ออกอากาศในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 10.05 น. ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ThaiPBS
การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ในที่นี้หมายถึงความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นมากกับสตรี และผู้อยู่ในสถานภาพที่อ่อนแอหรือต้องพึ่งพาผู้อื่น เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ โดยมีการกระทำในหลายลักษณะ เช่น การข่มขืน กระทำอนาจาร ลวนลามทางเพศ ละเมิดสิทธิทางเพศต่างๆ รวมถึงการแทะโลมด้วยวาจาและสายตา การอวดอวัยวะเพศ ฯลฯ แต่พฤติกรรมที่ปัจจุบันถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย คือ การข่มขืนกระทำชำเราและการกระทำอนาจาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นแม้ในครอบครัวและคนใกล้ชิด เช่น การข่มขืนคนรัก (Date Rape) เป็นต้น
ผู้ร่วมรายการร่วมแลกเปลี่ยนถึง ทฤษฎีเกี่ยวกับผู้กระทำ ที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจว่าทำไมผู้กระทำจึงต้องทำร้ายหรือมีพฤติกรรมรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง รูปแบบของความรุนแรงทางเพศมีอะไรบ้าง และผลกระทบต่อตัวเหยื่อหรือผู้เสียหายและสังคมคืออะไรบ้าง
เหตุใดส่วนใหญ่จึงเป็นฝ่ายชายที่เป็นผู้กระทำความรุนแรงทางเพศ วิทยากรมีความเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่โต้แย้งกันมาจนถึงปัจจุบัน ว่าผู้กระทำถูกขับดันจากแรงผลักของธรรมชาติ เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องของฮอร์โมน หรือเกิดจากการเลี้ยงดู หรือเพราะสังคมมีส่วนกล่อมเกลา (nature or nurture) และผู้กระทำมีความรับรู้ต่อผลของการกระทำของตนต่อเหยื่อหรือผู้เสียหายมากน้อยเพียงไร แล้วหญิงกระทำความรุนแรงต่อชายมีหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง และผลเป็นอย่างไร
การกระทำเหล่านี้ แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ มีความสำเร็จอะไรบ้าง มีบทเรียนข้อสังเกตุอะไรบ้าง
กฎหมาย นโยบาย ของประเทศเรามีเพียงพอ หรือถูกใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรบ้างที่ใช้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ (เช่น การสอนเรื่องเพศศึกษา สิทธิมนุษยชน ธรรมะ ฯลฯ) ติตตามชมรายการได้ในวันและเวลาดังกล่าว
ผู้ร่วมรายการ
1. คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก
2. รศ.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ดร.นรินทร์ กรินชัย เลขาธิการและนักจิตวิทยา มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์
4. ดร. เขมิกา ยามะรัต ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย คุณสุนี ไชยรส