Abdulloh Wanahmad; AwanBook
กว่าหนึ่งทศวรรษที่สังคมมลายูปาตานีต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ต้องใช้ชีวิตอย่างห่วงหน้าพะวงหลังในความปลอดภัยของตนเอง ที่ถูกครอบงำโดยกฎหมายฉบับพิเศษฉบับแล้วฉบับเล่า ที่ได้ประกาศใช้โดยผู้มีอำนาจจากส่วนกลางผ่านกลไกของรัฐที่มีอยู่ ทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายความมั่นคง ที่มีอำนาจอยู่ในมือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องปรามเหตุร้ายที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ที่อาจนำไปสู่การเสียบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศได้ในอนาคต
ความหวาดกลัวเป็นนามธรรมหนึ่งที่มิอาจแตะต้องได้ ทว่าสามารถสัมผัสได้ในความรู้สึกของปัจเจกชนที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่แฝงเข้ามาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวาดกลัวของประชาชนที่มีต่อการประกาศใช้กฎหมายที่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจนล้นฟ้า กล่าวคือจะไม่มีความผิดใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายฉบับพิเศษ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ที่บางครั้งได้เอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการที่แสนจะพิสดารได้ เช่น การกระทำต่อผู้ต้องสงสัยเกินขอบเขตและเกินเลย ที่บ่อยครั้งการใช้กฎหมายฉบับพิเศษเฉพาะกิจกับพื้นที่ที่ถูกกำหนดประกาศใช้ เสมือนเป็นการปูทางให้เจ้าหน้าที่สามารถกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่ควรจะได้รับการเคารพและให้เกียรติในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
กว่าสิบปีที่ชนชาวมลายูปาตานีต้องเผชิญกับความอยุติธรรมที่มาพร้อมกับนโยบายของรัฐ ทั้งทางอ้อมและทางตรง ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่ประสบเหมือนพี่น้องมลายูหลายๆ ท่าน ที่กำลังเผชิญและกลายเป็นเหยื่อของกฎหมายฉบับอมตะที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน ถึงแม้ว่าโลกจะหมุนไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้วก็ตาม แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ยังคงดำรงอยู่ไว้ของกฎหมายที่ถูกเขียนในสมัยเก่าแก่ที่เหมาะสมกับสมัยในยุคนั้นๆ แต่ยังนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่ได้เกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในดินแดนปาตานีหรือที่รู้จักกันในนิยามของรัฐไทยว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์และกำลังพลของกองทัพอย่างมหาศาล ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่งบประมาณที่กระจายลงมาเพื่อสยบความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมูลค่ามากขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หนำซ้ำรัฐเองมิอาจนึกด้วยซ้ำว่า คลื่นความรุนแรงที่มีเชื้อไฟมาจากประวัติศาสตร์เป็นต้นเหตุนั้นจะยืดเยื้อยาวนานจนทุกวันนี้
การประกาศใช้กฎหมายฉบับพิเศษในพื้นที่ปาตานี เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ต้องการปราบปรามกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรง ให้มีขอบเขตที่จำกัดในการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการณ์ แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ประจักษ์ชัดก็คือ วิธีการเหล่านั้นล้วนมิได้ผลแต่อย่างใด
ผู้เขียนเองพร่ำคิดอยู่ตลอดว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เดินทางมาอย่างยาวนานยืดเยื้อจนทุกวันนี้จะสิ้นสุดกันเมื่อใดและอย่างไร?
การที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องคลุกคลีอยู่กับบ่วงร้ายต่างๆ นานา ที่อยู่รอบตัวเองมาอย่างยาวนาน จนทำให้ความรู้สึกหวาดหวั่นต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองกลายเป็นเรื่องชินชาไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเหตุร้ายนั้นจะถึงขั้นเสียชีวิตกับคนใกล้ชิดก็ตาม
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นความรุนแรงและการต่อสู้ของกลุ่มคนที่ปรารถนาปลดปล่อยพี่น้องร่วมชาติพันธุ์จากการถูกอธรรมและการกดขี่ของผู้ปกครองจากกรุงเทพ ได้นำมาซึ่งผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อย่างน้อยผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์และถูกจับกุมดำเนินคดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะต้องมีบ้างที่เป็นญาติมิตรผู้ร่วมตระกูลสายเลือดเดียวกับเราผู้เป็นมลายูปาตานี
ความข่มขืนในส่วนลึกของผู้ที่ถูกอธรรมมิอาจบรรยายเป็นความรู้สึกถึงแก่นของความปวดร้าวช้ำใจได้ ที่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อกฎหมายของบ้านเมือง ที่มิรู้ว่าจะแวะเวียนมาหาตนเมื่อไหร่ อย่างน้อยทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่เป็นคนมลายู พูดภาษามลายู ล้วนจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ทุกรายและทุกเมื่อ เพราะนั่นคือความจริง!
กว่าสิบปีของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่ได้ผุดขึ้นมาหลังจากนั้นคือ องค์กรภาคประชาสาคมต่างๆ ที่มีเป้าหมายและพันธกิจในด้านสันติภาพและด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนขอเชิดชูในความเสียสละในความกล้าหาญและแน่วแน่ที่จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนและความถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่อยู่ท่ามกลางสมรภูมิที่ไร้ที่พึ่งและร่มเงาแห่งความปลอดภัยของชีวิต
การกำเนิดขึ้นขององค์กรที่อาสารับหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายฉบับพิสดาร อย่างองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมายและการต่อสู้คดี ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่น่ายกย่องในฐานะเป็นแม่งานหลักในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่รู้กฎหมาย ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและขวากหนามที่ต้องฝ่าฟันให้ได้ เพื่อเจตนารมณ์ของการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม
การลุกขึ้นมารับหน้าที่ของปัญญาชนรุ่นใหม่ในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของปุถุชน ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
การทำงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการรบพุ่งกัน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก หากไม่มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละตนเองเพื่อสวนรวม เพราะมันหมายถึงความสุข เวลา และชีวิตที่อาจต้องเสียไป ซึ่งไม่มีใครจะสามรถคาดคิดได้
กว่าหนึ่งทศวรรษที่ปัญหาความรุนแรงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของสังคมมลายูปาตานี สิ่งหนึ่งที่สังคมปาตานีได้ตั้งคำถามก็คือ ตลอดระยะเวลาที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น บทบาทของผู้นำศาสนาและองค์กรทางศาสนาแทบมิเห็นเงาในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับตรงกันข้ามบุคคลเหล่านั้นกลับวางตัวนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและไม่ข้องเกี่ยวกับตัวเองเลย
สิ่งที่น่าเศร้าใจสำหรับสังคมมลายูปาตานีต่อผู้รู้และผู้นำศาสนาบางคนที่กลับวางตัวทำงานเคียงข้างกับภาครัฐและองค์กรของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ เสมือนไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่และที่พี่น้องในพื้นที่กำลังประสบอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ
หากผู้รู้ทางศาสนาบางคนวางตัวนิ่งเฉยหรืออยู่เคียงข้างรัฐ เสมือนเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่ คงมิอาจจะเปรียบได้กับอะไรดีในเมื่อปัญญาชนที่ไม่มีความรู้ด้านศาสนาอย่างลุ่มลึกเท่าผู้รู้ศาสนาบางคน ยังลุกขึ้นมาปกป้องพี่น้องผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ ที่มีเลือดเนื้อและหัวใจอย่างคนทั่วไปเช่นกัน