Skip to main content

 

 

ถอดรหัสอดีตผู้นำแยกดินแดน
“รัฐไทยต้องเอาชนะทางความรู้สึก”
   

“ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลอาจจะบอกว่าให้เยอะแล้ว แต่คนในสามจังหวัดบอกยังไม่ได้ให้อะไรเลย จริงหรือไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขาพูดกันมาอย่างนี้ มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูรู้สึกแบบนั้น รัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เขาเลิกรู้สึกแบบนั้น”

 

ก่อนกลับผมให้เงินไปสองร้อยริงกิต เขาปฏิเสธ บอกให้ผมเก็บเงินของผมเอาไว้ ซึ่งมันแตกต่างจากอดีตมาก ให้แค่สิบริงกิตก็รับแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พวกรุ่นใหม่ไม่เคยมาขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลยว่าพวกที่สู้อยู่เวลานี้เป็นใคร

เราเสนอให้มีการพบปะพูดคุยกับทุกคนทุกกลุ่ม แต่พบกันทีละคน อย่าพบพร้อมๆ กันทีเดียวหลายคน มันจะไม่ได้อะไร แต่ก็ยังไม่เห็นว่าทางการไทยจะทำอะไร ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาอะไรที่เป็นทางการ หรือให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ในห้วง 4 ปีนี้คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของชาวมลายูมุสลิมที่ต้องการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมของตน ตลอดจนเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมจากรัฐไทยเท่านั้น
 
ข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ประการหนึ่งก็คือ มีกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพื่อกอบกู้หรือสถาปนารัฐปัตตานีให้เป็นอิสระจากรัฐไทย ก่อกำเนิดและเคลื่อนไหวมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และกลุ่มขบวนการเหล่านั้นก็มีพัฒนาการทั้งแตกทั้งโตควบคู่กับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา
 
ในช่วงต้น หลังเกิดปรากฏการณ์ ‘ความรุนแรงรอบใหม่’ นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พุ่งเป้าและเทน้ำหนักของผู้กำหนดเกมอยู่เบื้องหลังไปที่ ‘ขบวนการเบอร์ซาตู’ ที่มี ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน เป็นประธาน มีการเปิดโต๊ะพูดคุยกันแบบลับๆ ในลักษณะ Peace Talk หลายครั้ง เป็นเวลานานนับปี กระทั่งนำมาสู่การจัดทำ Peace Plan หรือ ‘แผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย’ ส่งถึงมือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในไตรมาสที่สามของปี พ.ศ.2549 
 
ผู้ที่ร่วมลงนามในแผนสันติภาพฯ ล้วนเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายใต้ร่ม ‘เบอร์ซาตู’ ทั้งสิ้น ได้แก่ อุสตาซมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน ประธานกลุ่มจีเอ็มพี, นายรอซี บิน ฮัดซัน รองประธานกลุ่มพูโล, อุสตาซอับดุลเลาะห์ บิน อิสมาแอล ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานเบอร์ซาตู
 
แต่แล้วกระบวนการสันติภาพก็หาได้เกิดขึ้นและเดินหน้าเป็นรูปธรรมตามแผนดังกล่าวไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงของไทยประเมินแล้วว่า กลุ่มขบวนการเหล่านี้ไม่ใช่ตัวจักรอันสำคัญที่ขับเคลื่อนสถานการณ์ ความรุนแรงรอบใหม่ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนเป็นต้นมา 
 
ความล้มเหลวในแง่ผลลัพธ์เพื่อยุติความรุนแรงรายวันจากการเปิดโต๊ะเจรจากับแกนนำ ‘เบอร์ซาตู’ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยจัดกลุ่มขบวนการใต้ร่มของ ‘เบอร์ซาตู’ ว่าเป็น ‘กลุ่มเก่า’ ที่ไม่ได้มีอิทธิพลกับความเคลื่อนไหวและการก่อสถานการณ์ร้ายที่ยังหาจุดจบไม่ได้ในปัจจุบัน
 
โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุในห้วง 4 ปีหลังมานี้ถูกทางการไทยจัดให้เป็น ‘กลุ่มใหม่’ ที่เรียกรวมๆ ว่า ‘กลุ่มก่อความไม่สงบ’
 
อย่างไรก็ดี บริบทความเคลื่อนไหวทั้งในแง่ของการเจรจาสันติภาพ และการขีดเส้นแบ่งศักยภาพของกลุ่มขบวนการเท่าที่ผ่านมา ล้วนมาจากการเปิดเผยอย่างกระท่อนกระแท่นของผู้รับผิดชอบในรัฐบาลไทยทั้งสิ้น หาใช่การถอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากบุคคลใน ‘กลุ่มเก่า’ เหล่านั้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้และสังเคราะห์ร่วมกันในการค้นหาทางออกของปัญหาแต่อย่างใด
 
ทั้งๆ ที่การเรียนรู้อดีตอย่างถ่องแท้ ย่อมเป็นประโยชน์อย่างเอนกอนันต์กับการหาคำตอบของปัจจุบันและอนาคต!
 
ด้วยเหตุนี้ทีมงาน ‘ดีพเซาท์ บุ๊คกาซีน’ จึงพยายามนัดพบกับบุคคลในระดับนำของ ‘ขบวนการในอดีต’ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้วิธีคิด ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่ต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนั้นน่าจะสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ถูกละเลย แต่อาจเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ของการถอดสลักความรุนแรงในปัจจุบันก็เป็นได้
 
และความพยายามของทีมงาน ‘ดีพเซาท์ฯ’ ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรามีโอกาสได้พบปะกับ ‘แกนนำขบวนการ’ ของ ‘กลุ่มเก่า’ รายหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐไทยเคยต้องการตัวอย่างยิ่ง โดยเราเปิดวงสนทนากัน ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง
 
ถ้าไม่สู้...เราก็ตาย
 
ในช่วงต้นของการพูดคุย เราได้สอบถามความเห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่ง ‘แกนนำขบวนการในอดีต’ ผู้นี้ออกตัวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุร้ายนานาชนิดที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี เพราะไม่คิดว่าจะเป็นทางออกของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในขณะเดียวกันเขาเห็นว่า การใช้ช่องทางการต่อสู้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการปกครองให้กับท้องถิ่น น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้คนมลายูมุสลิมได้มีโอกาสกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง
 
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า จากการที่ได้สื่อสารกับ ‘นักรบกลุ่มใหม่’ หลายๆ คน ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่กลายเป็นแรงขับดันของการต่อสู้โดยเลือกใช้ความรุนแรง 
 
"มีหลายคนเคยมาหาผม ผมถามเขาว่าจะสู้ไปทำไม เราสู้มานานก็ยังไม่ชนะ สยามมีกองทัพมหาศาล สู้ไปเราก็ตาย แต่เขาบอกกับผมว่า ถ้าไม่สู้เราก็ตาย แต่หากเลือกแนวทางต่อสู้ถึงตายก็มีเกียรติ" แกนนำขบวนการในอดีต บอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจถึงแนวทางของขบวนการรุ่นใหม่ซึ่งถูกกดดันปราบปรามด้วยวิธีการรุนแรง ก่อนที่พวกเขาจะใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
 
เขาวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้เกิด ‘นับรบกลุ่มใหม่’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีแนวคิดรุนแรง ก็คือนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ในอดีต และยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกระทั่งถึงปัจจุบัน
 
"ผมขอพูดตรงๆ ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่โดนใจพี่น้องมลายูในสามจังหวัด ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามจึงไม่ใช่ทางออก แต่รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายใหม่ๆ ที่โดนใจพี่น้องมลายู หากทำได้ก็จะแก้ปัญหาได้เอง" 
 
เราถามว่า ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลไทยก็ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ส่งผลต่อคนในสามจังหวัดหลายประการ เหตุใดความรุนแรงจึงยังไม่ทุเลา แต่ ‘นักต่อสู้ทางความคิด’ ผู้นี้กลับย้อนถามยิ้มๆ ว่า ก็เพราะเกิดความรุนแรงใช่หรือไม่ รัฐบาลไทยถึงยอมปรับท่าที
 
"การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลไทยมีขึ้นหลังเกิดความรุนแรงอย่างหนักในช่วงหลัง ทำให้กลุ่มใหม่ที่เคลื่อนไหวทุกวันนี้ยังอยู่ได้ ทั้งๆ ที่พี่น้องมลายูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรง" เขาสรุป
 
‘เขตปกครองพิเศษ’ ไม่แก้ปัญหา
 
เราเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษตามที่รัฐมนตรีมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นำเสนอ ก็น่าจะเป็นทางออกที่สามารถแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เหมือนกัน แต่ ‘แกนนำขบวนการในอดีต’ ที่วันนี้อยู่ในวัยล่วงเลย 60 ปี กลับปฏิเสธด้วยน้ำเสียงไร้เยื่อใย
 
"เขตปกครองพิเศษแก้ไม่ได้ ซ้ำจะยิ่งสร้างปัญหาตามมา เพราะเขตปกครองพิเศษจะทำให้พวกเขา (ขบวนการแยกดินแดนรุ่นใหม่) แข็งขึ้นเป็นขั้นแรก ก่อนก้าวไปสู่การแบ่งแยกดินแดน” 
 
เขาอธิบายประเด็นนี้โดยแยกเป็น 2 มิติ คือหนึ่ง เป็นที่รู้กันดีว่า นักรบกลุ่มใหม่ ที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อแยกดินแดนตั้งรัฐอิสระ การอนุญาตให้มีเขตปกครองพิเศษจึงเท่ากับเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการจัดตั้งรัฐใหม่ ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่มีวันยอม
 
กับสอง เขตปกครองพิเศษไม่ใช่สิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการ เพราะการบริหารจัดการเขตปกครองพิเศษไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญหากมีเขตปกครองพิเศษเกิดขึ้นจริง ก็จะต้องมีการเลือกตัวผู้นำขึ้นมาบริหาร และนั่นอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวมลายู ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องในสามจังหวัดไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
 
"ทางออกที่แท้จริงคือรัฐบาลไทยต้องทำนโยบายให้ถูกใจประชาชนในพื้นที่" เขาเน้นข้อเสนอเดิมของตัวเอง 
 
ต้องจัดการความรู้สึก
 
เราซักว่า อะไรคือนโยบายที่ถูกใจคนมลายูในสามจังหวัด ‘ผู้นำขบวนการในอดีต’ ซึ่งต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปีตอบว่า จะต้องเป็นนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในความรู้สึกของพี่น้องชาวมลายู 
"ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลอาจจะบอกว่าให้เยอะแล้ว แต่คนในสามจังหวัดบอกยังไม่ได้ให้อะไรเลย จริงหรือไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขาพูดกันมาอย่างนี้ อย่างเรื่องการพัฒนาอะไรต่างๆ รัฐอาจจะบอกว่าทำตั้งเยอะแล้ว แต่คนในพื้นที่บอกว่ายังไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูรู้สึกแบบนั้น ผมคิดอย่างนั้นนะ แต่จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ ฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เขาเลิกรู้สึกแบบนั้น"
 
อดีตนักสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ยังอธิบายว่า ความเท่าเทียมคือสิ่งที่ชาวมลายูในสามจังหวัดต้องการมากที่สุด มันคือความเท่าเทียมที่เทียบเท่ากับคนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ไม่ใช่ความรู้สึกแบบพลเมืองชั้นสอง หรือถูกมองในลักษณะเป็น ‘อาณานิคม’
 
"ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูเขารู้สึกแบบนี้ ฉะนั้นรัฐต้องจัดการเรื่องความรู้สึก" เขาระบุ
 
ปริศนาที่น่ากลัว
 
แน่นอนว่าการจัดการกับความรู้สึกไม่เท่าเทียมของพี่น้องมลายูในสามจังหวัด ย่อมเป็น ‘กุญแจ’ ที่จะไขสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวและอย่างยั่งยืน ทว่าโจทย์ใหญ่ ณ วันนี้ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการกับความรุนแรงรายวันที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย
 
นั่นหมายถึงว่ารัฐไทยจะต้องไขปริศนาให้ได้เสียก่อนว่า ใครคือผู้กำหนดสถานการณ์อยู่ในปัจจุบัน?
แต่คำตอบจาก ‘ผู้นำขบวนการในอดีต’ ผู้นี้กลับทำให้ปริศนาดำมืดนั้น ยิ่งน่ากลัวกว่าที่คาด
 
"ผมไม่รู้จริงๆ ว่าใครที่ทำให้เกิดความรุนแรงอยู่ในขณะนี้" เขาบอกด้วยน้ำเสียงทดท้อ "ที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มเก่าๆ หลายคนที่ยังติดต่อสื่อสารกันอยู่ ก็เคยนั่งคุยกัน และทุกคนก็สงสัยเหมือนกันว่า ใครที่สร้างสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้"
 
กระนั้น อดีตนักสู้อย่างเขาก็ยอมรับว่า เคยพบปะพูดคุยกับ ‘นักรบกลุ่มใหม่’ อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ท่าทีที่ได้สัมผัสกลับไม่ใช่ ‘มิตรภาพ’ ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันพึงได้รับ แต่กลับเป็นการข่มขู่ 
 
"เขาเคยส่งคนมาพูดกับผม" ผู้นำขบวนการในอดีตพูดถึงระดับแกนนำของนักรบรุ่นใหม่ "คนที่มาหาผมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น มากันครั้งละ 2-3 คน มาหาผมที่บ้านตอนดึกๆ บางทีก็มาเรียกผมตอนตี 1 ตี 2 ผมก็จำต้องเปิดประตูให้ เขามาเพื่อจะบอกผมว่าไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้น ทุกอย่างเขาจัดการเองได้”
 
“ก่อนกลับผมให้เงินไปสองร้อยริงกิต เขาปฏิเสธ บอกให้ผมเก็บเงินของผมเอาไว้ ซึ่งมันแตกต่างจากอดีตมาก ให้แค่สิบริงกิตก็รับแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พวกรุ่นใหม่ไม่เคยมาขอความช่วยเหลือ หรือขอให้พวกเรารุ่นเก่าช่วยเหลืออะไรเลยซึ่งผมว่ามันแปลกมาก เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลยว่าพวกที่สู้อยู่เวลานี้เป็นใคร"
 
อดีตนักสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน วิเคราะห์ว่า ท่าทีของนักรบรุ่นใหม่คือการ ‘ปราม’ ไม่ให้คนใน ‘กลุ่มเก่า’ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะรู้ดีว่าแนวทางที่ ‘กลุ่มเก่า’ ดำเนินการนั้นสวนทางกับแนวคิดของ ‘กลุ่มใหม่’ ที่เลือกใช้ความรุนแรง 
 
"เขารู้ว่าถ้าผมพูดอะไรออกไปจะมีผลกับพวกเขา เพราะผมมีพรรคพวกเยอะ และมีคนจำนวนมากในสามจังหวัดที่ยังเชื่อผมอยู่ เขาจึงไม่ต้องการให้ผมพูดอะไรเลย”
 
“พวกผมในขณะนี้ต้องระวังสามฝ่าย หนึ่งคือรัฐบาลไทย สองคือมาเลเซีย และสามคือขบวนการด้วยกันเอง แต่วันนี้ผมจะกลับเมืองไทยก็ได้ สำหรับผม ทางการไทยไม่ใช่สิ่งที่ผมกังวล แต่ผมกังวลคนกันเอง คือพวกขบวนการที่ต่อสู้อยู่นี่แหละ”
 
เขายังวิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า การปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือในทุกทางจากขบวนการในอดีต ในแง่หนึ่งย่อมเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของขบวนการในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ตลอดจนอาจจะมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ จากต่างประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเข้ามาสนับสนุนขบวนการในปัจจุบัน ซึ่งจากประสบการณ์การต่อสู้ของเขานั้นเห็นว่าทั้งสองแนวทางนี้ มีความเป็นไปได้สูง
 
ใครอยู่เบื้องหลังไฟใต้?
 
แม้คู่สนทนาของเราจะไม่อาจให้คำตอบได้ว่า ใครคือผู้กำหนดสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ แต่เขาก็เชื่อว่า เบื้องหลังของสถานการณ์ย่อมลึกล้ำกว่าการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนกลุ่มเดียว 
 
"ผมเชื่อว่าปัญหาปักษ์ใต้ยังแก้ไขได้ หากรัฐบาลไทยมีความจริงจังที่จะแก้ปัญหา แต่สาเหตุที่มันแก้ไม่ได้ เพราะทางการไทยไม่จริงจัง และมีคนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้" 
 
เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สถานการณ์ความรุนแรงดำเนินมาถึง 4 ปีเต็มแล้ว แต่รัฐไทยยังแก้ไขอะไรไม่ได้ สมมติฐานของเขาจึงมีอยู่ 2 ประการ คือหนึ่ง รัฐบาลไทยไม่พยายามแก้ไขเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง หรือสอง มีใครบางคนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ และคนที่อยู่เบื้องหลังนั้นมีศักยภาพสูงพอที่จะต่อกรกับรัฐไทยได้ทั้งที่มีกำลังพลมหาศาล และอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน
 
แต่ดูเหมือนอดีตนักสู้อย่างเขาจะเทน้ำหนักไปยังสมมติฐานที่สอง...
 
"ถ้ากลุ่มที่ก่อการอยู่ไม่มีใครช่วย หรือไม่มีเบื้องหลังเลยจริงๆ ก็ไม่น่ากลัว และรัฐบาลไทยก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะเดี๋ยวก็น้ำมันหมด" เขากล่าวกลั้วหัวเราะ ซึ่งเป็นเสียงหัวเราะเพียงไม่กี่ครั้งตลอดการสนทนา 
 
"แต่ผมวิเคราะห์แล้ว ผมเชื่อว่าต้องมีเบื้องหลังแน่นอน ลองเทียบกับสมัยผม เราพยายามกันขนาดไหน แต่ผลที่ได้กลับไม่ถึงแม้สักครึ่งหนึ่งของสถานการณ์ในวันนี้ ถามว่าเขาเก่งขนาดนั้นเลยหรือ...ผมว่าไม่ใช่ หลายคนที่ทางการไทยบอกว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการผมก็รู้จัก อย่าง สะแปอิง บาซอ (ผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังที่ถูกระบุจากทางการไทยว่าเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ) ถ้าถามผม ผมไม่มีทางเชื่อว่าเขาทำ เพราะบุคลิกเขาไม่ใช่คนที่จะใช้ความรุนแรง"
 
"หรืออย่าง เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ (แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบตามหมายจับของรัฐบาลไทย ปัจจุบันถูกควบคุมตัวโดยทางการมาเลเซีย) เขาเคยมาพูดกับพวกผม มีการประชุมกัน เขาคิดแต่เรื่องความรุนแรง บอกว่าเอาเงินมาเพื่อให้เขาไปก่อเหตุ เขาคิดได้แค่นั้น ผมจึงไม่เชื่อว่าความคิดระดับเขาจะทำให้เกิดสถานการณ์ขนาดนี้ได้" 
 
และแม้อดีตนักสู้วัยชราจะเห็นตรงกับฝ่ายความมั่นคงของไทยว่า กลุ่มที่ขับเคลื่อนความรุนแรงอยู่ในปัจจุบันคือ บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตไว้ให้คิดต่อว่า "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต พยายามเคลมว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่พวกเขาทำ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?" 
 
