Skip to main content

ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน

"กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม" อาจเป็นทางออกสำหรับการคลี่คลาย "ปม" อันเป็นต้นเหตุของความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมไทยได้ โดยเฉพาะปัญหา "คนหาย" ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ทว่าสถานการณ์พิเศษในพื้นที่ดังกล่าวกล้บจะยิ่งขับเน้นให้ "ปมคนหาย" เป็นเงื่อนไขของความไม่เป็นธรรม อันเป็นหนึ่งต้นเหตุหลักของปัญหาชายแดนภาคใต้ไปในที่สุด

สถานะของปัญหา "คนหายในไฟใต้" จึงต้องถูกยกระดับเป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่ควรให้น้ำหนักอย่างถึงที่สุด  ในเมื่อแนวทางที่รัฐบาลเลือกใช้คือการสร้างสมานฉันท์ภายในสังคมไทยและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม การไข "ความจริง" ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการสร้างสมานฉันท์จึงควรรีบกระทำอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร รัฐบาลในยุคสมานฉันท์ควรมีเจตนาที่จะคลี่ปมดังกล่าวอย่างจริงจังเสียที

 นพ.แวมะฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการ "อุ้ม" ซึ่งขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มองปัญหา "คนหายชายแดนใต้" ว่า การบังคับให้หายตัวไปหรือในความหมายของการอุ้มคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตั้งสมมติฐานได้หลายแง่มุม ด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นการกระทำของฝ่ายของคนร้ายกันเองเพื่อมุ่งหวังการตัดตอนภายในขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นกรณียาเสพติดหรือกรณ๊การก่อความไม่สงบต่างๆ

"ต้องเข้าใจด้วยว่า คนร้ายในที่นี่ก็อาจรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐเองด้วย"

อีกด้านหนึ่ง หากภารกิจการ  "อุ้ม" ซึ่งเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง  ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

- ต้องอุ้ม
! เมื่อกลไกรัฐอ่อนแอ? -

อดีตจำเลยในคดีกบฏเจไอซึ่งปัจจุบันอยู่ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ แจกแจงว่า นอกเหนือจากการเป็น "ความเคยชิน" ที่เกิดจากวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิด ไม่เคยถูกลงโทษเมื่อใช้วิธีการอย่างนี้แล้ว สำคัญเหนือกว่านั้น คือ การที่เจ้าหน้าที่เลือกที่จะ "อุ้ม" ก็เป็นเพราะไม่มีความมั่นใจในข่าวกรองของตัวเอง ไม่มั่นใจในพยานและหลักฐานขอตัวเอง และที่สำคัญไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายว่าจะลงโทษคนที่ตนคิดว่าเป็นคนร้ายได้

สำหรับประเด็นหลัง นพ.แวมะฮาดี ขยายความว่า โดยปกติการ
"อุ้ม" มักจะเริ่มต้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า "การกักขังควบคุมโดยอำเภอใจ" ซึ่งเป็นการนำตัวผู้ตัองสงสัยมาสอบโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้มีการรับสารภาพ แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ระบุว่าสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำได้ แต่มีเงื่อนเวลาเพียง 48 ชั่วโมงในสถานที่ควบคุมตัว ญาติพี่น้องก็สามารถมาเยี่ยมได้ ในขณะที่ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิในการเรียกทนายมาร่วมสอบ

กล่าวง่ายๆ กระบวนการตั้งแต่การเชิญตัว ควบคุมตัว กักขัง ตลอดจนการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่จะกระทำตามอำเภอใจไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งแน่นอน หากทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คำรับสารภาพที่พนักงานสอบสวนต้องการก็คงได้มาไม่ง่ายนักในกรอบเวลาดังกล่าว การ "อุ้ม" มาสอบด้วยกระบวนการนอกกฎหมายจึงมักเป็นทางที่เลือกใช้กัน เพราะไม่อยากจะปล่อยตัวไปก่อนจะได้  "หลักฐานชิ้นสำคัญ"

หลังจากนั้น หากขั้นตอนแรกเกิด "ผิดพลาด" ขึ้นมา ขั้นตอนที่จะมารองรับคือ "การบังคับให้หายตัวไป" ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปได้สำหรับบางรายที่มีความตั้งใจให้ "เหยื่อ" หายไป กระบวนการเหล่านี้ล้วนผิดกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น

"ในกรณีของผมถือว่ายังไม่ผิดพลาด จะเรียกว่าโชคดีหรือเป็นกำหนดจากพระเจ้าก็ตาม จึงมีเพียงแต่ขั้นตอนแรกเท่านั้น"

นพ.แวมะฮาดี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิบายว่า ความไม่มั่นใจต่อการข่าวและพยานหลักฐาน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของโจทก์ในกรณีที่คดีความขึ้นสู่ชั้นศาล ในทางกลับกันก็สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจหรือไม่เก่งพอที่จะหาพยานหลักฐานที่หนักแน่น เว้นแต่คำรับสารภาพเท่านั้นที่จะมัดตัวจำเลยเท่านั้น

- ตร.ผูกขาดทำสำนวนเอง -

แหล่งข่าวใน กอ.สสส.จชต. รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า นอกจากรัฐบาลจะประกาศนโยบายในการแก้ปัญหาไฟใต้ในทางการเมืองแล้ว การอำนวยความยุติธรรมก็ควรที่จะให้น้ำหนักด้วยเช่นกัน ในกรณีคนหาย รัฐบาลจะต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาโดยมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายที่ไม่จำกัดเพียงแค่ตำรวจ เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและทำสำนวนส่งให้อัยการ หากจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายก็ต้องทำ

นอกจากนี้ เขาเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของกรณีคนหาย อยู่ที่การค้นหาความจริงในกรณีดังกล่าวว่าคนเหล่านี้หายไปไหนและใครเป็นคนอุ้มไป ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ยังคงให้อำนาจพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจในการจัดทำสำนวน ซึ่งชาวบ้านอาจจะมองว่าการเป็นเจ้าหน้าที่ด้วยกันก็คงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือฝ่ายปกครอง แม้จะมีข้อมูล แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีอำนาจในการทำสำนวนเองได้ นอกจากจะส่งให้ตำรวจดำเนินการ

"ถ้าตำรวจทำสำนวนเสียเอง ทุกอย่างก็เงียบหมด" เขากล่าวโดยสรุป

- ศอ.บต.ยังไม่พร้อม -

ด้าน ศอ.บต. หน่วยงานที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองและมวลชนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่นับวันยิ่งเลวร้ายก็กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการสถาปนาความยุติธรรม ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งในรากเหง้าของไฟใต้

ศอ.บต.โฉมใหม่มีสำนักงานบริหารงานยุติธรรมอยู่ในโครงสร้างใหม่และเพิ่งเริ่มเดินงานไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย วีระยุทธ สุขเจริญ รองผู้อำนวยการ ศอ.บต.ที่รับผิดชอบสายงานยุติธรรม ระบุว่า ได้วางงานด้านนี้ไว้ 4 มิติ คือ 1.งานรับเรื่องราวร้องทุกข์  2.งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย 3.งานสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบงานยุติธรรม และ 4.งานพัฒนากฎหมายและระบบงานยุติธรรมให้สอดคล้องกับปัญหาและพื้นที่

ส่วนประเด็นคนหาย รอง ผอ.ศอ.บต.ระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของงานติดตามคดี ซึ่งจะมีบุคลากรของดีเอสไอรับผิดชอบ ส่วนฐานข้อมูลจะประสานจากเรื่องที่ได้รับการร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้และศูนย์ประสานงานยุติธรรมส่วนหน้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม วีระยุทธ ยอมรับว่าเขายังไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคนหายที่ทางคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ได้รวบรวมไว้แต่อย่างใด

ในช่วงเริ่มแรกของภารกิจ ศอ.บต. เขายอมรับว่า ขณะนี้มีปัญหาในเรื่องการขอบุคลากรมาช่วยงาน เดิมทีงานติดตามคดีจำต้องใช้คนกว่า 10 คน แต่ในวันนี้ได้รับการโอนช่วยราชการมาเพียง 4 คน

- ปลดเงื่อนไข "อุ้ม" -

 อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)  ระบุว่า การแก้ปัญหาโดยสันติจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง โกหกก็ว่าโกหก จริงก็ว่าจริง ซึ่งที่จริงแล้วเครื่องมือทางกฎหมายก็มีอยู่ไม่น้อยแต่ก็ไม่ได้ใช้อย่างเคร่งครัดและจริงจัง ที่สำคัญ ต้องกำหนดเป็นนโยบายให้ชัดเจนว่าวิธีการที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องเลิกโดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน รัฐจะต้องเข้าไปจัดการกับขบวนการคอร์รับชั่น โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ หากหมดเงื่อนไขตรงนี้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์อุ้มฆ่าซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความไม่สงบในภาคใต้จะลดน้อยลง

ส่วน นพ.แวมะฮาดี ในฐานะเหยื่อของกระบวนการเหล่านี้ หลังจากศาลชั้นตันยกฟ้องในคดีเจไอและไม่มีอุทธรณ์ เขาได้ยื่นฟ้องแพ่งเมื่อหลายเดือนก่อน ฐานละเมิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.อ.พีรพงษ์ ดวงอัมพร เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลผู้รับผิดชอบคดีของเขา พร้อมเรียกค่าเสียหาย 116 ล้านบาท โดยตั้งใจเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการอันไม่ชอบในชั้นศาล ซึ่งจะเริ่มเบิกความในเดือน ก.ค.ปีหน้า

นอกจากนี้ เขายังเตรียมที่จะฟ้องความผิดอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีในเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และเชื่อมั่นหนักแน่นว่าเขาจะชนะทั้งสองคดี

อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องก็เป็นหนึ่งในกระบวนการเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิที่จะกระทำได้ ทว่าข้อเสนอต่อโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่คาดว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจนอกกฎหมายก็น่าสนใจไม่น้อย

แวมะฮาดี เสนอว่า จะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำ จากการที่เป็นเพียง "สิทธิ" ของผู้ต้องสงสัยที่จะเรียกร้องให้มีทนายความอยู่ในระหว่างการสอบปากคำด้วย ให้เป็น"หน้าที่" ที่เจ้าพนักงานจะต้องจัดหาทนายเข้ารับฟังการสอบปากคำทุกครั้ง การผูกมัดเช่นนี้ จะทำให้เป็นการยากที่การสอบสวนจะกระทำได้ตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการลดทอนน้ำหนักของเอกสารคำรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนในฐานะที่เป็นหลักฐานในการพิจารณาในชั้นศาล กล่าวคือ ศาลจะต้องถือว่าหลักฐานชนิดดังกล่าวรับฟังไม่ได้ในการพิจารณาชั้นศาล

ประเด็นต่อมา คือ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่เพียงการสืบสวนและจับกุมอย่างเดียว จะต้องไม่มีอำนาจในการเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ส่วนภารกิจส่วนนี้ควรให้เป็นหน้าที่ของอัยการ และประเด็นสุดท้าย จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรตำรวจเพื่อสร้างการถ่วงดุล โดยให้ท้องถิ่นเข้ากำกับมากขึ้น

ข้อเสนอเหล่านี้ อดีตผู้ต้องหากบฏเจไอ เชื่อว่า จะนำมาสู่การปลดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์อุ้มนอกกฎหมายได้ในอนาคต

- แนะตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจคนหาย -

 ในขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า คณะทำงานยุติธรรมฯ มีข้อเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง"คณะกรรมการติดตามกรณีคนหาย" เป็นการเฉพาะ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบถาม สอบสวนข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี โดยมีองค์ประกอบมาจากบุคคลที่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนองค์กรอิสระ รวมไปถึงญาติของผู้สูญหายที่จะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามดังกล่าว

เธอเห็นว่า คณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะสามารถสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยความยุติธรรม กระตุ้นให้หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้สูญหายและผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง  พร้อมทั้งเปิดช่องทางให้ญาติผู้สูญหายที่ยังไม่ได้รายงานหรือแจ้งข้อมูลสามารถเปิดเผยตัวเพื่อทราบจำนวนที่แท้จริงว่ามีคนหายจำนวนเท่าใดและได้รับการเยียวยาต่อไป

คณะทำงานยุติธรรมฯ ยังเสนอด้วยว่ารัฐบาลกำหนดมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ "การบังคับให้หายตัวไป" รวมทั้งบรรดาญาติของผู้สูญหายทุกราย ในขณะเดียวกันคณะทำงานยุติธรรมฯ ยังเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมากระบวนการตรวจสอบต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าตรวจพิสูจน์ศพนิรนามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนหายในพื้นที่ดังกล่าว

อังคณา ระบุต่อว่า ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินของ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) คณะทำงานยุติธรรมฯ เสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขระเบียบหลายประการ ได้แก่  ยกเลิกระเบียบที่ไม่ให้ผู้ต้องสงสัยพบบุคคลอื่นในระยะเวลา 3 วันแรก ซึ่งเดิมเคยเป็นช่วงที่ญาติพี่น้องของผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางส่วนไม่รู้ชะตากรรมว่าคนของเขาหายไปไหน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้รับสิทธิในการพบทนายความ จากเดิมที่ญาติและทนายความและมีสิทธิคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัว รวมทั้งได้รับสิทธิในการเดินทางมาศาลเพื่อให้ศาลได้พิจารณาไต่สวนหน้าบัลลังก์

อังคณา บอกว่า ข้อเสนอดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการที่ต้องทำให้โปร่งใสและเปิดเผย ตรงไปตรงมา ส่วนข้อกังวลว่าจะอาจจะกระทบกับความมั่นคงนั้น เธอระบุว่าเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่รู้ใครเป็นใคร แต่เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินอยู่ภายใต้การรับผิดชอบ เมื่อมีคนหายไป อย่างน้อยจะต้องแจ้งให้ญาติรับทราบว่าหายไปไหน ใครหรือหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ  เชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใช้อำนาจที่ไม่ชอบได้ในอนาคต

- ดึงยูเอ็นร่วมตรวจสอบ -

นอกจากนี้ ในฐานะญาติของผู้สูญหาย อังคณา ยังได้ใช้ช่องทางขององค์กรระหว่างประเทศในการเร่งรัดติดตามการหายตัวไปของทนายสมชาย ผู้เป็นสามี โดยการยื่นสำนวนข้อเท็จจริง (Fact Finding) ในกรณีดังกล่าว ให้กับคณะทำงานติดตามคนสูญหายของสหประชาชาติ หรือ  Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances ในช่วงกลางปี 2548 และทางคณะทำงานฯ รับเรื่องไว้ในสารบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2548  โดยคดีของสมชายหมายเลขคดี 1003249

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาส "วันคนหายสากล" คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพร่วมกับศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย (ALRC) ซึ่งมีสถานะเป็นที่ปรึกษาของสภาเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติได้ยื่นสำนวนข้อเท็จจริง (Fact Finding) ของบุคคลสูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 12 ราย ให้กับคณะติดตามคนสูญหายของสหประชาชาติ  ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น

คณะทำงานชุดดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะของบุคคลที่ถูกทำให้หายตัวไปทั่วโลก โดยมีบทบาทในการตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ มาที่รัฐบาลไทย เมื่อได้คำตอบจะนำไปสรุปไว้ในรายงานประจำปีที่จะตีพิมพ์ในช่วงต้นปี แม้จะไม่มีบทบาทลงลึกในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ตลอดจนถึงขั้นการควานหาตัวผู้กระทำผิดและลงโทษ ทว่าบทบาทในเวทีสากลดังกล่าวก็ส่งผลทางการเมืองต่อรัฐบาลไทยไม่น้อย

"บางทีกลไกยุติธรรมในประเทศไม่สามารถทำงานได้ เราก็ต้องอาศัยกลไกในระดับสากลที่สามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ความยุติธรรมกับเรา หากคนไทยสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกจากภายนอกเลย" อังคณากล่าว

นอกจากนี้ ภรรยาของทนายความที่หายตัวไป ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบันใน อนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ (UN Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีภาคีทั่วโลกกว่าร้อยประเทศ

รวมทั้งยังเรียกร้องให้ลงนามใน อนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันคนหาย (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance of 1998)เพื่อแสดงความจริงใจต่อการยกระดับการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยระบุว่าเพื่อยืนยันว่าการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมจะไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ

 

วิกฤติคนหาย : เงื่อนไขสงครามชายแดนใต้

คงยากจะปฏิเสธว่ากรณี "ทนายสมชาย" และกรณี "คนหายชายแดนใต้" จะกลายเป็นเงื่อนไขให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพให้กับ "ปัตตานีดารุสลาม" ที่นำไปใช้ปลุกระดมกับมวลชนพื้นฐานในพื้นที่สีแดง ไม่เพียงเท่านั้นประเด็นดังกล่าวยังมีมิติในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่ทรงพลังและเพียงพอสำหรับการนำไปนำเสนอ ตรวจสอบ กระทั่งเคลื่อนไหวในเวทีสากล

อย่าลืมว่า ปัจจัยชี้ขาดของสงครามมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์คงหนีไม่ไกลจากปัจจัยการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่และปัจจัยการยอมรับของนานาประเทศเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยกำลังรบกำลังพลถือเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในสงครามยุคนี้

ในเมื่อคำตอบของการหายไป ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐไทย หรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ ประเด็นคนหายก็ยังเป็นหนึ่งใน "เงื่อนไข" และ "ข้ออ้าง" ของขบวนการใต้ดินเพื่อนำมาสนับสนุนการต่อสู้

อย่างไรก็ตาม วันนี้เมื่อทิศทางของรัฐบาลชั่วคราวยังมุ่งหวังสร้างฐานในการคลี่คลายปัญหาไฟใต้ในแนวทางการเมืองเป็นหลัก ประเด็นคนหายย่อมมีน้ำหนักเพียงพอที่จะต้องให้ความสนใจ

- อุ้มหายไร้คำตอบ ขยายความไม่ไว้วางใจ -

 อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการท้องถิ่นผู้วิพากษ์วิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลมาโดยตลอด มองปัญหาคนหายในสามจังหว้ดจากภาพรวมของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการดำรงอยู่ของความอยุติธรรมที่ก่อให้เกิดคดีความมั่นคงต่างๆ มากมายที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คดีเหล่านี้ล้วนเป็นคดีสีเทา

เมื่อลงลึกถึงปัญหาคนหาย เขามองว่า การอุ้มฆ่าและการใช้อำนาจนอกกฏหมายถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการใช้อำนาจทั่วไปของสังคมไทย การยืนยันมุมมองนี้อธิบายผ่านสงครามต่อต้านยาเสพติดในรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งมีต้วเลขผู้เสียชีวิตประมาณ 2,500 คน ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน บังเอิญว่าสถานการณ์ในจังหวัดชาแดนภาคใต้ปะทุขึ้นต่อเนื่องจากสงครามครั้งดังกล่าว การไม่ใช้กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังสอดรับกับนิสัยของผู้กุมอำนาจส่วนนี้ที่เอื้อต่อวิถีปฏิบัติดังกล่าว

ทว่ากระบวนการเหล่านี้กลับส่งผลตรงกันข้าม เพราะข่าวสารการอุ้มไปฆ่ากระจายอยู่ในพื้นที่ สร้างความหวาดวิตกกังวลและไม่สบายใจว่าเหยื่อของพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นตนเองหรือไม่ ที่สำคัญความหวาดกลัวกลับขยายมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะชี้ชัดได้ว่าใครเป็นคนทำ ในการรับรู้ของชาวบ้านและองค์กรภาคประชาชนมีคำตอบเดียวต่อความไม่ชัดเจนเหล่านี้ นั่นคือเป็นฝีมือของ "กลไกรัฐ"

"เมื่อรัฐบาลไม่มีคำตอบ จับได้ก็เป็นแพะ ความชอบธรรมของของรัฐก็แทบจะไม่มีอีกแล้ว เพราะประชาชนจะมองว่าถูกกระทำตลอด ถึงที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ ในเมื่อไม่มีคำอธิบายได้ว่าเป็นฝีมือใคร แล้วจะให้ประชาชนไว้ใจได้อย่างไร" อัฮหมัดสมบูรณ์ ผู้ที่เคยเป็นหนึ่งใน กอส.กล่าว

- ยอมรับ จนท.ลักลอบทำ -

แหล่งข่าวรายหนึ่งในกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ยอมรับว่า เรื่องราวเกี่ยวกับคนหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นที่กระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีเนื้อหาที่สร้างความระแวงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากมักจะระบุว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้บุคคลเหล่านี้หายตัวไป แม้ว่ายังไม่มีการจัดทำข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร แต่ฝ่ายตรงกันข้ามก็อาศัยข่าวลือเหล่านี้ในการขยายมวลชนของเขา

จากการทำงานในพื้นที่มาตลอดระยะเวลาหลายปี ทำให้เขาไม่เชื่อว่าจะมีสถิติคนหายจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพันดังข่าวลือ เนื่องจากการเสียชีวิตที่มีการฝังศพ ไม่สามารถลักลอบทำได้ง่ายนัก กรณีเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กรือเซะหรือเหตุปะทะกันสิบกว่าจุดในวันที่ 28 เม.ย.2547 และเหตุการณ์ตากใบล้วนมีการจัดพิธีศพอย่างเปิดเผย มีชื่อเสียงเรียงนามผู้เสียชีวิตชัดเจน มีพยานรู้เห็นจำนวนมากรวมถึงคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของรายเล็กรายน้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน นายทหารคนดังกล่าวยอมรับว่า กอ.สสส.จชต.เองก็ไม่ได้ติดตามข้อมูล ส่วนข้อมูลบุคคลสูญหายที่ทางคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ก็ไม่ได้มีการประสานมาที่ กอ.สสส.จชต.แต่อย่างใด ทว่าโดยส่วนตัว เขาเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะมีมูลความจริง

"ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว เหตุการณ์ในทำนองนี้ อาจจะมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานลักลอบทำ แต่การจะตรวจสอบรายละเอียดในส่วนนี้ คงไม่ง่ายนัก จะเริ่มต้นได้จากการให้ข้อมูลของชาวบ้านเอง"

ด้วยเหตุนี้ แหล่งข่าวคนดังกล่าว จึงระบุว่า กอ.สสส.จชต.จึงไม่มีมาตรการในการตอบโต้ข่าวดังกล่าว เนื่องจากหากข้อเท็จจริงที่ได้รับการเปิดเผยภายหลังสวนทางกับคำชี้แจงของทางการ ผลด้านลบจะตกอยู่ทีความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่เสียเอง

เขายังยอมรับว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดเก่า มีความเป็นไปได้ว่าญาติของผู้สูญหายอาจไม่มีความมั่นใจต่อนโยบายดังกล่าว รวมทั้งยังกังวลต่อความมั่นคงปลอดภัยที่ตัวเองจะต้องประสบ อาจเป็นเพราะข้อสังเกตเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ญาติพี่น้องของเขาหายไป

"รัฐบาลที่ผ่านมามีการส่งสัญญาณหลายอย่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเข้าใจว่าการใช้วิธีการนอกระบบที่เข้าใจว่าจะเป็นผลดีมาใช้ ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ยังได้รับตำแหน่งใหญ่โตหน่วยงานที่ตนสังกัด"

เขาขยายความว่า วิธีการที่เรียกว่า "อุ้ม" เป็นวิธีการที่ตำรวจบางกลุ่มใช้จัดการกับคนร้ายต่อเนื่องมาจากเมื่อครั้งนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดในช่วงปี 2545 - 2546 แต่เมื่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ช่วงการก่อเหตุความไม่สงบ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ยังคงใช้วิธีการเดิมเข้าจัดการกับคนที่ตนคิดว่าเป็นตัวการปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในฐานะทหารเขาก็ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจมีกลุ่มทหารที่ใช้วิธีการเดียวกัน เนื่องจากหลายเหตุการณ์ในระยะหลังที่มีการะบุว่ามีคนสวมชุดเครื่องแบบทหารเข้าไปยิงชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจสอบกันภายในก็ยังไม่พบกรณีที่ทหารเป็นผู้กระทำ

"เราถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดนโยบาย เราห้ามเด็ดขาด แต่ในช่วงการทำงานจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยเองก็มีหลายกลุ่ม หลายพวก ซึ่งการทำอย่างนี้คงไม่มีการยอมรับกันง่ายๆ" เขากล่าว และย้ำความคาดหวังว่าความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลใหม่จะยุติการกระทำเหล่านี้ได้ในอนาคต

- ระบุหนีเข้าขบวนการฯ -

ในขณะที่แหล่งข่าวข้าราชการฝ่ายปกครองรายหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบใน จ.ปัตตานี ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีข่าวลือในพื้นที่อย่างหนาหูว่ามีชาวบ้านถูกอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นจำนวนมาก จากการรวบรวมข้อมูลผ่าน "ศูนย์รับแจ้งเหตุคนหาย" ของฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำให้ระบุข้อมูลคนหายในจังหวัดปัตตานีได้ว่ามีอยู่ 5 ราย

ในจำนวน 5 รายนี้ มี 4 รายที่หายตัวไปพร้อมรถกระบะในคราวเดียวกันขณะเดินทางจากบ้านที่ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เข้ามาตัวเมืองปัตตานี ในขณะที่อีกรายซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี ก็หายตัวไปขณะพาญาติไปโรงพยาบาลศูนย์ยะลา

กระบวนการในการสืบค้นของจังหวัดปัตตานี คือ การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนในแต่ละกรณี โดยการเรียกผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กระทั่งญาติพี่น้องของผู้ที่คิดว่าสูญหายมาสอบ ในทำนองว่าหายไปอย่างไร สงสัยว่าเป็นฝีมือใคร เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานผู้ว่าราชการตามลำดับ

"แต่ข้อมูลที่เราได้รับ ไม่มีใครสงสัยเลยว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ" เขากล่าวพร้อมระบุว่า ในส่วนของคดีความทางญาติผู้เสียหายทั้ง 5 รายได้เข้าแจ้งความต่อ สภ.อ.เมืองปัตตานี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะมีเบาะแสน้อยมาก ที่สำคัญไม่มีพยานที่ระบุว่าหายไปอย่างไร หรือไปกับใคร

ต่อกรณีคนหายในภาพรวม ข้าราชการฝ่ายปกครองรายนี้ ให้ความเห็นว่า ข้อจำกัดของข้อเท็จจริงทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาหายไปได้ หรือแม้แต่การสืบสาวถึงบุคคลที่ "อุ้ม" พวกเขาให้หายไป

ทว่าในเบื้องต้นอาจวิเคราะห์เหตุของการหายตัวไปได้ 2 แนวทาง คือ  แนวทางแรก หายตัวไปเข้าร่วมกับฝ่ายตรงกันข้าม บางรายไม่ได้ติดต่อญาติพี่น้อง ในขณะที่บางส่วนอาจติดต่ออยู่แต่ญาติพี่น้องไม่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ การหายไปในแนวทางนี้เป็นผลมาจากการกดดันของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในหมายจับตามกฎหมายบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หลายคนจึงต้องหลบหนีก่อนการจับกุม

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ หายไปเพราะเจ้าหน้าที่นำตัวไป แต่จากประสบการณ์ของตนที่สอบปากคำญาติพี่น้องของผู้สูญหายหลายคนใน จ.ปัตตานี ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนอุ้มหายไป เนื่องจากไม่มีใครเห็นหรือเป็นพยานที่พอจะระบุได้

- ยึดกติกา - ยึดความมั่นคง -

ด้าน แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคงรายหนึ่ง เชื่อว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมจากการใช้วิธีการนอกระบบ - นอกกฎหมายของหน่วยงานบางหน่วย ซึ่งขัดแย้งกับการเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐไทยและยึดถือในกติกา แต่เมื่อคนที่ดูแลกติกาดังกล่าวกลับเป็นคนไม่นับถือกติกาดังกล่าวเสียเอง จะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกหมดที่พึ่ง ผิดหวังและเจ็บปวด สิ่งที่ตามมาคือความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ เยาวชนในครอบครัวของผู้ที่สูญหายทั้งที่ยังเป็นเด็กหรืออยู่ในวัยรุ่นจะมีความรู้สึกเจ็บแค้นที่สะสม เมื่อนานเข้าจะแปรสภาพเป็นความแค้นที่ใช้วิธีการรุนแรงเพื่อแก้ไขความเจ็บแค้นของตัวเอง ความรุนแรงจะถูกเลือกใช้ได้ง่าย สิ่งเหล่านี้หากไม่ปรากฎให้เห็นในระยะเวลาอันสั้น ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต

นั่นหมายความว่า แนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อการจะเพิ่มมากขึ้นในที่สุด

เขาย้ำว่า จากข้อมูลที่ กยต.ได้รับ ทำให้พอสรุปได้ว่าคนหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จริงและมีจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นการสะท้อนว่ารัฐไม่สามารถจะรักษาชีวิตและปกป้องวิถีชีวิตของประชาชนได้ ที่สำคัญหน้าที่ของรัฐควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับประชาชน

"โดยหลักการแล้ว นโยบายความมั่นคงในพื้นที่จะต้องลดเงื่อนไขที่จะสร้างปัญหาซ้อนจากปัญหาเก่าเข้าไปอีก ในกรณีของคนหาย หากมีการพิสูจน์ได้จริงดังที่หลายคนตั้งสมมติฐานว่าเกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเป็นการสวนทางกับหลักการดังกล่าวโดยสิ้นเชิง"

แหล่งข่าวระบุต่อว่า ต่อจากนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร ไม่ว่าจะออกแบบกติกาที่นำมาใช้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างไรก็ตาม ควรต้องให้น้ำหนักกับกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนด้วย โดยเฉพาะกรณีบุคคลสูญหายในพื้นที่แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากกระทรวงยุติธรรมทำงานตรงส่วนนี้อย่างเต็มที่ด้วยความจริงใจ ก็ไม่ยากที่จะสืบหาสาเหตุของการหายตัวไปของบุคคลเหล่านี้ ที่สำคัญ ไม่ยากที่จะควานหาตัวผู้ที่กระทำนอกกติกาเหล่านี้ได้ด้วย

การคลี่คลายปริศนาเหล่านี้ได้ แหล่งข่าวคนดังกล่าว เห็นว่า จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทางการ คลี่คลายภาพแบบเหมารวมที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยได้ ในทางกลับกัน หากยังไม่ไขปริศนาเหล่านี้ ช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐก็จะถ่างมากยิ่งขึ้น ความระแวงยังจะดำรงอยู่ต่อไป