Skip to main content

ซุกกรียะห์ บาเหะ

ทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานและปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ทีวีดาวเทียมและเว็บไซต์มากมาย การสื่อสารถึงข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ บ่อยครั้งนำไปสู่การฉายภาพของความน่ากลัว สร้างความเกลียดชัง หวาดระแวง และสิ่งหนึ่งที่หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีสื่อที่แบ่งขั้วแยกข้างนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เช่นการนำเสนอข้อมูลด้านบวกเพียงด้านเดียวของฝ่ายที่ตนเองสนับสนุน หรือนำเสนอแต่ข่าวด้านลบของฝ่ายตรงข้ามและบางสื่อมีการกระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังอีกฝ่าย หรืออคติของผู้สื่อสารซึ่งเทียบเท่ากับการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อ (คนใน) พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ติดตามและตรวจสอบสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด และสร้างมาตรการต่างๆจากสังคมในการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข้อมูลให้เป็นไปตามหลักการของ Peace Journalism หรือที่เรียกว่าการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ เพื่อลดความรุนแรงและความสูญเสีย
ในบทความของ ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง color:black;">[1]ทำการศึกษาเรื่องมุสลิมชายแดนภาคใต้ในความรู้สึกของชุมชนไทยเสมือนจริง color:black;">[2] โดยศึกษาในพื้นที่ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุมชนเสมือนจริง Virtual Community หรือชุมชนออนไลน์ ซึ่งศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทย ปรากฏผลของการศึกษาดังนี้ ความคิดเห็นของสมาชิก Cyberspace ส่วนใหญ่จะเหมารวมว่า โจรใต้ ผู้ก่อการร้าย=มุสลิมหรืออิสลาม ดังนั้นจึงมีข้อความที่แสดงความรู้สึกเกลียดชังมุสลิมรวมถึงศาสนาอิสลามมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งความรู้สึกร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการด่าว่าด้วยคำหยาบ เกิดความรู้สึกแบ่งคู่ตรงข้าม แสดงให้เห็นอคติ เห็นความสัมพันธ์ที่แตกแยก
ในรอบปี พ.ศ.2556 เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวอ้างคำว่า "โจรใต้" ในการพาดหัวข่าวกว่า 300 ชิ้น และกล่าวอ้างคำว่า "โจรใต้เหิม" ในพาดหัวข่าวอย่างน้อย 11 ชิ้น  ข้อมูลนี้สอดคล้องกับความเห็นของ    ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วิจารณ์การใช้ภาษาของสื่อว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ (อาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม, 2556)
ผลพวงของการทำงานของสื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งส่งข่าวสารสู่สังคมไทยนำไปสู่การผลิตซ้ำวาทกรรม“การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ต่อ (คนใน) การนำเสนอภาพระเบิด ภาพคนตาย รอยเลือดและคราบน้ำตา การนำเสนอโฉมหน้าของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีความมั่นคง color:black;">[3]ต่างๆและเปิดแถลงข่าว ทั้งๆที่ยังไม่ผ่านการใช้กระบวนการยุติธรรมมาตัดสิน ซึ่งกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ตามหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ” หลักการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีอาญานั้น ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ดังนั้นการนำเสนอโฉมหน้าของผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยผ่านสื่อ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผ่านการนำเสนอภาพข่าวที่ฉาบฉวยเหล่านี้ คือความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence) ที่สื่อบ่มเพาะให้กับสังคมจนเป็นระบบความเชื่อของคนในสังคมกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือต้องยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สื่อนำเสนอแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ขาดการสืบค้นสาเหตุของเหตุการณ์ ไม่นำเสนอหนทางการแก้ปัญหาในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้นำทางการเมืองและการทหาร ขาดการนำเสนอความคิดเห็นของคนเล็กคนน้อยในสังคมซึ่งค่านิยมเหล่านี้ย้อนแย้งกับหลักการของ “Peace Journalism” หรือ การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ
แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพโดยศาสตราจารย์ Johan Galtung มุ่งหวังที่จะกระตุ้นและสนับสนุนให้สื่อมวลชนเห็นความสำคัญของสันติภาพ ซึ่ง Galtung กังวลว่าสงครามการรายงานข่าวความขัดแย้งของสื่อมวลชนคล้ายคลึงกับการรายงานข่าวกีฬา ที่มุ่งหาผู้แพ้ผู้ชนะ เขาจึงเสนอว่าการรายงานในสถานการณ์ความขัดแย้งควรมีการวินิจฉัยเหมือนกับการรายงานข่าวสุขภาพและผู้สื่อข่าวจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่ากำลังเผชิญกับโรคอะไร และสาเหตุของโรคคืออะไร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอด้วยว่า จะมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะป้องกันและรักษาโรคร้ายนี้ ดังนั้นการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพต้องคำนึงถึงความครอบคลุม เป็นธรรม และถูกต้องให้มากขึ้น เพื่อนำเสนอเหตุการณ์และมองลึกไปถึงการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงหาหนทางที่จะก้าวพ้นไปจากความขัดแย้งนั้น ซึ่งการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพต้องก้าวพ้นไปจากการตอบคำถาม 5W1H (What, Where, Who, When, Why, How) ตามหลักวารสารศาสตร์แบบเดิม แต่ต้องเพิ่มเติม “S” Solution หรือ การแก้ปัญหา และ “C” Common Ground หรือ การนำเสนอเบื้องลึกของความขัดแย้ง ผนวกเข้าไปด้วย เราจะเห็นว่าหลักการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพไม่ได้มองสื่อมวลชนเป็นแค่ผู้ส่งข่าวสาร แต่เป็นกลไกในการสร้างสันติภาพด้วย (วลักษณ์กมล จ่างกมล,2550) color:black;">[4]
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปมและเงื่อนไขของปัญหาที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่จะสื่อสารออกมาเพียงภาพๆเดียวหรือเสียงๆเดียว แต่จำเป็นต้องมีการรายงานข่าวที่ ถูกต้องครบถ้วน (Accuracy) ไม่เอียงเอน ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Impartial) ความรับผิดชอบ (Responsilbe) เพื่อเป็นกลไกสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งRoss Howard นักวิชาชีพและนักวิชาการด้านการสื่อสารข่าวเพื่อสันติภาพ เจ้าของหนังสือ Conflict sensitive Journalism ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่การคุกคาม และการควบคุมสื่อภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งส่งผลให้วิชาชีพวารสารศาสตร์เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ ข่าวสารจึงเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรอง ตัดทอน ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงในความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว (วลักษณ์กมล จ่างกมล, 2550)
สภาวะการเช่นนี้ส่งผลให้สื่อมวลชนกระแสหลักละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ(คนใน) พื้นที่ เนื่องจากสื่อเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยโดยรวมและสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ดังนั้นสื่อกระแสหลักต้องก้าวข้ามปัญหาทางโครงสร้างของสื่อมวลชนอาทิเช่น การมุ่งเน้นกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มีรัฐเป็นเจ้าของ และบรรทัดฐานสื่อมวลชนยังให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจ ดังนั้นแนวคิด Peace Journalism จึงเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนค่านิยมสื่อมวลชนให้เห็นความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม และจริยธรรม และเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มคนต่างๆในการสื่อสาร อย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่สื่อมวลชน ตามแนวคิดของเจอร์เก้น ฮาเบอร์มาสมองเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” คือพื้นที่การรับรู้ของคนในสังคมมีแนวโน้มที่จะถูกรุกล้ำ ครอบงำโดยสื่อ ซึ่งสื่อถูกครอบงำจาก เงินตรา อำนาจ และกฎหมาย อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจำกัดศักยภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือจำกัดพื้นที่สาธารณะของคนในสังคมได้
แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพเป็นการท้าทายวัฒนธรรมการทำข่าวแบบเดิม ความท้าทายที่ต้องพยายามค้นหาคุณค่าและความหลากหลาย (Diverse) ของข่าวและทำให้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เปลี่ยนแปลงความคุ้นชินในการทำข่าวของสื่อกระแสหลักแบบเดิมสู่การข่าวเพื่อสันติภาพที่ต้องค้นหารากเหง้าของปัญหาที่สลับซับซ้อน  เช่น เมื่อเวลานำเสนอข่าว ต้องหลีกเลี่ยงให้คนในสังคมเกิดอคติ เหมารวม หวาดระแวงซึ่งเป็นสาเหตุของความแตกแยก และนำสังคมสู่ปรากฏการณ์วงเกลียวแห่งความเงียบงัน (Spiral of silence)  คือปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยจะค่อยๆ ถอยร่นและเงียบลงไป ในขณะที่กลุ่มคนที่เห็นด้วย (เห็นเหมือนสื่อ) จะมีเสียงที่ดังขึ้น และประสานกับเสียงของสื่อจนทำให้ดูเสมือนว่า นั่นเป็นความคิดเห็นของคนกลุ่มใหญ่ (กาญจนา แก้วเทพ, 2554, น. 218)
ขณะที่สื่อกระแสหลักต้องทำงานที่เน้นรวดเร็ว จนทำให้ขาดความแม่นยำและขาดความละเอียดในการสื่อสาร เน้นการสื่อสารข้อมูลของผู้มีอำนาจในสังคม มากกว่าการนำเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม ดังนั้นการปรับตัวของสื่อมวลชนโดยนำแนวคิด Peace Journalism มาประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร ดังทฤษฏีของ John Paul Lederach ที่นำเสนอแนวคิดการสร้างสันติภาพจากฐานล่าง  และการปรับมุมมองเพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย (Stake holder)  สื่อควรให้ความสำคัญและสะท้อนเสียงของคนทุกฝ่ายยกระดับการสื่อสารของคนฐานล่างนั่นคือประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นมิติใหม่สำหรับการสื่อข่าวของสังคมไทยเพื่อการคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะหนุนเสริมให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้
ดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ ว่า“สื่อสันติภาพ ต้องทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ยินเสียงของความหลากหลายและค้นพบหนทางแก้ไข เวลานี้อาจยังพอมีเวลาแก้ไข และทางแก้ไขต้องใช้ความรู้เท่านั้น” ผ่านการสะท้อนเสียงของความคิดเห็นที่หลากหลายอันนำไปสู่การลดความรุนแรงทางวัฒนธรรมของสื่อกระแสหลัก และลดทอนการผลิตซ้ำวาทกรรม “การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ต่อ (คนใน) พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในเร็ววัน
 
บรรณานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ.  (2554).  สื่อสารมวลชน:ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา.  (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง.  (2551).  มุสลิมชายแดนภาคใต้ในความรู้สึกของชุมชนไทยเสมือนจริงโดยศึกษาในพื้นที่ไซเบอร์สเปซ.  รายงานวิจัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร
วลักษณ์กมล จ่างกมล.  ( 2550).   สื่อเพื่อสันติภาพ:จริยธรรม การจัดการและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา.  รายงานวิจัย,  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
อาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม.  (2556).  ข้อบกพร่องของสื่อในการนำเสนอข่าวชายแดนใต้.  สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2557, สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/4973
 

 



[1]อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
[2] หมายเหตุ:การศึกษานี้นำเสนอในการสัมมนาเรื่อง 5 ปีไฟใต้:สงคราม:ความรู้:ความสับสน.....แล้วไงต่อ.นำเสนอวันที่ 18 มกราคม 2551 โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
[3] คดีที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน 
[4] รายงานวิจัยเรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ :จริยธรรม การจัดการและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2550 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี