Skip to main content

 ตูแวดานียา ตูแวแมแง

หลังจากแถลงการณของ BRN ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ทำให้รู้ว่า BRN มีจุดยืนชัดว่าต้องการเอกราช แต่ที่ไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาอาจจะเพราะว่ายังไม่อยากแตกหักกับมาเลเซียและยังไม่อยากแตกหักกับพวกกันเองที่อยู่ปีกต่างประเทศบางคนที่อยากได้ออโตโนมีก่อน และไม่อยากให้สากลเข้าใจว่าBRNไม่เห็นด้วยกับสันติภาพก็เลยเสนอเงื่อนไขข้อเรียกร้องเพื่อใช้โอกาสนี้อธิบายถึงนิยามสันติภาพของตนนั้นเป็นอย่างไรหรือไม่

คือภาวะปัจจุบันเจตจำนงของประชาชนยังไม่ได้ออกมาอย่างชัดเจนว่าสันติภาพที่ประชาชนชาวปาตานีต้องการคือเอกราชหรือไม่ ทำให้ท่าทีของเจตจำนงทางการเมืองของ BRN ที่คาบเกี่ยวกับการเจรจาต้องแสดงจุดยืนแบบแบ่งรับแบ่งสู้ค่อยๆยกระดับจากคำว่า “สิทธิความเป็นเจ้าของ” มาเป็น คำว่า “เอกราช”

ในมุมของ BRN นั้นการเจรจาเป็นการยกระดับสู่สากลก็จริงแต่ที่เสียมากกว่าคือเป็นการปิดโอกาสการจะได้เอกราชด้วย เพราะผลลัพธ์ของการเจรจาคือ win-win

ขั้นสูงสุดของ win-win ก็คือออโตโนโมี ถ้าได้ออโตโนมีแล้ว แต่ยังไม่พอใจ ยังจะสู้อีกเพื่อให้ได้เอกราช ถึงเวลานั้นการต่อสู้ก็จะไม่ชอบธรรม หนำซ้ำเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นอารยะไม่มีสัจจะในสายตาสากล กลายเป็นการเปิดศึกกับสากลโดยปริยายและรัฐไทยจะทำการปราบปรามอย่างเข้มข้นโดยมีรัฐบาลออโตโนมีแห่งชาติปาตานีเป็นหัวหอกก็ชอบธรรมแล้วทีนี้

สรุปก็คือถ้าต้องการให้โต๊ะเจรจาเป็นคำตอบของโจทย์การต่อสู้อันมีรากเหง้าปัญหามาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมเพื่อการล่าอาณานิคมกับอุดมการณ์ชาตินิยมแบบการต่อต้านการล่าอาณานิคม BRN และชาวปาตานีจะต้องล้มเลิกความคิดและความหวังที่อยากจะได้เอกราชให้ได้ เพราะไม่มีโต๊ะเจรจาใดในโลกนี้ที่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นการได้เอกราชให้กับฝ่ายชนชาติที่ต่อสู้เพื่อเอกราช

ตัวแปรสำคัญที่จะพอทำให้คาดการณ์อนาคตของผลลัพธ์การต่อสู้เพื่อเอกราชของชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมและมีสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนอย่างแท้จริงในศตวรรษที่ 21 นั้นว่าจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่อย่างไร และต้องใช้เวลานานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเมืองของชนชาติดังกล่าวจะมีความชอบธรรมกับเจตนารมณ์ของหลักกฎหมายสากลซึ่งอิงกับหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุยษชนขั้นพื้นฐาน กล่าวเป็นรูปธรรมคือ ต้องมาจากเจตจำนงที่เป็นวาระแห่งชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมซึ่งแสดงออกผ่านแนวทางประชาธิปไตยนั่นก็คือการทำประชามติด้วยโจทย์คำถามว่า"ต้องการเอกราชหรือไม่" และต้องได้รับการสนับสนุนจากกลไกการเมืองระหว่างประเทศบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งสอดคล้องกับหลักการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน (Right to Self Determination) ในข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)

นั่นคือแนวทางที่เป็นรูปธรรมสำหรับการต่อสู้เพื่อเอกราชในศตวรรษที่21ซึ่งคาบเกี่ยวกับพันธกิจของบทบาททางการเมืองแบบสงครามประชาชนและการเมืองแบบความสัมพันธ์ระหว่างชาติและระหว่างประเทศ ถ้าสองพันธกิจหลักดังกล่าวนี้สัมฤทธิ์ผลเมื่อใดอันเนื่องมาจากปัจจัยภายในของชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคมเองเดินยุทธศาสตร์การต่อสู้ได้ถูกต้องอย่างจริงจังและเป็นเอกภาพและมาจากปัจจัยภายนอกที่ศูนย์กลางอำนาจของนักล่าอาณานิคมเองอ่อนแอและกลไกการเมืองระหว่างประเทศมีท่าทีสอดรับกับวาระทางการเมืองของชนชาติที่ถูกล่าอาณานิคม เมื่อนั้นก็จะสามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์การเมืองได้ว่าเอกราชปาตานีจะใช้เวลานานแค่ไหนหรือไม่