รายงานพิเศษ "คนหายในไฟใต้"ตอน 2
โดย ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน
เย็นย่ำวันที่ 11 ก.พ.2547 ชายฉกรรจ์นับสิบคนก่อเหตุอุกฉกรรจ์กลางเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งอุบัติขึ้นท่ามกลางสายตาของผู้สัญจรไปมาอย่างเปิดเผย ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวสวมหมวกไหมพรมปิดหน้าพร้อมอาวุธปืนพกสั้นและปืนยาวครบมือ เดินทางมาพร้อมรถกระบะไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เข้าจอดเทียบหน้าร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งและบุกเข้าจี้เจ้าของร้านและลูกจ้างขึ้นรถคันดังกล่าวก่อนขับหนีภายในเวลาไม่กี่นาที
ปฏิบัติการ "อุ้ม" ครั้งดังกล่าวกระทำการอย่างอุกอาจยิ่ง รายงานข่าวที่ร้อยเรียงอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นตีพิมพ์เหตุการณ์ดังกล่าวอย่างค่อนข้างละเอียด พร้อมทั้งระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเจ้าของร้านหนึ่งในผู้ถูก "อุ้ม" ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีพยายามลอบวางเพลิงเมื่อหลายวันก่อน
ค่ำวันต่อมา (12 ก.พ.2547) มีพยานพบเห็นชายฉกรรจ์ราว 4 - 5 คน บังคับขู่เข็ญและกระชากชายวัยกลางคนให้เข้าไปนั่งในรถที่พวกเขาขับมา ณ บริเวณหน้าร้าน "แม่ลาปลาเผา" ถ.รามคำแหง กลางเมืองหลวง ข่าวใหญ่ในอีกหลายวันต่อมาระบุว่าทนายนักสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหายตัวไป
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาข่าวร่ำลือเกี่ยวกับการ "อุ้ม" จึงแพร่กระจายไปเต็มพื้นที่ พร้อมกับกระแสข่าวความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นตามลำดับ
บัญชีคนหายพิสูจน์เหตุ "อุ้ม"
เดือนสิงหาคม ปี 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงชื่อในคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง "คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ กยต. โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน โดยมีภารกิจในการกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลและประสานงานหน่วยงานราชการเข้าช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด ภายหลังที่ภารกิจในทำนองนี้ยังไม่มีการรวมศูนย์และเป็นระบบ มีผู้สูญเสียตกหล่นจำนวนมาก
กยต. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ในจำนวนนี้ได้มีการแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะกรณี" หรือ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจคนหายฯ ซึ่งมี จิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ระบุภารกิจในการรวบรวมข้อมูลบุคคลสูญหายทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้วเพื่อเสนอ กยต.ให้มีการช่วยเหลือเยียวยา
รองเลขาธิการ สมช. ระบุว่า แนวคิดในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เกิดจากการถกเถียงในวงประชุม กยต. ครั้งแรกๆ ถึงประเด็นที่มีการกล่าวกันในชุมชนหรือในการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ว่ามีคนที่หายไปและยังไม่กลับมาอีกหลายราย ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าครอบครัวของคนที่สูญหายก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความทุกข์ที่ไม่ต่างกับครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบ และควรที่จะต้องได้รับการดูแล
"เป็นความเจ็บปวดที่น่าจะมากกว่าการที่ญาติเขาตายก็ว่าได้ เพราะความไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้แต่ร่างก็ไม่ได้เห็น"
หลักเกณฑ์ที่ของคณะอนุกรรมการฯ ระบุกรอบของการให้ความช่วยเหลือไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง จะต้องเป็นบุคคลที่สูญหายหรือขาดการติดต่ออย่างน้อย 1 ปี และสอง จะต้องเป็นบุคคลที่สูญหายก่อน 4 ม.ค.2547 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อันเป็นกรอบเวลาทีใช้กำหนดเป็นเกณฑ์
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ จิราพร ระบุว่า มีหลายรายที่แจ้งว่าหายตัวไปก่อนเกิดเหตุปล้นปืนในวันดังกล่าว บางรายหายไปเมื่อช่วงต้นปี 2545 หรือปี 2546 ก็รับเข้าบัญชีการช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า การตรวจสอบว่าคนเหล่านี้หายไปจริงๆ จะทำโดยการตรวจสอบฐานข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมและหลักฐานในการแจ้งความของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ อีกทั้งยังตรวจสอบจากปากคำของญาติพี่น้องในครอบครัวนั้นๆ รวมทั้งมีคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบจากชุมชน ผ่านผู้นำชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู เป็นต้น เพื่อลงความเห็นว่าเขาเหล่านั้นได้หายตัวไปและมีความเหมาะสมที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา
จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวระบุว่า มีการยืนยันว่ามีผู้สูญหายแล้ว 23 ราย รวมทั้งกรณีของทนายสมชายด้วย ที่เหลือเป็นเป็นประชาชนที่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก่อนการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน กยต.ได้นำกรณีคนหายทั้ง 23 ราย เข้าสู่ขั้นตอนเยียวยา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล เรื่อยไปสู่การจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ญาติพี่น้องของผู้สูญหายรายละ 1 แสนบาท ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการชดเชยเงินเยียวยาไปแล้ว 17 ราย ยังเหลือการช่วยเหลือในด้านชุมชนบำบัด ทุนการศึกษา และการส่งเสริมอาชีพที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนในกรณีของทนายสมชายนั้น นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยาปฏิเสธที่จะรับการช่วยเหลือดังกล่าว
แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจที่กรุงเทพฯ กยต.ในสถานะที่เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทักษิณจึงต้องถูกยกเลิก ทำให้การทำงานของ กยต.ในระดับพื้นที่ชะงักไปกว่า 2 เดือน ล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กยต.ชุดใหม่ โดยมีนายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ากรอบการทำงานจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด
เปิดบัญชี "23 เหยื่ออุ้ม"
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของ กยต. ระบุว่ามีผู้สูญหายอยู่ในบัญชีโดยแยกตามภูมิลำเนาของผู้สูญหายใน จ.ยะลา 6 คน จ.นราธิวาส 8 ราย และ จ.ปัตตานี 8 ราย รวมกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยรวมเป็นทั้งหมด 23 ราย (ตามตารางประกอบ)
จากตารางข้อมูลเหล่านี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าบุคคลที่สูญหายจากพฤติกรรม "อุ้ม" มีอยู่จริง แม้มีจำนวนไม่มากดังคำข่าวลือและการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งระบุว่ามียอดเป็นร้อยเป็นพันคน แต่ก็เป็นข้อมูลจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเอง
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า "ผู้สูญหาย" ทั้งหมดเป็นชายชาวมุสลิม มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอายุอยู่ในระหว่าง 21 - 53 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยทำงาน มีทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัว หาไม่แล้วก็เป็นนักศึกษาที่ถูกตั้งความหวังว่าจะหารายได้เข้าครอบครัว
จากข้อมูลวันเวลาของการหายตัวไป พอสรุปได้ว่าก่อนเกิดเหตุปล้นปืนในวันที่ 4 ม.ค.2547 มีผู้สูญหายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหายตัวไปในช่วงสถานการณ์ในพื้นที่เริ่มตรึงเครียดจากการลอบก่อเหตุร้ายถี่ขึ้น โดยตำรวจตกเป็นเป้าโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2544 อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายครั้งสำคัญ คือ การยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 ในช่วงปลายเดือน มี.ค.2545 ห้วงเวลาดังกล่าวยังต่อเนื่องจนถึงเหตุปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง จ.ยะลา
ในขณะที่หลังเกิดเหตุปล้นปืน การหายตัวไปก็ถี่มากขึ้น กล่าวคือ ให้หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน ชาวบ้านก็หายไปในเวลาไล่เลี่ยกัน จากข้อมูลของ กยต. เปิดเผยให้เห็นว่าการหายตัวไปเกิดขึ้นภายหลังการปล้นปืนถึง 8 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของบัญชีรายชื่อทั้งหมด โดยมีทนายสมชายเป็นรายสุดท้าย
"อุ้ม" ไม่หยุด รวมสายข่าว - เด็ก 4 ขวบ
ที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลดังกล่าวยังเผยให้เห็นช่วงเวลาของการ "หายตัว"ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดระยะเวลาที่สถานการณ์ภาคใต้ยังไม่มีทีท่าจะสงบ ขึ้นอยู่กับว่าญาติของผู้สูญหายจะเปิดเผยเรื่องราวของตนเมื่อใด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับสัญญาณที่ส่งผ่านจากผู้บริหารประเทศต่างกรรมต่างวาระว่าพฤติกรรมเหล่านี้ยุติลงแล้ว
แม้แต่ล่าสุด คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เปิดเผยรายชื่อผู้สูญหายเพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว โดยระบุถึงการหายไปทั้งครอบครัวของนายมาหามะฮัซมี รายะ วัย 30 ปี นางวิไลลักษณ์ มามะ วัย 32 ปี และ ด.ช.ชลสิทธิ์ รายะ เด็กชายวัยเพียง 4 ขวบ ชาว อ.สุไหงโกล ซึ่งหายไประหว่างการเดินทางไปหาดใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2548
หรือในกรณีที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" รายงานเรื่องราวของ "นายโปรกรี อภิบาลแม" เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ชาวบ้านป่าหวัง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเพิ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพยานพบเห็นว่ามีทหารเข้าตรวจค้นที่ปั๊มน้ำมันก่อนหายตัวไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ปฏิเสธที่จะรับแจ้งความ ทั้งๆ ที่เขาเคยมีประวัติทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ในการติดตามข่าวสารของกลุ่มความไม่สงบในพื้นที่มาโดยตลอด
อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า รายชื่อที่มีการเปิดเผยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของญาติผู้สูญหายที่กล้านำเรื่องราวของตนเข้าร้องเรียน ก่อนหน้านี้มีบางส่วนเท่านั้นที่กล้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.อ. หลายคนยังติดใจว่าอาจเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่อาจมีปัญหากับตนเองตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าการแจ้งความในบางรายเจ้าหน้าที่ก็ทำเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันเท่านั้น
จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนญาติผู้สูญหายหลายราย ทำให้พบได้ข้อมูลว่า ยังมีญาติของผู้สูญหายอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าเผยตัวและร้องเรียนเรื่องของตนเอง พวกเขาบางราย ไม่ประสงค์จะรับการช่วยเหลือเยียวยา หรือแม้แต่การสืบหาญาติของพวกเขาที่หายไปว่าอยู่ที่ไหน ตลอดจนกระบวนการหาผู้ที่ทำให้ญาติของพวกเขาหายมาลงโทษ
"เขาไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าญาติของเขาหายไปไหน บางรายก็บอกว่าที่รู้ก็เพราะมีผู้ใหญ่มาหาที่บ้าน พวกเขาเลยไม่สนใจที่จะรับความช่วยเหลือใดๆ จากทางราชการ"
เยียวยาด้วยความยุติธรรม?
อย่างไรก็ตาม อังคณา เห็นว่า ผู้ที่จะเข้ามาค้นหาความจริงในกรณีคนหายที่สำคัญที่สุดคือญาติของผู้สูญหาย ซึ่งจะต้องเปิดเผยตัวและข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในกรณีด้งกล่าว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงถามหาข้อเท็จจริงว่าญาติของเขาหายไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ใครเป็นผู้ทำให้ญาติของเขาหายไป และสุดท้ายเหล่าคนร้ายเหล่านั้นสมควรได้รับโทษหรือไม่อย่างไร
ในบรรดาผู้สูญหาย 23 ราย มีกรณีของสมชายเท่านั้นที่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีจนถึงชั้นศาล แม้ว่าในท้ายที่สุดศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยเพียง 1 ใน 5 คน เพียงฐานลักทรัพย์และข่มขืนใจผู้อื่น แต่ยังถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดในกรณีคนหายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชาแดนภาคใต้
นอกจากกรณีของสมชายแล้ว กรณี "คนหายที่ปะแต" เมื่อปี 2545 ก็มีความคืบหน้าในขั้นพนักงานสอบสวนในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ขึ้นถึงชั้นศาลก็มีอันต้องยุติไปด้วยเหตุผลว่า "หลักฐานไม่เพียงพอ"
แหล่งข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่รายหนึ่ง ย้อนความถึงคดีดังกล่าวให้ฟังว่า การหายตัวไปของนายแวหะรง รอฮิงและนายยา เจ๊ะดอเลาะ ชาวบ้านบ้านมาแบ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ถือเป็นกรณี "คนหาย" ที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้ามากที่สุดในจำนวนคนหายในบัญชีทั้ง 23 ราย นอกเหนือจากกรณีของสมชาย
ผู้สูญหายทั้งสองเป็นเพื่อนบ้านกันและมีประวัติการทำงานให้กับทางราชการเป็นอย่างใกล้ชิด การหายไปเริ่มต้นจากในวันที่ 26 มี.ค.2545 เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่มาเชิญตัวถึงบ้าน เพื่อสอบปากคำในกรณีการยิงถล่มจุดตรวจของตำรวจในพื้นที่ อ.บันนังสตา ก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งนายยาและนายแวฮารงก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
จากคำบอกเล่าของภรรยาผู้สูญหาย ระบุว่า ให้หลังจากนั้นอีก 1 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเดียวกันก็ย้อนกลับมาแจ้งข่าวว่าสามีของพวกเธอถูกคนร้ายไม่ทราบกลุ่มนำตัวหายไป
หลังจากการแจ้งความและดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนจนทำสำนวนถึงอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญา ทว่าอัยการจังหวัดยะลาสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลว่า "หลักฐานไม่เพียงพอ"
แหล่งข่าวรายเดิมให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นถือเป็นคดีคนหายที่กระบวนการสืบสวนพอจะ "รู้ตัว" ผู้กระทำความผิดได้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากกองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ในการส่งเจ้าหน้าที่ในสังกัดมาสอบปากคำ จึงทำให้
ยา เจ๊ะดอเลาะ สำนวนในชั้นพนักงานสอบสวนอ่อนและทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องในที่สุด
เขาให้ข้อมูลด้วยว่า ในห้วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางจึงจัดกำลังมาช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อร่วมคลี่คลายคดีความกับตำรวจในพื้นที่ ในจำนวนเหล่านี้มีบางส่วนที่มักใช้กระบวนการนอกกฎหมาย และสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุอุ้มครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์ที่เริ่มมีความรุนแรงกลับมาในพื้นที่อีกครั้งหลังจากว่างเว้นจากเหตุร้ายไปเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเหตุที่มุ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2544 และเริ่มมีเหตุถี่ขึ้นในเดือนมีนาคม 2545 เรื่อยไปจนตลอดปี แม้ไม่ถี่เท่ากับปัจจุบัน แต่ก็สถานการณ์ก็ตึงเครียดไม่น้อย
ควรกล่าวด้วยว่า ในระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักในการจัดการกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการยุบ ศอ.บต. และ พ.ต.ท.43 และมอบหมายภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่ลงรอยกันระหว่าง "คนมีสี" ทั้งสองสาย
หลังจากนั้นไม่นาน ยุทธการปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และฝ่ายปกครองก็เริ่มต้นขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นจุดแรก และต่อเนื่องอีกหลายจุดใน จ.นราธิวาส ภายในเวลาไม่กี่เดือน สถานการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่ภายใต้ข้อสมมติฐานของตำรวจว่าคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มโจรกระจอก
ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว การดำเนินคดีในทางกฎหมายเพื่อสืบค้นว่าเขาทั้งสองคนหายไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตลอดจนการสืบสวนว่าใครเป็นคน "อุ้ม" พวกเขาไป ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อเนื่องจากนั้น ไม่ต่างกับกรณีคนหายรายอื่นๆ เว้นเสียแต่ว่าจะต้องใช้นโยบายพิเศษเพื่อรื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เหมือนในกรณีของคดีทนายสมชาย