ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี |
เสียงสันติภาพ (3): “จูลี แห่งวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ” สถานีความรู้คู่ชุมชน
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) สัมภาษณ์นายมาหะมะรอยาลี บีดิง หรือ “จูลี” นักจัดรายการวิทยุประจำสถานีวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ คลื่นคุณธรรม สร้างสรรค์สังคม มูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลาม บ้านกาเด็ง อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส สถานีวิทยุสาธารณะเพื่อการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
สถานีวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ ของมูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลาม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนอัลอียะห์วิทยา บ้านกาเด็ง ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ออกอากาศในระบบเอฟเอ็มคลื่นความถี่ 100.75 เมกะเฮิตส์ ออกอากาศทุกวันตั้งแต่เวลา 7.00 - 21.00 น. ภายใต้การดูและของนายมาหะมะ อาแว ประธานมูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลาม โดยมีนายซอและห์ จะปะกียา เป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุ
จูลี หรือ นายมาหะมะรอยาลี บีดิง นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูประจำสถานีวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ ที่นอกจากจะเป็นนักจัดรายการวิทยุแล้วยังเป็นผู้ประกาศข่าวภาษามลายูทางโทรทัศน์ช่อง 11 ในรายการข่าวรอบสัปดาห์ทุกวันศุกร์เวลา16.00 น. และรายการ cerita kampong (เรื่องเล่าจากหมู่บ้าน) ทุกวันอังคาร เวลา 15.00-15.30 น.
DSJ: การดำเนินรายการวิทยุของวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุชุมชนประเภทสาธารณะที่มีระเบียบว่าจะต้องออกอากาศที่เป็นข้อมูลข่าวสารเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์และเป็นภาคบันเทิง 30 เปอร์เซ็นต์ มีผู้จัดรายการกี่คน จัดรายการประเภทใดบ้าง
จูลี: ขณะนี้เราออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 -21.00 น. จะมีนักจัดรายการประมาณ 10 คนหมุนเวียนมาจัดรายการ และมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานี 2 คน ส่วนใหญ่จะเป็นครู และอุซตาดของโรงเรียนอัลอียะห์วิทยา จะมีรายการของน้องๆ นักเรียนด้วยทุกวัน นอกจากนั้นทางสถานีจะเปิดเทปการบรรยายธรรมและถ่ายทอดเสียงการบรรยายของ ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จากมัจลิสอิลมีที่ปอเนาะบราโอทุกวันเสาร์
จริงๆ แล้วในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาเราออกอากาศตั้งแต่ 4.00 น. โดยเปิดเทปเสียงอัลกุรอ่าน มีรายการฮะดีษยามเช้า มีบทอัซการ์ภาคเช้า และมีรายการคุณธรรมยามเช้าที่ อ.มาหะมะ อาแว ประธานมูลนิธิบรรยายเนื้อหาศาสนา หลังเดือนรอมฎอนจึงปรับมาเปิดสถานีเวลา 7 โมงเช้า
ตลอดสัปดาห์ก็จะมีรายการที่หลากหลายที่อุสตาซจะมาจัดรายการสลับกับการเปิดเทปบรรยายธรรมศาสนาและเชื่อมสัญญาณจากสถานีเครือข่าย ส่วนที่เป็นบันเทิงส่วนใหญ่จะเป็นอานาซีดและบทเพลงที่เกี่ยวกับศาสนา
DSJ: มีบุคคลภายนอกมาร่วมจัดรายการหรือเปล่า
จูลี: นักจัดรายการจากข้างนอกจะมีช่วงเช้าวันอาทิตย์ เป็นรายการสาระน่ารู้จากปะจู ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข อ.ยี่งอ มาจัดรายการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ช่วงบ่ายจะมีรายการมุสลีมะห์วาไรตี้ ที่มี น.ส.ชาบาเรีย เจ๊ะเล็ง มาจัดรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้หญิง และในช่วงบ่ายของทุกวันจะมีรายการเก็บมาเล่าสู่กันฟังที่เป็นรายการของนักเรียนจัดรายการเอง ตอนนี้ก็มีนักเรียน 2 คนที่จัดรายการทุกวัน เป็นกรรมการนักเรียน อยู่ชั้น ม.5 เขาจะมีข่าว ความรู้ต่างๆ ที่เขาเตรียมเองมาเสนอกับเพื่อนๆ
นอกจากนี้เราจะมีรายการที่เป็นการเชื่อมรายการจากสถานีอื่นๆ ที่เป็นเครือข่าย เช่น รายการเยาวชนวันนี้ช่วง 11 โมงเช้าวันเสาร์ที่เป็นรายการที่ลิงก์จากริซาละห์เรดิโอจากปาลัส จัดรายการโดย อ.อุสมาน สาและ
DSJ: จูลีเองจัดรายการอะไรบ้าง และผลการตอบรับเป็นอย่างไร
จูลี: ผมเองจะมีรายการข่าวโลกมุสลิมช่วงเวลา 20.00 น. ทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี รายการเปิดประตูสู่อาเซียน และรายการพูดภาษากำปง วันอังคารเวลา 14.00 น. ทั้งหมดเป็นรายการภาษามลายูที่พูดคุยเรื่องของชาวบ้านด้วยภาษาชาวบ้าน ภาษากำปง และเราเปิดสายให้ประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการด้วย
ผลตอบรับที่จัดรายการเป็นภาษามลายูกำปงจะมีคนฟังเยอะมาก เพราะส่วนหนึ่งเราจะมีการแจกหนังสือดูอาที่ใช้ในชีวิตประจำวันแจกในรายการ ชาวบ้านจะโทรเข้ามาขอกันมาก บางที่เราแจกร่มบ้างหนังสืออื่นๆ บ้างเพื่อเป็นการเชิญชวนมาร่วมพูดคุยในรายการ เขาจะมารับของถึงที่สถานีเลย
เรื่องที่กลุ่มคนฟังโทรศัพท์เข้ามาร่วมพูดคุยกันมากที่สุดก็เป็นเรื่องครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องของลูกหลาน และคนที่โทรศัพท์เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่โทรมาปรึกษาเรื่องลูกไม่เรียนหนังสือบ้าง ความประพฤติไม่ดีบ้าง และโทรมาขอให้สอนดูอาเพื่อให้ลูกขยันเรียนหนังสือ วัยรุ่นจะมีน้อยมากเพราะไม่ได้เป็นสถานีประเภทบันเทิง แต่จะมีนักเรียนโทรศัพท์เข้ามาในช่วงที่ผมมีรายการตอบคำถามด้านการศึกษา
DSJ: ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ มีการนำเสนออย่างไรบ้าง ชาวบ้านให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน
จูลี: เรื่องกระบวนการสันติภาพ การพูดคุยที่เกิดขึ้นเรายังไม่ค่อยได้นำเสนอ เพราะส่วนใหญ่เป็นรายการด้านศาสนา ชาวบ้านเองก็ไม่เคยได้พูดคุยเรื่องนี้เลย เท่าที่มีก็คือ อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้นเอง
DSJ: กลุ่มเป้าหมายคนฟังของวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอครอบคลุมถึงพื้นที่ไหนบ้าง
จูลี: คลื่นของเราคลุมพื้นที่กว้างพอสมควร ด้านหนึ่งสามารถรับฟังได้ถึงสายบุรี เมืองนราธิวาสและบางส่วนของรือเสาะ บางส่วนของ อ.จะแนะ แต่เรามีจะมีเครือข่ายที่ลิงก์รายการที่สถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ อย่างเช่นวิทยุของวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยุริซาละห์ วิทยุอัลกุรอ่านดารุสลาม ที่ปาลัส วิทยุตะอาวุนที่บางปูก็จะมีบ้างที่ลิงก์รายการจากที่นี่ออกอากาศบ้างโดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ของเราก็เช่นกันที่จะเชื่อมรายการของเครือข่ายเช่นกัน
000000000000000000000000
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้