Skip to main content

เหมือนขวัญ เรณุมาศ  

นักศึกษาปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา

 สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภาพยนตร์เรื่อง Three Seasons หรือ (สามรัก สามฤดู) กำกับโดย Tony Bui ในปี ค.. 1999 เป็นภาพยนตร์เวียดนามอีกหนึ่งเรื่องที่ร้อยรัดความหมายดีๆ มาไว้ให้ผู้ชมติดตาม นอกจากนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีจุดเด่นให้นักวิจารณ์ภาพยนตร์หรือคอหนังได้วิจารณ์กันหลากหลายแง่มุม ทว่าแง่มุมของผู้เขียนเอง มองว่าภาพยนตร์เรื่องสามรัก สามฤดูเป็นการเน้นไปที่การพรรณนาเวียดนามที่กำลังย่างก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern) เวียดนามที่มีบางมุมแห่งการกดขี่ รวมถึงเป็นการฉายให้เห็นภาพการรำลึกถึงจิตวิญญาณในอดีตของคนเวียดนาม และผลกระทบด้านสังคมจากการทำให้เป็นสมัยใหม่

 

ซึ่งประเด็นดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะพบได้จากความเป็นไปของตัวละครหลักๆ ในเรื่อง อาทิเช่น หญิงโสเภณีกับชายรับจ้างปั่นสามล้อ  ชายอเมริกัน อดีตนาวิกโยธินกับลูกสาวและเด็กเร่ร่อนขายของเก่า รวมทั้งหญิงสาวรับจ้างเก็บและขายดอกบัวกับอาจารย์ด๋าผู้เลือกชีวิตที่โดดเดี่ยว   

สัญลักษณ์ของการเดินเรื่องผ่านประเด็นเหล่านี้ก็คือ ดอกบัว ดอกบัวจะถูกใช้สื่อความหมายสามลักษณะอย่างคมคาย ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเรื่องว่า Three Seasons ลักษณะแรกของดอกบัวถูกใช้ในความหมายว่า คุณค่าที่งดงาม ซึ่งผู้เขียนพิจารณาว่าดอกบัว คือ คุณค่าที่งดงามจากบทกวีชิ้นสุดท้ายของอาจารย์ด๋า ที่เขาได้พรรณนาและบอกเล่าอดีตของตนเองต่อหน้าหญิงสาวที่ชื่อ Kien An ว่า

ตะวันเอ๋ยจงโผล่ขึ้นมา                               สาดแสงสีทองทั่วปฐพี

แทนแสงสีเงินของจันทรา               ขับไล่ความมืดรอบตัวข้า

ข้าอยากกลับไปยังบึงปทุมมา                  อยู่กับความงดงามและบทกวี

ค้นหาวิญญาณเก่าข้าในสายลม                    หาความรุ่งเรืองในครั้งอดีตกาลฯลฯ

 

เมื่อดอกบัวถูกเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตของอาจารย์ด๋า ผนวกกับถูกบอกเล่าผ่านบทกวีของเขาแล้ว ดอกบัวจึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของคุณค่าที่งดงาม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อาจารย์ด๋ารู้สึกเศร้าใจกับสภาพกายที่เป็นโรคร้ายในปัจจุบันของเขา เขาก็จะเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยการนึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ  ที่เขาเองเคยล่องเรือเก็บบัว และโปรยกลีบดอกบัวนั้นให้ไหลกลมกลืนไปกับสายน้ำอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งสาวๆ  ที่ล่องเรือค้าขายอยู่ในช่วงสมัยนั้น ต่างก็ลือกันว่า อาจารย์ด๋าหน้าตาหล่อเหลาแถมดอกบัวของเขาก็ยังงดงามกว่าของใครๆ อาจารย์ด๋าจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ใครๆ ก็ล่ำลือถึงดอกบัวของเขา ภาคภูมิใจกับอดีตกาลของตนเอง ดอกบัวในความหมายแรกจึงเปรียบเสมือนความเป็นอดีต ความดั้งเดิม และเปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่งดงาม 

 

            อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะสามารถยืนยันได้ว่าดอกบัวในความหมายแรกนั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอดีต ความดั้งเดิม และคุณค่าที่งดงาม เห็นทีคงจะเป็น ดอกบัวปลอมหรือดอกบัวพลาสติก

 

ซึ่งดอกบัวปลอมเหมือนดูจะถูกเน้นแบบขีดเส้นใต้ให้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบกับดอกบัวจริงๆ เพื่อสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความเป็นไปของเมืองไซง่อนในเวียดนาม ดังกรณีตัวอย่าง ฉากหนึ่งที่กำลังดำเนินเรื่องให้ Kien An ไปขายดอกบัวในเมืองไซง่อน และทันใดนั้นเอง Kien An ก็พบว่า ดอกบัวจริงๆ ของอาจารย์ด๋าเริ่มขายไม่ออก ขณะที่ดอกบัวปลอมมันกำลังขายดิบขายดีและเป็นที่นิยมของชาวเวียดนามแทนที่ดอกบัวจริงๆ

ในสถานการณ์นี้จึงทำให้ Kien An คิดว่า การที่ดอกบัวปลอมขายดิบขายดี และสามารถแทนที่ดอกบัวจริงๆ ได้ เนื่องจากดอกบัวปลอมนั้นเป็นผลผลิตของความเป็นสมัยใหม่ (ปัจจุบัน) มันเป็นพลาสติกที่ไม่มีวันเหี่ยว ดูสวยหรูอยู่ตลอด ต่างจากดอกบัวจริงๆ ที่ดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นของเก่า (อดีต) ไปแล้ว เพราะดอกบัวจริงๆ นั้นเหี่ยวง่าย เมื่อเหี่ยวไปความสวยก็หมดลง แต่ทว่าสิ่งที่ดอกบัวจริงๆ มีก็คือ การให้ความหอมและให้คุณค่าที่แท้จริง ซึ่งดอกบัวปลอมๆ นั้นหามีไม่ ดังนั้นในแง่นี้ ถ้าหากมองเปรียบเทียบกลับไปยังสภาพสังคมเวียดนามแล้ว จะพบว่าสังคมอดีต หรือสังคมที่ยังคงไว้ซึ่งจารีตดั้งเดิมของชาวเวียดนามมันกำลังค่อยๆ สูญหายไปและถูกแทนที่ด้วยความเป็นสมัยใหม่ แต่สังคมสมัยใหม่นั้นอาจจะให้แค่ความสวยหรูอย่างฉาบฉวยหรือชั่วคราวเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ให้ความหอมและให้คุณค่าที่งดงามจริงๆ ได้

กระนั้น ดอกบัวที่ชาวเวียดนามต้องการจะคงรักษาไว้คือ ดอกบัวจริงๆ ดังที่อาจารย์ด๋า และ Kien An ต้องการ ซึ่งทั้งสองคนนี้ถูกสวมทับให้มีหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวเวียดนามในการที่จะ กลับไปยังบึงปทุมมา อยู่กับความงดงามและบทกวี ค้นหาวิญญาณเก่าในสายลม และหาความรุ่งเรืองในครั้งอดีตกาลนั่นเอง

 

ต่อไป ฉากความรักฤดูที่สอง เป็นความรักของ James (Harvey Keitel) อดีตนาวิกโยธิน James เป็นชายวัยกลางคนชาวอเมริกันที่ยอมเดินทางกลับมายังเวียดนามอีกครั้งเพื่อตามลูกสาวของเขา แต่การตามหาลูกสาวของ James ในเวียดนามครั้งนี้กลับดูยุ่งยากและสร้างความหนักใจให้กับเขามิน้อย เพราะด้วยความห่างกันมานาน และการขาดความรับผิดชอบของ James เอง ซึ่งอาจทำให้ลูกสาวของเขาปฏิเสธที่จะพบเจอและพูดคุยด้วย ฉะนั้นในฉากความรักที่สองนี้ ดอกบัว จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายถึง การสร้างความปรองดองระหว่าง James และลูก

 

การที่ดอกบัวในความหมายที่สอง ตามทัศนะของผู้เขียนถูกนิยามให้เป็นการสร้างความปรองดอง เนื่องด้วยผู้เขียนพิจารณาจากฉากหนึ่งที่ผู้กำกับอย่าง Tony Bui ตั้งใจจะให้ James นำดอกบัวมาเป็นตัวสานสัมพันธ์อันดีกับลูกสาวของเขา เมื่อพวกเขา (พ่อและลูก) มีโอกาสได้พบเจอกัน ก่อนที่ผู้เป็นพ่ออย่าง James จะเริ่มพูดอะไรบางอย่างกับลูกสาว ก็เริ่มต้นด้วยการมอบดอกบัวที่ซื้อมาจาก Kien An ให้กับลูกสาวก่อน เพียงเพื่อหมายจะหาทางปรองดองและฟื้นฟูสัมพันธ์อันดีกับลูกสาวที่จงเกลียดจงชังเขานั่นเอง

 

อนึ่ง การพยายามสร้างความปรองดองระหว่างคู่ที่อาจมีปมขัดแย้งอะไรต่อกันก่อนที่จะมีการเจรจาพูดคุยกัน หรือสร้างสันติภาพเชิงบวกต่อกันนั้น ดูจะสอดคล้องกันอย่างดีกับทฤษฏีทางวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติศึกษาอีกด้วย แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งหลายท่านมีโอกาสที่จะมองต่างออกไปหรือโต้แย้งได้ เพราะการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์สามรัก สามฤดูนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ข้อสรุปตายตัวทั้งหมดขึ้นอยู่กับมุมมองของคนดูแต่บุคคลด้วยนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพูดถึงกรณีอื่นๆ ก็ย้อนกลับมาพิจารณาดูดอกบัวในความหมายที่สาม กับความรักฤดูที่สามกันก่อน ซึ่งเป็นความรักระหว่างชายหนุ่มรับจ้างปั่นสามล้อกับหญิงโสเภณีที่ชื่อว่า Lan หนุ่มปั่นสามล้อหลงรักหญิงโสเภณี โดยไม่คิดรังเกียจเธอแม้แต่น้อย ส่วนหญิงโสเภณีก็จำใจในการทำอาชีพนี้ เพื่อถีบตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจน และก็นั่นแหละหนุ่มปั่นสามล้อจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อมอบความมั่นคงให้กับเธอ โดยระหว่างนั้น หนุ่มปั่นสามล้อก็พันคิดไปว่า จริงๆ แล้วความสะดวกสบาย ความเป็นสมัยใหม่อย่างเช่น โรงแรมราคาแพงเป็นสิ่งที่คุกคาม ทำให้ Lan ต้องมาขายบริการ และทำให้ชาวเวียดนามหลายๆ คนต้องดูยากจนลง โรงแรมแพงๆ จึงเหมาะสำหรับฝรั่งเท่านั้น ไม่เหมาะกับชาวเวียดนามในความคิดของเขา

 

 เช่นเดียวกัน หนุ่มปั่นสามล้อก็มองว่า ดอกบัวจริงๆ นั้นเป็นศูนย์รวมของคุณค่าที่ถูกคุกคามโดยดอกบัวพลาสติกอันสะดวกสบายและสมัยใหม่ ดอกบัวพลาสติกส่งผลในการผลักให้ดอกบัวจริงๆ นั้นต้องดูไร้ค่า และไร้ราคาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในแง่นี้ ผู้เขียนจึงขอพิจารณาความหมายของดอกบัวจากการดำเนินเรื่องในฉากความรักนี้ ว่า ความรุนแรง ซึ่งตัวดอกบัวเองไม่ได้เป็นความรุนแรง แต่เป็นสัญลักษณ์ที่นำผู้ชมให้รับรู้ได้ถึง การกำลังถูกคุกคามที่รุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการให้ความหมายของดอกบัวแล้ว ภาพยนตร์สามรัก สามฤดู ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่สร้างความหมายลึกซึ้งเหลือล้น ซึ่งอาจจะดูเหมือนความตั้งใจของผู้กำกับที่เลือกใส่ฉากเหล่านี้มา อาทิเช่น ฉากที่ James ได้พบกับเด็กชายชื่อว่า Woody ซึ่งเป็นเด็กชายที่ขายนาฬิกาและหมากฝรั่งจากกล่องไม้  ในฉากนี้ถือว่าเป็นฉากรองที่ลึกซึ้ง คือมีการดำเนินเรื่องให้ Woody ตามล่าหากล่องไม้ของ Woody หลังจากที่มันหายไปในไนต์คลับระหว่างที่ Woody ถูก James ล่อลวงให้ดื่มเบียร์ ซึ่งในการค้นหาของเขาเราจะเห็นความตั้งใจของ Bui ที่ทำให้ผู้ชมเห็นมุมมองของเด็กๆ บนถนนในไซ่ง่อน ที่ติดอยู่กับความยากจน การกดขี่ การตามหาที่พักผ่อน และการดิ้นรนต่อสู้ในสถานที่ที่ยุ่งเหยิง แต่ภายใต้ความยุ่งเหยิงนี้ Woody ก็ยังเจอมิตรภาพที่ดีๆ จากเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนด้วยกัน

นอกจากนั้น รายละเอียดอื่นๆ เช่น ความตั้งใจที่จะบอกกล่าวอะไรกับผู้ชมของผู้กำกับ น่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพิจารณาเค้าโครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผนวกกับบรรยากาศต่างๆ ที่ดำเนินไปภายในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ก็จะเห็นมุมมองความตั้งใจของผู้กำกับหนังอย่าง Tony Bui ว่า แท้จริงผู้กำกับหนังคนนี้เพียงต้องการจะใช้ สามรัก สามฤดู เป็นสื่อกลางในการพรรณนาเวียดนามและไซ่ง่อนว่าไม่ได้เป็นพื้นที่แห่งความรุนแรงและความหวาดกลัวเท่านั้น ทว่าในทางกลับกัน Tony Bui อยากประกาศต่อผู้ชมทั่วไปว่า เวียดนามในอีกมุมมองก็เป็นเพียงแค่พื้นที่เล็กๆ ที่เคยมีทั้งอดีตที่สวยงาม พื้นที่ที่มีความรุนแรงบ้างแต่ก็ไม่ได้น่าสะพรึงกลัวนัก รวมไปถึงเป็นเพียงพื้นที่ที่ผู้คนพร้อมจะผูกมิตรต่อกันและต่างโอบอ้อมอารีต่อกันเท่านั้นเอง

 

และแน่นอน เหตุที่ Tony Bui เลือกใช้คำว่า สามรัก สามฤดูเป็นชื่อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เพียงเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อให้กับผู้ชมทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น อดีตที่สวยงาม ความรุนแรง ความปรองดอง มิตรภาพและความโอบอ้อมอารี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความรักทั้งสิ้น แต่เป็นความรักที่อาจจะมีความแตกต่างกัน จึงอาจจะอยู่คนละฤดูไปบ้าง และความรักแต่ละฤดูที่ถูกฉายผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ดูภายนอกอาจไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันแต่แท้ที่จริงแล้ว ความรักทั้งสามฤดูนั้นก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สุดท้าย สิ่งที่อยากจะบอกเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องสามรัก สามฤดู (Three Seasons) คือ ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะดูเรียบง่าย ขาดเสียงดนตรีที่จะปลุกเร้าอารมณ์ จิตใจของคนดูไปบ้าง แต่ก็นั่นแหละ ไม่ได้หมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่มีเสน่ห์เอาเลย เสน่ห์ของเรื่องสามรัก สามฤดูอยู่ที่ความหมาย และการสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้ประเทศเวียดนามอย่างน่าเหลือเชื่อ

 

ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนับเป็นตัวกลางในการสื่อให้เห็นว่า ภายใต้ภาวการณ์ถูกเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ก็ยังมีการช่วยเหลือ ยังมีมิตรภาพ และภายใต้สังคมที่ผู้คนหลงละเริงกับกระแสความสมัยใหม่ ก็ยังมีกลุ่มคนที่คิดจะคงไว้ซึ่งความดั้งเดิม หรือแท้ที่จริงแล้วทั้งความใหม่และความเก่าก็ยังสามารถออมชอมหรือไปด้วยกันได้ ถ้าคิดที่จะทำ ฯลฯ ซึ่งนี่แหละคือการสร้างเสน่ห์ให้กับภาพยนตร์เรื่องสามรัก สามฤดูได้ โดยที่ผู้กำกับหนังไม่ต้องคิดหาวิธีการสร้างเนื้อเรื่องหรือฉากภาพความรุนแรงเพื่อเรียกคะแนนจากผู้ชม ไม่ต้องเหนื่อยกับการหาเสียงดนตรีที่โดดเด่นมาปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชมแม้แต่น้อย เพราะแค่ความหมายและไอเดียในการสอดแทรกภาพสะท้อนของสังคมที่เป็นจริงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กินใจผู้ชมทั่วโลกไม่น้อยทีเดียว