ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
วันนี้พาครอบครัวไปจุดเทียนมาที่ข่วงท่าแพ จ.เชียงใหม่ ผมคิดถึงเพื่อนที่ริมเลนะ ช่วงนี้ลมอาจแรงไปหน่อยจุดเทียนไม่ค่อยได้ แต่ถ้าได้จุด มันคงเป็นความทรงจำที่ดี วันนี้ผมพลันนึกขึ้นได้ว่า การรณรงค์ให้ไปเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพลังสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่นำไปสู่ความรุนแรงและรัฐประหารแล้ว การรณรงค์ให้ไปเลือกตั้งยังมีนัยสำคัญต่อเพื่อนมลายูอย่างยิ่งสามเรื่อง
เรื่องแรก เพื่อนคงทราบดี คนเรานั้นเกิดมาล้วนเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในสายพระเนตรของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้า รายอ นายทุน อมาตย์ และชาวบ้านธรรมดา ความไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขทางสังคมและการเมือง เราควรเปลี่ยนสังคมนี้ในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ การที่อยู่ดีๆ มีคนออกมาพูดว่าเสียงของแต่ละคนนั้นไม่เท่าเทียมกัน เพื่อนที่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาจะคิดอย่างไร ในเมื่อแท้จริงแล้ว ในสายตาของพระองค์เราล้วนเท่าเทียมกัน
เรื่องที่สอง เพื่อนคงทราบดีว่ากระบวนการสันติภาพในภาคใต้นั้นก่อตัวขึ้นมาอย่างยากลำบาก รัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐประชาธิปไตยหรือเคารพสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรมของคนอื่นในประเทศมากนัก แต่หากเรามองว่ากระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากบ้านเมืองเรายังอยู่ในระบอบเผด็จการ เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งใช่ไหมที่ต้องสร้างกระบวนการประชาธิไตยกลับคืนมาด้วยความเชื่อมั่นว่า "เสียงของคนเราเท่ากัน" เสียก่อน กระบวนการสันติภาพกับประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้
สุดท้าย เรารู้ว่าเพื่อนๆ เจ็บปวดกับเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ แต่นั่นก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจักต้องยืนยันสิทธิของเราในทางการเมืองให้มากยิ่งขึ้น พื้นฐานของเหตุการณ์กรือเซะและตากใบส่วนหนึ่งเกิดจากการเห็นคนและพิจารณาคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้ง เราไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคการเมืองที่เพื่อนเชื่อว่าเกี่ยวพันกับทักษิณหรือใครๆที่มีส่วนสั่งการณ์กับเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่การเลือกตั้งคือเครื่องมือในการยืนยันสิทธิของเพื่อนๆเอง สิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันในฐานะพลเมือง การเลือกตั้งจึงมีนัยของการต่อสู้และปรับเปลี่ยนความสำพันธ์เชิงอำนาจในพร้อมๆกัน หากเราไม่สู้เพื่อสิทธิโดยชอบธรรมของเราในครั้งนี้ได้ การต่อสู้เพื่อสิทธิอื่นๆ ก็มิอาจพิทักษ์รักษามันไว้ได้เช่นกัน
รณรงค์เลือกตั้งกันเถอะนะเพื่อน