Skip to main content

ซุกกรียะห์ บาเหะ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก ในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 รวมทั้งการบุกเข้าโจมตีจุดตรวจและป้อมยามเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ตลอดจนการชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบในวันที่ 25 ตุลาคมในปีเดียวกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกือบ 200 คน ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกรวมกับสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา จำนวนกว่าห้าพันคน ถือเป็นความสูญเสียที่น่าสลดใจและเป็นปัญหาร่วมทศวรรษที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบให้ยุติโดยเร็ว
รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกในปี พ.ศ. 2547 และในวันที่ 20 กรกฎาคมประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีการต่ออายุเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำนวน 35 ครั้ง ครั้งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2556 -19 มีนาคม 2556 กฎหมายฉบับที่ 3 ที่ประกาศใช้คือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ๆมีความรุนแรงจึงมีกฎหมายพิเศษเพิ่มอีกสามฉบับ ซึ่งหมายรวมถึงการใช้กฎหมายอาญาทั่วไปอีกฉบับรวมเป็นสี่ฉบับ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้มาถูกทางแล้ว แต่ประเด็นหลักที่น่าตั้งคำถามคือการมาถูกทางของรัฐไม่ได้ทำให้ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นตามไปด้วย   
จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับมีความผิดปกติ อาทิการใช้อำนาจเกินขอบเขต ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เกิดการซ้อมทรมานระหว่างการจับกุม และเชิญตัวผู้ต้องสงสัยโดยไร้ขอบเขต เนื่องจากการไม่ระบุสถานที่ๆควบคุมตัวในระยะเวลาระหว่างการจับกุม สร้างความกังวลใจแก่ครอบครัวที่เป็นผู้ต้องสงสัย และผู้ถูกจับกุม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อความไว้วางใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการใช้อำนาจรัฐขั้นรุนแรง เนื่องจากวาทกรรมกฎหมาย ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินชุดนี้ ส่งผลให้เกิดความจริงของผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั่นคือเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ชุดความจริงของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และชุดความจริงของผู้คนในพื้นที่ที่เจ็บปวดจากผลกระทบในการใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามจังหวัดและสี่อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชุดความจริงที่สังคมไทยส่วนรวมรับรู้จากสื่อมวลชน
จากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านดังนี้
1. การใช้กฎหมายพิเศษละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลักคนที่เคยถูกบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ขอบเขต สร้างแนวร่วมมุมกลับให้ต่อต้านรัฐได้
2. การใช้กฎหมาย4 ฉบับ ที่ไร้การตรวจสอบ การเหวี่ยงแหในการจับกุม ทำให้ประชาชนรู้สึกสั่นคลอนในความปลอดภัย
3. สร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เช่นการเชิญตัวผู้ต้องสงสัย และกักขัง โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อกล่าวหา การไม่คืนของกลางระหว่างเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้นบ้านเรือน การซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างจับกุมทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
4. สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการคลี่คลายปัญหา เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  มาตรา 17 บัญญัติว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควร หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่” ซึ่งบทบัญญัตินี้อาจนำไปสู่การเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงหรือกระทำเกินกว่าเหตุได้
5. กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลล่าช้า จำนวนคดีมีจำนวนมาก เหตุจากการใช้การเหวี่ยงแหในจับกุม และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งบางคดีต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดีกว่า 5 ปี สุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้อง ทำให้สูญเสียเสรีภาพ
6. เกิดการอพยพย้ายถิ่นข้ามพรหมแดนไปยังประเทศมาเลเซียเพราะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ หลีกเลี่ยงการถูกจับแบบเหวี่ยงแห
7. เป็นอุปสรรคต่อการประกอบศาสนกิจของชาวมลายูมุสลิม และเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพตามสภาพท้องถิ่น เช่นการประกาศเคอร์ฟิวหรือห้ามออกจากเคหะสถานในเวลาที่กำหนด และการตั้งด่านตรวจที่มากเกินไป
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ระบุว่า “ความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม” เป็นความคับข้องหมองใจลำดับต้นๆของชาวมลายูมุสลิม น้อยคนนักในสังคมที่จะรับรู้ว่าผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง ถูกเชิญตัว ถูกจับกุม ถูกสอบสวน ถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง มีการตัดสินใจที่จะฟ้องดำเนินคดี จำเลยที่อยู่ในระหว่างถูกคุมขัง มีการพิจารณาคดีอย่างไร เหล่านี้ทำให้ชาวมลายูรู้สึกแปลกแยกจากรัฐไทย ลดทอนความชอบธรรมของรัฐ ในขณะที่ความขัดแย้งและความรุนแรงถลำลึกลงไปเรื่อยๆ
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ได้ลดมาตรฐานของพยานหลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการจับกุมในเขตที่มีการประกาศบังคับใช้ ในขณะที่กฎหมายอาญาระบุว่าต้องมีมูลเหตุที่พอจะสามารถตั้งข้อสงสัย ซึ่งต้องมีหลักฐานก่อนที่จะออกหมายจับ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องการเพียงแค่มูลเหตุที่ทำให้เกิดข้อสงสัยเท่านั้น ระยะเวลาที่ผู้ต้องสงสัยจะถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาคือ 30 วัน ส่วนการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากจะทำการควบคุมตัวต่อ จะต้องนำผู้ถูกจับกุมไปยังศาลเพื่อขออนุญาตควบคุมตัวต่อ โดยศาลเป็นผู้ออกหมายขัง ณ เรือนจำ หรือสถานที่อื่นที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ศาลอาจออกหมายขังได้ไม่เกินครั้งละ 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 84 วัน ตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด
การใช้กระบวนการยุติธรรมควบคุมผู้คนส่งผลให้ทำลายความเชื่อมั่นของผู้คนต่อระบบงานยุติธรรมทางอาญาและอาจกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการปลดปล่อยปาตานีในการสร้างแนวร่วมต่อต้านรัฐได้ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างกลไกการทำงานของภาครัฐกับประชาชนห่างออกไปเรื่อยๆ ความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะสังคมภาคใต้จะดีขึ้นถ้ามี การบังคับใช้กฎหมายที่ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ และมีกระบวนการยุติธรรมที่สามารถเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คนในสังคม ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำศาสนา เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมตัว กลับเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
ภายใต้กรอบนโยบายการเมืองนำการทหาร และยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาที่แท้จริง ควรมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด รวดเร็วกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่กระทำการใดๆ เกินกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ การทำร้ายร่างกายของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ
ดังนั้นความรุนแรงในรอบทศวรรษของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีการประเมินการนำ กฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ว่ามีความคุ้มค่า และมีผลกระทบด้านความยุติธรรม รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะขั้นตอนของการสืบสวน สอบสวน จับกุม คุมขัง ที่จำเป็นต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพตามหลักนิติธรรม และจิตวิทยาสังคมก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งต่อไป เพื่อเป็นส่วนช่วยในการลดเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจให้กลับมาเชื่อมั่นในรัฐอีกครั้ง
ซึ่งตลอดระยะเวลาในการตัดสินใจต่ออายุ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ยังไม่มีพื้นที่การวิเคราะห์เสนอความคิดเห็นถึงปัญหา และความสำเร็จรวมถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนที่ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าว ดังนั้นสันติภาพผ่านความยุติธรรมที่ยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนที่อ้างว่าสามารถปกป้องดูแลผู้บริสุทธิ์ได้แท้จริงเป็นเพียงเสือกระดาษที่รังแต่จะสร้างความร้าวฉานระหว่างผู้คนที่ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ กับเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ลงมาแก้ปัญหาภายใต้กรอบภาระหน้าที่ ปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานระหว่างผู้ถือกฎหมายกับผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจในการต่อรองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สามสิบสามครั้งกับการต่ออายุพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากเป็นยาที่ตรงกับโรค ความรุนแรงในสามจังหวัดคงยุติลงด้วยการใช้กฎหมายในการควบคุม จับกุม กวาดล้าง ไปแล้ว รัฐบาลควรทดลองยาตัวใหม่ที่คนในพื้นที่เคยเสนอในเวทีสานเสวนาหลากครั้ง คือการถอนทหารออกในบางพื้นที่ และการไม่ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ครั้งที่ 36 ในบางพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร หากยาตัวนี้ตรงกับโรคสามจังหวัดภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาคงลดความรุนแรงลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย