Skip to main content

 เป็นหนังสือพิมพ์นักศึกษาเช่นกัน ที่ใช้ชื่อตัวแบดเจอร์นำหน้า เพราะแบดเจอร์เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของรัฐวิสคอนซิน เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และเป็นชื่อทีมฟุตบอลอเมริกันของมหาวิทยาลัยด้วย เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 1969 เป็นหนังสือพิมพ์ขนาดยาวเท่ากับหนังสือพิมพ์หัวสีบ้านเรา แต่มีความกว้างเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง มีจำนวน 10 หน้า ตีพิมพ์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ วันจันทร์กับวันพฤหัสบดี ครั้งละ 11,500 ฉบับ

 

 

 หนังสือพิมพ์ The badger Herald มีทีมงานประมาณ 40 คน แบ่งออกเป็น โต๊ะกองบรรณาธิการ โต๊ะที่ดูแลด้านธุรกิจ โต๊ะที่ดูแลงานโฆษณา โดยการดูแลและควบคุมการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์นั้นอยู่ภายใต้บอร์ดของหนังสือพิมพ์

Katie Caron มีตำแหน่งเป็น Managing Editor ของหนังสือพิมพ์ The badger Herald เธอทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของหนังสือพิมพ์ให้ฟัง โดยตัวเธอนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เธอบอกว่า เธอสนใจหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งที่โรงเรียนของเธอนั้นมีหนังสือพิมพ์ของนักเรียนด้วย โดยเธอเข้าร่วมทำหนังสือพิมพ์นักเรียนก่อน จากความสนใจตรงนี้ก็สมัครเข้าเรียนในสาขาวารสารศาสตร์ และเริ่มทำหนังสือพิมพ์ The badger Herald มาตั้งแต่ปี 1 เมื่อจบการศึกษาไปก็คาดหวังว่า จะได้ทำงานในหนังสือพิมพ์ทั้งระดับรัฐ หรือระดับชาติ หรืออาจจะทำงานทางด้านข่าวในสถานีวิทยุ เธอก็มีความสนใจเช่นกัน

   

                                         Katie กำลังอธิบายการทำงานของหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ The badger Herald มีสำนักงานตั้งอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัย ต่างจากหนังสือพิมพ์ The daily Cardinal ที่ใช้อาคารของมหาวิทยาลัย ซึ่ง Katie กล่าวว่า การอยู่ในอาคารที่เป็นเอกเทศทำให้การทำงานของหนังสือพิมพ์มีความเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องเกรงใจมหาวิทยาลัย

ส่วนงบประมาณการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์มาจากค่าโฆษณาทั้งหมด โดยเป็นโฆษณาของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และโฆษณาจากองค์กรธุรกิจในท้องถิ่น ตัวอย่างของค่าโฆษณา เช่น เต็มหน้าราคา 1,000 ดอลลาร์ ส่วนโฆษณาเล็กๆ มุมกระดาษ ราคาประมาณ 100 ดอลลาร์

ด้านการทำงานของหนังสือพิมพ์นั้น โดยปกตินักศึกษาจะทำงานทุกวัน โดยเฉพาะบรรณาธิการที่ดูแลข่าวเว็บไซต์ จะทำงานตลอดที่ว่าง สามารถอับเดทข่าวผ่านเว็บไซต์ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถสร้างสรรค์ประเด็นข่าวให้แก่นักข่าวผ่านโทรศัพท์ได้เช่นกัน

  

ห้องทำงานของหนังสือพิมพ์ที่เลือกการเช่าอาคารด้านนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย โดยใช้เงินจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ ทีมงานทุกคนไม่มีค่าตอบแทน แต่ทำงานในลักษณะอาสาสมัคร

ประเด็นข่าวหลักๆ ที่หนังสือพิมพ์ The badger Herald สนใจอยู่ในขณะนี้ เช่น ข่าวกิจกรรมสำคัญของเมืองเมดิสันที่ข่าวข้องกับนักศึกษา ที่ผ่านมาคือกิจกรรมปาร์ตี้วันฮาโลวีน หรือ Freakfest เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยหนังสือพิมพ์จะมุ่งรายงานรายละเอียดการจัดงาน ที่นักศึกษาสามารถวางแผนเข้าร่วมงานได้ อาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน การระมัดระวังตนเอง ฯลฯ

ด้านผู้อ่านของหนังสือพิมพ์ก็เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และประชาชนที่อาศัยในเมืองเมดิสัน โดยจะกระจายหนังสือพิมพ์ออกไปยังอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ห้องสมุด คณะต่างๆ หอพักนักศึกษา ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย และภายในเมืองเมดิสัน

Katie กล่าวว่า การที่เธอเรียนสาขาสารสารศาสตร์ ก็ทำให้มีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น สามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในการทำงานจริง เช่น การเขียนข่าว การเขียนสารคดี การออกแบบจัดหน้าหนังสือพิมพ์

“ชอบทำงานที่คิดสร้างสรรค์ผลงาน ชอบการทำงานเป็นทีม ชอบการเขียนและการถ่ายภาพ” Katie กล่าว และบอกถึงจุดยืนอันแตกต่างของหนังสือพิมพ์ The badger Herald ของตนเองกับหนังสือพิมพ์ The daily Cardinal ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาเหมือนกันว่า หนังสือพิมพ์ของเธอพยายามทำให้แตกต่าง ทั้งจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าว มุมข่าวที่แตกต่างกัน รายละเอียดที่ต่างกัน การทำงานที่ดีกว่า และคิดว่าจะนำเสนอให้น่าสนใจมากกว่า

ขณะที่การเผยแพร่ข่าวทางออนไลน์นั้น จะมีการเผยแพร่ทันทีที่มีข่าว เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้ง่ายในการอับเดทข่าว สามารถหาโฆษณาที่แยกจากฉบับสิ่งพิมพ์ได้ เช่น บริษัทโทรศัพท์ของสหรัฐอเมริกา และอีกหลายบริษัท ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทระดับชาติ ทางออนไลน์มีผู้เข้าชมประมาณ 9,000-22,000 คนต่อวัน โดยวันที่มีการเข้าชมมาก คือ วันจันทร์ ส่วนวันที่มีผู้เข้าชมน้อย มักจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ หากวันใดมีการแข่งขันกีฬา ก็พบว่า ยอดผู้ชมเว็บไซต์จะมากกว่าทุกๆ วัน

ทำไมนักศึกษา และน่าจะหมายรวมถึงคนอเมริกันทั่วไปถึงคลั่งไคล้กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลอเมริกันมากเป็นพิเศษ มีชาวอเมริกันคนหนึ่งให้เหตุผลว่า “Because it’s very American” เป็นการจบคำตอบที่ยากจะหาเหตุผล

 

(บันทึกนี้เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการได้รับทุนเพื่อฝึกอบรมต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนตุลาคม 2556-มกราคม 2557 โดยได้รับทุนจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล มูลนิธิศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประจำประเทศไทย)