Skip to main content

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …...

'นิเด๊าะ อิแตแล': พลังผู้หญิงสร้าง “ชุมชนสันติสุข”

นิเด๊าะ อิแตแล
แวนีซะ สุหลง
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ

ปี 2550  ฉันพากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรรมไปศึกษาดูงานที่กรุงเทพฯ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนวันกลับบ้านได้ 1 วัน ระหว่างพักค้างคืนที่กรุงเทพฯ เสียงโทรศัพท์กรีดดังผิดเวลา แต่เช้ามืด ยังไม่ตีห้าดีเลย ฉันสะดุ้งตื่น มือควานหาโทรศัพท์จนเจอ พยายามดูหน้าจอโทรศัพท์ให้ชัด ปลายสายบอกว่าเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” ตอนนั้นก็รู้สึกงงๆ และกังวลในใจ “เอ๊ะ!!...ผู้ใหญ่บ้านโทรมาช่วงเวลานี้ทำไม?” แต่ก็รีบรับสายทันที “อัสลามูอาลัยกุม...ผู้ใหญ่”

“วาอาลัยกุมุสซาลาม” ผู้ใหญ่บ้านรีบพูดต่อเลยว่า 
“นิเดาะห์ !!  อย่าเพิ่งตกใจน่ะ...ตั้งสติดีๆ  ใจเย็นๆน่ะ”   

แค่สิ้นประโยคนั้น  ความรู้สึกกลับตรงกันข้ามกับคำปลอบใจอย่างสิ้นเชิง ในใจครุ่นคิดว่ามันต้องมีเรื่องอะไรสักอย่างที่เกิดกับครอบครัวของฉัน เพราะสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ  อย่างต่อเนื่องซึ่งไม่รู้ว่าจะถึงจุดจบอย่างไร และเมื่อใด รีบลุกมานั่งคุยโทรศัพท์จากผู้ใหญ่บ้านให้ได้สติมากที่สุด กระทั่งเสียงจากปลายสายเรียกชื่อของฉันอีก 3  ครั้ง  

“นิเดาะห์...นิเดาะห์...นิเดาะห์...ยังฟังอยู่หรือเปล่า...”

“ฟังอยู่ค่ะ...มีอะไรหรือเปล่าผู้ใหญ่”

“โรงงานข้าวเกรียบฟักทองของกลุ่มโดนเผา” 

ฉันรู้สึกโล่งใจขึ้นมาที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายกับครอบครัวเรา แต่หัวใจก็หล่นวูบไป และเงียบอีกครั้งหนึ่ง น้ำตาตกใน เจ็บปวดมาก และมีคำถามว่าทำไม ทำไม ทำไม ขึ้นในใจมากมาย กลุ่มทำผิดอะไร กลุ่มมีแต่จะให้ด้วยซ้ำ ทำไมเขาต้องทำแบบนี้กลับกลุ่มเรา ผู้ใหญ่บ้านเล่ามาตามสายอีกว่า “เมื่อคืนมีข่าวลือว่าจะเผาหลายที่ ….โรงเรียน สถานีอนามัย ชาวบ้านเลยไปเวรยามป้องกันไว้ แต่ที่โรงงานข้าวเกรียบไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด  เลยไม่มีการเฝ้าเวรยาม  เหตุการณ์ก็เลย.......”

           …..................................

ชุมชนที่ฉันอยู่ปัจจุบันนี้  “กำปงบาโงยซิแน” หมู่ 2อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีภูเขาลูกใหญ่ที่ตั้งตระหง่านและทอดยาวอยู่ด้านหลังบ้าน ซึ่งห่างประมาณ 500  เมตร บนยอดเขาจะมีแอ่งน้ำที่ไหลเป็นสายธารลงสู่เบื้องล่างเป็นสายธารที่ช่วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรที่กรีดยาง  ทำสวน ทำนา มาเป็นเวลายาวนาน จากรุ่นสู่รุ่นจวบจนทุกวันนี้  มีความหลากหลายของพืชพันธ์สมุนไพรและยังเป็นแหล่งรวมตัวของสัตว์ป่า นานาชนิด  เช่น  หมูป่า  เก้ง นกหลากหลายชนิดอาศัยอยู่อีกด้วย  

ชาวบ้านอาศัยภูเขาลูกนี้เป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพให้กับครอบครัว โดยทำการปลูกสวนยาง  สวนผัก  และสวนผลไม้หลากหลายชนิด เช่น  ลองกอง  ทุเรียน  มังคุด  กระท้อน  เป็นต้น ชาวบ้านที่อยู่บริเวณตีนเขาจะทำนา พวกเราจะอยู่กันแบบพี่แบบน้องมีความรักความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน ไม่มีการแบ่งพรรค์แบ่งพวกกัน อีกทั้งกำปงบาโงยซิแนจะมีผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศโซนโลกอาหรับอยู่มากที่สุด 

เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่หมู่บ้านอื่นในจังหวัดยะลาในสมัยก่อน ตอนนี้ก็ยังมีการส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศอยู่เหมือนเดิม และมีสถานที่ให้เด็กได้เรียนอัลกุรอ่านเป็นที่แรกของจังหวัดยะลา คนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาระหว่างกัน ผู้นำหมู่บ้านกำปงบาโงยซิแนมีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี เป็นส่วนสำคัญที่หลอมรวมความรู้สึกให้ลูกบ้านเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกเคารพในการทำหน้าที่ความเป็นผู้นำหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี  มีความยุติธรรม

ห้วงความรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจกับเรื่องราวต่างๆ ต้องหยุดลง เมื่อสายตาสะดุดกับโครงสร้างของโรงเรือนทำข้าวเกรียบที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทุกครั้งที่เห็นมีความรู้สึกสองด้านเสมอ ทั้งสะเทือนใจและดีใจมากที่เห็นโรงเรือนทำข้าวเกรียบหลังใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างจากภาครัฐ อีกไม่นานมันคงกลับมามีชีวิต และสามารถดึงบรรยากาศการรวมกลุ่มแม่บ้านให้มีชีวาหมือนเดิม

การพัฒนาของหมู่บ้าน มีจุดเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของแม่บ้าน สมัยก่อนถือเป็นการยากมากที่จะเห็นการเกิดรวมกลุ่มกันเองของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งกลุ่มนี้จะรวมตัวกันทำขนมในช่วงเย็นของแต่ละวัน โดยใช้เวลาว่างของแม่บ้านหลังจากกลับจากการกรีดยาง จนเวลาผ่านไป 3 ปี ก็มีครูมาสอนทำอาหาร จัดตั้งกลุ่มทำขนมหลายอย่างทั้งทองม้วน ทองพับ ทุเรียนทอดกรอบ มะพร้าวอบน้ำผึ้ง ข้าวเกรียบ ช่วยกันขายแบ่งรายได้กันประมาณ 1 ปี จึงจัดตั้งเป็น “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบาโงยซิแน” ลงทุนกันแบบบ้านเก็บเงินกันคนละ 50 บาทเพื่อซื้อวัตถุดิบ 

ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความไม่รู้อะไร โดยเริ่มจากการทำข้าวเกรียบฟักทองเป็นหลัก มีเจ้าหน้าที่ของเคหกิจเกษตรมาสอน ทำมา 2 ปี โดยไม่มีสถานที่หรืออุปกรณ์เป็นเรื่องเป็นราว ต่างคนต่างขนกันมาทำแล้วขนกลับ ทางอำเภอเห็นถึงความตั้งใจและความสามัคคี และทางเกษตรให้งบประมาณมา 2 แสนบาท ก่อตั้งโรงงานทำข้าวเกรียบบ้านบาโงยซิแนอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2537  นับเป็นช่วงที่กำปงบาโงยซิแนได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน จนมีการขยายและแตกแขนงกลุ่มอาชีพมากถึง 35 กลุ่ม ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันเองของชาวบ้าน 

สิ่งเหล่านี้มีการเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ จนนำไปสู่ได้ก่อตั้งโรงงานทำให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการใช้เวลาว่างที่เปล่าประโยชน์ให้มีคุณค่ามากขึ้น เมื่อชาวบ้านเห็นประโยชน์จากการรวมกลุ่ม มีรายได้และเกิดกำไรเพิ่มขึ้น ก็มีความคิดเห็นร่วมกันว่ากำไรที่ได้มานั้นจะเก็บออมสะสมไว้วันละบาท จากจำนวนสมาชิก 30 คน ระยะเวลา 3 ปี ก็มีเงินก้อนจำนวน 10,950  บาท 

พลังจากการรวมกลุ่มจนเห็นเป็นรูปธรรมก่อให้เกิดความสามัคคีนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่จากภาครัฐให้ความสนใจ ทำให้ฉันและแม่บ้านหลายคน มีโอกาสได้เข้าอบรมการบริหารจัดการ เพื่อจัดระบบการขายสินค้าให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้กับกลุ่มในการออมทรัพย์ให้มากขึ้น ยังเก็บวันละ 1 บาทเหมือนเดิมเรื่อยๆ บางวันที่ฉันไปเก็บเงินจะเจอเหตุการณ์ที่สามีภรรยาทะเลาะกัน ซึ่งก่อนจะได้เก็บ 1 บาท นั้นก็ต้องทำหน้าที่ในการเป็นกรรมการกลางเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาและหาทางออกให้กับชาวบ้านด้วย 

บางครั้งหากมีการรวมกลุ่มกันที่โรงงานเพื่อทำข้าวเกรียบของกลุ่ม สมาชิกด้วยกันซึ่งคนไหนที่มีเรื่องเล่าทั้งที่เป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือปัญหาก็จะมาเล่าและพูดคุยกันในวงสมาชิกให้รับรู้เพื่อหาแนวทางและหาวิธีแก้ไขภายในตัว  

บางวันบางเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นงานบุญหรืองานต่างๆ ก็จะมีการทำกินกันมีทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ช่วยๆ กันทำกันอย่างสนุกสนาน ถือได้ว่าโรงงานข้าวเกรียบแห่งนี้เป็นเสมือนพื้นที่กลางของคนในชุมชน เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองคนคนในชุมชนนี้ และเป็นพื้นที่แห่งความผูกพันของคนในชุมชน เหล่านี้เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ฉันคิดว่าเราได้ช่วยเหลือคนในทางอื่นด้วย  ถือว่าเป็นความสุขหนึ่งที่ได้มาจากชุมชนที่เขาให้ความเคารพและเป็นที่ไว้วางใจของคนในหมู่บ้าน  

จากการสร้างกลุ่มอาชีพทำข้าวเกรียบจนนำมาซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งนี้ ทำให้ทางกลุ่มถูกเชิญให้ไปอบรมหรือไปศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อกลับไปพัฒนากลุ่มให้มีระบบมากขึ้น และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนนอกพื้นที่บ่อยครั้ง จนกระทั่ง ชุมชนบาโงยซิแนมีเครือข่ายพัฒนาองค์กรที่ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อสร้างชุมชนสมานฉันท์เกิด “ชุมชนสันติสุข” (ดารุสสลาม) ไปเมื่อปลายปี 2549

          ….................................

ผ่านไป  1  สัปดาห์หลังจากเหตุการณ์เผาโรงงานข้าวเกรียบฝักทอง  สมาชิกในกลุ่มก็ยังมีความเครียดและกลัวมากๆ ที่จะรวมกลุ่มกัน ทั้งเกิดความหวาดระแวง ว่าจะมีใครมาก่อเหตุร้ายเพิ่มเติมอีกหรือไม่  ทุกคนต่างคนต่างเงียบงัน บางคนก็ร้องไห้กัน จนทำให้สมาชิกบางคนถึงกับต้องไปรักษาสภาพจิตใจ แต่สำหรับฉันพยายามเข้มแข็งและทำให้กลุ่มสมาชิกมีกำลังใจขึ้นมาใหม่ให้ได้  

ฉันคิดเสมอว่า “เราเป็นผู้บริสุทธิ์” เลยคิดหาวิธีการต่อสู้ที่สะอาด ไม่ยอมให้คนที่มีจิตใจที่โหดร้ายมาทำลายสิ่งที่ชาวบ้านสร้างมาเพื่อชุมชน  สิ่งที่ชาวบ้านรัก มีความผูกพัน โดยบอกกับเพื่อนสมาชิกว่า “เราต้องตั้งสติ ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ได้ ขอให้มีสติ คิดดีๆ ต้องมีความมั่นใจในตนเอง” เอาเข้าจริง มันทั้งปลอบใจตัวเองและให้กำลังใจคนรอบข้างได้ และบอกทุกคน “ที่สำคัญจงเชื่อว่า อัลลอฮอยู่กับเรารับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จงขอดูอาจากอัลลอฮฺตลอดๆ”  

หลังจากเกิดเหตุการณ์เห็นถึงความแตกต่างในการทำงานชุมชน  เมื่อก่อน แกนนำและผู้นำในชุมชนทำงานแบบเรียบง่าย สบายๆ มีอะไรก็ให้ความร่วมมือกัน  แต่พอเกิดเหตุการณ์ เวลาจะทำอะไรสักอย่าง ทางแกนนำและผู้นำก็มีการคิดและวางแผนอย่างมีระบบและรอบคอบขึ้น มีการป้องกัน โดยจัดทำเวรยาม เกิดการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็เข้ามาใส่ใจกลุ่ม และปกป้องกลุ่มมากขึ้น  

จากวิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสในการทำงานระดับชุมชน เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ทำให้ฉันสามารถเสนอโครงการเพื่อของบสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  มาพัฒนากลุ่มองค์กร  เกิดขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มมีความกระตือรือร้น เกิดพลังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งสถานที่ของกลุ่มก็ได้สร้างใหม่และใหญ่กว่าเดิม เกิดกิจกรรม เกิดอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา และฉันก็ได้สร้างคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดสิ่งที่ดีๆ ต่อไป  การประกอบอาชีพของคนในชุมชนก็มีความมั่นใจ ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะว่าฉันใช้หลักการสื่อสารในลักษณะที่เป็นกลางที่ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าทำงานกับทีมงานก็ดี คณะกรรมการ ภาคประชาสังคมและอื่นๆ

ในเรื่องความช่วยเหลือจากทีมงานในชุมชนและแกนนำทุกภาคส่วน มีความร่วมมือร่วมใจเพื่อให้เกิดสันติภาพและมีการสื่อสารเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง เกิดการทำงานและทำกิจกรรมร่วมกัน เผยแพร่สิ่งดีๆ เกิดการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสิ่งที่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเกิดความคิดใหม่ๆ เข้ามา แต่ส่วนใหญ่นั้น ผู้หญิงเป็นผู้ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และทำงานหนักเพิ่มขึ้น 

 หนึ่งโอกาสการช่วยเหลืออาจเป็นเพราะการเผยแพร่ในกิจกรรมออกรายการวิทยุชุมชน “เสียงผู้หญิงชายแดนใต้” กับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ทำให้ผู้หญิงในชุมชนที่ฟังและอยู่ที่บ้านเฉยๆ  เกิดการรวมกลุ่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาด้านสันติวิธีไปพร้อมๆ กัน และเกิดความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจร่วมกัน ช่วยเหลือกันในการที่จะเยียวยาที่ให้ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน  

“เมื่อก่อนผู้หญิงมุสลิมไม่มีบทบาทอะไรในสังคม เป็นแค่แม่บ้านเลี้ยงดูลูกและสามี จนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้หญิงต้องลุกมาทำหลายๆ เรื่อง เพื่อประคองครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้หญิงค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพในหลายๆ ด้านที่ช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้ นี่คือโอกาสท่ามกลางวิกฤติที่ผู้หญิงจะได้แสดงศักยภาพของตนเอง”.

000000000000000000000000000000

พลังส่งกลับจากเธอสู่ฉัน
ฉันชื่อ..... แวนีซะ สุหลง

ฉันรู้สึกทึ่งกับพลังการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มาจากพื้นเพความเป็นชาวบ้านระดับรากหญ้าและได้มีการเริ่มต้นจากตัวเองและเพิ่มเป็นกลุ่มย่อยขยายจนสู่ระดับประเทศ  รู้สึกภาคภูมิใจที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ทำได้ขนาดนี้ 

ถึงแม้ใครอื่นใด จะมองคนพื้นที่นี้เป็นคนที่มีการศึกษาน้อยตามใครไม่ค่อยทัน  แต่เรื่องราวของเธอที่ชื่อนิเด๊าะ  อิแตแล สามารถพิสูจน์ให้ฉันและใครๆ เห็นได้ชัดว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการปรับตัวเพื่อให้ตัวเองและสังคมสามารถอยู่ได้กับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเป็นอีกเรื่องราวที่ทำให้ผู้หญิงอย่างฉัน ได้รู้จากผู้หญิงอย่างเธอว่า 

“ผู้หญิงทำได้”

 

 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา