รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
การกราดยิงเด็กน้อยสามคนอย่างเหี้ยมโหดที่บ้านปะลุกาแปเราะในอ.บาเจาะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคงสะเทือนความรู้สึกของใครหลายคนที่หัวใจอาจด้านชาไปแล้ว เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเศร้าที่เตือนเราว่าความรุนแรงในภาคใต้ที่ดำเนินมาแล้วกว่าสิบปียังคงเป็นปัญหาวิกฤตอยู่
ในขณะนี้กระบวนการสันติภาพอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ในขณะที่ความรุนแรงในภาคใต้นั้นก็แทบจะถูกลืมไปในภาวะที่วิกฤตการเมืองในส่วนกลางยืดเยื้อและรุนแรง
คนร้ายได้กราดยิงนายเจะมุ มะมัน ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์และลูกชายเขาอีกสามคนซึ่งอายุ 6 ขวบ 9 ขวบและ 11 ขวบ ในขณะที่พวกเขากำลังจะเข้าบ้านหลังกลับจากการละหมาดในตอนหัวค่ำ
เด็กชายทั้งสามคนถูกยิงเสียชีวิต ในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขารอดมาได้
ขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อว่ามีบทบาทหลักในการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทยในขณะนี้ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ตัวแทนบีอาร์เอ็นได้กล่าวกับสื่อไทยว่านายเจ๊ะมุซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาสังหารเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นแนวร่วมของพวกเขา บีอาร์เอ็นได้ระบุว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดในครั้งนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับรัฐไทย ในขณะที่กอ.รมน. ก็กล่าวหาว่าฝ่ายขบวนการน่าจะอยู่เบื้องหลัง
แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องการล้างแค้นตอบโต้ ซึ่งเป็นผลอันน่าสลดของความขัดแย้งรุนแรงที่ยืดเยื้อ ที่น่าเศร้าก็คือเด็กสามคนนี้ไม่ได้รับการยกเว้น
หลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์ประณาม ซึ่งรวมถึงยูนิเซฟ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวนั้นละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายแห่งสงคราม” ซึ่งมาตรา 3 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับกับสถานการณ์การสู้รบภายในประเทศ (non-international armed conflict) ดังเช่นกรณีของภาคใต้ในประเทศไทย ระบุไว้ว่าความรุนแรงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสู้รบนั้นกระทำมิได้
นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงในภาคใต้ได้คร่าชีวิตคนไปแล้วเกือบ 6,000 ชีวิตและมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 10,700 คน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ปฏิเสธที่จะเปิดการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการกับขบวนการเคลื่อนไหวติดอาวุธ แม้ว่าผลการศึกษาจะชี้ว่ากระบวนการสันติภาพนั้นเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมากกว่าการใช้กำลังทหาร
รายงานเรื่องกระบวนการสันติภาพประจำปี 2556 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบัน Escola de Cultura dePau (สถาบันวัฒนธรรมสันติภาพ) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงบาเซโลนา ประเทศสเปนนั้นชี้ว่าความขัดแย้งใน 41 จาก 50 แห่งในรอบ 30 ปีจบลงด้วยกระบวนการสันติภาพ ในขณะที่มีเพียงเก้าแห่งที่จบลงด้วยชัยชนะทางการทหารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถึงแม้ว่ารัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรซึ่งขณะนี้อยู่ในสถานะรักษาการณ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนโยบายที่ผิดพลาดในบางเรื่อง แต่ว่ารัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในเรื่องหนึ่งซึ่งควรได้รับความชื่มชม นั่นก็คือการริเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว
มิอาจปฏิเสธได้ว่าการพูดคุยที่ดำเนินอยู่นี้ยังคงมีข้อบกพร่องอีกหลายประการ อาทิ การดำเนินการยังคงเป็นแบบเฉพาะกิจซึ่งไม่ได้มีการเตรียมการอย่างดีพอ และความสนับสนุนของกองทัพต่อเรื่องนี้ก็ยังคงครึ่งๆ กลางๆ
แต่กระนั้นก็ตาม เราควรตระหนักว่าการพูดคุยอย่างเป็นทางการนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บีอาร์เอ็นออกมาแสดงตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกและตกลงที่จะนั่งอยู่บนโต๊ะเดียวกันกับตัวแทนที่เขาเรียกว่า “เจ้าอาณานิคมสยาม”
ตัวแทนของรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นได้พบปะกันอย่างเป็นทางการสามครั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยฝ่ายขบวนการได้มีข้อเรียกร้องหลักห้าข้อ คือ หนึ่ง ขอให้รัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลาง ไม่ใช่เพียงผู้อำนวยความสะดวก สอง การพูดคุยต้องเป็นการดำเนินการระหว่าง “เจ้าอาณานิคมสยาม” กับ ประชาชนชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็น สาม ขอให้อาเซียน องค์กรความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) เข้ามาเป็นสักขีพยาน สี่ ขอให้รัฐไทยยอมรับ สิทธิของประชาคมปาตานีมลายูบนผืนแผ่นดินปาตานี (Hak Ketuanan Melayu Di Atas Bumi Patani) และห้า ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงโดยปราศจากเงื่อนไขและยกเลิกหมายจับทั้งหมด
เพื่อป้องกันการกลับไปกลับมา ทางขบวนการได้เรียกร้องให้รัฐสภารับรองข้อเรียกร้องเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้รัฐบาลไทยอึดอัด
ในเดือนกันยายน บีอาร์เอ็นได้ยื่น “เอกสารลับ” ฉบับหนึ่งกับรัฐบาลไทยโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ซึ่งเป็นร่างแผนการดำเนินการพูดคุยอย่างเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงสันติภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
บีอาร์เอ็นได้ระบุว่าพวกเขาต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องห้าข้อ “ในหลักการ” ส่วนรายละเอียดนั้นสามารถถกเถียงกันได้ในภายหลัง
ดูเหมือนว่าบีอาร์เอ็นได้ยอมประนีประนอมในประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ได้มีการระบุในเอกสารว่าบีอาร์เอ็นนั้นไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ว่าต้องการให้มีการปกครองพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม
รัฐบาลไทยได้ส่งเอกสารตอบไปในปลายเดือนตุลาคม โดยระบุว่า “ยินดีที่จะพูดคุย” ในประเด็นเหล่านี้ หลังจากที่การประชุมได้ล่าช้ามาหลายเดือนอันเนื่องมาจากไม่อาจตกลงกันได้ในประเด็นนี้ การประชุมในครั้งที่สี่ก็ได้ถูกกำหนดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การประชุมดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด อันเป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ
การยุบสภาได้ทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องหยุดชะงักลง แม้ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติจะยืนยันว่าการพูดคุยสันติภาพนั้นเป็นนโยบายแห่งรัฐและต้องมีการดำเนินต่อไป แต่อนาคตของกระบวนการสันติภาพในขณะนี้ดูเหมือนจะแขวนอยู่บนเส้นด้าย
ไม่มีใครตอบได้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดและด้วยวิถีทางใดกว่าประเทศไทยจะสามารถหาฉันทามติในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรมได้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ขบวนการได้ขึ้นป้ายผ้า 77 ผืนทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เขียนข้อความล้อเลียนแดกดันเหมือนกันหมดแป็นภาษามลายูใจความว่า “หากสยามยังคงปกครองตัวเองไม่ได้ จะมาปกครองชาวมลายูปาตานีได้อย่างไร ?”
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นนั้นยังคงมีสายการบังคับบัญชาที่เข้มแข็ง แม้ว่ากองทัพจะได้เริ่มปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบมาแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ
หากว่าไม่มีกระบวนการสันติภาพที่จริงจังและต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าเราคงจะไม่ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ภายใต้ชื่อ “Don’t neglect peace dialogue in the Deep South” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557