Skip to main content

บทความโดย นวพล ลีนิน


                ใครเคยถูกไฟตะเกียงลนผมจนไหม้ส่งกลิ่นบ้าง? วันนี้อาจหาผู้ตอบว่า “เคย”ได้อยู่บ้าง ขณะที่ผู้คนโดยส่วนใหญ่อ่านเขียนในมุมแสงสว่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ สังคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านในทุกๆด้าน ผู้คนในสังคมชนบทแบบดั้งเดิมกำลังทยอยลาจากไปพร้อมๆภูมิปัญญาที่สร้างสมมาด้วยตัวของตัวเอง วิธีคิดหรือเครื่องมือเครื่องใช้หลายๆอย่างที่หมดความจำเป็นไปแล้ว ความเป็นเมืองหรือตลาดร้านรวงเข้าไปสู่แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ร้านค้าที่เกิดขึ้นในทุกๆที่ที่เป็นชุมชน นั้นคือประตูที่นำความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงกระจายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ภาพการเปลี่ยนแปลงที่ยกตัวอย่าง เมื่อลูกชาวไร่ชาวสวนสามารถสื่อสารกันทางเฟสบุ๊คผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้ แม้อยู่ในบ้านสวนดงลึก มิพักจะให้เข้าใจถึงกลิ่นตะเกียงน้ำมันก๊าดไหม้เส้นผมตอนอ่านหนังสือกันอีก องค์สาระความบันเทิง.ข่าวและความรู้ต่างๆสามารถเข้าถึงผู้คนในระดับล่างได้ง่ายขึ้น ความเปลี่ยนแปลงจากกระแสการรับรู้ที่ผ่านสื่อต่างๆอย่างรวดเร็วนั้น ได้สั่นคลอนกลไกของความสัมพันธ์แบบเดิมที่เคยมีอยู่ คนเก่าคนแก่ของหมู่บ้านที่เคยทรงภูมิ ผู้เป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งไม่สามารถทำงานได้เหมือนเก่า หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “เด็กไม่ฟังผู้ใหญ่” และคำถามมากมายจากกระแสแห่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่รวดเร็ว โครงสร้างทางสังคม หรือสถาบันหลักในสีธงชาติที่ถูกปลูกฝังกันมาในช่วงเวลาประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา นั้นคือความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่กำลังก้าวข้ามยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลง และในวาระของการถ่ายโอนความรับผิดชอบต่อสังคมไทยโดยรวมให้กับผู้คนในยุคต่อไป

                จากเรื่องไฟตะเกียงไหม้เส้นผมขณะอ่านหนังสือ ลงไปสู่เรื่องวิธีการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมา ชาวนาในยุคก่อนมีภูมิความรู้จากการลงมือทำ มือกำกล้าข้าวปักดำ เท้าที่ย้ำดินโคลน หัวใจที่เต้นไปพร้อมฤดูกาล สิ่งที่สั่งสมเป็นวิถีชีวิตที่สำนึกในคุณค่าของดินฟ้าอากาศ เป็นองค์ความรู้ที่อาจไม่สามารถอธิบายตามหลักวิชาการได้ ในรากหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อนคือการถ่ายความรู้ในลักษณะที่ไม่สามารถถอดเป็นบทเรียนได้เท่าลงมือทำจริงๆด้วยชีวิตทั้งชีวิต หรือเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติการโดยตรง เชื่อมร้อยไปกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองปกครอง ความศรัทธาระหว่างรัฐและมหาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนปัญหาความขัดแย้งและความรุ่นแรงประเทศไทยในระยะ 82ปี นับจากปี 2475 ที่ผลัดหมุนกงล้อแห่งอำนาจให้เคลื่อนไป  หากยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า นี้คือห้วงเวลาสุดท้ายของการต่อสู้ทางแนวคิดกลุ่มสังคมนิยม(ฝ่ายซ้าย)กับกลุ่มอำนาจนิยม (ฝ่ายขวา)อันมีสัญลักษณ์ผ่านสถาบันหลักของชาติ 3 สถาบันคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การต่อสู้ในยกสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนผ่านในบริบทใหม่ของโลก อำนาจรัฐไม่อาจควบคุมหรือเซนเซอร์ได้เหมือนก่อน คำถามที่ยอกย้อนจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในคุณค่าของผืนแผ่นดิน รัฐชาติ และวิถีชีวิตแห่งยุคสมัย ที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน”หรือ “สถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร” ในลักษณะเดียวกัน หากคำอธิบายที่ไม่อาจอธิบายได้ในทันที เช่นเดียวกับชาวนายุคดั้งเดิมคนหนึ่งที่ไม่สามารถอธิบายถึงความเข้าใจที่เขามีต่อ คุณค่าของดินฟ้าอากาศ หรือการสื่อสารกับธรรมชาติของเขาได้อย่างไร

                แน่นอนว่าโครงสังคมไทยเป็นโครงสร้างอำนาจนิยม อำนาจอันมีรากฐานมาจากมาจากบรรดาขุนศึก นักการทหาร อันเชื่อมโยงสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นจิตวิญญาณของรัฐชาติ ปัจจัยที่สำคัญคือพระราชกรณียะกิจที่ผ่านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพลังในการรวมศูนย์กลางความศรัทธาในรัฐชาติ เพื่อการสร้างชาติในยุครอยต่อของสงครามขั้วมหาอำนาจ นับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ,สงครามเย็น และสงครามทุนการค้าในยุคปัจจุบัน ในขณะที่การเคลื่อนไหวในทางลับฝ่ายสังคมนิยมหรือกลุ่มหัวขบวนพรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศไทยในอดีต ส่วนที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ยังยึดมั่นในแนวทางเปลี่ยนแปลงสังคม ได้ปรับกระบวนการขับเคลื่อนภารกิจเดิมในรูปแบบใหม่ โดยแวดวงที่มีพลังพลังดันเป้าหมายของขั้วอำนาจทั้งสองที่มีมากที่สุดนั้นคือ
 
                1.แวดวงสื่อสารมวลชน (นักข่าว นักวิเคราะห์ข่าว สื่อบันเทิง งานศิลปะในทุกแขนง ศิลปิน ดารา หนังและละคร ฯลฯ) 

               2.แวดวงวิชาการ (ครู อาจารย์ นักคิดนักเขียน นักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน นักการศาสนาและผู้นำทางจิต   วิญญาณฯลฯ)

                ที่ผ่านมากลุ่มคนทั้งสองแวดวงพยายามต้านทานการครอบงำจากขั้วอำนาจต่างๆ ด้วยการพลังเคลื่อนไหวกดดันจากภาคประชาสังคมในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามอำนาจการครอบงำใหม่ที่เข้ามาคืออำนาจทุน การทำงานแบบเลือกข้างอย่างสุดโต่งของคนทั้ง 2 แวดวงนี้มีส่วนสำคัญมากต่อการสร้างความขัดแย้งที่เกิด อย่างไรก็ดีความขัดแย้งในครั้งนี้ แม้สุ่มเสี่ยงต่อการบานปลายของเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เป็นโอกาสที่ดีของกระบวนการปฏิรูปในความขัดแย้งระหว่างสองคู่ขัดแย้งที่เรียกว่า “เหลืองแดง”นั้น เป็นผลที่ดีแก่ภาคประชาชนด้วย เมื่อทุกฝ่ายมองเห็นพลังของการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากประชาชนสามารถมีบทบาทในการชุมนุมมากกว่ากลุ่มการเมือง ดังนั้นภาคประชาชนหรือประชาสังคมต้องได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทมากกว่านักการเมือง ด้วยเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวแทนมวลชนคู่ขัดแย้ง หลีกเลี่ยงประเด็นความ ความขัดแย้งในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้หรือประเด็นที่อาจนำไปสู่ความชิงชัง หลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค ซึ่งความขัดแย้งระหว่างภูมิภาคที่แสดงผ่านสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง ในทำนองที่ว่าคนเหนือ คนอิสานคือฝ่ายเพื่อไทย คนภาคใต้ฝ่ายประชาธิปัตย์ นั้นเป็นสาเหตุลดทอนพลังอำนาจจากคุณค่าร่วมของประชาชน ประชาชนซึ่งเป็นพลังสำคัญที่สุดหากการปฏิรูปเกิดขึ้นจริง สื่อผ่านระหว่างเสียงเล็กเสียงน้อยของประชาชน การรวบรวมความคิดเห็นและกระจายข้อคิดเห็นสู่สาธารณะ สร้างประเด็นร่วมในระดับชาติ โดยก้าวข้ามเงื่อนไขทางการเมือง แม้ในความเป็นจริงอาจหลีกกลุ่มการเมืองที่เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่ได้ตาม หากการเพิ่มบทบาทของประชาชนให้มากขึ้น สามารถลดอิทธิพลครอบงำของกลุ่มการเมือง แม้กลุ่มการเมืองมีบทบาทสำคัญแต่มักสร้างปัจจัยให้เกิดความแตกร้าวลึกๆในสังคม และคนแวดวงทั้งสองดังที่กล่าวมาข้างตนคือกลุ่มที่สามารถสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้มีบทบาทมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าคนทำงานสื่อกับคนทำงานวิชาการมีความเป็นอิสระในการทำงานมากน้อยแค่ไหน และในบทบาทของ คนที่สามารถรับฟังเสียงชาวบ้าน แปลเป็นภาษาวิชาการนำเสนอสู่ผู้มีบทบาทนำในการปฏิรูป

