ไชยยงค์ มณีพิลึก
ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเป็นพรรคที่ครองที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้มากที่สุด ก็ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการ “ฟื้น” ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นตัวจักรในมิติของฝ่ายพลเรือนในการ “ขับเคลื่อน” ภารกิจดับไฟใต้ที่โชนแสงมานานกว่า 5 ปี
เป็น ศอ.บต.ที่มีอำนาจเต็มและมีงบประมาณสนับสนุน ในโครงสร้างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต ไม่ใช่ ศอ.บต.ที่เสมือนหนึ่งเป็น "งานฝาก" ของ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในกำกับดูแลของทหาร
แม้ว่า “ประชาธิปัตย์” จะใช้เวลามากกว่า 90 วันตามที่เคย “หาเสียง” เอาไว้ เพราะใช้เวลาจริงถึง 10 เดือนกว่าที่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือเรียกง่ายๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.) จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ถือว่าไม่นานเกินรอ
ในร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ "องค์กรดับไฟใต้ในมิติของพลเรือน" กลับมาใช้ชื่อ ศอ.บต.เหมือนเดิม แทนที่จะใช้ชื่อ สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สบ.ชต. ตามที่กำหนดไว้แต่แรก ด้วยเหตุผลที่ว่าคนในพื้นที่รู้จัก ศอ.บต.เป็นอย่างดี จึงไม่ต้องการให้เกิดความสับสน
แต่ ศอ.บต.ตามร่างกฎหมายใหม่นี้ มีประเด็นที่ “บิดเบือน” ไปจากเจตนารมณ์เดิมที่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ “นิยาม” ของคำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา หมายถึง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี แต่ร่างดังกล่าวถูกแก้ไขก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี ทำให้นิยามของ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ขยายเป็น 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูก “วิพากษ์” ในเชิงไม่เห็นด้วยจากกลุ่มผู้นำองค์กรทุกองค์กรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต. ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาเพื่อ "ทำคลอด" เป็นกฎหมายนั้น ไม่ได้ช่วยให้การ “ดับไฟใต้” สำเร็จ และอาจเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ครั้งใหญ่
เหตุผลที่ผู้นำองค์กรโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจจากหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม รวมทั้งนักวิชาการหยิบยกขึ้นมา “วิพากษ์” ในครั้งนี้ก็คือ สิทธิพิเศษต่างๆ ของการประกอบธุรกิจ ลงทุน และทำการค้าของคนในพื้นที่ เพื่อเป็น “ตัวช่วย” และ “แรงจูงใจ” ให้นักลงทุนทุ่มเม็ดเงินเข้าไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้พ้นจากภาวการณ์ “เลวร้าย” จากสถานการณ์ความไม่สงบ เสมือนหนึ่งเป็น "เขตภัยพิบัติ" นั้น จะไหลออกไปนอกพื้นที่ทันที เท่ากับเป็นการ “ปิดทาง” การลงทุนในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างสิ้นเชิง
เพราะเมื่อการลงทุนทำธุรกิจใน จ.สงขลา และ สตูล ซึ่งจัดเป็น "พื้นที่ปลอดภัย” ได้สิทธิพิเศษเท่าเทียมกับการลงทุนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาแล้ว ยังจะมีนักลงทุนคนไหนไปลงทุนในพื้นที่ “เสี่ยง” ต่อการก่อการร้ายทุกรูปแบบอยู่อีก
และเมื่อ “ทุนใหม่” ไม่เคลื่อนไปลงทุน ขณะที่ “ทุนเก่า” ก็ย้ายออก สิ่งที่จะตามมาในอนาคตสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ คือการ "ย้ายหนี" ของผู้คน เพราะคนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษา และกลุ่มที่พอจะมีที่ไป ก็จะเก็บข้าวของออกจากพื้นที่ตามการเคลื่อนย้ายของ “กลุ่มทุน” เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าของชีวิต
หากในอนาคตปัญหาการก่อความไม่สงบยังลากยาวต่อไปอีก 5-10 ปี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็จะเหลือเพียงเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น
นี่คือ “มิติ” และ “ปัญหา” ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคน การศึกษา และสังคม ที่ล้มเหลวลงพร้อมๆ กัน
นอกจากนั้นในด้านความมั่นคง เมื่อเปลี่ยน “นิยาม” ของคำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” จาก 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ เป็น 5 จังหวัดแล้ว สิ่งที่ตามติดมาก็คือ การขยายตัวของขบวนการก่อความไม่สงบที่อาจจะขยายไปครบทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งจะทำให้รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
โดยข้อเท็จจริง จ.สงขลา และสตูลนั้น แม้จะไม่ได้สิทธิ “จูงใจด้านการลงทุน” ก็มีศักยภาพด้วยตัวของตัวเองอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถสานต่อโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ เช่น “สะพานเศรษฐกิจ” หรือ "แลนด์บริดจ์" รวมทั้งระบบโครงข่ายการขนส่ง หรือ “โลจิสติกส์” ได้ทันทีอีกด้วย
การเดินทางมาพบปะกับตัวแทนภาคการค้า การลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนภาคการค้าและอุตสาหกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสนอปัญหาดังกล่าวนี้ และเรียกร้องให้เปลี่ยน “นิยาม” คำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วนร่วมอยู่ในนั้น และทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับ ศอ.บต.อยู่ในปัจจุบัน ก็ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนคำ “นิยาม” ของคำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้เป็นไปตามร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นกัน ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพการณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้จะเป็นการตอบ "โจทย์" ได้ชัดเจนที่สุดว่า สุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝากความหวังได้จริงหรือไม่?!?