Abdulloh Wanahmad : Awan Book
เรื่องราวอันมากมายเกี่ยวกับความเป็นมาและความเป็นไปของแผ่นดินปาตานี ยังคงโลดแล่นอยู่ในโสตปราสาทของผู้คนตลอดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ถึงแม้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จะถูกดัดแปลงตามกาลสมัยและเจตนารมณ์ของผู้ถ่ายทอด ที่พยายามย้อนหลังให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะย้อนได้ ตั้งแต่ยุคสมัยลังกาสุกะ สู่ฮินดูพราหม์ณ์ กระทั่งปาตานีดารุสสาลาม
กว่าสองศตวรรษที่แผ่นดินปาตานีตกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมของสงครามระหว่างผู้ปกครองที่มาจากส่วนกลางแห่งสยามประเทศที่ต่อมาได้กลายมาเป็นราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน นโยบายต่างๆ ได้เข้ามาสู่แผ่นดินปาตานีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ต่างยุคต่างอิริยาบถตามสภาพปัญหาและความเหมาะสมของยุคสมัย แต่ถึงกระนั้นก็ตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวปาตานีที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทยโดยปริยาย ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดช่วงสมัย
หากย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ผนวกเอารัฐปาตานีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่นั้นมาการต่อสู้ของสังคมมลายูปาตานีก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจวบกระทั่งปัจจุบัน และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ปัญหาความขัดแย้งนี้จะถูกคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอันเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและเป็นการสร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แผ่นดินปาตานีอย่างยั่งยืนและถาวร
ปฏิเสธมิได้ว่าทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งย่อมมีปัจจัยและเหตุผลของมันเป็นการเฉพาะ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน รัฐหรือผู้มีอำนาจจากส่วนกลางล้วนจะออกมากล่าวโทษผู้นั้นผู้นี้ หรือผู้มีอำนาจก่อนหน้านั้น ที่ประกาศใช้นโยบายต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหาความรุนแรงมากกว่าการดำเนินการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวไม่แต่อย่างใด
ไม่ว่าเราจะย้อนหลังกลับไปกี่สิบปีหรือกี่ร้อยปีก็ตาม เราจะพบว่าไม่มีช่วงใดแม้กระทั่งปีเดียว! ที่จะปราศจากความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่ออกมาในรูปแบบของการต่อสู้แบบกองโจร แต่นั่นใช่ว่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการได้มาซึ่งชัยชนะที่พวกเขาต้องการ แต่ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ โดยไม่ตอบโต้อะไรเลย ยิ่งรัฐกดขี่มากเท่าใดความรู้สึกคับแค้นก็เพิ่มทวีคูณมากเท่านั้น อาจเป็นแบบปัจเจกแม้กระทั่งแบบขบวนการ สิ่งเหล่านี้รัฐเองก็รู้ดี แต่ทว่ารัฐมิเคยเหลียวแลแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามรัฐพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
กรณีตัวอย่างมากมายที่สังคมอาจมองว่าเป็นการดูถูกประชนมลายูปาตานี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยสังคมที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและศีลธรรมที่สูงส่ง ใช่ว่าจะเลือกใช้วิธีการต่อสู้ที่รุนแรงแบบป่าเถื่อนหรือการต่อสู้อย่างบ้าบิ่นปราศจากเข็มมุ่งที่ชัดเจนไม่ ด้วยเหตุนี้การต่อสู้ที่นำโดยท่านหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่เลือกแนวทางอันสันติในการขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยการเรียกร้องสิทธิทั้งเจ็ดข้อ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งพร้อมกับการเชิดชูอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ภายในตัว ทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม
แต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงอย่างไร้ร่องรอย ด้วยเหตุนี้เองชนรุ่นหลังจึงเลือกใช้วิธีการทางทหารเป็นหลัก อาจเป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นต่อแนวทางอันสันติอีกต่อไป
ความจริงบางอย่างที่ถูกซ่อนเร้นโดยรัฐและงานเขียนต่างๆ ของบรรดานักวิจัยทั้งหลาย กลับถูกเปิดเผยผ่านกาลเวลาที่ล่วงผ่านในรูปแบบการต่อสู้ที่ยึดเยื้อยาวนาน จนไม่มีใครอธิบายได้ว่า สุดท้ายแล้วความรุนแรงในรูปแบบสงครามจะจบลงเมื่อไหร่และอย่างไร?
ความจริงบางอย่างที่รัฐมิกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่เปี่ยมไปด้วยหลักการเบื้องต้นของมนุษย์ ที่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิของตนเองต่อผู้มีอำนาจ ในการรักษาขนบธรรมเนียมของสังคมและการใช้ชีวิตอย่างอิสระภายใต้การสนับสนุนของรัฐ
ในบรรดาข้อเรียกร้องทั้งเจ็ดข้อของหะยีสุหลง ล้วนเป็นไปได้สูงในทางปฏิบัติ หากรัฐไทยเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และมีความใจกว้างพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย
ความจริงอีกข้อหนึ่งที่รัฐไทยและผู้เกี่ยวข้องพึงสำเหนียกว่า ถึงแม้ข้อเรียกร้องทั้งเจ็ดข้อดังกล่าวรัฐไทยยังไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่โดยพฤตินัยแล้วรัฐกำลังยอมรับโดยปริยาย โดยผ่านนโยบายแต่ละยุคสมัย อย่างเรื่องภาษามลายูที่เป็นหนึ่งในเจ็ดข้อ รัฐไม่เคยยอมรับและเปิดโอกาสเลยแม้แต่น้อย แต่โดยพฤตินัยแล้วรัฐกำลังดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปถึงแม้จะดูทุลักทุเลก็ตาม
ความคลางแคลงสงสัยต่อรัฐย่อมเกิดขึ้นกับสังคมที่ถูกกดทับเป็นธรรมดา อย่างเรื่องภาษาของชนกลุ่มน้อย(ปาตานี) เหตุใดรัฐมิอาจยอมรับได้ ที่จะให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(ปาตานี) แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการปฏิเสธภาษาราชการจากส่วนกลางไม่ เพราะในข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงนั้น เป็นการเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาไทยมิใช่หรือ?
สุดท้ายเมื่อความจริงที่ถูกซ่อนเร้นโดยรัฐก็จะค่อยค่อยเป็นกระจกเงาสะท้อนนโยบายของรัฐเอง ที่พยายามปกปิดปิดกั้นความต้องการและโอกาสของคนปาตานีที่มิอาจหลีกพ้นจากความจริงเหล่านั้นได้
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า การใช้ภาษามลายูของรัฐผ่านหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ล้วนมีความบกพร่องขาดหลักไวยกร และการใช้คำที่เหมาะสม ซึ่งมันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐกำลังดำเนินการกุศโลบายมากกว่านโยบาย เพื่อเป็นการเร่งรัดงานด้านจิตวิทยา เพื่อปิดตาประชาชนว่า รัฐเองก็เปิดโอกาสให้แล้ว
และอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดประการหนึ่งของรัฐที่ได้ดำเนินการผ่านหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่มากกว่าที่จะอนุมัติผ่านรัฐสภาของไทย อย่างการก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ (Dewan Bahasa Dan Pustakaan Melayu Thailand : DBPMT) เสมือนเป็นงานของหน่วยงานในพื้นที่มากกว่าที่จะเป็นการอนุมัติและเป็นที่ยอมรับโดยรัฐบาลกลางที่ควรจะได้รับงบสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนา
และสุดท้ายถือเป็นความผิดวิสัยที่สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ได้ปะทุขึ้นมาท่ามกลางความรุนแรงนานนับทศวรรษ และเป็นข้อกังขาเล็กน้อยว่า การก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ในห้วงเวลาที่ภาษามลายูยังไม่ได้ถูกยอมรับและรับรองอย่างเป็นทางการโดยรัฐในฐานะเป็นภาษาราชการในพื้นที่ปาตานี ไม่รู้ว่าการก่อตั้งสถาบันแห่งนี้จะมีประโยชน์อันใด ในเมื่อพื้นที่และโอกาสสำหรับภาษามลายูปาตานียังคงถูกปิดกั้น ทว่าอยู่ดีๆ สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์กลับถูกก่อตั้งขึ้นมาท่ามกลางข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงที่ถูกแช่แข็งในความทรงจำของประวัติศาสตร์และคำถามที่ไร้คำตอบจากรัฐ
สุดท้ายแล้วรัฐจะเอาอย่างไรกันแน่กับข้อเรียกร้องดังกล่าวที่ยังคงเป็นข้อเรียกร้องที่อมตะที่ยังกังวานแว่วดังในหัวใจของประชาชนปาตานี ที่ปรารถนาให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่ (นอกจากภาษาไทย) ที่ยังคงเป็นเงื่อนไขจวบกระทั่งทุกวันนี้