                พลังหนุนเสริมจากคนทำงานด้านสื่อและวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการระดมความคิดเห็นของประชาชน พร้อมๆกับสร้างความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างอำนาจของประชาชนเป็น เพราะอำนาจจากประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นในการรวมพลังผลักดันการปฏิรูปประเทศไทย วิธีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจว่า “อำนาจที่แท้จริงคือการยอมรับของประชาชนเอง” สิ่งที่กดทับอำนาจที่แท้จริงของประชาชน  คือความกลัวที่สร้างขึ้นด้วยอำนาจความรุนแรง แนวทางปฏิรูปประเทศไทยควรยึดหลักสันติประชาธรรมธรรม สันติประชาธรรมเป็นแนวทางของการอยู่ร่วมกัน นั้นคือประชาชนทุกกลุ่มในประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีกระบวนการยุติธรรมที่ใช้งานได้จริง กลไกกระบวนการยุตธรรมคือหัวใจสำคัญของโครงสร้างอำนาจ องค์กรอิสระหรือระบบตรวจสอบทำงานได้จริง ซึ่งแน่นอนว่ารากที่ยึดโยงระหว่างระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม ระบบอุปถัมภ์ทุนนิยม และระบบค่านิยมหมู่พวก สำหรับสังคมไทยอาจต้องใช้ระยะเวลานาน ในการปรับเข้าสู่ระบบคุณธรรม กระบวนการปฏิรูปจึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมใหม่อย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมรับความท้าทายกับการทำงานของคนยุคใหม่ได้ บนความเชื่อที่ว่ากฎหมายที่ทำงานได้คือกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของกลุ่มสังคมที่หลากหลายในประเทศกระบวนการปฏิรูปจึงจำเป็นต้องระดมความคิดจากทุกภาคส่วนทุกๆองค์กรภาคประชาสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั้นหมายถึงความยั่งยืนในเสถียรภาพของรัฐชาติในยุคใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการผสานรวมของกลุ่มความคิดต่าง กลุ่มวัฒนธรรม อัตตาลักษณ์และชาติพันธุ์ และสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งหลอมรวมกันออกมา ในความเป็นจริงที่ผู้คนในยุคของพวกเราจิตนาการได้เพียงบางส่วน แม้อาจสวยงามดั่งใจเราหรือไม่เป็นก็ตาม แต่หากนั้นเป็นวิถีตามกฎการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างไรก็ดีกฎธรรมชาติและปัจจัยใหม่ที่ไม่อาจคาดเดาได้นั้น ผู้คนจะต้องออกแบบสังคมของเขาเอง และเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม นั้นคือผลของการกระทำของกลุ่มคนห้วงเวลานี้อาจเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นในอีกร้อยปีข้างหน้า ผู้คนพยายามออกแบบวิถีชีวิตหรือสังคมที่สวยงาม ที่ซึ่งพวกเราคิดว่ามันยากในการออกแบบหรือทำให้เกิดขึ้นในวันนี้ อาจกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้คนในอีกร้อยปีข้างหน้า อันเป็นคำถามย้อนมาถึงตัวตนของผู้คนในปัจจุบัน ว่าพวกเราพร้อมยอมรับความคิดเห็นของกันและกันแล้วหรือยัง เพื่อการออกแบบสังคมในยุคต่อไป.