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ ‘อดีตผู้นำขบวนการ’ อย่างเขาปักใจเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคนอยู่ ‘เบื้องหลัง’ อย่างแน่นอน ก็คือการไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆ จากขบวนการเก่าๆ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่เอง
 
"สมัยก่อนที่ผมต่อสู้ เราต้องหาเงินกันอย่างยากลำบาก จะซื้อปืนสักกระบอก หรือจะซื้อกระสุนกันที ต้องเรี่ยไรเอากับพรรคพวกเพื่อนฝูง เมื่อก่อเหตุได้ครั้งหนึ่ง ก็ต้องหยุดไปนานเพื่อหลบหนี ทั้งยังต้องระวังไม่ให้กระทบกับพี่น้องชาวมุสลิม แต่นี่เขาไม่สนใจเลย เขาสร้างความรุนแรงได้ทุกวันโดยไม่สนใจว่าเป้าหมายเป็นใครบ้าง และไม่ต้องการการสนับสนุนอะไรทั้งนั้น ขนาดเราเสนอว่าจะช่วย เขายังไม่รับ บอกไม่ต้องมายุ่ง ทั้งๆ ที่การจะเอาชนะรัฐบาลไทยได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่ม แต่นี่เขาไม่ต้องการ แสดงว่าเขามีคนสนับสนุนที่ใหญ่โตพอสมควร" 
 
แยกดินแดนแน่หรือ?
 
ปัญหาที่ ‘นักสู้ในอดีต’ อย่างเขาตั้งคำถามก็คือ กลุ่มที่ก่อการอยู่ทุกวันนี้ต้องการแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสระแน่หรือ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าการแยกดินแดนในปัจจุบันเกิดขึ้นยากมาก โดยเฉพาะหากประเทศมหาอำนาจไม่หนุนหลัง 
 
และนั่นได้กลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับไปสู่โจทย์เดิมว่า มีใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด และทำไปเพื่ออะไร? 
 
สมมติฐานที่ร่วมกันตั้งในวงสนทนามี 2 ประการ คือ ‘ประเทศในตะวันออกกลาง’ หรือ ‘สหรัฐอเมริกา’ 
"ถ้าเป็นประเทศในตะวันออกกลางเข้ามาสนับสนุนหรือสั่งการอะไร พวกผมต้องรู้บ้าง เพราะหลายคนที่เป็นผู้นำอยู่ในตะวันออกกลาง ผมรู้จักดี ถ้าเขาจะเข้ามาจัดการอะไรในสามจังหวัดผมต้องรู้ หรืออย่างน้อยก็น่าจะมาหา มาปรึกษาหารือกับพวกผมบ้าง" 
 
เมื่อสมมติฐานแรกตกไป จึงเหลือเพียง ‘สหรัฐอเมริกา’ คราวนี้เขาตอบอย่างครุ่นคิด
 
"ถ้าเป็นอเมริกา ก็มีเหตุผลเกี่ยวกับทรัพยากรและแร่ธาตุในสามจังหวัด ซึ่งเชื่อกันว่ามีทั้งใต้ดินและในทะเล" เขาวิเคราะห์ แต่ก็แย้งสมมติฐานนี้เองว่า "พื้นที่สามจังหวัดน่าจะเล็กเกินไปที่อเมริกาจะต้องมาสร้างสถานการณ์อะไรที่มันใหญ่โตขนาดนี้" 
 
"หรือกลไกรัฐของไทยสร้างสถานการณ์เอง เพื่อผลประโยชน์เรื่องค้าของเถื่อนและยาเสพติด" เราถาม 
แต่ ‘ผู้นำขบวนการในอดีต’ ตอกย้ำข้อสังเกตเดิม "มันก็มากเกินไปเหมือนกันที่รัฐไทยจะมาสร้างสถานการณ์ถึงขั้นนี้" 
 
ไฟใต้ในสายตาโลก
 
ข้อสงสัยคาใจข้อหนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา คือบทบาทของเพื่อนบ้านอย่าง ‘มาเลเซีย’ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลมาเลเซียเสมอ ในฐานะที่ลี้ภัยอยู่ในมาเลเซียตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เขาบอกว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้จะเป็นประโยชน์ให้มาเลเซียใช้เป็นจุดแข็งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไทย แต่ในขณะเดียวกันมาเลเซียก็มีความเกรงใจต่อท่าทีของไทยไม่น้อย แม้จะยอมให้สมาชิกขบวนการต่อต้านรัฐบาลไทยลี้ภัยอยู่ในประเทศได้ แต่มาเลเซียก็ไม่ยอมให้ขบวนการใดใช้พื้นที่ของประเทศกระทำการที่แสดงออกโดยตรงถึงการต่อต้านรัฐบาลไทย
 
“แม้กระทั่งผมก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พูดผ่านสื่อก็ไม่ได้ ตราบใดที่ยังต้องอยู่ในมาเลเซีย เมื่อใดก็ตามที่เปิดเผยตัวตน พูดจาสิ่งใดออกไปในขณะที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย เขาไม่ยอม ผมอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้”
 
นี่คือเหตุผลที่แกนนำขบวนการในอดีตอย่างเขาต้องใช้ชีวิตอย่างเก็บตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเหตุผลสำคัญที่เขามิยอมให้เราเปิดเผยชื่อของเขาออกไป
 
เขายกตัวอย่างกรณีทางการมาเลเซีย ส่งตัวอดีตผู้นำกลุ่มพูโลใหม่ให้ทางการไทยดำเนินคดีในช่วงปี 2541 ว่า เป็นทางออกของมาเลเซียหลังจากถูกไทยกดดัน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่ถูกส่งตัวให้ทางการไทยเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาในมาเลเซีย ซึ่งนโยบายมาเลเซียจะไม่เลี้ยง ‘คนดื้อ’ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เอาไว้
“แต่หลังจากส่งตัวแกนนำกลุ่มพูโลให้ทางการไทยแล้ว มาเลเซียก็ถูกโลกมุสลิมตำหนิอย่างหนัก ถึงการส่งพี่น้องมุสลิมด้วยกันให้ไทยดำเนินคดี เชื้อพระวงศ์อาหรับพระองค์หนึ่งเคยบอกกับอดีตนายกมหาธีร์ โมฮำมัด ของมาเลเซียว่า ถ้าเลี้ยงคนปัตตานีไม่ได้ก็ให้ส่งมาให้พระองค์ จะทรงเลี้ยงเอง เพราะปัตตานีและขบวนการต่อสู้ของปัตตานีเป็นที่รู้จักดีในโลกมุสลิม หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามาเลเซียส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่ทางการไทยอีกเลย”
 
แต่หากขบวนการก่อความไม่สงบจะได้รับความช่วยเหลือจากโลกมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มอาหรับ อดีตแกนนำขบวนการในอดีตคนนี้ ก็ยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ 
 
“ถ้ามีจริงผมก็น่าจะรู้บ้างในฐานะที่เคยมีสายสัมพันธ์กันมาก่อนยาวนาน ยิ่งการพูดถึงอัลกออิดะห์และเจไอ (กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์) ก็แทบจะไม่น่าเป็นไปได้ เพราะลำพังการเอาตัวรอดก็แทบจะไม่มีที่อยู่กันอยู่แล้ว จะมาช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร บิน ลาเดน (หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์) หนีหัวซุกหัวซุน ขณะที่เจไอก็แทบจะไม่มีฐานการสนับสนุนจากมวลชนทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซียเหลืออยู่เลย”
 
สำหรับมุสลิมมลายูปัตตานีซึ่งตั้งรกรากอยู่ในประเทศสวีเดน ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มพูโลที่ใช้เว็บไซต์และแถลงการณ์ผ่านสื่อในโลกตะวันตก ถือได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวเดียวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดหลังความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้น แต่สำหรับนักต่อสู้อย่างเขากลับเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของกลุ่มพูโลซึ่งอยู่ในสวีเดน เป็นเพียงความพยายามฉกฉวยโอกาสเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจขึ้นมาเท่านั้น
 
“พวกที่อยู่ในสวีเดนก็แทบเอาตัวไม่รอด พวกนี้พึ่งการช่วยเหลือในรูปรัฐสวัสดิการของสวีเดน ทางการไทยเคยขอให้ทางการสวีเดนจัดการกับพวกนี้ สวีเดนบอกพวกนี้ไม่มีอะไร แค่เอาตัวรอดได้ก็ลำบากแล้ว อยู่อย่างพึ่งรัฐสวัสดิการเท่านั้น”
 
เขาเล่าเท้าความไปยังอดีต ถึงที่มาที่ไปของขบวนการมลายูมุสลิมในสวีเดนให้ฟังว่า
 
“สมัยก่อนพวกนี้เป็นนักศึกษาที่ไปเรียนอาหรับ ซัมเมอร์ก็ไปรับจ้างทำสวนในสวีเดน นานๆ ไปก็ตั้งรกราก แล้วมีคนปัตตานีไปอยู่มากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ก็น่าจะมีสักพันกว่าคน แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่มีฐานะที่ดีพอที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
 
“ฉะนั้นพวกนี้ ทั้งที่อยู่ในมาเลเซียและสวีเดน รวมทั้งการสนับสนุนของตะวันออกกลางและโลกมุสลิมอื่นๆ ผมคิดว่าแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ แทบจะไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่มันก่อเหตุอยู่ในเวลานี้ได้เลย”
 
ในสายตาของอดีตแกนนำขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานี เขาไม่เห็นถึงศักยภาพของคนหรือขบวนการในอดีต แต่ที่เขาจับตามองมาตลอดก็คือกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหารายหนึ่งที่ถูกทางการไทยออกหมายจับ ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวได้หลบหนีจาก จ.นราธิวาส ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
 
“คนๆ นี้เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน แต่ผมยังไม่รู้แน่ชัดว่าเขาอยู่ในระดับไหน แต่คิดว่าเป็นคนที่มีศักยภาพคนหนึ่ง เพราะลูกชายของเขาที่ศึกษาอยู่ในอินโดนีเซียก็เป็นถึงประธานเปอร์มิตตี แกนนำกลุ่มเยาวชนนักศึกษาที่ไปเรียนที่อินโดนีเซีย”
 
การเจรจาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
 
สถานการณ์ความไม่สงบที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนไม่อาจคาดเดาได้ถึงจุดยุติ การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการก่อความไม่สงบผุดขึ้นมาให้ได้ยินกันเป็นระยะ ล่าสุดช่วงปลายปี 2549 ดาโต๊ะ มหาธีร์ โมฮำมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เป็นตัวกลางประสานให้มีการพบปะกันระหว่างตัวแทนของทางการไทยกับอดีตผู้นำขบวนการในอดีตซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่สำหรับเขา การพบปะกันครั้งนั้น แม้จะมีโรดแมพเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ แต่มิใช่การเจรจาตกลงร่วมกัน และด้วยวิธีการเช่นนี้ เขาคิดว่าสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นจริง
 
“มหาธีร์แค่เรียกไปพูดคุย บอกว่าให้พวกเราฟังเขา การต่อสู้ของพวกเราจะชนะได้อย่างไร หากเราไม่มีพื้นฐานที่ดี เยาวชนเรายังมีการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่เรายังไม่ดีเลย มหาธีร์บอกว่าต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยต่อสู้ มีเพียงการทำเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้การต่อสู้ได้รับชัยชนะ แล้วก็เอาเอกสารซึ่งอ้างว่าเป็นข้อเสนอที่ทางการไทยร่างขึ้นมาเพื่อจะทำสิ่งต่างๆ ทั้งการให้ความยุติธรรม การพัฒนา แล้วให้พวกเราลงชื่อ พวกเราก็เซ็น แค่นั้น แต่ไม่ใช่ว่ามีการพูดคุยอะไรกับทางรัฐบาลไทย”
 
เขาบอกว่าตลอดระยะเวลาหลังเหตุการณ์ในปี 2547 มีตัวแทนรัฐบาลไทยมาหาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไร 
 
“เขาฟังความเห็นเรา เราเสนอให้มีการพบปะพูดคุยกับทุกคนทุกกลุ่ม คุยกับผู้นำรุ่นเก่าอย่างพวกผมก่อน แล้วค่อยไปเจรจากับรุ่นใหม่ การเจรจาจะได้ผลควรเริ่มจากการพบปะพูดคุยกับคนรุ่นเก่าก่อน คุยกับ ‘ยูแว’ ที่เคยต่อสู้มาก่อน ถึงแม้พวกเราจะไม่สามารถสั่งการโดยตรงกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้อยู่ แต่คนรุ่นเก่าจะรู้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร (พวกเรา) มีพรรคพวกมีเครือข่ายสายสัมพันธ์มากในพื้นที่ มีลูกศิษย์ลูกหา มีคนที่นิยมนับถืออยู่มาก และเมื่อคนรุ่นเก่าบอกว่าไม่เอากับพวกนี้ คนก็จะเชื่อและหันมาปฏิเสธกลุ่มใหม่”
 
“แต่การคุยกับคนรุ่นเก่าไม่ควรคุยพร้อมๆ กัน ควรจะแยกพูดเป็นรายบุคคลก่อน หลังจากนั้นค่อยคุยกันทั้งกลุ่ม เพราะถ้าคุยพร้อมๆ กันทีเดียวหลายคนมันจะไม่ได้อะไร แต่ก็ยังไม่เห็นว่าทางการไทยจะทำอะไร ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาอะไรที่เป็นทางการ หรือให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องการมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกันเท่านั้น”
 
เขายังย้ำเช่นเดิมว่า ตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตก็คือ ‘ความรู้สึก’ ซึ่งประชาชนมลายูปัตตานีได้รับการปลูกฝัง ถ่ายทอดต่อๆ กันมาหลายรุ่นว่าไม่รู้สึกได้รับความเป็นธรรมในสังคมไทย และไม่ว่ารัฐจะเพียรพยายาม ผลักดัน หรือทำนโยบายให้ดีเลิศเพียงใดก็ตามก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ หากไม่อาจขจัดปมแห่งความรู้สึกที่ติดลบนี้ให้ผ่อนคลายลงไป
 
คำตอบอยู่ที่รัฐไทย
 
วงสนทนาในวันนั้นจบลงอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไรนัก และแม้เราจะไม่ได้คำตอบแบบชัดๆ ว่าใครคือผู้บงการจุดไฟใต้ แต่ข้อเสนอจาก ‘อดีตผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน’ ผู้นี้ ที่ให้รัฐไทยหันมา ‘เอาชนะทางความรู้สึก’ กับชาวมลายูในสามจังหวัด ก็เป็นสิ่งที่จะต้องครุ่นคิดพิจารณากันให้จริงจังมากขึ้น
 
"คนที่ถูกเชื่อกันว่าเป็นแกนนำในการควบคุมขบวนการที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งในประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีการปกครองแบบ
 
ประชาธิปไตยเลย ดังนั้น การพูดเรื่องประชาธิปไตยให้คนเหล่านี้ยอมรับจึงเป็นเรื่องยาก แต่รัฐควรแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ชาวมลายูในภาคใต้ได้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับคนไทยส่วนอื่น อีกทั้งเพื่อแสดงความจริงใจ ผมเห็นว่าข้อเสนอหลายประเด็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เป็นสิ่งรัฐไทยควรจะทำเพื่อลดทอนความรู้สึกที่คนมลายูปัตตานีมองรัฐไทยในแง่ลบมาโดยตลอด"
 
นี่คือข้อแนะนำที่กลั่นมาจากประสบการณ์ต่อสู้ร่วม 4 ทศวรรษของเขา 
 
คำพูดของนักปฏิวัติรุ่นเก่าสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงโจทย์สองประเด็นคือ การต่อสู้ระหว่างคนสองรุ่นในขบวนการที่เป็นเสมือนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในสงครามเพื่อตัวตนของชาวมลายูปัตตานี พวกเขาแม้จะมีเป้าหมายเหมือนกัน คือยืนยันอัตลักษณ์ของชุมชนและปิตุภูมิ แต่ก็ต้องมาต่อสู้กันเองในสงครามอัตลักษณ์นี้ด้วย 
 
การต่อสู้กันเองนี้หมายความถึงการแย่งชิงภาพความเป็นตัวแทนอันชอบธรรมในสงครามเพื่อตัวตน ประชาชาติ และศาสนา นักต่อสู้รุ่นใหม่ไม่ต้องการบทบาทของ ‘ยูแว’ นักรบรุ่นเก่า เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดภาพตัวแทนที่บิดเบือนภาพลักษณ์การต่อสู้ของตนและลดความชอบธรรมของตนในการกำหนดตีความทิศทางการต่อสู้ปฏิวัติ แต่ ‘อะไร’ และ ‘ทำไม’ พวกเขาจึงปฏิเสธและระมัดระวังคนรุ่นเก่ามากถึงขนาดนั้น ทำไมพวกเขาถึงกับข่มขู่คุกคามนักรบรุ่นเก่า ถึงขนาดขู่ไม่ให้ยุ่ง ไม่ให้แสดงบทบาท ไม่รับความช่วยเหลือหรือไม่รับแม้แต่คำแนะนำด้วยเจตนาดี 
 
การกระทำของพวกเขาแบบนี้ทำให้นักรบรุ่นเก่าผู้นี้ถึงกับออกปากว่า “..... (เด็ก) พวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่เคารพคนรุ่นเก่า ....” 
 
ท่าทีเช่นนี้นำมาสู่โจทย์ที่สองก็คือ อะไรหรือใครคือเบื้องหลังการต่อสู้ที่รุนแรงแข็งกล้าผิดธรรมชาติของขบวนการรุ่นใหม่ 
 
“.... พวกนี้ไม่น่ากลัว อยู่ได้ไม่นานหรอก เพราะทั้งเป็นเด็ก ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ..... ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน” นักสู้ผู้สูงวัยกล่าวในตอนท้าย   
 
แน่นอนว่าบทสังเคราะห์ส่งท้ายว่าด้วย ‘ใครอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ร้าย’ ย่อมเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหม่ที่น่าสนใจและรัฐไทยมิควรมองข้าม เพื่อหาวิธีการแก้ไขและจัดการความขัดแย้งได้อย่างถูกต้อง
 
หากยังต้องการให้สันติสุขในดินแดนด้ามขวานเกิดขึ้นจริง !

 



 
พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล
"ยุทธศาสตร์ผิด...ยุทธวิธีพลาด"
 
"ประสบการณ์ในภาคใต้มันทำให้เห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของภัยคุกคามรูปแบบใหม่มันมีแฟกเตอร์ใหม่ๆ สำคัญๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นยุทธศาสตร์จะไม่ลึกพอ ไม่เวิร์ค และจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ"

"ภาคใต้ต้องให้ความจริง ไม่ใช่มา ปจว. ไม่ใช่มาให้ข่าวสารในลักษณะที่ว่าลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องให้ความจริงเป็นหลัก เพราะเป็นประชาชนของเรากันเอง ต้องพยายามให้เขาเข้าใจ"

"สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับก็คือ เราคงไม่สามารถไปยุติความรุนแรงได้ 100% ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็แค่ควบคุมไม่ให้ความรุนแรงมันขยายตัว ทำให้คนส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ ผมว่าแค่นั้นก็พอ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสงบ 100%"
 
มิใช่แค่อดีตผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวต่อสู้มาหลายสิบปีเท่านั้นที่มองเห็นจุดอ่อนของรัฐไทยในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ทว่าคนของรัฐเองอย่าง พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ก็มองเห็นจุดอ่อนนั้นเช่นกัน
 
เป็นจุดอ่อนที่ พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่ามีบ่อเกิดมาจากความผิดพลาดตั้งแต่ในขั้นของการกำหนดยุทธศาสตร์เลยทีเดียว และนั่นทำให้รัฐไทยดูประหนึ่งว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำใน ‘สงครามความรู้สึก’ ที่ฉาบอยู่บนสมรภูมิแย่งชิงมวลชน ทั้งๆ ในความเป็นจริงไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นเลย
 
บทวิเคราะห์ของ พล.อ.ไวพจน์ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สมควรให้น้ำหนักและรับฟัง ไม่ใช่เพียงเพราะเขาคืออดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แกนหลักของทีมเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต หรือเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ร่วมยกร่างพิมพ์เขียวดับไฟใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับเท่านั้น
 
แต่คำออกตัวของเขาในช่วงหนึ่งของการพูดคุยที่ว่า "ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยตรงแล้ว ไม่ใช่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) หรือ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) สิ่งที่พูดเป็นแนวคิดหรือข้อมูลจากผู้ที่เคยปฏิบัติหรือติดตามอยู่ และเห็นปัญหาว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของเรามันเดินไปก็จริง เป็นการก้าวเดินที่แม้จะมีความก้าวหน้า แต่มันยังไม่ทันกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะมันยังไม่ใช่การวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง วิธีแก้ปัญหามันจึงยังไม่มี" 
 
ตรงนี้ต่างหากคือปมเงื่อนสำคัญที่เป็นคำตอบว่า เหตุใดการถอดสลักทางความคิดเพื่อขจัดปัญหาความไม่สงบในดินแดนด้ามขวาน จึงต้องฟังประสบการณ์ของ พล.อ.ไวพจน์
 
นับจากบรรทัดนี้ไปคือสายธารความคิดที่หลั่งไหลจากเขา และทั้งหมดจะตอบคำถามที่เขาตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า การวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และวิธีแก้ควรจะเป็นอย่างไร 
 
ยุทธศาสตร์หลงยุค
 
พล.อ.ไวพจน์ เริ่มต้นที่การอธิบายถึง ‘ภัยคุกคาม’ ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน โดยปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นภัยคุกคามแบบหนึ่ง แต่เป็น ‘ภัยคุกคามรูปแบบใหม่’ ทว่าผู้มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ในบ้านเรายังติดอยู่ในกรอบคิดของ ‘ภัยคุกคามรูปแบบเดิม’ ทำให้วางยุทธศาสตร์การแก้ไขที่ไม่กลมกลืนกับปัญหา 
 
"เมื่อก่อนประเทศเราเผชิญกับปัญหาหรือภัยคุกคามที่มีลักษณะเป็น Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบเดิม) เป็น Conventional Warfare (สงครามตามแบบ) แต่ปัจจุบันปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเป็น Non-Traditional Threat (ภัยคุกคามรูปแบบใหม่) หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ ยาเสพติด หรือก่อการร้าย แต่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กำหนดยุทธศาสตร์ยังใช้ factor (ปัจจัย) เดิมๆ ของ Traditional Threat มากำหนดยุทธศาสตร์ใน Non-Traditional Threat มันทำให้ไม่กลมกลืน" 
 
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ มองว่า จริงๆ แล้วจากประสบการณ์การเรียนรู้ปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง 1-2 ปีแรกหลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ถูกต้องตรงกับปัญหาได้ในปัจจุบัน แต่อุปสรรคที่กางกั้นดูจะลึกกว่านั้น
"ประสบการณ์ในภาคใต้มันทำให้เห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของ Non-Traditional Threat มันมีแฟกเตอร์ใหม่ๆ สำคัญๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นยุทธศาสตร์จะไม่ลึกพอ ไม่เวิร์ค และจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่การเปลี่ยนวิธีคิดของพวกทหารหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งศึกษาด้านนี้มา 20-30 ปี มันก็มุ่งแต่ Traditional Threat มันจึงยังเปลี่ยนแปลงได้ช้า" 
 
นายทหารที่เคยนั่งในตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงทั้ง ผบ.ศรภ.และ ผอ.สขช.ชี้ว่า ด้วยปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาในปัญหาภาคใต้นั่นเอง ทำให้ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ไขต้องเป็น ‘ยุทธศาสตร์แยกส่วน’ เพราะไม่สามารถนำยุทธศาสตร์แบบ one size fit all (ยุทธศาสตร์เดียวใช้ได้กับทุกสถานการณ์) มาใช้ได้แบบเดิมอีกแล้ว 
 
เขาอธิบายแนวคิดอันเป็นที่มาของยุทธศาสตร์แยกส่วนว่า จากการวิเคราะห์สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่เพราะความอยุติธรรม การไม่มีงานทำ หรือผลกระทบอื่นๆ เดิมๆ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้ใจรัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอยากใช้ความรุนแรง ฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่ใช้จะต้องแยกระหว่างประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์หนึ่ง กับผู้ใช้ความรุนแรงก็ต้องมีอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง 
 
"ไม่ใช่คุณมียุทธศาสตร์เดียวแล้วใช้เหมารวมทั้งประชาชนและผู้ก่อความรุนแรง" เขาระบุ 
 
และไม่เพียงต้องมียุทธศาสตร์แยกส่วนเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายังต้องแบ่งเป็นระยะ หรือ เฟส (phase) เพื่อให้สามารถใช้ยุทธศาสตร์ได้ตรงตามสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลาและพื้นที่ด้วย 
 
“ถ้าเผื่อในพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ก็ต้องให้ทหารนำ เพราะทหารถูกฝึกมาสำหรับวางยุทธศาสตร์ในยามไม่ปกติ แล้วกระทรวงอื่นก็ต้องตาม คอยสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ของฝ่ายทหาร ไม่ใช่แยกไปกระทรวงใครกระทรวงมันแล้วก็มีเป้าหมายของตัวเอง”
 
“ส่วนในพื้นที่ที่ความรุนแรงเริ่มลดลง ก็ให้กระทรวงอื่นๆ เขานำ แล้วทหารก็ดูว่าจะสนับสนุนอะไรเขา ไม่ใช่ กอ.รมน.ภาค 4 ไปกวาดทุกพื้นที่ คุณต้องมาซอยแยกแต่ละส่วน” 
 
รัฐบาลไม่เต็มร้อย
 
นอกจากการมองปัญหาที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ภัยคุกคาม จนนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดแล้ว พล.อ.ไวพจน์ ยังเห็นว่า ยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีที่ใช้ในภาคใต้ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ก็ยังเหลื่อมซ้อนกันมาก 
 
เห็นได้จากในช่วงเริ่มต้นของการรับมือกับสถานการณ์ภาคใต้ ฝ่ายความมั่นคงยังแบ่งว่านี่คือยุทธศาสตร์ หน่วยในกรุงเทพฯ จะเป็นผู้กำหนด เมื่อทำยุทธศาสตร์เสร็จแล้วก็ส่งไปยังหน่วยปฏิบัติ คือ กอ.รมน.ภาค 4 จากนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ก็ไปแปรยุทธศาสตร์เป็นการปฏิบัติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้ ทำให้คิดในกรอบเก่าไม่ได้อีกต่อไป 
 
"สมมติผมวางยุทธศาสตร์อยู่ในกรุงเทพฯ ผมรับข้อมูลจากในพื้นที่มา ผมก็อาจจะมีแฟกเตอร์ในการพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สัก 10 แฟกเตอร์ แต่เมื่อเอายุทธศาสตร์ที่ผมวางไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้แล้ว มันจะมีอีก 10-20 แฟกเตอร์เพิ่มขึ้นมา เพราะในพื้นที่มันมีปัญหาอะไรอีกเยอะแยะ”
 
“แล้วในภาคใต้มันก็ยังมีว่า เงื่อนไขในแต่ละหมู่บ้านก็ต่างกัน ฉะนั้นคุณจะมาใช้ one size fit all แบบเดิมไม่ได้ มันต้องเข้าใจพื้นที่ เข้าใจสภาพสังคมในภาคใต้ด้วย เหตุนี้เมื่อจะวางยุทธศาสตร์จึงต้องเข้าใจยุทธวิธี เพราะไม่อย่างนั้นความเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติจะไม่มีเลย" 
 
ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องยังไม่เกิดขึ้น ก็คือเจตจำนงของรัฐบาล หรือ Political Will
 
"ในสถานการณ์ของ Non-Traditional Threat แฟกเตอร์อันหนึ่งคือ Political Will ของรัฐบาลต้อง 100% แต่ว่า Political Will ของรัฐบาลตอนนี้ อาจจะเนื่องจากต้องคำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก จึงมีเรื่องอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่า ทั้งๆ ที่ Political Will ในการแก้ไขปัญหาต้อง 100% ทั้งตัวรัฐบาลเองและทั้งผู้ปฏิบัติด้วย" 
 
เมื่อเจตจำนงของรัฐบาลยังไม่เต็มร้อย ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การยอมรับในยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาก็จะไม่มี และนั่นทำให้ยุทธวิธีที่หน่วยงานความมั่นคงใช้ในพื้นที่ตลอดมาค่อนข้างสะเปะสะปะ
 
เอกภาพยังไม่เกิด
 
พล.อ.ไวพจน์ ขยายความว่า ขั้นตอนการทำยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมนั้นมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นที่หนึ่ง จะต้องมี Good Strategy (แผนการหรือยุทธวิธีที่ดี) เสียก่อน 
 
"ผมเห็นว่าในภาคใต้เรายังไม่ Good Strategy สักเท่าไหร่ เนื่องจากวิธีคิดหรือกรอบคิดมันยังแคบอยู่ ถ้าคุณคิดจะแก้ปัญหาภาคใต้คุณต้องคิด beyond ปัญหา คิด beyond ภาคใต้ (คิดเกินกว่าขอบเขตปัญหาภาคใต้) มันจึงจะแก้ได้ เพราะปัญหามันเกี่ยวโยงกันเยอะมากในปัจจุบัน ถ้าคุณจะคิดแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยมองแค่ภาคใต้เท่านั้น คุณไม่มีทางแก้ได้" อดีต ผอ.สขช.ระบุ พร้อมอธิบายต่อ
 
ขั้นที่สอง คือต้องสร้างให้เกิดการยอมรับในยุทธศาสตร์ แต่จากประสบการณ์ของเขาเห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการยอมรับยุทธศาสตร์กันสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในภาพรวม (large scale) 
 
"มันไม่เหมือนกับตอนทำนโยบาย 66/23" พล.อ.ไวพจน์ ยกตัวอย่างถึงการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในอดีต "ช่วงนั้นทุกคนก็งง...เอ๊ะมันอะไร แต่รัฐบาลได้จัดทีมออกไปทุกภาคทุกส่วน ไปอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 66/23 ใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี กว่าที่ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าเอาอันนี้นะ" 
 
เขาชี้ว่า การจัดอบรมชี้แจง นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันแล้ว ยังทำให้เกิดการต่อยอดทางยุทธวิธีภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เดียวกัน 
 
“มันจะมีความคิดริเริ่มในท้องถิ่นว่า ถ้าจะทำตามยุทธศาสตร์ 66/23 ที่ขอนแก่นทำอย่างไร ที่อุดรธานีทำอย่างไร เพราะมันไม่สามารถที่จะมีโมเดลเดียวแล้วใช้ได้ในทุกพื้นที่ เพียงแต่ทุกคนต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์มันเป็นแบบนี้ก่อน แล้วคุณไปต่อยอดเอาเองตามเงื่อนไขในพื้นที่ของตน แต่ปัญหาภาคใต้ในปัจจุบันเมื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ข้างล่างก็จะไม่สามารถแตกออกเป็นโครงการหรืออะไรที่เหมาะสมได้" 
 
ในฐานะนายทหารนักยุทธศาสตร์ เขาย้ำว่าหากสร้างการยอมรับในยุทธศาสตร์ใหญ่ไม่ได้ จะทำให้ปัญหาบานปลาย และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ  
 
"การไม่สามารถทำให้ยุทธศาสตร์เป็นที่ยอมรับ มันทำให้การแปรนโยบายหรือยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่มันสะเปะสะปะ ประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด งบประมาณก็จำกัด เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ด้วยการลองผิดลองถูกได้มากมาย เพราะฉะนั้นการสร้างให้เกิดการยอมรับมันจะช่วยทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เขากล่าว พร้อมตั้งคำถามที่อาจทำให้ใครหลายคนสะอึกได้เหมือนกัน 
 
"ดูสิเราทุ่มเงินไปเท่าไหร่ ทุ่มไปกี่หมื่นล้านแล้วในภาคใต้ แต่ว่ามีผลอะไรออกมาหรือไม่ คุณไม่ต้องไปใช้เครื่องมือประเมินผลที่ทันสมัยอะไรเลย วันนี้ก็เห็นอยู่ว่าประชาชนดีขึ้นไหม สถานการณ์ดีขึ้นไหม มันเห็นชัดๆ ว่ายุทธศาสตร์เรามันยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ การแปรนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติมันจึงยังไม่ดี" 
 
ต้องมีทีมมอนิเตอร์
 
สำหรับขั้นตอนที่ 3 ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เป็นรูปธรรมได้ก็คือ การควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้รับผิดชอบทุกระดับ 
 
"สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในเรื่อง Non-Traditional Threat” พล.อ.ไวพจน์ว่า “ฉะนั้นการกำกับดูแลเพื่อจะปรับยุทธศาสตร์ ปรับวิธีคิด มันจะต้องมี Monitoring Team (คณะทำงานที่คอยกำกับดูแล) จะมาใช้วิธีแบบเดิมที่ว่ารอให้มันสุกงอมก่อนแล้วค่อยไปปรับคงไม่ได้ มันต้องปรับเร็ว เพราะจะเห็นได้ว่าอีกฝ่ายเขาปรับของเขาตลอด แต่ของเรานี่ช้า ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องโครงสร้างของระบบราชการนี่แหละ" 
 
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ซึ่งยังเป็นนายทหารประจำการอยู่ในปัจจุบัน ออกตัวว่า ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิหรือโทษกันเอง 
 
"นี่ไม่ใช่การโทษกันนะ และที่พูดมาก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่รับผิดชอบเขาไม่ทำงานหรือเขาไม่พยายามปรับ เขาก็ทำ เขาก็ปรับ เพราะคนที่มีความคิดแบบผมเชื่อว่ายังมีอีกเยอะ แต่ว่ามันยังไม่สามารถนำไปสู่รูปธรรมในการปรับโครงสร้างใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นภาคใต้มันถึงยังเป็นอย่างนี้" 
 
ยุทธศาสตร์ที่ขาด ‘ทางเลือก’
 
ด้วยความที่ศึกษาและค้นคว้าเรื่องการทำยุทธศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทำให้นายทหารผู้นี้เห็นว่า จุดอ่อนสำคัญของนักยุทธศาสตร์เมืองไทยคือ การไม่พยายาม ‘คิดต่าง’ เพื่อสร้าง ‘ทางเลือก’ ให้กับผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปใช้
 
"ต้องเข้าใจว่าเมื่อคุณอยู่ในจุดที่กำหนดยุทธศาสตร์หรือนโยบายในระดับชาติได้ คุณต้องพร้อมจะแตกต่างได้ ไม่อย่างนั้นมันก็ตามกระแสกันไปหมด ยุทธศาสตร์เมืองไทยมันตามกระแสกันหมด ฉะนั้นคุณต้องยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสร้าง option (ทางเลือก) ให้กับรัฐบาล ให้กับผู้นำยุทธศาสตร์ไปใช้" 
 
พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของการสร้าง option ที่ดีที่สุด 
 
“ฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่ดีจึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ตามกระแสแบบที่เราเป็นอยู่ ผมถึงบอกว่ามันไม่ Good Strategy ก็เพราะอย่างนี้ ยุทธศาสตร์เป็นเรื่อง option คุณไปประเทศไหนๆ เขาก็พยายามจะสร้าง option แล้วก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เหมาะกับห้วงเวลานั้นๆ" 
 
"เพราะฉะนั้นคนที่กำหนดยุทธศาสตร์ คุณต้องยืนหยัดใน option ของตัวเอง และสามารถสร้าง option หลายๆ option ได้ เพื่อให้ทันเกมของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้มันมีทางเลือกหลากหลาย และผู้ใช้ยุทธศาสตร์ก็ต้องใจกว้างพอที่จะพิจารณา ไม่ใช่...อันนี้เอ็งคิดแตกต่างจากข้า ก็เลยไม่เอา...ถ้าอย่างนั้นประเทศเราก็เป็นอย่างนี้ คือไม่มี option ที่ดีพอ" 
 
ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เปรียบ
 
จากปมปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมา ทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคงเสียเปรียบฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อการไม่เชิงว่าได้เปรียบรัฐสักเท่าไหร่ 
"ทางทหารเราพยายามใช้ Preventive (ยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน) เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกหรือป้องปรามก่อนที่เหตุการณ์จะเกิด ฉะนั้นเราก็จะวาดภาพว่า จากข้อมูลอย่างนี้ ฝ่ายตรงข้ามพยายามจะนำไปสู่อะไร และมันก็มีภาพหนึ่งที่พอจะนำมาพูดคุยได้ ก็คือว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วยการสร้างความรุนแรงรูปแบบต่างๆ" 
 
"สาเหตุก็คือฝ่ายโน้นก็รู้ว่าเขาไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสร้างให้เห็นว่า รัฐบาลกดขี่ รัฐบาลไม่ยุติธรรม สร้างความขัดแย้งทางศาสนาว่าคนพุทธกดขี่ เพื่อให้องค์กรหรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศซึ่งเข้มแข็งมากในปัจจุบันเข้ามาสนับสนุน และมันก็มีกระแสเข้ามา" 
 
จุดนี้เองที่ย้อนกลับมาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์แบบแยกส่วนดังที่เขาเสนอไว้ตอนต้น
 
"ผมถึงได้บอกว่าเราต้องมียุทธศาสตร์แยกส่วนทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ต่างประเทศก็คือไปทำความเข้าใจกับนานาชาติว่ารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายที่จะไปกดขี่คนสามจังหวัด รัฐบาลต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความแตกต่าง แต่ความก้าวหน้าของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มันค่อนข้างจะช้า ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายๆ ฝ่ายไม่เข้าใจได้" 
 
"ยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อความไม่สงบก็คือทำอย่างไรที่จะสร้างความรุนแรงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ของเราก็ต้องเน้นสร้างความเข้าใจ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งที่สามารถหยุดความร่วมมือจากต่างประเทศได้" 
 
รัฐพลาดในสงครามความรู้สึก
 
พล.อ.ไวพจน์ วิเคราะห์ว่า ความสำเร็จของการดำเนินยุทธศาสตร์นอกประเทศ ทำให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงหยุดชะงักเพื่อรอจังหวะ และนั่นคือคำตอบที่ว่า เหตุใดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สู่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช สถานการณ์ในพื้นที่จึงดูคลี่คลายลง 
 
"ถ้าให้ผมวิเคราะห์ก็คือ ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงก็เห็นว่า ตอนนี้ไม่สามารถขยายงานได้ เขาก็แค่ maintain (รักษาสภาพ) ไปก่อน แล้วรอว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ทั้งในและต่างประเทศ คือเขาอาจจะได้รับการสนับสนุนอะไรกลับมาอีก หรือรัฐบาลก้าวพลาดบางอย่างที่ทำให้ต่างประเทศตำหนิ เช่น ไปทำอะไรให้รู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม แล้วการสนับสนุนก็จะกลับมา" 
 
อดีต ผอ.สขช.ซึ่งเคยรับผิดชอบงานข่าวระดับประเทศ ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ในส่วนนี้ของกลุ่มก่อความไม่สงบ ก็คือการทำ ‘สงครามความรู้สึก’ กับประชาชนในสามจังหวัด โดยใช้ ‘ปฏิบัติการข่าวสาร’ หรือ ไอโอ (Information Operation: IO) เป็นเครื่องมือ วิธีการก็คือก่อเหตุรุนแรงรายวันในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ และหากสบช่องด้วยเงื่อนไขบางประการ ก็พยายามตอกลิ่มทางความรู้สึกให้ประชาชนเกลียดรัฐ
 
อย่างไรก็ดี แม้โดยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกำลังประสบชัยชนะใน ‘สงครามความรู้สึก’ แต่ พล.อ.ไวพจน์ กลับเห็นว่า ความผิดพลาดในยุทธศาสตร์การใช้ ‘ไอโอ’ ของภาครัฐต่างหากที่ทำให้สภาพการณ์ดูประหนึ่งว่ารัฐกำลังพ่ายแพ้
 
"ไอโอคือเครื่องมือที่ใช้โน้มน้าวหรือเปลี่ยนแนวคิดของอีกฝ่ายให้คล้อยตามแนวคิดของฝ่ายเรา ไอโอจะครอบคลุมทั้ง ปจว. (ปฏิบัติการทางจิตวิทยา) และการโน้มน้าวด้วยวิธีอื่นๆ จัดเป็นเครื่องมือลดขีดความสามารถในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม ลดการสนับสนุนที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับจากประชาชน สรุปแล้วไอโอเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทำทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐทำฝ่ายเดียว" เขาอธิบายในเชิงทฤษฎี และว่า 
 
"จากแนวคิดที่ว่านี้ ถ้าโยงมาภาคใต้ ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ไม่ใช่ศัตรู ฉะนั้นคุณจะมาใช้ ‘ไอโอ’ กวาดไปหมดแบบที่ใช้ๆ อยู่อย่างนี้ มันจะ backfire (ส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้) ทีหลัง นั่นคือคุณใช้ไอโอตามแนวคิดของตะวันตกไม่ได้ เพราะสถานการณ์ภาคใต้นั้น แม้จะมีความรุนแรงอยู่บ้าง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัตรู ถ้าใช้ไอโอแบบภาพใหญ่ ประชาชนอาจเข้าใจผิดและหลงทางได้ และยิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยก"
 
ต้องให้ ‘ความจริง’ กับประชาชน
 
พล.อ.ไวพจน์ ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่อิรัก เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงการทำไอโอตามทฤษฎีของตะวันตก ซึ่งใช้ไม่ได้กับภาคใต้ของไทย
 
“สหรัฐในอิรักเขาทำไอโอได้เต็มสเกล เพราะไม่ใช่ประชาชนของเขา เขาใช้เป็นแค่เครื่องมือให้หน่วยของเขาปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนอิรักมาทำร้ายทหารอเมริกัน ทำร้ายที่ตั้ง ไม่ให้มาเป็นปฏิปักษ์ แต่ไม่ใช่ทำไอโอแบบหวังดีกับคนอิรัก แต่ของเรานี่คือประชาชนของเรา ถ้าเราทำไอโอมันต้องทำอีกแบบหนึ่ง" 
 
พล.อ.ไวพจน์ ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็ดี หรือคนภาคอื่นๆ ก็ดี ทิ้งภาคใต้มานาน มีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นเยอะมาก และรัฐก็เข้าไปแก้ไขปัญหาแบบให้ความสนใจน้อยในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดความรุนแรง เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้จะเกิดขึ้นโดยใครก็แล้วแต่ จึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นสิ่งบอกเหตุว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง สังคมในพื้นที่นี้ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
 
และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องทำ ‘ไอโอ’ ในอีกรูปแบบหนึ่ง 
 
"ภาคใต้ต้องให้ความจริง ไม่ใช่มา ปจว. ไม่ใช่มาให้ข่าวสารในลักษณะที่ว่าลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องให้ความจริงเป็นหลัก เพราะเป็นประชาชนของเรากันเอง ต้องพยายามให้เขาเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจก็สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เข้าใจว่าถ้าประชาชนหันมาช่วยรัฐบาล ทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ มันก็เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เอง เป็นผลประโยชน์กับเด็กรุ่นหลังๆ ไม่อย่างนั้นมันก็คากันอย่างนี้ รบกันอยู่อย่างนี้ ก็เกิดความหวาดกลัว เกิดความไม่สงบ" 
 
"เราสามารถอธิบายให้เห็นเป็น fact (ข้อเท็จจริง) ได้เลยว่า รัฐบาลตระหนักว่าต้องทำอะไรให้ดีขึ้น แต่โดยธรรมชาติของรัฐบาลก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามันไปได้ช้า มันไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่ทุกภาคก็เป็นอย่างนี้ ภาคอื่นตอนนี้ก็แย่ เจอราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่ทุกคนตระหนักว่าคุณภาพชีวิตกับความยุติธรรมในภาคใต้ต้องดีขึ้น เพียงแต่ยังไปได้ช้า แต่มันจะเร็วขึ้นได้ถ้าคนในพื้นที่มาร่วมมือกับรัฐบาล โดยจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบร่มเย็นในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เอง" 
 
ในฐานะที่เป็นนายทหารเพียงไม่กี่คนที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เขาบอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับจุดยืนของอดีตประธาน กอส. อานันท์ ปันยารชุน ที่ย้ำอยู่เสมอว่าการพูดความจริงกับประชาชนในพื้นที่ จะทำให้ปัญหาภาคใต้คลี่คลายลง
 
“ผมเห็นด้วยกับท่านอานันท์ว่า การให้ fact ให้ความจริง และการทำความเข้าใจกับประชาชนส่วนใหญ่ จะทำให้การแก้ไขสถานการณ์มันยั่งยืน แต่ถ้าเผื่อเราไปเล่นกับความรู้สึกของประชาชนเหมือนกับที่ฝ่ายตรงข้ามเขาทำ มันก็ได้เหมือนกันสำหรับทหารรบกับทหารด้วยกัน คุณยิงมา เรายิงไป แต่นี่คุณกำลังเล่นกับประชาชน กับคนไทยด้วยกัน ผมว่าปัญหามันจะบานปลาย”
 
“ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้ใช้ ไอโอ เป็นเครื่องมือ แต่เราใช้เป็นเป้าหมาย เราต้องทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนก้าวไปพร้อมกับเรา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเล่นแบบฝ่ายตรงข้าม เพราะฝ่ายตรงข้ามเขาไม่ได้นึกเรื่องนี้ เขานึกเพียงว่าสร้างความรู้สึก แล้วเราจะไปทำอย่างนั้นหรือ อันนั้นมันไม่ยั่งยืน เราพยายามต่อต้านอันนั้น เราต้องใช้ fact และ understanding (ความจริงและการทำความเข้าใจ)”
 
แผนพิทักษ์แดนใต้ไปไม่สุด
 
เราซักว่า สถานการณ์ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐจะไม่ได้มุ่งให้ความจริงกับประชาชน แต่มุ่งสร้าง ‘ความกลัวยิ่งกว่า’ เพื่อกดดันให้ชาวบ้านหันมาร่วมมือกับรัฐ เช่น การใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น ครอบคลุมแทบทุกอำเภอ และจับกุมผู้ต้องสงสัยแบบยกหมู่บ้าน ตามยุทธวิธีที่เรียกว่า ‘แผนพิทักษ์แดนใต้’
อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในคำถามของเรา 
 
“เขาอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะจับทั้งหมู่บ้าน แต่ตอนแรกที่ผมลงไป จะเห็นได้ว่าทหารมีการแบ่งเป็น ฉก. (หน่วยเฉพาะกิจ) ดูแลพื้นที่ต่างๆ แต่เดิมทุก ฉก.ก็เล่นยุทธวิธีของตัวเองในพื้นที่ของตัวเอง ผลในการรับสถานการณ์ในตอนนั้นมันก็เลยเป็นจุดๆ ไม่ได้เป็น large scale (ภาพใหญ่) ตรงนี้แตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามที่เขาทำทั้งจังหวัด วางระเบิดพร้อมๆ กัน 30-40 จุด แต่ทหารในช่วงต้นๆ ไม่มีเลย ทำทีละจุด ขึ้นอยู่กับแต่ละ ฉก.”
 
“ตรงนี้จึงมีความคิดขึ้นมาว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ มันต้องทำในลักษณะที่ว่า across the board operation (ปฏิบัติการคลุมทุกพื้นที่ปัญหา) คือกองทัพภาคที่ 4 ต้องกำหนดว่าทุกๆ 2 อาทิตย์ต้องทำพร้อมๆ กันทุก ฉก.เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าทหารคุมสถานการณ์ได้ ไม่ใช่ให้ฝ่ายตรงข้ามทำอย่างเดียว 70 จุด 100 จุด แต่ทหารค่อยๆ ทำทีละจุดสองจุด ประชาชนก็ว่า...เฮ้ย!ไม่ได้ให้ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของเราเลยนี่หว่า มันจึงมียุทธวิธีนี้ขึ้นมา”
 
แม้ พล.อ.ไวพจน์ จะยืนยันว่ายุทธวิธีดังกล่าวเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ลืมที่จะเน้นว่า ปฏิบัติการลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากระดับนโยบาย 
 
“มันต้องมี across the board operation บ้าง แต่ข้างบนต้องเป็นคนคุมด้วย และต้องดูให้ดีทั้งการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ การแยกแยะกลุ่มผู้ต้องสงสัย ไม่อย่างนั้นมันก็มี backfire กลับมา แต่ความมุ่งหมายของเขา เขาต้องการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน” 
 
และแม้นายทหารผู้นี้จะไม่สรุปชัดๆ ว่า ผลของปฏิบัติการดังกล่าวได้ backfire หรือความมั่นใจจากประชาชนมากกว่ากัน แต่ประเด็นที่เขาฟันธงตรงๆ ก็คือ ยุทธวิธี across the board operation มันไปได้ไม่สุด เพราะไม่มียุทธวิธีอื่นๆ มารับไม้ต่อ
 
“ยุทธศาสตร์ในการรับสถานการณ์ Non- Traditional Threat มันไม่ใช่มีแค่ 1-2 ขั้นแล้วหยุด มันต้องมี 3-4-5 ต่อเนื่องไป แต่ที่มันหยุดก็เพราะมันไม่ Good Strategy มันไม่เข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อันนี้ มันก็เกิดต่อไม่ได้ มันน่าเสียดายที่ว่าเราทำ large scale มาสัก 3-4 เดือนแล้วได้ผล เขาชะงัก แต่พวกเรากลับเดินต่อไม่ได้เอง ตอนนี้มันก็เลยกลับมายันกันเหมือนเก่า” 
 
ไม่จำเป็นต้องรู้ใครอยู่เบื้องหลัง
 
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นคำถามคาใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายความมั่นคงเอง นั่นก็คือ ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน เพราะฝ่ายผู้ก่อการก็ปิดตัวเองเป็นองค์กรลับ ไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนกลุ่มขบวนการอื่นๆ ในต่างประเทศ 
 
แต่นายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ กลับเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นมากนักที่จะต้องรู้ตัวตนของฝ่ายตรงข้าม 
“อันนั้นคือคอนเซปท์แบบ Traditional Threat ก็จะมองแบบต้องรู้ว่าใครเป็นเป้าหมาย ใครเป็นผู้นำ แต่ใน Non-Traditional Threat มันไม่มีความจำเป็น คือถ้าเผื่อรู้ได้ก็ดี แต่เมื่อไม่รู้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนิ่งอยู่กับที่ เพราะฝ่ายตรงข้ามเขาก็พยายามปกปิดอยู่แล้ว และเขาก็แฝงอยู่กับประชาชน” 
 
“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งมันมีเยอะมาก และปัญหาเดิมๆ ก็ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ ประเด็นก็คือเราเพียงแต่ทำยุทธศาสตร์แยกส่วน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ให้ประชาชนไม่ไปสนับสนุนฝ่ายโน้น คือเราควบคุมไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามขยายตัวได้ก็พอ” 
 
พล.อ.ไวพจน์ ย้ำว่า กุญแจที่นำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้ ต้องไม่ทำเหมือนกับว่าประเทศ 2 ประเทศกำลังรบกัน หรือต้องทำลายล้าง เพราะคนในพื้นที่ก็คือคนไทยด้วยกัน 
 
“เราต้องใช้วิธีควบคุม ลดเงื่อนไขต่างๆ พวกนี้มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หยุดไปเอง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มุ่งหาว่าใครเป็นผู้ก่อการหรืออยู่เบื้องหลังนะ เราก็มุ่งหาเพื่อเจรจาหรืออะไรก็ตาม แต่ว่ามันไม่จำเป็นในขั้นต้น” 
 
“สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับก็คือ เราคงไม่สามารถไปยุติความรุนแรงได้ 100% ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็แค่ควบคุมไม่ให้ความรุนแรงมันขยายตัว ทำให้คนส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ ผมว่าแค่นั้นก็พอ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสงบ 100%”
 
“ในอังกฤษเมื่อก่อนก็มีไอร์แลนด์ แม้แต่ประเทศมุสลิมกันเองเขาก็บอกเขามี Extremists (พวกสุดขั้ว) ของเขา แต่เขาควบคุมเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องไปทำให้มันหมดไป แค่ควบคุมให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตปกติ และประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ก็พอ แล้วพวกนี้ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทไปเองเมื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร” 
 
เสียดาย ‘เจรจา’ สะดุด
 
จากคำตอบของ พล.อ.ไวพจน์ เองที่ว่า แม้ไม่จำเป็นต้องรู้ในขั้นต้นว่าใครคือผู้กดปุ่มสร้างสถานการณ์รุนแรงอยู่ทุกวันนี้ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็จำเป็นต้องมุ่งหาบุคคลหรือองค์กรที่ยังเป็นปริศนาอยู่ในขั้นต่อไป เพื่อเปิดการเจรจา
 
ประเด็นดังกล่าวทำให้เราถามถึงความพยายามในการ ‘เปิดโต๊ะเจรจา’ กับผู้นำขบวนการต่างๆ ซึ่งเขาเองเคยเป็นตัวจักรสำคัญในห้วงปี 2548-2549 
 
“ผมเคยคุยกับพวกที่อยู่ในมาเลย์ กับแกนนำขบวนการทั้งเก่าและใหม่ โดยความร่วมมือของทางฝ่ายมาเลย์ที่ทางโน้นเขาเคารพนับถือ เช่น ท่านมหาธีร์ โมฮำมัด (อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ที่เคยช่วยหรืออะไรต่างๆ”
 
“ช่วงนั้นเรื่องการสร้างสมานฉันท์เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจในยุทธศาสตร์ ซึ่งมันไม่ใช่อันเดียว เป็นหนึ่งในแพ็คเกจ ตอนนั้นผมอาจจะโชคดีที่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงมีโอกาสไปคุย มันก็รู้ข้อมูล และเกิดประโยชน์มากในการวางยุทธศาสตร์เพิ่มเติม”
 
พล.อ.ไวพจน์ ยอมรับว่า การพูดคุยหรือไดอะล็อก (Dialogue) เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ช่วงนั้น และการพูดคุยก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ถูกต้องสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ 
 
“กับ Non-Traditional Threat มันต้องมีไดอะล็อก แต่ไดอะล็อกจะเดินแบบไหน มันก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ที่จริงก็น่าเสียดายในช่วงนั้น บังเอิญเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน ทุกอย่างก็เลยต้องหยุด เพราะงานแบบนี้ Political Will ต้อง 100% ถ้ามันไม่ 100% หรือเราไม่มีอำนาจหน้าที่จริงๆ เสียแล้ว มันก็เดินต่อไปไม่ได้” 
 
นายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ย้ำว่า ปัญหาภาคใต้นั้นหากมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มี Good Strategy และรัฐบาลมีเจตจำนงเต็มร้อยแล้วล่ะก็ จะไม่มีบานปลายยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้ 
 
“ผมว่าสถานการณ์มันไม่ไกลมาถึงนาดนี้หรอก รับรองได้เลย มันน่าจะจบเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว น่าเสียดายว่าเราปล่อยให้เป็นถึงขนาดนี้” 
 
นอกจากการพูดคุยกับกลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างจากรัฐแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่ พล.อ.ไวพจน์ ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในการแสวงหาความร่วมมือ ก็คือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ
 
  “เราวิเคราะห์กันว่า แนวโน้มสถานการณ์ของโลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เอ็นจีโอจะมีบทบาทกำหนดนโยบายในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ปัจจุบันรัฐกับเอ็นจีโอยังเดินคนละข้าง เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเรารู้แนวโน้มอันนี้แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลก ทำไมเราถึงไม่เริ่มจับมือกันเพื่อจะเดินไปด้วยกันตั้งแต่วันนี้” 
 
“ในภาคใต้นั้นต้องยอมรับว่า เอ็นจีโอมีทุนทางสังคมกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าฝ่ายความมั่นคง ฉะนั้นถ้าเผื่อเอ็นจีโอเขาสนใจเรื่องอะไร เราต้องเรียนรู้คู่ขนานกันไป แล้วก็แลกเปลี่ยนอะไรกัน และเดินไปด้วยกัน ผมเชื่อว่ามันจะช่วยปัญหาภาคใต้ได้อีกทาง แต่ปัจจุบันพอมีเอ็นจีโอปั๊บ ต่างคนต่างตั้งป้อม เอ็นจีโอก็มองรัฐว่ากดขี่สิทธิเสรีภาพ รัฐก็บอกว่าพวกนี้พวกกวนเมือง หาเรื่องใส่รัฐอีกแล้ว ถ้าเรารู้ว่าอนาคตอีก 10 ปีอย่างไรเสียก็ต้องจับมือกับเขา แล้วทำไมไม่จับเสียตั้งแต่ตอนนี้เพื่อแก้ไขปัญหา” 
 
ไฟใต้ยังดับได้ ถ้า...
 
เขาเน้นในช่วงท้ายอย่างเปี่ยมหวังว่า ปัญหาภาคใต้ยังสามารถแก้ไขได้ และไม่ใช่ปัญหาใหญ่เกินไปที่จะแก้ หากมีปัจจัยที่ดีทางยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด
 
“เรายังสามารถควบคุมปัญหาได้ หากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ คือต้องเข้าใจว่าปัญหาภาคใต้หรือปัญหาอื่นๆ ของประเทศ เมื่อก่อนมันก็มี แต่ที่มันมาขยายตัวเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีผลทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น เห็นที่อื่น เห็นอะไรต่างๆ มากขึ้น ปัญหาที่มันเคยเป็นแค่ปัญหาภายในประเทศ มันก็ไปทับซ้อนกับปัญหาสากลมากขึ้น มีการเชื่อมโยงกัน มีการรับทราบรับรู้” 
 
แต่จากประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีกับปัญหา พล.อ.ไวพจน์ ยืนยันว่า สถานการณ์ภาคใต้ยังคงเป็นปัญหาภายในประเทศไทยเท่านั้น 
 
“มีคนถามผมว่าภาคใต้กับการก่อการร้ายสากลเชื่อมโยงกันหรือไม่ ผมบอกว่าถ้าจะเชื่อมโยงก็เป็นการเชื่อมโยงส่วนตัว แต่ในรูปขององค์กรยังไม่เชื่อมโยง เพราะเป้าหมายมันต่างกัน เป้าหมายของก่อการร้ายสากลคือการต่อสู้กับสหรัฐ กับประเทศตะวันตก แต่ทางนี้เป็นเรื่องภายใน” 
 
เขาสรุปก่อนจะตั้งคำถามทิ้งท้ายที่สะท้อนถึงความอึดอัดใจอย่างปิดไม่มิดกับปมปัญหาที่ว่าด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ผิดฝาผิดตัวมาตลอด
 
“เราคงรอให้ฝ่ายตรงข้ามเขาเข้มแข็งขึ้นก่อนแล้วถึงค่อยต่อสู้กันมั้ง เราเป็นสุภาพบุรุษไง ต้องรอให้เท่าเทียมกันก่อนค่อยสู้กัน มันรอเวลากันอยู่เรื่อย ประเทศไทยก็อย่างนี้”
 
 
 

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้ "ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน" ลำดับที่ 3 ปี 2551 (มูฮำมัดอายุบ ปาทาน, ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการ) 

คลิกเพื่ออ่านเรื่องจากปก >> "ปฏิบัติการข่าวสาร จุดชนวนสงครามความรู้สึก"