ตูแวดานียา ตูแวแมแง
คงมีหลายๆคนที่อยากจะรู้เหมือนกับผู้เขียนว่าในความเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มคนเรือนประมาณ 3 ล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศไทยและทางตอนเหนือสุดของประเทศมาเลเซีย ซึ่งพูดภาษามลายูปาตานี และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลามและมีเพียง 3 เชื้อชาติเท่านั้น คือ มลายู สยาม และจีน
อะไรคือสิ่งที่หลอมรวมความเป็นอัตลักษณ์จนเกิดเป็นชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมเพื่อการต่อต้านนักล่าอาณานิคมสยามตามที่ภาษาของBRNใช้ในการสื่อสารกับรัฐไทย เชื้อชาติหรือศาสนาหรือพันธะทางประวัติศาสตร์ของความเป็นรัฐชาติ?
ผู้เขียนคิดว่าการที่จะรู้ว่าอะไรที่โดดเด่นที่สุดและมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองมากที่สุดในความเป็นอัตลักษณ์ในสามพันธะของปฏิสัมพันธ์การใช้ชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่อาณาบริเวณเฉพาะและไม่เคยมีการว่างเว้นจากการต่อต้านความเป็นนักล่าอาณานิคมสยามเลยนับตั้งแต่ปีค.ศ.1786 ซึ่งเป็นปีที่ความเป็นรัฐปาตานีไร้อำนาจอธิปไตยเพราะแพ้สงครามกับอาณาจักรสยาม นั่นคือหนึ่งคำว่ามลายูซึ่งหมายถึงเชื้อชาติ สองคือคำว่าอิสลามซึ่งหมายถึงศาสนา และสามคือคำว่าปาตานีซึ่งหมายถึงสัญชาติ จำเป็นที่จะต้องตั้งสมมติฐานว่าในสามคำคือมลายูอิสามปาตานีนั้น ถ้าขาดคำใดคำหนึ่งแล้วจะส่งผลให้เกิดภาพปรากฏการณ์เชิงปฏิสัมพันธ์แบบการต่อสู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
สมมติฐานที่1 คำว่ามลายูไม่มี เป็นผลพวงมาจากถูกผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นสยามสำเร็จ จากมลายูอิสลามปาตานี ก็จะมีผลลัพธ์กลายเป็นอัตลักษณ์แบบใหม่คือ “สยาม อิสลาม ปาตานี”
ถามว่าอัตลักษณ์แบบใหม่นี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนคิดว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ยังคงอยู่ แต่ระดับความเข้มข้นคงน้อยลงมากถ้าเทียบกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะความเป็นเชื้อชาติเดียวกันส่งผลให้เกิดพื้นที่ของการประนีประนอมปรองดองมีมากขึ้น
สมมติฐานที่2 คำว่าอิสลามไม่มี เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่นักเผยแพร่อิสลามที่มาจากเยเมนมารักษาอาการป่วยของกษัตริย์อินทิราเมื่อศตวรรษที่15นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ก็จะมีผลลัพธ์กลายเป็นอัตลักษณ์แบบใหม่คือ “มลายู พุทธ ปาตานี” เพราะประวัติศาสตร์บอกว่าก่อนที่คนมลายูจะนับถือศาสนาอิสลามนั้น บรรพบุรุษนับถือศาสนาพุทธมาก่อน
ถามว่าอัตลักษณ์แบบใหม่นี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนคิดว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ยังคงอยู่ เพราะสมัยอาณาจักรอยุธยาก็รบกับอาณาจักรพม่าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ทั้งๆที่ทั้งคู่ก็นับถือศาสนาพุทธ แต่ระดับความเข้มข้นคงน้อยลงมากถ้าเทียบกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะความเป็นศาสนาเดียวกันส่งผลให้เกิดพื้นที่ของการประนีประนอมปรองดองมีมากขึ้น
สมมติฐานที่3 คำว่าปาตานีไม่มี เป็นผลพวงมาจากความเป็นรัฐอาณาจักรปาตานีในอดีตก่อนปีค.ศ.1786นั้นไม่มีอยู่จริง ก็จะมีผลลัพธ์เป็นอัตลักษณ์แบบใหม่คือ “มลายู อิสลาม ไทย” เพราะถ้าความเป็นรัฐอาณาจักรปาตานีไม่มีอยู่จริง พันธะทางประวัติศาสตร์ความเป็นสัญชาติก็จะถูกแทนที่โดยชุดประวัติศาสตร์ของสัญชาติไทยโดยปริยาย
ถามว่าอัตลักษณ์แบบใหม่นี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ปรากฏการณจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ชี้ชัดแล้วว่าไม่มีการต่อสู้เพื่อเอกราชในหมู่คนที่มีเชื้อชาติมลายูนับถือศาสนาอิสลามและยอมรับความเป็นพลเมืองไทยไม่ใช่แค่เพียงการถือบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ทั้งความคิดความอ่านทางอุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นแบบความเป็นคนไทย ดังที่ได้เกิดขึ้นกับพี่น้องที่เรียกตัวเองว่าไทยมุสลิมในภาคใต้ตอนบนและภาคกลางที่ถ้าสืบสาวเหล่ากอก็ไม่มีใครไม่ยอมรับว่ามาจากบรรพบุรุษที่มีเชื้อชาติมลายู
สรุปแล้วการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีโดยสถานะของรากเหง้าและเงื่อนไขการต่อสู้นั้น ตัวแปรสำคัญอยู่ที่คำว่า “ปาตานี”ที่หมายถึงความเป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองภายใต้ชื่อรัฐปาตานี ส่วนคำว่า “มลายู”เป็นการตอกย้ำสิทธิอันชอบธรรมในความเป็นเจ้าของอธิปไตยเหนือดินแดนของความเป็นคนปาตานีสอดคล้องกับหลักการความเป็นรัฐชาติสากลที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ส่วนคำว่า “อิสลาม”เป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้สถานะของประชาชาติที่ไร้รัฐเพราะถูกล่าอาณานิคมเกิดการต่อสู้แบบไม่กลัวตาย เพราะตายแล้วได้เข้าสวรรค์