Skip to main content
 
 
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 17
วันจันทร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557
โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส
 
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคดำรงไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
การวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรง
           
            ที่ประชุมได้พิจารณาสถิติของการเสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในช่วง 8 ปีแรกของความรุนแรง (พ.ศ. 2547-54) มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณปีละ 550 คน หรือวันละ 1.5 คน ในปี พ.ศ. 2555 จำนวนผู้เสียชีวิตได้ลดลงเหลือ 283 คน หรือเฉลี่ยประมาณวันละ 0.8 คน ในปีต้นปี พ.ศ. 2556 มีการเริ่มกระบวนการพูดคุยกัน ทำให้มีการลดความรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลื่อนการพูดคุยออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมกับมีเหตุการณ์การชุมนุมในกรุงเทพฯ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในตอนท้ายปี ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือมีผู้เสียชีวิตที่สันนิษฐานว่ามาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2556 จำนวนประมาณ 318 คน หรือโดยเฉลี่ย 0.88 คนต่อวัน สถิติในตอนปลายปีที่แล้วและต้นปีนี้บ่งชี้ว่าผู้เสียชีวิตเข้าใกล้จำนวนในแปดปีแรกคือ เฉลี่ยวันละ 1.5 คนแล้ว ดังจะเห้นได้ว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2556, ธันวาคม 2556 และมกราคม 2557 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 38, 46 และ 45 คนตามลำดับ
 
            หากพิจารณาเหตุการณ์ร้ายแรงและสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พอลำดับบางเหตุการณ์พร้อมทั้งสันนิษฐานสาเหตุได้ดังนี้
 
  • กรณีการฆ่าเด็ก 3 ศพ ที่บ้านปาลูกาแปเราะ อ. บาเจาะ   
  • การยิงพระบิณฑบาต ที่ อ. แม่ลาน (อาจเป็นการเอาคืน)
  • กรณียิงแล้วเผา ที่ อ. ยะหริ่ง (อาจเป็นการเอาคืน)
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านแกแม อ. ระแงะ จับผู้ต้องหาเป็นนาวิกโยธินได้ 1 คน ออกหมายจับ อ.ส. 1 คน และควบคุมทหารพรานตาม พ.ร. ก. ฉุกเฉิน 1 คน โดยมีหลักฐานผู้ถือกรรมสิทธิ์รถที่ก่อเหตุ และพบผ้ายันต์ 1 ผืน (อาจเพราะผลประโยชน์ขัดแย้ง)
  • กรณีแทงคุณอารง ประธานสภา อ.บ.ต. (น้องผู้สมัคร ส.ส. เพื่อไทย) 7 บาดแผลจนเสียชีวิตอย่างทารุณที่บ้านลาโละ อ.รือเสาะ โดยมีนายทหารมาพบรถของผู้ตายที่บ้านจ่าทหาร และพบเอกสารที่เป็นการเตรียมการ หลังจากนั้น พบกระเป๋าสตางค์ของผู้ตายที่นำไปเผาแต่ไม่หมดยังเหลือรูปถ่ายผู้ตายเป็นหลักฐาน  จึงจับจ่าทหาร 2 คน และทหารเสนารักษ์ 1 คน ต่อมาจับรถที่ขนย้ายศพได้ที่สงขลา (อาจเป็นความขัดแย้งที่มีผู้มาจ้างให้เจ้าหน้าที่ลงมือกระทำการ)
  • กรณีการยิงชาวสวนยางที่ อ. รามัน เสียชีวิต 1 คน
  • กรณียิงทหารพรานที่ ต.ต้นมะขาม อ.ยะรัง เสียชีวิต 3 คน (อาจเป็นเรื่องยาเสพติด)
     
สรุปข้อเสนอแนะจากการสานเสวนา
 
ความรุนแรง
 
1)    ความรุนแรงที่ผ่านมามิได้เกิดจากการกระทำของขบวนการฝ่ายเดียว ที่น่าวิตกคือการแก้แค้นเอาคืน และก็มีการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหลายสาเหตุ รวมทั้งมีความขัดแย้งส่วนตัว ด้านผลประโยชน์และด้านอื่น ๆ
 
2)     กรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ต้องหา โดยเฉพาะกรณีการแทงประธาน อ.บ.ต. เสียชีวิตซึ่งมีหลักฐานแน่นหนานั้น รัฐจะต้องเร่งดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง รอบคอบและมีประสิทธิผล
 
3)    รัฐควรมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่อเหตุรุนแรงโดยพลการของเจ้าหน้าที่ และแจ้งให้สาธารณชนทราบ เพื่อแสดงว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะให้ปลอดจากภัยอันเกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง
 
ความรุนแรงกับการพูดคุยสันติภาพ
 
4)    การพูดคุยสันติภาพควรดำเนินต่อไป เพื่อให้เกิดความสงบในที่สุด โดยได้พิสูจน์แล้วว่า การมีเวทีพูดคุยกันอาจช่วยลดความรุนแรงได้ เช่น อาจมีการตกลงในเรื่องการลดความรุนแรงในบางช่วงเวลา หรือบางพื้นที่
 
5)    ประชาชนในพื้นที่ควรพิจารณาและริเริ่มให้เกิดความปลอดภัย การดูแลกันเองเพิ่มขึ้น และการเร่งรัดกระบวนการสันติภาพ และความยุติธรรม
 
ความรุนแรงกับเหตุการณ์บ้านเมืองในส่วนกลาง
 
6)    ที่ประชุมพบว่าการมีรัฐบาลรักษาการก็ดี การชุมนุมที่ปิดล้อมสถานที่ราชการก็ดีนั้น ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ได้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เช่นความปลอดภัยของประชาชน และในเรื่องการพูดคุยสันติภาพใน จชต.
 
7)    จะมีอะไรเกิดขึ้นถ้าประชาชนในพื้นที่จะเรียกร้องให้มาตรฐานการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะไม่เป็นสองมาตรฐาน ระหว่าง จชต. กับ เหตุการณ์ที่กรุงเทพ จะมีอะไรเกิดขึ้นถ้าประชาชนในพื้นที่เริ่มออกสู่ท้องถนน หรือปิดล้อมสถานที่ราชการ เห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองส่วนกลางจะเป็นผลดีต่อทุกภาคส่วนของประเทศ