Skip to main content

 

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้ "ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน" ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2551 (มูฮำมัดอายุบ ปาทาน, ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการ)

 

"บึ้ม" เสียงระเบิดแผดก้องจากรถยนต์ที่จอดหน้าอาคารสูงแห่งนั้นดังสนั่นหวั่นไหวจนพสุธาสะเทือน แสงเพลิงสว่างวาบ เสียงกระจกแตกดังกราวใหญ่ ตามด้วยเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดจากผู้คนที่ถูกสะเก็ดระเบิดทิ่มแทง ไฟลุกท่วมรถยนต์ที่พังยับจากแรงอัดของดินประสิว จากนั้นความชุลมุนวุ่นวายก็บังเกิด ผู้คนแตกฮือ บ้างก็รีบวิ่งหาที่กำบัง บ้างก็เข้าไปช่วยลำเลียงร่างอาบโลหิตสีแดงฉานส่งโรงพยาบาล

นี่คือภาพเหตุการณ์ระเบิดจาก "คาร์บอมบ์" ครั้งรุนแรงที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 15 มีนาคม 2551 และเสียงระเบิดลูกนี้ได้ปลุกสังคมไทยให้หันมาสนใจและตั้งคำถามกับสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 4 ปีอีกครั้ง
 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปในเบื้องต้นว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการ "ยึดพื้นที่ข่าว" ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อประกาศตัวตนว่าพวกเขายังอยู่ ยังมีศักยภาพพอที่จะก่อเหตุร้ายได้ทุกเมื่อ แม้จะเงียบหายไประยะหนึ่งเพราะผลสะเทือนจากปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยถี่ยิบและครอบคลุมแทบทุกตำบลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ภายใต้รหัส "แผนพิทักษ์แดนใต้" 
 
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า "ช็อคสังคมไทย" และอาจจะ "ช็อคสังคมโลก" ด้วย เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนทหารกว่า 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุการณ์ร้ายรูปแบบต่างๆ ก็เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้มานับครั้งไม่ถ้วน 
 
และคำอธิบายจากฝ่ายความมั่นคงในช่วง 1-2 ปีหลังก็คล้ายคลึงกันแทบทุกครั้งว่า นี่คือยุทธการ "สร้างความหวาดกลัว" ในหมู่ประชาชนเพื่อไม่ให้หันมาร่วมมือกับรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องการตีข่าวให้ดังไปทั่วโลกเพื่อผลักดันให้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยกระดับจาก "ปัญหาภายใน" เป็น "ปัญหาระดับสากล" ด้วยหวังจะให้องค์กรต่างชาติยื่นมือเข้ามาจัดการ 
 
เพราะหากวันนั้นมาถึงจริงๆ เป้าหมายการแยกดินแดนจากรัฐไทยก็จะมีเค้าประสบความสำเร็จ! 
นี่เป็นความพยายามตีความของรัฐไทยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฝ่ายที่กำลังก่อการอยู่ทุกวันคือใครกันแน่...
ปฏิบัติการยึดพื้นที่ข่าวที่ว่านี้ เรียกว่า Information Operation หรือ IO (ไอโอ) ซึ่งเป็นเครื่องมือใน "สงครามข่าวสาร" หรือ Information Warfare ว่ากันว่าเป็นยุทธวิธีที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ต่อสู้กับรัฐไทยในห้วง 4 ปีเศษของประวัติศาสตร์ความรุนแรงรอบใหม่นี้ 
 
หากเรายอมรับว่า "สงครามข่าวสาร" คือบริบทหนึ่งของสงครามในสมรภูมิด้ามขวาน ประเด็นปัญหาที่ควรหาคำตอบร่วมกันต่อไปก็คือ เหตุใดกลุ่มก่อความไม่สงบจึงเลือกใช้ ไอโอ เป็นเครื่องมือในการทำสงครามกับรัฐไทย มี "สาร" อะไรซ่อนอยู่หรือไม่ในกระสุนแต่ละนัด ระเบิดแต่ละลูก พวกเขาต้องการอะไรจากการรบในพื้นที่เสมือนจริงนี้ แล้วรัฐไทยได้ทำอะไรบ้างในสงครามข่าวสาร... 
 
และสำคัญที่สุดคือใครจักเป็นผู้กำชัยชนะในบั้นปลาย!
 
เรียนรู้ กลุ่มก่อความไม่สงบ
 
หากเราขีดเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ตรงวันที่ 4 มกราคม 2547 ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนปลายสุดด้ามขวานตลอดห้วงเวลานับจากวันนั้นคือ "ความรุนแรงรอบใหม่" ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมานานนับร้อยปี
 
แม้หากมองในแง่ของพื้นที่ความขัดแย้ง จะพบว่าปัญหายังถูกขีดวงจำกัดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา มีความแตกต่างอยู่ไม่น้อยหากเทียบกับประวัติศาสตร์ช่วงก่อนหน้านั้น 
เพราะเมื่อนับเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนถึงในค่ายทหาร แต่ละวันที่ผ่านไปในดินแดนที่เรียกกันว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เต็มไปด้วยเหตุร้ายและการก่อวินาศกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งวางเพลิง ลอบยิง วางระเบิด รวมไปถึงการก่อเหตุลักษณะเดียวกันพร้อมกันหลายๆ จุด การฆ่าด้วยวิธีโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ อย่างกรณีฆ่าตัดคอ หรือฆ่าแล้วเผากลางเมืองต่อหน้าต่อตาสาธารณชน
 
เหล่านี้คือสถานการณ์ความรุนแรงที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกขานว่า "ความไม่สงบ" โดยที่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปว่ากลุ่มผู้ก่อการคือใครกันแน่ ใครอยู่เบื้องหลังเหตุร้ายรายวันเหล่านี้ และแทบไม่เคยมีการถอดรหัสชัดๆ เลยสักครั้งว่า พวกเขาก่อเหตุลักษณะนี้ไปเพื่ออะไร 
 
บทความของ George Packer ที่ชื่อ  Knowing the Enemy ซึ่งตีพิมพ์ใน The New Yorker เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2006 เสนอแนวคิดว่า การแก้ปัญหาเหตุการณ์รุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีการมองภาพของปัญหาเสียก่อน เพราะปัญหาสำคัญในปัจจุบันไม่ใช่ "ปัญหาการก่อการร้าย" หรือ Terrorism แต่เป็น "ปัญหาการก่อความไม่สงบ" หรือ Insurgency
 
ข้อแตกต่างระหว่าง "การก่อการร้าย" กับ "การก่อความไม่สงบ" ได้แก่ "คน" ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ กล่าวคือ ในการก่อการร้ายนั้น "ผู้ก่อการร้าย" หรือ Terrorist เป็นพวกที่ปฏิบัติการเป็นกลุ่มเฉพาะ มีแนวคิดและพฤติกรรมใช้ความรุนแรงและมักจะเกินเยียวยาหรือเจรจาหว่านล้อม จึงเป็นภารกิจโดยตรงของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องใช้บุคลากร อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการ
 
แต่การก่อความไม่สงบนั้น "ผู้ก่อความไม่สงบ" หรือ Insurgent เป็นผู้ที่มีฐานมวลชนกว้าง ทำงานกับกระแสสังคม ความคิด และภาพลักษณ์ โดยผ่านทางสื่อทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งจะชนะหรือแพ้กันด้วย "การเมือง" ไม่ใช่การปราบปรามอย่างเดียว
 
บทความชิ้นนี้ชี้ว่า ขบวนการก่อความไม่สงบในปัจจุบันอาจถือได้ว่าเป็น "องค์กรโฆษณาข่าวสารที่ติดอาวุธ" (Armed Propaganda Organizations) มากกว่าขบวนการก่อการร้ายที่มุ่งทำลายชีวิตอย่างเดียว โดยขบวนการเหล่านี้เปลี่ยนวิธีการกลับไปกลับมาได้ระหว่างการใช้อาวุธกับการโฆษณาชวนเชื่อตามความเหมาะสมของสถานการณ์ 
 
เช่น การที่กลุ่มต่อต้านในอิรักวางระเบิดขบวนรถของทหารสหรัฐ ที่จริงแล้วกลุ่มต่อต้านไม่ได้เน้นจะลดจำนวนรถบรรทุกทหาร เพราะรู้ว่าสหรัฐส่งมาเพิ่มได้เสมอ แต่พวกเขาต้องการเผยแพร่ภาพของรถถังหรือรถฮัมวีที่กำลังถูกไฟไหม้มากกว่าซึ่งจะมีผล 2 ระดับ คือ 
 
"ระดับท้องถิ่น" ทำให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นพวกกับกลุ่มต่อต้านมากขึ้น ให้ชาวบ้านรู้สึกว่ารัฐบาลเองก็มาคุ้มครองไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านก็ถูกทำให้เหมือนกับว่าเหลือทางเลือกเพียง 2 ทาง คือจะช่วยผู้ก่อการหรือจะต่อต้านผู้ก่อการ ในส่วนพวกที่คิดจะต่อต้านนั้น ผู้ก่อการก็จะฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดู เป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ารัฐบาลป้องกันชาวบ้านไม่ได้ และไม่สามารถทำอะไรผู้ก่อการได้ด้วย 
 
"ระดับโลก" เพื่อรักษาน้ำหนักของแรงเหวี่ยงทางการเมืองและสร้างภาพลักษณ์ว่าขบวนการนั้นๆ กำลังเติบโตขึ้น ไม่มีใครหยุดยั้งได้ เป็นการใช้ "สื่อ" ที่จะทำให้ "สาร" ของพวกเขาถูกขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก
 
สงครามอสมมาตร
 
ย้อนกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ร้ายที่ฝ่ายผู้ก่อการได้ก่อขึ้นมาตลอด 4 ปีเศษ จัดเป็น "การก่อความไม่สงบ"  อย่างแน่นอน และหลายต่อหลายกรณียังมีลักษณะเป็น "การโฆษณาข่าวสาร" เพื่อผลักให้ปัญหานี้ยกระดับเป็นประเด็นนานาชาติอีกด้วย 
 
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์อพยพย้ายถิ่นของคนไทย 131 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพำนักยังประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 โดยอ้างว่าถูกกดดันและหวาดกลัวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย หรือเสียงตะโกนเรียกร้อง "นักข่าวต่างชาติ" ในเหตุการณ์จับสองนาวิกโยธินเป็นตัวประกันที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2548 ก่อนที่ทั้งสองจะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม 
 
ทั้งนี้ยังนับรวมถึงการผลิตวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเยาวชนมลายูมุสลิม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เหตุการณ์กรือเซะ” ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 108 ศพ กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้เสียชีวิต 85 คน ออกแจกจ่ายและเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย
 
นอกจากนั้นยังมีการก่อเหตุป่วนเมืองในลักษณะ "ปูพรม" อาทิ เหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 จนนำไปสู่การตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือเหตุการณ์วางระเบิดธนาคารพร้อมกัน 22 แห่งในห้าอำเภอของจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และเหตุระเบิดหลายครั้งในย่านธุรกิจการค้าของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นต้น 
 
จุดเด่นของกลุ่มก่อความไม่สงบที่กำลังต่อสู้กับรัฐไทยอยู่ในขณะนี้ซึ่งดูจะแตกต่างจากคู่ต่อสู้ในสมรภูมิอื่นทั่วโลกก็คือ กลุ่มผู้ก่อการกลุ่มนี้เป็น "องค์กรปิดลับ" ที่ไม่เคยเปิดเผยตัวองค์กรหรือกลุ่มคนที่ร่วมอยู่ในองค์กรเลย แต่ใช้การก่อเหตุร้ายรูปแบบต่างๆ ประหนึ่งเป็นการ "ส่งสาร" ถึงมวลชนเป้าหมาย  สังคมไทย และสังคมโลก 
พล.ต.จำลอง คุณสงค์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 (ผบ.พล.ร.15) และรองผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) วิเคราะห์ว่า การปิดลับองค์กรผู้ก่อการคือยุทธวิธีหนึ่งของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะหากกลุ่มคนพวกนี้เปิดตัวออกมาวันใด วันนั้นย่อมเป็นจุดจบของการต่อสู้
 
"4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังใช้กำลังทหารเพียงกองทัพบกแค่กองทัพเดียว ยังไม่ได้ใช้กองทัพอากาศหรือกองทัพเรืออย่างเต็มรูปแบบเลย ฉะนั้นหากฝ่ายตรงข้ามเปิดตัวออกมาว่ามีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ไหน วันนั้นคือจุดจบ เพราะกองทัพอากาศก็จะเอาระเบิดไปทิ้งทันที" รองผบ.พตท. กล่าว
 
บทวิเคราะห์ของ พล.ต.จำลอง อธิบายได้ว่า การก่อความไม่สงบโดยองค์กรที่ปิดลับดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือวิธีการต่อสู้ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล แต่ไม่มีกำลังเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นกำลังคนหรืออาวุธที่จะต่อกรกับกองทัพขนาดใหญ่ของรัฐบาลได้ จึงใช้ยุทธวิธี "ก่อความไม่สงบ" ต่อสู้กับรัฐแทน 
 
ในทางวิชาการเรียกสงครามแบบนี้ว่า "สงครามอสมมาตร"  (Asymmetric Warfare) กล่าวคือเมื่อฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับรัฐด้วยกำลังทหารโดยตรงได้ ก็จะหันมาใช้ยุทธวิธีก่อความไม่สงบเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ถือเป็นการรบแบบไม่เผชิญหน้า แต่เลือกโจมตีจุดอ่อนเพื่อกดดันรัฐบาลไปพร้อมๆ กับแสวงการสนับสนุนจากมวลชน 
 
และเครื่องมือสำคัญในสงครามอสมมาตรก็คือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" หรือ ไอโอ นั่นเอง
 
ถอดองค์ความรู้ไอโอ
 
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การใช้ข้อมูลข่าวสารในการทำสงครามเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ 
 
ทั้งนี้ ในการสงครามของมนุษยชาติที่เป็นระบบมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 นั้น มีการปฏิวัติกิจการด้านการทหาร (Revolution Military Affair: RMA) มาทั้งหมดประมาณ 11 ลักษณะ โดยการใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบเป็นเครื่องมือในการสงครามถือว่าเป็นการปฏิวัติด้านการทหารลักษณะล่าสุดในปัจจุบัน 
 
ดร.ปณิธาน บอกว่า ในทางทฤษฎีแล้ว สงครามข่าวสารสามารถแยกแยะได้ถึง 7 ประเภท คือ 1.Command Control Warfare หรือวิธีการควบคุมข้อมูลในการรบ 2.สงครามข่าวกรอง (Intelligence Base Warfare) 3.สงครามอิเลคทรอนิกส์ (Electronics Warfare) 4.สงครามจิตวิทยา 5. Hacker Warfare หรือการเจาะฐานข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม โดยมุ่งให้ฐานข้อมูลเหล่านั้นเป็นอัมพาตหรือถูกทำลาย 6. Cyber Warfare หรือสงครามในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นสงครามในสมรภูมิเสมือนจริง และ 7.Economic Information Warfare หรือการโจรกรรมข้อมูลทางเศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่ทำสงคราม 
 
กระนั้นก็ตาม ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.ปณิธาน ให้น้ำหนักรูปแบบของสงครามข่าวสารไปที่ "สงครามจิตวิทยา" กับ "สงครามในโลกไซเบอร์" 
 
ผลสะเทือนทางจิตวิทยา
 
ในมุมมองของนักวิชาการผู้นี้ เห็นว่า ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้พยายามใช้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนใจคน เปลี่ยนความคิดคน โดยมีจิตใจของคนเป็นเป้าหมายของการโจมตี เช่น สร้างความรู้สึกรับไม่ได้ต่อสถานการณ์ความรุนแรง และเกิดความรู้สึกว่าต้องยอมแพ้ เป็นต้น
 
เขาแจกแจงว่า การใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ คือเครื่องมือของฝ่ายผู้ก่อการเพื่อยึดพื้นที่ข่าวสาร และเมื่อเกิดข่าวสารในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับโลกแล้ว สารที่ส่งออกไปนั้นจะส่งผลทางจิตวิทยากับผู้รับสารอีกทีหนึ่ง 
 
"เป้าหมายสำคัญของการทำสงครามจิตวิทยาโดยกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐไทยในปัจจุบัน ก็คือความต้องการเปลี่ยนทัศนคติของชาติไทย (National Will) หรือในที่นี้ก็คือทัศนคติของคนไทยทั้งประเทศต่อกรณีชายแดนภาคใต้ โดยเป้าหมายในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องการแสดงให้เห็นว่าปัตตานีไม่ใช่ของประเทศไทย และไม่ควรจะอยู่กับประเทศไทยอีกต่อไป พร้อมทั้งสะท้อนด้วยว่า ปัตตานีพร้อมแล้วสำหรับการแยกตัวออกไป เพราะมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เหตุผลทางศาสนา และเหตุผลทางการเมืองการปกครองเพียงพอที่จะไม่อยู่ในอาณัติของรัฐไทยต่อไปอีก" 
 
นักวิชาการผู้นี้ ระบุอีกว่า นอกจากการเปลี่ยนทัศนคติของชาติไทยแล้ว การกระทำหลายๆ อย่างของกลุ่มก่อความไม่สงบโดยพุ่งเป้าไปที่สัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น การฆ่าพระสงฆ์ ยังสร้างผลสะเทือนทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าในแง่ของการ “ตอกลิ่ม” ผู้คนต่างศาสนาและวัฒนธรรมด้วย และนั่นทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนสองกลุ่ม อันจะส่งผลให้การแยกตัวออกไปตั้งรัฐใหม่มีเงื่อนไขความจำเป็นมากยิ่งขึ้น
การใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือเช่นนี้ ดร.ปณิธาน ชี้ว่า คือเหตุผลที่กลุ่มขบวนการไม่จำเป็นต้องประกาศตัว หรือมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนใดๆ 
 
“เขาไม่จำเป็นต้องมีข้อเรียกร้อง แต่เป็นความเข้าใจ (perception) ที่เกิดขึ้นจากสารที่พวกเขาส่งออกไป” ดร.ปณิธาน กล่าว
 
กดดันรัฐเปลี่ยนนโยบาย
 
นอกจากเป้าหมายทางจิตวิทยาต่อประชาชนแล้ว การใช้ปฏิบัติการข่าวสารยังกระทบชิ่งไปถึงรัฐบาลหรือผู้จัดทำนโยบายในระดับรัฐด้วย กล่าวคือเป็นการสร้างแรงกดดันผ่านประชาชนไปยังรัฐบาล โดยที่กลุ่มผู้ก่อการไม่จำเป็นต้องรบกับรัฐบาลโดยตรง
 
"ยังไม่มีใครสรุปว่าสงครามข่าวสารสามารถล่มสลายรัฐไทยได้ หรือว่าแย่งชิงแผ่นดินไปได้ แต่มันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่การผกผันทางการเมืองได้แน่ๆ เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสงครามชนิดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของผู้บริหารประเทศ ในเบื้องต้นจะก่อให้เกิดความชะงักงัน ผู้บริหารก็ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเขาเองก็ไม่ได้มีข้อมูลมากนัก จะไปซ้ายหรือไปขวา พอจะใช้กำลังก็มีคนสนับสนุนในตอนแรก แต่พอใช้ไปแล้วก็ถูกตั้งคำถาม"
 
"สภาวะชะงักงันที่ว่านี้เป็นความสำเร็จขั้นแรกของสงครามจิตวิทยา คือให้หยุดทำในสิ่งที่รัฐบาลจะทำหรือกำลังทำอยู่ และให้ชะลอการกระทำบางอย่างออกไป หรือให้อยู่เฉยๆ ทำให้เกิดภาวะที่ศูนย์กลางการบริหารที่กรุงเทพฯไม่รู้จะทำอย่างไรดี”
 
ยุทธศาสตร์การต่อสู้ลักษณะนี้สอดรับกับเป้าหมายของ “สงครามกองโจรสมัยใหม่ในเมือง” หรือ Urban Guerrilla Warfare ที่ผสมผสานระหว่างการก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญๆ กับการใช้ข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตเพื่อหวังผลทางการเมือง มีการถ่ายทอดเรื่องราวการโจมตีที่เกิดขึ้นจริงไปตามช่องทางในโลกไซเบอร์ เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ส่งผลให้ฝ่ายบริหารเป็นอัมพาตในการตัดสินใจ หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวนโยบายในระดับรัฐ 
 
"สงครามลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการแย่งชิงพื้นที่เหมือนสงครามกองโจรสมัยเก่า ไม่จำเป็นต้องจัดกำลังตามแบบแล้วชิงพื้นที่ ไม่มีฐานที่มั่นชัดเจน จะมีบ้างก็เป็นเพียงพื้นที่การซ่องสุมกำลังหรือซ่อนอาวุธ เวลาปฏิบัติการก็มักจะปฏิบัติการในเมือง เพื่อจะได้เป็นข่าว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการควบคุมจิตวิทยาของผู้คน" ดร.ปณิธานอธิบาย และว่า
 
"การไปรบในป่าเช่นที่เขาตะเว ไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าอยู่ในเมือง โจมตีร้านค้า ธนาคาร โรงเรียน โรงแรม หรือถนน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีผลต่อประชาชนคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลกดดันผู้บริหารประเทศอีกทอดหนึ่ง การต่อสู้ในพื้นที่เสมือนจริง (ชิงพื้นที่ข่าวและโลกอินเตอร์เน็ต) จึงกลายเป็นสมรภูมิที่ควบคู่ไปกับสมรภูมิจริง และบางทีพื้นที่เหล่านี้อาจเป็นสมรภูมิที่ตัดสิน ถ้าสามารถสร้างผลกระทบได้มาก อาจตัดสินอนาคตกันด้วยกระบวนการเลือกตั้ง การโหวตในที่ประชุมองค์กรระหว่างประเทศ หรือการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นได้” 
 
ช่องทางการสื่อสาร
 
จากทฤษฎี "สงครามข่าวสาร" และผลจากปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ ดังที่ ดร.ปณิธาน อธิบายนั้น ประเด็นที่จักต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกเพื่อตีโจทย์ในสมรภูมิจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ "ช่องทางที่ใช้สื่อสาร" กับ "ตัวสาร" ที่ถูกส่งออกไป 
 
ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ประธานหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า โลกาภิวัตน์หรือโลกที่ไร้พรมแดน คือบทบาทความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ความเร็ว หรือ  speed ในการเชื่อมต่อกันสามารถทำได้ในพริบตาเดียวและกว้างไกลมากขึ้น ซ้ำยังทะลุทะลวงกรอบเดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ได้ 
 
"จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ต่างๆ ก็มีการไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโลกาภิวัตน์ทำให้มีช่องทางในการเชื่อมต่อกันมากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปหากัน เมื่อนำมาอธิบายกับปัญหาภาคใต้ อาจมองได้ว่าความขัดแย้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณได้ถูกกระตุ้นด้วยความเร็วและการขยายขอบเขตออกไปจากผลของโลกาภิวัตน์นั่นเอง" 
 
เขาอธิบายต่อว่า โลกาภิวัฒน์สัมพันธ์กับทุกสื่อ ทำให้ความหลากหลายของข้อมูลมีมากกว่าเดิม โดยมีช่องทางหลักๆ ที่น่านำมาพิจารณาคือ
 
1.สื่ออิเลคทรอนิกส์ เป็นสื่อที่รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต ดังนั้นไม่ว่าจะมีบทเรียนเกิดขึ้นที่ไหน ก็สามารถเก็บบทเรียนนั้นได้ทั้งหมด เช่น เวลาเกิดคาร์บอมบ์ที่อิรัก หรือเหตุการณ์ 911 (การจี้เครื่องบินพาณิชย์พุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐอเมริกา) ข่าวได้ถูกตีแผ่ออกไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีการนำภาพเหตุการณ์จริงไปโพสต์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้การเชื่อมโยงกว้างขวางออกไป และเรื่องเดียวกันอาจมองได้หลายแง่มุมมาก
 
2.สื่อบุคคล แม้ความเร็วจะไม่เท่ากับสื่ออิเลคทรอนิกส์ แต่ความลึกซึ้งกับความจริงใจมีสูงกว่า ฉะนั้นการรวมตัวพบปะผ่านทางกลุ่มเพื่อน ผู้นำศาสนา หรือการบอกข่าวต่อๆ กันในร้านน้ำชา ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่ง และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐไทยจะยังเข้าไม่ถึงและไม่สามารถรับมือการการสื่อสารในระดับบุคคลได้ 
 
"สื่ออิเลคทรอนิกส์เราอาจสกัดได้ รัฐไทยพอที่จะทำอะไรได้บ้าง แต่สื่อบุคคลบางทีเรามองไม่ออก เราอ่านรหัสของเขาไม่ออก ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร แต่มันจะทำให้ทุกอย่างดังขึ้น" 
 
เป้าหมายของการส่งสาร
 
ดร.อัศวิน มองว่า การอ่านความหมายการกระทำต่างๆ ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เท่ากับเป็นการถอดรหัสว่าการสื่อสารของฝ่ายผู้ก่อการมีเป้าหมายอะไร ซึ่งเท่าที่เขาเก็บข้อมูลมา พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ
 
1.การสื่อสารเฉพาะกลุ่มในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งโปรแกรมที่ถูกติดตั้งมันไม่ง่ายสำหรับคนนอก แต่ว่าสามารถเข้าใจความหมายได้สำหรับคนในท้องถิ่นเอง ทั้งฝ่ายก่อการและฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการ เช่น ถ้าประกาศแบบนี้คือมีปฏิบัติการ คนในขบวนการก็จะรู้ เพราะเป็นสัญญาณการปฏิบัติงาน ส่วนชาวบ้านเมื่อเห็นเครื่องหมายแบบนี้ก็ปิดบ้านดีกว่า 
 
2.การสื่อสารข้ามกลุ่ม จะมีระดับที่กว้างขึ้นกว่าในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีผลต่อสายลับของรัฐไทย ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ เช่น เวลาก่อเหตุแล้วมีการทำร้ายศพ แบบนี้ไม่ใช่การส่งสารต่อคนในพื้นที่ แต่คือการบอกให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่เล็กๆ นี้ มันได้ส่งผลสะเทือนไปทั่วประเทศแล้ว 
 
3.การสื่อสารกับภายนอก หมายถึงนอกประเทศ เช่น การยกป้ายข้อความเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษารูมี อย่างน้อยก็ทำให้คนในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียได้รับรู้ หากมากกว่านั้นก็ให้คนทั้งโลกได้รับรู้ด้วยเลย เช่น การชุมนุมปิดถนน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อขยายขอบเขตการรับรู้ให้มากขึ้นกว่าในประเทศไทย 
 
"แนวทางการสื่อสารดังกล่าวทำให้เห็นว่า ฝ่ายผู้ก่อการไม่จำเป็นต้องต้องมีหัวหน้าใหญ่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเลย เพราะทั้งสามระดับนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะส่งสารออกไปข้างนอก และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคม" 
"ถ้าเรามองตามกรอบของนิเทศศาสตร์ ในระดับวัจนภาษา (การสื่อสารที่ใช้ถ้อยคำ) เขาไม่ได้บอก แต่ระดับอวัจนภาษา (การสื่อสารที่ไม่ใช้ถ้อยคำ) เขาได้บอกออกไปแล้ว และอวัจนภาษาเหล่านี้บอกความหมายถึงความต้องการรัฐอิสระ ส่วนจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ค่อยว่ากัน"  
 
ข่าวลือ...อาวุธทรงอานุภาพ
 
ดังที่ ดร.อัศวิน อธิบายแล้วว่า ปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายก่อความไม่สงบไม่ได้จำกัดเฉพาะการก่อเหตุร้ายเพื่อยึดพื้นที่ข่าวทั้งในและนอกประเทศเท่านั้น แต่กลุ่มขบวนการยังมุ่ง "ส่งสาร" ให้กับมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะการแย่งชิงมวลชนให้เป็นพวกกับตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก็คือเป้าประสงค์สำคัญประการหนึ่งของการแบ่งแยกดินแดน
 
และเครื่องมืออันทรงพลังของพวกเขาก็คือปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของ "ข่าวลือ" 
 
ในงานวิจัยของ กิ่งอ้อ เล่าฮง มหาบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตีพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คชื่อ "ถอดรหัสไฟใต้" ได้อธิบายถึงอานุภาพของข่าวลือที่สร้างขึ้นโดยฝ่ายก่อความไม่สงบเอาไว้ โดยผ่านการสืบค้นเบื้องหลังเหตุการณ์ร้าย 2 เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์โจรนินจา ซึ่งก็คือตำรวจพลร่ม 2 นาย ที่บ้านบือนังกือเปาะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2546 กับเหตุการณ์สังหารสองนาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2548 
 
งานวิจัยสรุปว่า ทั้งสองเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่มีความคุกรุ่นจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่ค่อยๆ สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว จากนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบก็ใช้ปฏิบัติการข่าวสารในรูปแบบข่าวลือเป็นตัวกระตุ้นฝูงชนเพื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ สะท้อนผ่านการกระทำที่ก้าวร้าว รุนแรงต่อตัวแทนของอำนาจรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ขณะนั้น กระทั่งทั้งสองเหตุการณ์จบลงด้วยโศกนาฏกรรมไม่ต่างกัน
 
ในเหตุการณ์รุมประชาทัณฑ์ตำรวจพลร่ม 2 นาย กลุ่มก่อความไม่สงบสร้างข่าวลือเรื่อง "โจรนินจา" จากเรื่องเล่าต่อๆ กันมาในท้องถิ่นเกี่ยวกับ "ออแกมีเยาะ" หรือ "มนุษย์น้ำมัน" เพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐที่เริ่มส่งกำลังเข้ามาตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวดในพื้นที่ โดยทำให้ชาวบ้านค่อยๆ เชื่อว่าเหตุการณ์ร้ายต่างๆ เช่น การลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การฉุดคร่าผู้หญิง หรือการที่มีขโมยแอบขึ้นบ้านเป็นประจำ เป็นการกระทำของโจรนินจาซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่นั่นเอง 
 
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบางคนมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจสอดคล้องกับที่กลุ่มก่อความไม่สงบสร้างเรื่องเอาไว้โดยบังเอิญ ก็ทำให้ชาวบ้านเชื่ออย่างสนิทใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือโจรนินจา และความโกรธแค้นก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการโหมกระแสของข่าวลือ สุดท้ายเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ก็นำไปสู่การรุมประชาทัณฑ์ตำรวจพลร่ม 2 นาย 
 
ส่วนเหตุการณ์สังหารสองนาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอนั้น กลุ่มก่อความไม่สงบสร้างข่าวลือว่า กรณีที่มีกลุ่มคนลึกลับใช้อาวุธสงครามกราดยิงร้านน้ำชาในหมู่บ้านในช่วงค่ำของวันที่ 20 กันยายน 2548 เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้มีการล้อมจับนาวิกโยธิน 2 นายที่เข้ามาตรวจพื้นที่หลังเกิดเหตุเป็นตัวประกัน
 
เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อข้ามคืน จึงมีการปล่อยข่าวลือไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงว่า สามารถจับตัวทหารที่ก่อเหตุยิงร้านน้ำชาได้แล้ว ทั้งยังใช้ความโกรธแค้นจากเหตุการณ์กรือเซะและการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อปี 2547 เป็นตัวเร่งให้ผู้คนมารวมตัวกันมากๆ สุดท้ายเมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ก็มีการส่งคนบุกเข้าไปสังหารสองนาวิกโยธิน
 
อานุภาพของ "ข่าวลือ" สร้างความสำเร็จในแง่ยุทธวิธีให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบหลายต่อหลายครั้ง ไม่เฉพาะเหตุการณ์ร้าย 2 เหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่รัฐไปถึง 4 นายเท่านั้น แต่ในห้วงของความรุนแรงรอบใหม่ ก็มีการใช้ข่าวลือในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นทั้งเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังรัฐไทย และกดชาวบ้านไว้ไม่ให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ 
 
โดยหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ที่สมควรนำมากล่าวถึงเป็นกรณีตัวอย่าง ก็คือการสร้างข่าวลือห้ามเปิดร้านขายของและทำงานในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ของพี่น้องมุสลิม 
 
ข่าวลือชิ้นนี้ถูกปล่อยออกมาช่วงปลายปี 2548 แล้วก็ทำให้วันศุกร์แทบจะกลายเป็นวันหยุดงานของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเลย ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะออกไปกรีดยางหรือเปิดร้านรวง โดยสิ่งหนึ่งที่ทำให้ข่าวลือมีผลในวงกว้างเช่นนั้น ก็คือคำขู่ว่าจะ "ตัดหู" คนที่ขัดขืน และมีข่าวลือตามมาว่า มีการตัดหูแม่ค้ารายหนึ่งไปแล้วด้วยเหตุที่ยังหาญกล้าออกมาขายของในวันศุกร์ 
 
ครั้งนั้นรัฐบาลต้องสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เปิดตลาดนัดธงฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และส่งรัฐมนตรีเวียนกันลงพื้นที่ในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ถูกตีความว่า นี่คือความสำเร็จอย่างงดงามของกลุ่มก่อความไม่สงบ
 
เครื่องมือสร้างข่าวลือ
 
ในงานวิจัยของ กิ่งอ้อ ยังศึกษาถึงวิธีการและเครื่องมือที่กลุ่มขบวนการใช้สร้างข่าวลือเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่าแหล่งเผยแพร่ข่าวลือมักอยู่ที่ร้านน้ำชาเป็นหลัก ซึ่งร้านน้ำชาเป็นแหล่งรวมของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมตามวิถีชีวิตปกติในแต่ละวัน และเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งเป็นคนต่างถิ่น ต่างภาษา และวัฒนธรรม มิอาจเข้าถึงได้เลย 
 
การแพร่กระจายของข่าวลือจะเริ่มจากร้านน้ำชา จากนั้นก็แพร่สู่เพื่อนบ้านและหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงตลาดนัด โดยเครื่องมือที่ใช้นอกจากการร่ำลือแบบปากต่อปากแล้ว ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย เช่น โทรโข่ง โทรศัพท์มือถือ และใบปลิว เป็นต้น โดยสารที่ถูกปล่อยออกไปจะมีลักษณะว่า เจ้าหน้าที่รัฐยิงชาวบ้าน ทหารฆ่าประชาชน ซึ่งมักจะได้ยินบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ชาวบ้านมีทัศนคติไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่เหล่านั้นการทำงานของข่าวสารในรูปแบบของข่าวลือจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากเครื่องมือที่ต้องใช้ "วัจนภาษา" เป็นสื่อกลางในการสื่อสารแล้ว ยังมีเครื่องมือที่ใช้ "อวัจนภาษา" เป็นตัวสื่อเพื่อส่งสารในลักษณะข่มขู่เป้าหมายที่เป็น "ผู้รับสาร" ด้วย อันได้แก่สิ่งของที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งความตาย” ตามความเชื่อของชาวมลายูมุสลิมที่เรียกว่า "บือฤห์ ซือมาแย มายะ” ประกอบด้วย ข้าวสาร 1 ลิตร ไข่ไก่ 1 ฟอง ผ้าขาว 1 ผืน และเงินจำนวน 20 บาท 
 
สิ่งของดังกล่าวนี้ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้มอบให้กับผู้มาร่วมพิธีละหมาดศพภายหลังการละหมาดแล้ว แต่มันได้ถูกนำไปแขวนไว้ที่ต้นยางหรือหน้าบ้านของคนที่ต้องการจะข่มขู่ เมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นสัญลักษณ์แห่งความตายนี้ มักจะไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน เนื่องจากกลัวอันตรายที่มองไม่เห็น
 
งานวิจัยของกิ่งอ้อ ระบุด้วยว่า การใช้ใบปลิวและสัญลักษณ์แห่งความตาย กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติการข่าวสารอีกประเภทหนึ่ง ด้วยการใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อและทำสงครามจิตวิทยา ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างเห็นได้ชัด 
 
ถอดรหัสภาษาสื่อสาร
 
หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงนัยยะของ "สาร" ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องมือที่ใช้ในการปล่อยข่าว จะพบวาทกรรมทางศาสนาแสดงอยู่อย่างชัดเจน
 
งานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้: วาทกรรมที่มีนัยทางศาสนา” ของ ปัญญศักย์ โสภณวสุ นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่เผยให้เห็นถึงแนวความคิดที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์เอกสารใบปลิวและเอกสาร “เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี” ซึ่งเป็นเอกสารภาษายาวีที่เจ้าหน้าที่เก็บได้จากศพของผู้ก่อเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งในขณะนั้นรู้จักกันในนาม “คัมภีร์มรณะ” 
 
การวิเคราะห์ของปัญญศักย์ ชี้ให้เห็นว่า นอกจากการใช้สัญลักษณ์ของคำว่า “กาเฟรฺ” ที่หมายถึงคนต่างศาสนา หรือในที่นี้หมายถึงคนสยาม (คนไทยพุทธ) แล้ว การใช้สัญลักษณ์ของคำว่า “มุนาฟิก” ที่หมายถึงคนมุสลิมที่กลับกลอก ก็ถูกหยิบมาใช้ในบริบทความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย 
 
ที่สำคัญ "มุนาฟิก" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่เพิ่งปรากฏอย่างชัดเจนและเข้มข้นในบริบทการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
 
“มุนาฟิก” ในความหมายทางศาสนาอิสลาม หมายถึงกลุ่มชนที่กลับกลอกในด้านความศรัทธา ซึ่งมีสองนัย คือ ผู้ที่เป็นมุสลิมแต่มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้อื่น กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมแต่อ้างตนเป็นมุสลิมเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยในหลักการของอิสลามแล้ว ผู้ที่เป็น “มุนาฟิก” จะต้องได้รับโทษอย่างมหันต์ในโลกหน้า
 
งานวิจัยของ ปัญญศักย์ ชี้ว่า ปฏิบัติการเพื่อสร้างความหวาดกลัวที่เป็นเครื่องมือประกอบในการก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ก่อการ และมีวาทกรรมทางศาสนาแฝงนัยอยู่นั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ การแจ้งเตือน คำตัดสินชี้ขาด (Fatwa) ที่น่าสะพรึงกลัว และการใช้สัญลักษณ์แห่งความตาย 
 
ปัญญศักย์ อธิบายว่า รูปแบบของ “การแจ้งเตือน” มีทั้งใบปลิว จดหมาย โทรศัพท์ หรือใช้กลุ่มคนข่มขู่ต่อเป้าหมายโดยตรงหรือผ่านญาติ รวมทั้งการประกาศให้รับรู้กันในชุมชน โดยการแจ้งเตือนมีเป้าหมายโดยรวมคือ “ให้เป้าหมายยุติพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อการเคลื่อนไหวและการดำรงอยู่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยทันที” 
 
ในขณะที่ "คำตัดสินชี้ขาดที่น่าสะพรึงกลัว" นั้น ส่วนใหญ่จะใช้กับชาวมุสลิมด้วยกันที่ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับหรือให้ความร่วมมือกับทางราชการ ดังตัวอย่างใบปลิวที่อ้างอิงอยู่ในงานวิจัยว่า “ท่านเป็นสายลับให้ตำรวจ...เพราะฉะนั้นพวกเราได้ตัดสินชี้ขาดแล้ว จึงจำเป็นต้องปลิดชีวิตของสุนัขรับใช้สยาม”
 
ส่วนการใช้ "สัญลักษณ์แห่งความตาย" ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการลงมือสังหารนั้น ปัญญศักย์ ระบุว่า เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวที่โดดเด่นที่สุด และจะใช้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว 
 
งานวิจัยของปัญญศักย์ สรุปว่า วาทกรรม “กาเฟรฺ” และ “มุนาฟิก” ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของความขัดแย้งด้วยความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านหนึ่งก็เพื่อสะท้อนการแยกมิตรแยกศัตรูในระหว่างการต่อสู้ในทัศนะของกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐ พร้อมกับเรียกร้องอยู่ในทีให้ใครก็ตามที่ได้รับสาร "เลือกข้าง" อย่างชัดเจน
 
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นี่เป็นการสร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้ปกคลุมเหนือผู้คนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทั้งพุทธมุสลิม, ทหารตำรวจในฐานะที่เป็นกองกำลังติดอาวุธคู่สงคราม และประชาชนธรรมดาทั้งชาวพุทธและมุสลิม 
 
"ความหวาดกลัวนี้เองที่ทำให้ผู้ก่อการมีอำนาจเหนือและสามารถควบคุมวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้ กาเฟรฺต้องหวาดกลัวที่จะต้องตกเป็นเป้าโจมตี ในขณะที่มุสลิมก็ต้องระมัดระวังตัว แม้ไม่สนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา แต่ก็จำต้องนิ่งเฉย ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากขัดขืนพวกเขาก็จะต้องตกเป็นเหยื่อโจมตีในที่สุด" 
 
สงครามความรู้สึก
 
เมื่อพิจารณาถึงปฏิบัติการข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ หรือการใช้ข่าวลือเป็นคำขู่ โดยที่หลายๆ ครั้งจะไม่ได้เกิดความรุนแรงขึ้นจริงก็ตาม แต่คำตอบของปฏิบัติการข่าวสารดังกล่าวนั้น ผลสะเทือนของสารที่ถูกส่งออกไปดูจะล้ำลึกมากกว่าการยึดพื้นที่ข่าวเสียอีก
 
สิ่งที่ค้นพบก็คือ ทุกๆ เหตุการณ์ร้าย หากยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่าไหร่ หรือใช้วิธีข่มขู่ที่สื่อถึง "สัญลักษณ์แห่งความตาย" ชัดเจนมากขึ้นแค่ไหน ความรู้สึกหวาดกลัวของชาวบ้านก็ยิ่งเกิดขึ้นตามมามากเท่านั้น 
 
แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวบ้านแค่ในสามจังหวัดที่หวาดกลัว แต่คนในอีก 73 จังหวัดของประเทศไทยก็หวาดกลัว 
และหากกล่าวถึงความรุนแรงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา หรือเหตุระเบิดที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2548 ก็ต้องบอกว่าแม้แต่ต่างชาติเองก็ยังหวาดกลัว  เพราะกระทรวงการต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเตือนพลเมืองของตนไม่ให้มาท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
นี่คืออานุภาพของสงครามข่าว! 
 
ประเด็นที่น่าขุดค้นต่อไปก็คือ ปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะข่าวลือหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เกิดความรุนแรงขึ้นจริง หรือเป็นเพียงการฉวยโอกาสป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐไทยอย่างชัดเจน ขณะที่รัฐไทยเองก็สามารถสร้างความกระจ่างได้ แต่เหตุใดชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงพร้อมจะเชื่อ 
 
ในงานวิจัยของกิ่งอ้อ อธิบายประเด็นนี้เอาไว้ในหัวข้อ "ใครอยู่เบื้องหลังข่าวลือ?" ว่า การปล่อยข่าวมักอาศัยผู้ที่ชาวบ้านเชื่อถือศรัทธา เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน หรือคลุกคลีอยู่ในหมู่บ้านมานาน จึงทำให้ข่าวลือมีประสิทธิภาพ และชาวบ้านพร้อมใจกันเชื่อ 
 
แต่นั่นเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอีกหนึ่งสมมติฐานที่น่าสนใจไม่แพ้กัน กล่าวคือความรู้สึกลบต่อภาครัฐที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเทความรู้สึกไปในทางเชื่อข่าวลือ
 
จากการที่ “ทีมงานดีพเซาท์” ได้เดินทางไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ "ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต" ยังสถานที่ปิดลับแห่งหนึ่ง เขาให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความรู้สึกไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึมซับมาโดยตลอด ฉะนั้นความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่ชาวมลายูต้องการมากที่สุด มันคือความเท่าเทียมที่เทียบเท่ากับคนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ไม่ใช่ความรู้สึกแบบพลเมืองชั้นสอง หรือถูกมองในลักษณะเป็น "อาณานิคม"
 
"ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลอาจจะบอกว่าให้เยอะแล้ว แต่คนในสามจังหวัดบอกยังไม่ได้ให้อะไรเลย จริงหรือไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขาพูดกันมาอย่างนี้ อย่างเรื่องการพัฒนาอะไรต่างๆ รัฐอาจจะบอกว่าทำตั้งเยอะแล้ว แต่คนในพื้นที่บอกว่ายังไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องความรู้สึก คนมลายูรู้สึกแบบนั้น รัฐบาลไทยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เขาเลิกรู้สึกแบบนั้น" 
 
นี่คือสิ่งที่อดีตผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเรียกว่า "สงครามทางความรู้สึก" ซึ่งเขาฟันธงว่า รัฐไทยไม่อาจเอาชนะสงครามนี้ได้ด้วยการปราบปราม หรือการใช้กำลังทหาร แต่ต้องเอาชนะที่ความรู้สึก 
 
"ทางออกที่แท้จริงคือรัฐบาลไทยต้องทำนโยบายใหม่ๆ ให้ถูกใจประชาชนในพื้นที่ให้ได้" เขากล่าว
 
สัญญาณของความเปลี่ยนแปลง
 
อย่างไรก็ตาม ผู้นำขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยในอดีต ไม่ได้ขยายความต่อว่า ความรู้สึกลบที่ชาวมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต่อรัฐไทยนั้นเกิดมาจากอะไร และสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยไหน แต่ กิ่งอ้อ อธิบายเอาไว้ในงานวิจัยของเธอว่า ประวัติศาสตร์ระยะไกล เช่น การเสียชีวิตของ หะยีสุหลง บิน อับดุลกาเดร์ (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำมุสลิมที่เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ไม่ได้สร้างความรู้สึกลบในหัวใจของชาวบ้านต่อรัฐไทยมากเท่าใดนัก 
 
ทว่าประวัติศาสตร์ในระยะใกล้ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น "ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย" ต่างหากที่สร้างความรู้สึกลบมากกว่า เช่น เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปีเดียวกัน เป็นต้น
 
แต่นั่นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้สึกลบหรือความไม่ไว้วางใจต้องเกิดขึ้นก่อนแล้ว และมีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเป็นตัวปลุกเร้า ซึ่งความรู้สึกไม่ไว้วางใจย่อมหนีไม่พ้นการกระทำที่ดูจะเป็นการเลือกปฏิบัติกับชาวมลายูมุสลิมที่รัฐไทยคุ้นชินมาเนิ่นนาน ซึ่งหลายๆ เรื่องอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
 
พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ซึ่งเคยเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยในภารกิจเปิดโต๊ะ "พูดคุย" กับผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต ได้สรุปสมมติฐานนี้เอาไว้อย่างตรงประเด็นที่สุด
"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็ดี หรือคนภาคอื่นๆ ก็ดีทิ้งภาคใต้มานาน มีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นเยอะมาก และรัฐก็เข้าไปแก้ไขปัญหาแบบให้ความสนใจน้อยในช่วงก่อนที่จะเกิดความรุนแรง เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้จะเกิดขึ้นโดยใครก็แล้วแต่ จึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นสิ่งบอกเหตุว่า สังคมที่นั่นต้องการการเปลี่ยนแปลง และสังคมในพื้นที่นี้ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" 
 
รัฐไทยในสงครามข่าว 
 
แม้ในระยะหลังหลายฝ่ายจะเริ่มยอมรับตรงกันว่า ความยุติธรรมและความเท่าเทียมน่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่สามารถคลี่คลาย “สงครามทางความรู้สึก” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ดูเหมือนรัฐไทยในองค์รวมจะยังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เท่าใดนัก
 
โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของหน่วยงานความมั่นคงไทยยังคงเทน้ำหนักไปที่การใช้ปฏิบัติการทางทหาร และปฏิบัติการข่าวสารเพื่อแย่งชิงมวลขนกับกลุ่มก่อความไม่สงบมากกว่า 
 
และแม้ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการกองปฏิบัติการข่าวสาร กอ.รมน.ภาค 4 จะไม่ใช่นายทหารคนแรกของกองทัพที่รู้และเข้าใจเรื่องสงครามข่าวสาร แต่เขาน่าจะเป็นนายทหารคนแรกๆ ที่ออกมาพูดผ่านสื่อว่า สมรภูมิที่แท้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรัฐไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่ คือ "สมรภูมิบนสื่อ" จากปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายก่อความไม่สงบนั่นเอง
 
พ.อ.อัคร อธิบายว่า จริงๆ แล้วกลุ่มก่อความไม่สงบใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ เป็นธงนำในการต่อสู้ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับพื้นที่จะชูเงื่อนไข "ความเป็นธรรม" และระดับสากลจะชูเงื่อนไข "ความชอบธรรม"
 
"สองสิ่งนี้ถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นเครื่องมือ ได้แก่ การก่อเหตุร้าย และการปล่อยข่าวลือ" 
 
พ.อ.อัคร บอกว่า เคยสงสัยมาตลอดว่าทำไมกลุ่มก่อความไม่สงบจึงใช้วิธีก่อเหตุรุนแรงรายวัน หรือก่อเหตุพร้อมกันหลายๆ จุด หรือแม้แต่การก่อเหตุที่ยึดโยงกับวันสำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วก็ได้คำตอบว่า กลุ่มผู้ก่อการต้องการสร้างข่าวเพื่อให้สื่อนำเสนอ  
 
"วิธีนี้เข้าทำนองข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน โดยหากเรามองปรากฏการณ์ย้อนหลังกลับไป จะพบว่าเหตุรุนแรงนั้นเกิดขึ้นเป็นจุดๆ แม้จะหลายจุดพร้อมกัน แต่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ทว่าเมื่อถูกนำเสนอเป็นข่าวผ่านสื่อ จะกลายเป็นว่าการก่อเหตุนั้นครอบคลุมทั้งพื้นที่ และนั่นทำให้ปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบได้ผลเกินคาด" 
 
และวิธีการต่อสู้ของรัฐไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงในทัศนะของ พ.อ.อัคร ก็คือการเพิ่มช่องทางและปริมาณการสื่อสารของภาครัฐเอง เพื่อถ่วงดุลกับข่าวสารของกลุ่มก่อความไม่สงบ 
 
