Abdulloh Wanahmad ; AwanBook
ครั้นที่ปาตานีสูญเสียอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนให้กับสยามประเทศเมื่อปี1786 ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมลายูปาตานีอย่างขนานใหญ่ นับตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงระดับจุลภาค ที่ยังเป็นเชื้อไฟแห่งสงครามทางความคิดอย่างไม่มีวันจบสิ้นของวาทกรรมที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งที่เรื้อรังยาวนานจนถึงวันนี้
เมื่อปาตานีตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของสยามประเทศ สิ่งแรกที่ผู้ปกครองจากส่วนกลางได้เร่งรัดดำเนินการก็คือ การเปลี่ยนแปลงระการปกครองที่เคยมีอยู่สู่ระบบการปกครองแบบใหม่ นั่นก็คือจากระบบการปกครองแบบดั้งเดิมของคนมลายูปาตานีสู่ระบบการปกครองแบบสยามิสอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดระบอบเก่าได้ถูกยกเลิกโดยผู้ปกครองจากกรุงเทพโดยปริยาย
การแบ่งแยกแล้วปกครองถือเป็นวิธีการหนึ่งของผู้ปกครองที่เข้ามามีอำนาจในดินแดนที่ไม่ใช่ของตน เพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล และในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตัดกำลังความเข้มแข็งของอำนาจเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในระบบฐานความคิดของหมู่ชน โดยเฉพาะในบรรดาผู้นำระดับสูงเป็นต้น
ผู้เขียนไม่ขอลงลึกในรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสังคมปาตานี ที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำของจิตใจ ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงยังสังคมมลายูปาตานีไปในทางที่สังคมมลายูปาตานีมิปรารถนา
เมื่อระบอบการปกครองแบบหัวเมืองมลายูถูกยกเลิกโดยอาศัยนโยบายทางการเมือง ทำให้สังคมมลายูปาตานีได้หันจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐตามแต่จะมี เพื่อปลอบประโลมจิตใจของตัวเองมากกว่าที่จะต่อสู้เพื่อชัยชนะ เพราะหากดูจากจำนวนและความสามารถแล้ว ย่อมมีความต่างกันอย่างลิบลิ่วระหว่างรัฐสยามกับสังคมปาตานีทั้งจำนวนและอาวุธ
สิ่งหนึ่งที่สังคมปาตานีมิอาจลืมเลือนแม้กระทั่งทุกวันนี้ คือการลงนามของเต็งอับดุลกอเดร์ ที่ไม่ยอมลงนามในเอกสารเพื่อเป็นการรับรองถึงอำนาจใหม่ของสยามที่มีต่อปาตานี แต่ด้วยที่พระองค์ถูกหลอกโดยล่ามว่าเนื้อหาในเอกสารไม่ได้มีอะไรมาก แต่เอาเข้าจริงการลงนามในครั้งนั้นถือเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองปาตานีที่มีเจ้าเมืองมลายูโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วท่านอับดุลกอเดร์ มิได้ยินยอมแต่อย่างใด
ระบบการศีกษาแบบปอเนาะ ถือเป็นตักศิลาของแหล่งความรู้ทางศาสนาในปาตานีเลยทีเดียวและแม้กระทั่งในเอเชียอาคเนย์ ปาตานีเคยเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่บรรดาผู้ที่มาไขว่คว้าหาความรู้ทางศาสนามานานนับศตวรรษ จนเป็นที่เลื่องลือของคนในคาบสมุทรมลายู ก่อนที่ปาตานีจะหมดอำนาจในการปกครองลง จนในที่สุดเรื่องราวต่างๆ มิอาจหลีกพ้นจากสายตาของนักปกครองได้แม้แต่น้อย ที่เพ่งมองอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีคนจากภายนอกเข้ามาตักตวงความรู้เฉกเช่นอดีต
เมื่อนโยบายของรัฐจากส่วนกลางค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เพื่อควบคุมความคิดของคนมลายูปาตานีโดยผ่านระบบการศึกษาเป็นหลัก กอปรกับสถานการณ์และอุณหภูมิของความคิดเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองยังสูงคุกรุ่นอยู่ในยุคดังกล่าว ทำให้นโยบายที่ลงมาจากส่วนกลางล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านโดยสังคมมลายูทั้งทางความคิดและทางปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา
กล่าวคือ ในด้านความคิด สังคมมลายูมักจะมองว่าผู้ปกครองที่มาจากส่วนกลางคือผู้เข้ามากดขี่ ลิดรอนสิทธิของพวกเขา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ปกครองล้วนมีความแตกต่างกับคนในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง ทั้งความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ทำให้ความคิดของคนมลายูในยุคนั้น ล้วนมีความเกลียดชังต่อผู้ปกครอง สิ่งนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้
ส่วนในทางปฏิบัติ อันนี้สามารถมองเห็นและเห็นได้จากการที่ชนชั้นนำระดับสูงของปาตานีส่วนใหญ่ ต่างต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อไปพำนักยังที่ปลอดภัยกว่า ทั้งที่ไปด้วยเหตุผลทางการเมืองและความรู้สึกที่แค้นเคืองที่ถูกปฏิบัติโดยรัฐ ยิ่งชนนั้นนำที่เป็นเจ้าของสถาบันปอเนาะส่วนใหญ่แล้วมีอัปกริยาต่อต้านกับนโยบายของรัฐ
จุดเปลี่ยนผันที่ใหญ่สุดสำหรับการศึกษาระบบปอเนาะคือ เมื่อรัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อควบคุมสถานศึกษาศาสนาที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ด้วยการขอความร่วมมือ(บังคับ)ให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายตามระเบียบการของกระทรวงศึกษาธิการในยุคนั้น และมีโต๊ะครูจำนวนมิน้อยที่ต้องลี้ภัยออกนอกพื้นที่ เพียงแค่ไม่ต้องการจดทะเบียนตามกฎหมายเพราะเกรงกลัวว่าสถานศึกษาของตนจะถูกควบคุมกลืนกินโดยรัฐ และรัฐเองได้เหมารวมว่าผู้ที่ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนล้วนเป็นขบถ มีความคิดแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
นับตั้งแต่ระบบการศึกษาปอเนาะถูกควบคุมโดยรัฐสิ่งที่เข้ามาควบคู่หลังจากนั้นก็คือการแทรกวิชาต่างๆ ผ่านหลักสูตรการศึกษาของชาติ ด้วยการเข้าไปบริหารโดยทางอ้อมผ่านงบประมาณสนับสนุนแก่สถานศึกษาเอกชนที่มีทั้งวงเล็บหนี่งและวงเล็บสอง ซึ่งสิ่งนี้เห็นได้ชัดจากอาคารสถานที่มีการก่อสร้างพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับสถานศึกษาที่ยังคงปิดกั้นตัวเองจากอิทธิพลของรัฐยังเป็นแบบสมถะ มีความเรียบง่าย ราวเหมือนอยู่แต่ละประเทศเลยทีเดียว
เมื่อการสนับสนุนของรัฐที่จะต้องแลกด้วยคุณค่าทางการศึกษาที่ต้องเสียไป ที่ต้องใช้หลักสูตรจากส่วนกลางทำให้สถานศึกษาหลายแห่งมีความลำบากใจเป็นอย่างมากในการตัดสินใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เพราะความแตกต่างในการจัดการเรียนการสอนนั้นแทบมีความต่างกันมาก ถึงแม้ว่าสถานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในนามมูลนิธิจะมีอาคารเรียนใหญ่โต งบประมาณมหาศาล แต่เมื่อเทียบหลักสูตรเนื้อหาการเรียนการสอนในด้านศาสนาแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างมากเช่นเดียวกัน
การศึกษาของนักเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เมื่อทุกขั้นตอนของการจัดการเรียนการสอนล้วนกลายเป็นธุรกิจภายในตัวให้กับผู้เป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร
สิ่งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันสถานศึกษาที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ดในฤดูฝน ล้วนมีเป้าหมายในเชิงปริมาณของเด็กนักเรียนมากกว่าคุณภาพของการศึกษา ที่ปรารถนาเงินสนับสนุนรายหัวต่อปีมากกว่าผลลัพธ์ของเยาวชนที่จะได้รับ ผู้บริหารมัวแต่หมุดอยู่กับตัวเลขของนักเรียนมากกว่าศักยภาพของบุคลากรในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ
ปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับอนาคตของเยาวชนปาตานีก็คือ ที่อาจต้องเสียเวลาไปกับการนอนหลับ ตื่น เล่น ในห้องเรียนมากกว่าที่จะได้รับวิชาความรู้อย่างเข้มข้น เมื่อบุคลากรที่เข้าไปสอนหนังสือล้วนมีและใช้เส้นสายที่มีใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง
และปัจจุบันสิ่งที่น่าตกใจก็คือโรงเรียนจำนวนมิน้อยที่มีนักเรียนผี ที่มีแต่ชื่อแต่ไม่มีตัวตน สิ่งนี้สถานศึกษาในแต่ละแห่งคงรู้ดี คำถามก็คือ เมื่อการศึกษาในปัจจุบันกลับกลายเป็นธุรกิจสำหรับผู้มีการศึกษาหัวก้าวหน้าบางคน อะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของชนลูกหลานปาตานีในวันข้างหน้า เมื่อบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเด็กไม่มีจรรยาบรรณของความเป็นครู เมื่อเด็กกลายเป็นเครื่องมือของการกอบโกยผลประโยชน์แก่บรรดาเครือญาติของคนกลุ่มน้อย แต่ทว่าผลกระทบในอนาคตมันกว้างใหญ่เกินจะประเมินถึง