Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

ในที่สุดหลังจากที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ผ่านช่วงเวลาเคร่งเครียดที่สุดของบรรยากาศการลุ้นว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ก็ได้ผ่านไปด้วยดี แม้จะมีการนองเลือดกันไปบ้างในระดับที่ทางกองทัพยังไม่กล้าพอที่จะตัดสินใจออกมาทำการรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีใครกล้าออกมายืนยันให้หลักประกันว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดให้มีการปฎิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้งกับแนวคิดเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยทำการปฏิรูปหรือบางแนวคิดก็บอกว่าการเลือกตั้งก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งของการปฏิรูปแล้ว จะสามารถสร้างข้อยุติจนเกิดข้อตกลงร่วมกันเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ เพราะทางฝ่ายที่คัดค้านการเลือกตั้งคงไม่พอใจแน่นอนที่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สามารถทำการจัดเลือกตั้งได้ ทางฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งก็คงไม่พอใจแน่นอนเหมือนกันถ้าผลการเลือกตั้งวันที่2กุมภาพันธ์ 2557 ต้องถูกตัดสินว่าเป็นโมฆะ

แต่สำหรับบรรยากาศการเลือกตั้งในพื้นที่ซึ่งรัฐไทยเรียกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ BRN เรียกว่า Patani นั้น ความตื่นเต้นต่อผลการเลือกตั้งในท่ามกลางบรรยากาศการสู้รบเพื่อการปลดปล่อยกลับถูกแย่งซีนด้วยปรากฏการณ์มีบัตรเสียในรูปแบบที่มีข้อความ Patani Merdeka บนบัตรเลือกตั้ง ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดียซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นที่หน่วยเลือกตั้งในเขตพื้นที่ตำบลบูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

ตลอดระยะเวลาการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวปาตานีตั้งแต่วันแรกที่ถูกล่าอาณานิคมสำเร็จโดยรัฐอาณาจักรสยามในปีค.ศ.1786 โดยมาชัดเจนในปีค.ศ.2004 ผ่านยุทธการบุกโจมตีค่ายทหารที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่4 มกราคม ว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีนั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะชาวปาตานีในระดับชนชั้นนำที่มาจากเชื้อพระวงศ์ของสุลต่านหรือเจ้าเมืองและบรรดาอูลามาเท่านั้น แต่ด้วยปรากฏการณ์ที่สมาชิกขบวนการต่อต้านการล่าอาณานิคมและสมาชิกกองกำลังติดอาวุธเพื่อเอกราชปาตานีซึ่งมารู้ทีหลัง หลังจากที่ได้เสียชีวิตจากการต่อสู้และได้ถูกจับกุมว่ามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ครู นักธุรกิจ นักวิชาการ ปัญญาชน เป็นต้น

ทำให้ค่อนข้างชัดเจนว่าการสู้รบที่ปาตานีนั้นได้เข้าสู่ภาวะของรูปแบบการต่อสู้แบบสงครามประชาชนเพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคมซึ่งมีเจตจำนงขั้นพื้นฐานของหลักการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมต่อดินแดนที่ตนเป็นเจ้าของ นั่นก็คืออยู่ที่การได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เหมือนกับสถานะของประชาชาติอื่นๆที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราชจนสำเร็จอย่างเช่น อินเดีย พม่า อินโดนีเซีย ติมอร์-ติมอร์ ซูดานใต้ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการต่อสู้แบบนี้บทบาทของหน่วยกองกำลังติดอาวุธนั้น จะใช้ยุทธวิธีแบบจรยุทธ์เหมือนหลายๆที่ที่เคยเกิดสงครามประชาชนในช่วงสงครามเย็นอย่างเช่น เวียดนาม คิวบา เป็นต้น

โดยที่หัวใจสำคัญของยุทธวิธีแบบนี้อยู่ที่การสนับสนุนของมวลชนจัดตั้งและมวลชนที่เป็นแนวร่วมมุมกลับ อันเนื่องมาจากไม่พอใจต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ สอดคล้องกับทฤษฎีการปฏิวัติประชาชนของหลายๆที่ หลายๆสำนัก แต่สำหรับสำนักคิดเพื่อการปฏิวัติประชาชนที่ปาตานีนั้น พึ่งมาชัดเจนว่ามีตัวตนจริงและเป็นที่ยอมรับสถานะองค์กรปฏิวัติอย่างเป็นทางการโดยรัฐไทยและมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั่นก็คือองค์กรที่ชาวบ้านรากหญ้าคุ้นหูมาโดยตลอดและชื่อองค์กรก็มีคำว่าปฏิวัติอยู่ด้วย องค์กรนั้นมีชื่อว่า Barisan Rivolusi National ชื่อย่อว่า BRN แปลว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ

แต่ตราบใดที่มวลชนซึ่งเป็นชาวปาตานีดังกล่าวยังไม่มีสถานะทางการเมืองที่สามารถบ่งชี้ว่าเจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริงนั่นคือเอกราชปาตานีนั้น เป็นเจตจำนงของประชาชาติที่ไร้รัฐเพราะถูกล่าอาณานิคมไม่ใช่เจตจำนงเฉพาะของกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น กลไกการเมืองโลกที่ขับเคลื่อนโดยสหประชาชาติต่อประเด็นปัญหาการถูกล่าอาณานิคมของประชาชาติหนึ่งตามหลักการของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองตามข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) ก็จะไม่ส่งผลเกิดการหนุนเสริมต่อเส้นทางของเป้าหมายเอกราชปาตานีแต่อย่างใด

ระหว่างเส้นทางการรอผลลัพธ์ของการสร้างสถานะทางการเมืองของเจตจำนงแห่งชาติปาตานีโดยชาวปาตานีเองว่าต้องการเอกราช จึงไม่แปลกว่าตลอดการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีในห้วงบรรยากาศแบบสงครามประชาชน10ปีที่ผ่านมานั้น จะมีการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ต่อเจตจำนงทางการเมืองว่าคือเอกราชมาโดยตลอด ตามท้องถนนบ้าง ตามป้ายริมถนนบ้าง ตามป้ายผ้าบ้าง แต่ปรากฏการณ์ล่าสุดครั้งนี้โดยผ่านวาระโอกาสของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวไทย กลับมีคำว่า Patani Merdeka บนบัตรเลือกตั้ง อย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากผู้ที่เขียนคำนี้ต้องการสื่อว่าการเลือกตั้งส.ส.นั้น ตอบโจทย์เฉพาะชะตากรรมของสิทธิความเป็นประชาชนพลเมืองไทย แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ชะตากรรมของสิทธิความเป็นประชาชนพลเมืองปาตานี

แล้วอะไรเล่าที่ตอบโจทย์การกำหนดชะตากรรมของสิทธิความเป็นประชาชนพลเมืองปาตานี?