม่มีวันสงบหรือเกิดสันติสุขได้ ถ้าเราไม่แก้ไขต้นเหตุของความไม่สงบ ซึ่งสิ่งที่ฉันเจอก็เป็นหนึ่งในปมนั้น

ฉันอยากจะบอกว่า ถ้าต้องการความสงบก็ต้องหยุดวงจรของความรุนแรง และการทำให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริงจะช่วยป้องกันไม่ให้คนที่เจอเหตุการณ์เหมือนกับสิ่งที่ฉันเจอหันไปใช้ความรุนแรง เราควรที่จะป้องกันแทนที่จะไปแก้ปัญหาในภายหลัง.

0000000000000 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา