Skip to main content

 

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พื้นที่เสี่ยงภัยท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนานกว่า 10 ปี หากวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในเชิงเปรียบเทียบ พบว่า ระยะเวลากับจำนวนการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ กลับมีแนวโน้มแปรผกผันกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ถ้ามองเชิงปริมาณอาจเห็นว่าการก่อเหตุตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ความถี่ที่ลดลงของเหตุการณ์ไม่ได้บ่งชี้ว่าความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจะน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ดูเหมือนจะรุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้ง และเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นอันดับต้นๆ คือ  ความเป็นธรรม  ทั้งที่เกิดจากตัวบุคคลในกระบวนการยุติธรรมหรือขั้นตอนการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมเองก็ตาม เพราะเมื่อความเป็นธรรมเข้าไม่ถึงประชาชน ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงต่อคนในพื้นที่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้คล่องเทียบเท่าภาษามลายูถิ่น จึงขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ประกอบกับการได้รับการบริการที่อาจมีความล่าช้า ขาดการให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความชัดเจน  บทบัญญัติของกฎหมายพิเศษที่ขัดกับบริบทของคนในพื้นที่ รวมถึงการใช้ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการดำเนินคดี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อันนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ในที่สุด

ช่องว่างทางกฎหมาย ส่งผลให้อีกฝ่ายถูกละเมิดสิทธิ์ ?

นายอับดุลอาซิส  ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่อีกประการหนึ่ง คือ การถูกละเมิดสิทธิ์ เนื่องจากในพื้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ บ่อยครั้งที่ได้รับการร้องเรียนจากคนในพื้นที่เรื่องการซ้อมทรมาน  การปิดล้อมและตรวจค้นโดยปราศจากหมายศาลกลับกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต จนบางครั้งอาจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่มากนัก และคงต้องยอมรับว่าสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการที่มีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมยังขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลหรือคานอำนาจกันอย่างชัดเจน ซึ่งหากต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างจริงจัง ภาครัฐไม่ควรมุ่งเน้นเพียงประเด็นเร่งด่วนในภาคใต้เท่านั้น แต่จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างของประเทศไทยทั้งระบบมากกว่า  คนจนอย่างชาวบ้านในชุมชนจึงจะได้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น

นางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะ  ประธานกลุ่มด้วยใจ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ทำงานเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิง คนชรา และเด็ก ว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนในชุมชนเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมา ครอบครัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงทำได้เพียงติดต่อเข้าเยี่ยมกับทางเรือนจำหรือนำหลักการทางศาสนามาเยียวยาตนเองเท่านั้น  โดยส่วนใหญ่นิยมขอคำปรึกษาจากองค์กรภาคประชาสังคมหรือคนในชุมชนเดียวกันมากกว่าหน่วยงานในพื้นที่  เนื่องจากมองว่าตนเป็นผู้ถูกกระทำโดยรัฐ ดังนั้นการทำงานเชิงบูรณาการจากหลายๆ องค์กรในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถชี้ให้สังคมเห็นว่า ปัญหาการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่เป็นเรื่องใหญ่ หากมีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากหลายแหล่งอาจสร้างมาตรการหรือกลไกให้คนในพื้นที่รับทราบตัวบทกฎหมายที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ล่าสุดกลุ่มด้วยใจได้ประสานงานกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และเครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) ในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่สามารถบ่งชี้ถึงการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างการตระหนักรู้กฎหมายและร่วมหาแนวทางการป้องกันการซ้อมทรมานไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่

ความคาดหวังจากกลุ่มเปราะบาง ผ่านการสื่อสารสาธารณะ?

แม้ว่าระยะหลังมานี้บทบาทการอำนวยความเป็นธรรมเชิงรุกในชุมชนของหน่วยงานระดับอำเภอและตำบลจะกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง  โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทในชุมชนเพื่อลดทอนขั้นตอนของกระบวนการในระบบลง แต่ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารคือความเข้าใจจากคนส่วนกลางและเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่มีกรอบแนวคิดว่าการต่อสู้คือสู้กับศัตรูของประเทศ  จึงมองไม่เห็นความเป็นประชาชนของคนในพื้นที่ ซึ่งหากสื่อที่ทางโครงการผลิตขึ้น ทั้งคู่มือและรายงาน  ตลอดจนสื่อแขนงอื่นๆ เช่นบทวิทยุและหนังสั้น สามารถปรับทัศนคติของทุกฝ่ายให้สอดคล้องกัน  อาจช่วยตอบโจทย์ให้คนในพื้นที่ ให้ทุกภาคส่วนกลับมาเห็นความสำคัญของกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

 

 

สำหรับมุมมองจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. นายพรชัย  โต๊ะกาหรีม  หัวหน้ากลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้  สำนักบริหารงานยุติธรรม ให้ความเห็นว่า ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ โดยสนับสนุนการสร้างศูนย์อำนวยความเป็นธรรมระดับตำบล (KeAdilan Center) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการจัดการโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการประสานงานร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายชาวบ้าน  มุ่งเน้นการใช้ยุติธรรมทางเลือก เช่น การให้คำปรึกษาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทภาคในชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนร่วม 10,000 เรื่อง ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ครอบคลุมทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดสตูล  ปัตตานี  ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รวมทั้งสิ้น 326 ตำบล  ทั้งนี้ แม้ KeAdilan Center อาจยังมีข้อจำกัดเรื่องขาดการประชาสัมพันธ์ แต่กลับได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ เนื่องจากใกล้ชิดชุมชนและมีบทบาทอย่างมากเรื่องการเยียวยา ในอนาคตหากศูนย์ดังกล่าวสามารถบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ก็ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประสานงานโดยเฉพาะการบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จึงส่งผลให้ประเด็นการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกชูโรงขึ้นแท่นเป็นนโยบายเร่งด่วนอีกครั้ง 

STEP สรรสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อบูรณาการความรู้ ด้วยสื่อสันติภาพ?

ด้านนายสุทธิศักดิ์  ดือเระ  อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี หนึ่งในคณะทำงานโครงการเสริมสร้างการตระหนักรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ STEP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ขณะนี้มีหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มมากขึ้น  แต่ยังขาดการบูรณาการงานด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งหากแต่ละหน่วยงานสามารถปรับระบบเชิงโครงสร้างให้สอดคล้องกับมิติการทำงานและบริบทของพื้นที่แล้ว คาดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนในประเด็นความเป็นธรรมได้มากที่สุด ทั้งนี้ บทบาทของสื่อในพื้นที่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการอำนวยความเป็นธรรม หากสามารถสร้างศูนย์ประสานงานหลักที่มีการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ด้านกฎหมายร่วมกันผ่านสื่ออย่างหลากหลาย ซึ่งรูปแบบสื่อกฎหมายแพ่งและอาญาที่โครงการผลิตขึ้น นำเสนอในลักษณะของบทวิทยุ ทั้งพากษ์เสียงภาษาไทยและภาษามลายู รวมทั้งหมด 16 ตอน  และในรูปแบบของหนังสั้น จำนวน 2 เรื่อง คือ ลูกหนี้มือใหม่ และคดีที่แตกต่าง ชมตัวอย่างได้ดังลิงก์

หนังสั้นเรื่องลูกหนี้มือใหม่ http://youtu.be/kXk-BDoTPZE

 

หนังสั้นเรื่องคดีที่แตกต่างเป็น http://youtu.be/Eab5dnv13n0

หากท่านใดสนใจ สามารถร่วมชม และรับสื่อดังกล่าวรวมถึงจดหมายข่าวให้ความรู้ด้านกฎหมาย ได้ ณ บูท STEP Project  ภายในงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00 -17.00 น. ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี

นอกจากการผลิตสื่อครั้งนี้ จะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้ยากแล้ว โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย หรือ STEP Project ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะริเริ่มกิจกรรมที่สามารถต่อยอดการรับทราบข้อมูลข่าวสารทางกฎหมาย อาทิเช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายพิเศษ รวมถึงกฎหมายอิสลาม  ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมแค่ในพื้นที่เท่านั้น การจัดทำหลักสูตรอบรมกฎหมายเปรียบเทียบไทย-อิสลาม และกฎหมายอิสลามสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คาดหวังว่าประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้ารัฐ เครือข่ายต่างๆ คนในชุมชน หรือคนต่างพื้นที่ จะสามารถรับรู้และทราบถึงบริบทของอิสลามตามนิยามของของในพื้นที่อย่างแท้จริง

ยุติธรรมนำสันติสุข?

การพลิกฟื้นศักยภาพและความเป็นอัตลักษณ์ โดยคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งระบบ อาจมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสังคม จากระดับชุมชน อันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานต้องการให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้   

การสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ ควบคู่กับการแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยความร่วมมือจากทุกภาคีร่วม สามารถบูรณาการรูปแบบการทำงานในเชิงรุกร่วมกันทั้งองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงชุมชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจทางกฎหมาย เช่น การบริการรับเรื่องร้องทุกข์ การให้คำปรึกษาในการไกล่เกลี่ยกรณีการเกิดกรณีพิพาทขึ้นในชุมชน ตลอดจนการชี้แนะช่องทางการเข้าถึงความยุติธรรม ให้กับคนในท้องถิ่น เพราะเมื่อประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้อย่างทั่วถึงแล้ว การถูกละเมิดสิทธิ์ของชาวบ้านที่เคยไม่รู้กฎหมาย ก็อาจลดจำนวนลงได้ในที่สุด