Skip to main content
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
 
ผมอดโรตีมานานหลายสัปดาห์ เนื่องจากครั้งก่อนไปเผลอกินแป้งทอดโรยนมเข้าจึงรู้สึกเข็ดกับความผิดหวังทางลิ้นอย่างรุนแรง มาวันนี้สบโอกาสก็มองหาโรตีเจ้าประจำแต่ร้านของเธอก็ดันปิด สุดท้ายต้องมาพึ่งโรตีรถเข็นคันเล็กๆ กลางซอย ชายขายโรตีร่างเล็กคนนี้ ผมเพิ่งเคยเห็นหน้า รถเข็นของเขาสภาพชวนนึกย้อนไปถึงรถเข็นโรตีสมัยเด็กๆ เขามีเพียงรถและเตาจริงๆ ดวงไฟกลมเล็กๆ ก็ทอแสงสีส้มจ้าโดยไร้โคมส่องสว่าง โรตีของเขาไม่มีความอร่อยเลย พูดให้หนักขึ้น รสชาติยังตุๆ คล้ายแป้งไม่ได้คุณภาพเสียด้วยซ้ำ ทั้งทีราคาสูงเท่ากับร้านที่เคยกินมา
 
กระบวนการทำโรตีของเขาเรียบง่ายมาก ชายคนนี้เทน้ำมันพืชลงบนกะทะ (ใช่ครับ น้ำมันพืช) ระหว่างรอให้ร้อน เขาก็หยิบแป้งก้อนเล็กๆ ขึ้นมานวดแล้วทำท่าจะพับเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยไม่ขดเป็นเส้นวงกลม ผมร้องทักท้วงเขาทันทีเนื่องจากไม่ชอบโรตีกรอบๆ สี่เหลี่ยม ชายขายโรตีหันหน้ามามองทางผมแล้วส่งยิ้มให้หนึ่งที จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำทำให้มันเป็นเส้นแล้วขดให้เป็นวงกลมขึ้นมา...ผมเห็นเขาตั้งใจทำเป็นพิเศษจึงเอ่ยปากถามถึงความเป็นมาของเขา...ทว่าสิ่งที่ชายร่างเล็กตอบก็คือ "ต้องรอแป๊ปนึงครับ โรตีแบบนี้ผมทำเป็น ผมคนปากี ผมทำเป็น แต่แป้งของผมไม่ได้หมักมา มันต้องใช้เวลาหน่อยนะ..."
 
โรตีแบบแผ่นกลมเป็นศักดิ์ศรีของคนทำโรตีมาก หรืออาจเป็นศักดิ์ศรีของคนปากีเสียด้วยซ้ำ เท่าที่ผมคุยกับเขา โรตีแบบแผ่นสี่เหลี่ยมนั้น ถือเป็นโรตีคนยากไร้ในปากีสถาน แป้งไม่ต้องหมัก ทอดบนน้ำมันถูกๆ ใช้เนยป้ายนิดๆ โรยนมเยอะๆ เขาบอกว่า คนในชนบทที่ยากจนของปากีสถานเท่านั้นที่จะกิน หากผมเข้าใจไม่ผิด โรตีมีทั้งชนและชั้นปรากฏอยู่ภายในกระบวนการทำและการกิน โรตีที่อร่อยนั้น แป้งต้องหมักจนนุ่มแต่ไม่ฟู ทอดด้วยเนยอย่างดีหรือน้ำมันมะพร้าว หรือไม่ก็ใส่ชีสเข้าไปด้วย โรตีชนิดนี้อาจเป็นของธรรมดาในบ้านเรา ทว่าเป็นอาหารที่มีฐานันดรขึ้นมาหน่อยของปากีสถาน ผมจึงเข้าใจในทันทีว่าเหตุใด ชายคนขายโรตีจึงตอบเรื่องการทำโรตีก่อนที่จะบอกเล่าประวัติส่วนตัวของเขา
 
เขาชื่อ อัสมา (นามสมมติ) เป็นคนปาทานในชนบทแห่งหนึ่งจากปากีสถาน หมู่บ้านที่เขาเกิดชื่อว่า "ปตานี" (ออกเสียงตามนี้) บ้านของเขายากจนมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทำงานรับจ้างเลี้ยงวัวในเขตแห้งแล้ง ครั้นพอถึงรุ่นของอัสมา เขาทำงานเลี้ยงวัวตามบรรพบุรุษและทำงานทำความสะอาดเพิ่มเพื่อเก็บเงินตามความหวัง กระทั่งอายุสามสิบห้าปี เขาได้นั่งรถสลับกับการเดินเท้าจากบ้านไปยังเมืองลาฮอร์ เมืองชายแดนของปากีสถาน เขาอยู่ลาฮอร์นานหลายเดือนเพื่อหางานทำและเก็บเงิน จากนั้นก็เดินทางเข้าอินเดีย พม่า และเข้ามาอยู่เมืองไทย ทั้งหมดนี้ใช้เวลากว่าสองปีที่อัสมาเดินทางทำงานและเดินเท้าเข้ามา ใช้เส้นทางลัดเลาะตามป่าเขาและนั่งรถโดยสารบ้างตามโอกาสเอื้ออำนวย อัสมาสามารถพูดภาษาพม่าและไทยได้อย่างคล่องแคล่ว แววตาเขาแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ เขาบอกกับผมอย่างภูมิใจว่า "ตอนที่ผมเดินทางอยู่ในอินเดียและในพม่า ผมก็ยังส่งเงินไปให้พ่อแม่ที่ปตานีได้"
 
แน่นอน อัสมาไม่ได้บอกผมว่าเขาทำได้อย่างไร ทว่า รายได้ทั้งหมดมาจากการขายโรตี อัสมาจึงภูมิใจกับอาชีพของเขามาก ผมเห็นเขาเดินขายโรตีตอนบ่ายสาม กระทั่งตอนห้าทุ่ม อัสมาก็ยังยืนขาย เรื่องราวของเขาถูกบอกเล่าผ่านโรตีที่เขาเองค่อยๆ บรรจงนวด สลับกับคำขอโทษถึงการไม่ได้เตรียมตัวทำโรตีแบบที่ผมต้องการ เขาบอกว่า โรตีที่ขายนั้น เน้นสะดวกและรวดเร็วเป็นหลัก
 
เย็นนี้ ผมกินโรตีไม่อร่อยเลย แป้งชืดแข็ง นมเยอะเกินไป และออกจะเยิ้มไปด้วยน้ำมันพืชเสียด้วยซ้ำ กระนั้น เรื่องเล่าของอัสมาก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลา
 
ทำไมเขาเลือกที่จะอยู่เมืองไทย ?
 
ผมอดนึกถึงโวหารและวาทกรรมของคนจีนว่าด้วย "เสื่อผืนหมอนใบ" และการมา "พึ่งพระบรมโพธิ์สมภาร" ไม่ได้ เรื่องพวกนี้มักเกิดขึ้นภายหลังการได้ดิบได้ดีของคนจีน แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าในห้วงยามอันยากลำบากนั้น เขาและเธอคิดและรู้สึกอย่างไร...อัสมาก็เช่นกัน เขาและรถเข็นของเขาสามารถเดินทางไปได้แค่ตรอกเล็กๆ ค้าขายในย่านที่คุ้นเคย เขาเป็นได้แค่ "แขก" ของเชียงใหม่ ท่ามกลาง "แขกแก้ว" ที่เชียงใหม่พากันต้อนรับมากมาย ยามนี้ แขกแก้วของเชียงใหม่คือนักท่องเที่ยวชาวจีนและฝรั่ง อัสมาเป็นแขกที่คล้ายกับสิ่งอันแตะต้องมิได้และไร้ตัวตน หน้าที่ของอัสมามีเพียงการขายโรตีและขายโรตี การเป็นแขกขายโรตีเป็นตัวตนที่ถูกอนุญาตในเชียงใหม่ ผมไม่แน่ใจนักหากอัสมาจะแสดงตนอย่างอื่น ชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไร
 
อัสมาบอกกับผมว่า ผมคือคนแรกที่ถามว่าเขาคือใคร มาจากไหน และชื่ออะไร เป็นคนแรกในรอบสามปี เขายังบอกด้วยว่าวันพรุ่งนี้ให้มากินโรตีใหม่ เขาจะหมักแป้งอย่างดีที่สุดให้กินฟรี...
 
ผมไม่ทราบว่าเหตุใดเขาถึงเลือกเมืองไทยเป็นแหล่งพำนักและทำมาหากิน เราคงไม่สามารถอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ง่ายๆ ตามแนวคิดล้าหลังคร่ำครึทำนอง "แรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมาย" ชีวิตของคนกลุ่มนี้มีความฝันและความมุ่งมาดปรารถนาต่ออนาคตที่ดีกว่า มีสายใยที่โยงไปสู่คนอื่นๆ มากมาย การตีตราหรือแปะป้ายผู้คนด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวต่างหากที่เป็นการลดรูปชีวิตคนให้เหลือแต่ตัวบทบัญญัติ ตัวบทจะมีชีวิตได้อย่างไรหากไม่คำนึงถึงผู้คน คำนึงถึงชีวิตคนอย่างทัดเทียมกัน
 
กล่าวอย่างถึงที่สุด กฎหมายว่าด้วยการควบคุมแรงงานในเมืองไทยอาจไม่สนใจอดีตและอนาคตของแรงงาน เท่ากับสถานะภาพในปัจจุบันของแรงงาน ไม่มีใครสนใจว่าการเดินทางด้วยเท้าในอินเดียและพม่าของอัสมาเป็นอย่างไร เขาเก็บเงินไปเพื่ออะไร และวาดหวังในอนาคตอย่างไร ในแง่มุมนี้ สถานะภาพทางกฎหมายจึงมีส่วนอย่างยิ่งต่อการกักขังตัวตนและพื้นที่ของผู้คน จองจำภาพลักษณ์ด้านอื่นๆของผู้คนมิให้เปิดเผยออกมา ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเวทีประหัตประหารและตัดสินโทษ
 
ผมเดินถือโรตีออกมาจากร้านและทานหมดภายในไม่กี่คำ โรตีของเขาแผ่นเล็กมาก ไม่อร่อย แต่ไม่รู้ทำไม วันพรุ่งนี้ผมอยากจะไปหาเขาอีก ช่วงหัวค่ำ ลูกสาวถามผมว่า "ตอนเย็นป๊ากินอะไรไม่แบ่งหนู" เธอทำท่าไม่พอใจ เพราะปกติเรามักกินโรตีด้วยกันเสมอ
 
"วันพรุ่งนี้ไปกินด้วยกันลูก ไปร้านเดียวกันกับวันนี้แหละ" ผมตอบ
 
"อร่อยใช่มั้ยป๊า" เธอถาม
 
"ใช่ มันต้องอร่อยแน่ๆ ลูก..." ผมตอบเธอไปแบบนั้น