Skip to main content
เคียงขวัญ  ศักยพันธ์
นักศึกษาปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา
สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

            ในช่วงเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์บ้านเมืองที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุดประเด็นหนึ่งก็คือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ border:none windowtext 1.0pt;padding:0in">19 กันยายน พ.ศ.2549ที่ทางรัฐบาลเตรียมใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลบล้างความผิดของผู้กระทำผิดทางการเมือง และแม้ว่าท้ายที่สุด นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ผู้นำฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับแล้ว แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในสังคมไทยอันเป็นผลผลิตจากร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของพี่ประชาชนคนไทยด้วยกันเอง

            แม้ไม่ต้องลงลึกถึงอุดมการณ์หรือเจตนารมณ์ของคนกลุ่มต่างๆ หลักๆ แล้วแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ในการออกพ.ร.บ.นิรโทษฯ และฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่าง ไม่ต้องการพ.ร.บ.นิรโทษฯ สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ประชาชนคนไทยผู้ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยจะออกมาแสดงจุดยืนของตนอย่างพร้อมเพรียงกัน

            สื่อมวลชนต่างนำเสนอภาพของการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนสองฝ่าย ชาวไทยรักชาติทั้งหลายก็ถือโอกาสออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง(ร่วมกับข้างที่ตนสนับสนุน) อีกทั้งยังกล่าวหาประชาชน ที่ไม่เข้าร่วมกับฝ่ายไหนว่าพวก “ไทยเฉย” หรือไม่ก็ “แทงกั๊ก” ซึ่งหมายถึงพวกที่ไม่มีจุดยืน รอดูว่าข้างไหนชนะก็เข้าข้างนั้น

            ด้วยความที่กลัวจะถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ตราหน้าว่าเป็นไทยเฉย ส่งผลให้ประชาชนไทยกลางๆ จำนวนไม่น้อยยอมเลือกข้าง หันหน้าไปสนับสนุนขั้วทางการเมืองที่ตนเห็นต่างน้อยที่สุด และมีคนอีกจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็น “คนชายขอบทางการเมือง” โดยไม่รู้ตัวเพราะไม่เห็นดีเห็นงามกับฝ่ายใดๆ  เลย

            ที่ยืนสำหรับคนที่เป็นกลางในสังคมไทยยังมีอยู่ไหม ทำไมการแสดงออกทางการเมืองของคนที่เป็นกลางจึงมีอยู่ไม่มากนัก หากคนที่เป็นกลางอยากออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต้องเลือกข้างก่อนอย่างนั้นหรือ

            ในสังคมที่ตัดสินว่าการออกมาแสดงทรรศนะ และจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยปรากฏการณ์ที่คน “ไทยกลางๆ” จำต้องเลือกข้างเพื่อซื้อพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางการเมืองของตนเองนั้นอาจเป็นเพราะเหตุผลบางประการ ดังนี้

            แม้ว่าโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนมีความชื่นชอบ แตกต่างกัน สามารถทำกิจกรรมใดๆ ตามความประสงค์ของตนเอง และมีเสรีภาพ (Free will)แต่ความจริงประการหนึ่งคือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ด้วยความกลัวแก่การถูกผลักให้กลายเป็นคนอื่น คนไทยกลางๆ ส่วนหนึ่งจึงจำต้องยอมรับข้อความจริงที่ว่าแท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีอิสระ หากแต่ผูกติดกันสมาชิกคนอื่นในสังคมที่อาศัยอยู่ จึงต้องเลือกข้างเพื่อความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม

            หากมองย้อนกลับไปถึงการแสดงออกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนมุ่งให้ความสนใจนำเสนอข่าวของแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดง ผู้ร่วมชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายสนับสนุนฝ่ายค้าน แต่แทบจะไม่มีสื่อแขนงไหนเลยที่นำความคิดเห็นของคนซึ่งไม่เลือกข้างอย่างชัดเจนออกมาตีข่าว อาจเป็นเพราะเสียงของคนกลางไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคข่าวสารได้ ปัจจุบันนี้เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครเป็นคนของฝ่ายไหนด้วยซ้ำ เพราะสื่อไทยตียี่ห้อ (labeled) ให้หมดแล้วว่าใครสนับสนุนใคร

            ดังนั้นคงจะไม่ผิดหากจะพูดว่า ถ้าอยากจะแสดงออกทางการเมืองก็ต้องเลือกข้าง และนำเสนอตัวเองให้สังคมรู้ว่าสังกัดข้างไหน เพราะนอกจากจะได้มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังใช้โอกาสนี้แสดงความอุดมการณ์ของตนเองให้สังคมรับรู้อีกด้วย อีกทั้งยังปลอดภัยจากการถูกประณามว่าเป็น “ไทยเฉย” ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสถานการณ์บ้านเมือง

            คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมไทยมีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะการเมืองบ้านเราเป็นเกมที่มีผู้เล่นคือชนชั้นนำ (elites) กลุ่มคนเหล่านี้มีการแบ่งพวกกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องการอำนาจและอำนาจในระบอบประชาธิปไตยคือเสียงของประชาชนส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ จำเป็นต้องสร้างความนิยมและชักจูงประชาชนให้สนับสนุนตนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศ ต่างก็ต้องการกุมอำนาจทางการเมืองอันนำมาซึ่งอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อมีประชาชนสนับสนุนผู้นำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือทัศนคติด้านลบต่อฝ่ายอื่นๆ และการพยายามชักจูงคนไทยกลางๆ ที่ยังไม่เลือกข้างเข้ามาเป็นพรรคพวกของตนนั่นเอง

            ในที่นี้ผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่อาจกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์ และไม่ได้รับความสนใจจากชนชั้นนำที่เป็นผู้บริหารประเทศ เพราะผู้บริหารเหล่านั้นต่างก็มุ่งเอาอกเอาใจฝ่ายที่สนับสนุนตนเอง

            ความพยายามให้คำนิยามว่าใครเป็นพวกเขา ใครเป็นพวกเรา ใครคิดเหมือนเราเท่ากับเป็นคนดี คิดต่างจากเราคือไม่ดี จะค่อยๆ ฝังรากลึกและอาจกลายเป็นอุปนิสัยเฉพาะของคนไทยในที่สุด

            แม้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือวิถีแห่งการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้สังคมเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับคนหมู่มาก แต่ก็จงอย่าลืมว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นลัทธิเดียวในโลกที่คนกลุ่มน้อยมีที่ยืน ได้รับโอกาส ได้รับความเคารพในสิทธิ์และเสียง อันนำมาซึ่งความสมานฉันท์กลมเกลียวระหว่างประชาชน

            ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราพยายามติดฉลากให้กันและกันว่าใครเป็นฝ่ายใด แต่หลักการสันติภาพที่แท้จริงคือการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกันระหว่างคนในสังคมในการเลือกที่จะอยู่ฝ่ายไหน หรือเลือกที่จะดำรงตนเป็นกลาง

            ท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยแห่งนี้อาจจะพอมีพื้นที่กลางทางการเมืองอยู่บ้าง แต่มีน้อยเสียจนประชาชนธรรมดาๆ อย่างเรา ๆ มองไม่เห็น จนทำให้หมดโอกาสเป็นคนไทยกลาง ๆ ไปโดยปริยาย ถ้าหากว่าชาวไทยเปิดใจกว้างยอมรับความแตกต่างกว่านี้อีกสักนิด เพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้สำหรับคนไม่อยากเข้าข้างฝ่ายไหนอีกสักหน่อย เพื่อลดความสุดขั้ว สร้างสมดุลให้สังคม แม้บ้านเมืองไม่สงบสุขในชั่วพริบตา แต่ก็คงจะน่าอยู่มากกว่าสังคมที่ “ถ้าไม่เห็นด้วยกับฉัน เธอเป็นพวกเขา” พอสมควร