"การเสนอข่าวก็เหมือนกับสายน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งน้ำก็ไหลของมันเป็นปกติอยู่แล้ว เขาแค่เอาเรือยางมาก็ล่องแก่งได้เลย ฉะนั้นทางแก้ของเราคือต้องรู้เท่าทัน หากเปรียบเรือของฝ่ายก่อความไม่สงบเป็นเรือที่บรรทุกเชื้อโรค เราก็ต้องเพิ่มเรือบรรทุกเวชภัณฑ์และอาหารเข้าไป เพื่อไปถ่วงกับเรือเชื้อโรค โดยใช้ร่องน้ำเดียวกัน" 
 
พ.อ.อัคร ขยายความว่า เรือบรรทุกเวชภัณฑ์ในความหมายของเขาก็คือ การเพิ่มข่าวดี เช่น ข่าวเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชาวบ้าน, ข่าวภาครัฐเข้าไปดูแลสุขอนามัยของพี่น้องที่อยู่ห่างไกล หรือข่าวการรวมพลังของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ฝ่ายความมั่นคงทำกันอยู่ทุกวัน แต่กลับไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวเท่าที่ควร 
 
"ข่าวลักษณะนี้จะสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนกำลังได้รับการพัฒนา ได้รับความเป็นธรรม และจะมีผลไปถึงการสร้างความเข้าใจ ซึ่งมันจะไปถ่วงดุลกับข่าวร้ายๆ ที่กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามสร้างขึ้นรายวัน" โฆษกกองทัพบก ย้ำ
 
วัน วอยซ์ ของภาครัฐ
 
ดูเหมือนระยะหลังๆ หน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยก็ดูจะยอมรับแนวคิดนี้ เริ่มจาก กอ.รมน.ภาค 4 เอง ที่มีการจัดตั้งกองปฏิบัติการข่าวสาร โดยมี พ.อ.อัคร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ มีการแจกปลอกแขนสำหรับนักข่าวในสังกัด มีการสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ให้สื่อฟังเป็นระยะ และอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาแหล่งข่าวที่เคยเป็นแหล่งข่าวปิดลับให้หากสื่อมวลชนต้องการ 
 
ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และสำนักงานจังหวัดทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนและประชาสัมพันธ์ ในลักษณะ "เพรส เซ็นเตอร์" (Press Center) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมข่าวและกำหนดหัวข้อการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน 
 
ทั้งหมดนี้สอดรับกับแนวคิดที่ พ.อ.อัคร เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า สิ่งที่รัฐไทยต้องการคือ "วัน วอยซ์" (One Voice) หรือเสียงที่เป็นเอกภาพ กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น รัฐเท่านั้นคือผู้ที่ให้คำตอบว่าเหตุการณ์นั้นเกิดจากอะไร และต้องเป็นคำตอบที่มีทิศทางเดียวกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงพลทหารที่ตั้งด่านอยู่ในหมู่บ้าน 
 
แม้แนวคิดของ พ.อ.อัคร จะน่าสนใจไม่น้อย แต่วิธีการในท่วงทำนองของการสร้าง "วัน วอยซ์" ดูจะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง 
 
บะห์รูน คอลัมนิสต์ชื่อดังที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เคยวิพากษ์แบบตรงไปตรงมาว่า วิธีคิดในแบบของ พ.อ.อัคร ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พร้อมทั้งตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า หากสื่อทุกแขนงเสนอข่าวในทิศทางเดียวกันหมด และเป็นทิศทางแบบที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติลงจริงหรือ
 
ขณะที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็เคยออกแถลงการณ์คัดค้านแนวคิดของ พ.อ.อัคร มาแล้ว เพราะเป็นวิธีการที่ส่อให้เห็นถึงความพยายามในการแทรกแซงหรือควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อ 
อย่างไรก็ดี จากท่าทีของฝ่ายความมั่นคง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของสื่อที่เกี่ยวพันกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังถูกตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน 
 
สื่อในสถานการณ์สงคราม 
 
คำถามที่ดังไม่แพ้เสียงระเบิดหรือเสียงปืนในสถานการณ์ความรุนแรง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานก็คือ สื่อมวลชนควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการใช้สื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารของกลุ่มตน
 
พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) เคยวิพากษ์บทบาทของสื่อเอาไว้อย่างตรงไปตรงมายิ่ง
 
"อยากให้สื่อเสนอข่าวบนพื้นฐานของความเป็นจริง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่แต่งเติมหรือบิดเบือนเนื้อหาสาระ ที่สำคัญคือต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มขบวนการ เรื่องบางเรื่องหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรนำเสนอ  เพราะเสียงระเบิดแต่ละตูม มันคือการสร้างผลงานของเขา เขาทดสอบเราทุกเรื่อง ดังนั้นต้องระวัง" 
 
เป็นเสียงสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อสื่อมวลชนอย่างแจ่มชัด 
และนั่นคืออีกหนึ่งคำถามที่จำเป็นต้องหาคำตอบว่า สื่อต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นเครื่องมือในสถานการณ์สงคราม
 
กิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ มองว่า ปมปัญหาหนึ่งที่สื่อมวลชนต้องเผชิญในการนำเสนอข่าวท่ามกลางความขัดแย้งที่มีความมั่นคงของชาติเป็นตัวตั้ง ก็คือกระแสความรักชาติ 
เขายกตัวอย่างในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 911 ซึ่งมีสื่ออเมริกันน้อยสำนักมากที่ตั้งคำถามกับรัฐบาลของตนเกี่ยวกับการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก นั่นอาจจะเรียกได้ว่าสื่อมวลชนเองก็ต้องประเมินกระแสรักชาติของสังคมด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทางอ้อม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ก็เผยให้เห็นและนำไปสู่กระแสการต่อต้านสงคราม" 
 
อย่างไรก็ดี กิตติพงษ์ ยอมรับว่า สื่อมวลชนมีผลต่อการสะท้อนภาพความรุนแรงจนก่อให้เกิดวิกฤติทางความรู้สึกระหว่างผู้คนในสังคมได้ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เสนอว่าสื่อมวลชนควรต้องติดตามข้อมูลในประเด็นการสร้างความยุติธรรมในพื้นที่ความขัดแย้งนั้น เพื่อให้ปากเสียงของชาวบ้านได้สะท้อนออกมา พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ตัวละครกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์ความขัดแย้งมาถกเถียงกันอย่างเสรี โดยใช้สื่อมวลชนเป็นเวที เหมือนภาพที่เกิดในรายการ "มองต่างมุม" ในอดีต 
 
"ผมเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะลดความรู้สึกคับแค้นใจของชาวบ้านในพื้นที่ลงไปได้" กิตติพงษ์ กล่าว และว่า หลักการการสร้างสมดุลในข่าว (Balance) และความเป็นธรรม (Fairness) ยังคงใช้ได้จริงในการรายงานข่าวปัจจุบัน เพราะทั้งสองหลักการจะส่งผลดีต่อผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อในระยะยาว รวมทั้งจะช่วยรักษาแก่นและจุดยืนของการเป็นสื่อที่ดี
 
วิกฤติของความชินชา
 
กับประเด็นที่ว่า สื่อมวลชนไทยกำลังตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายก่อความไม่สงบในสงครามข่าวสารหรือไม่นั้น กิตติพงษ์ เสนอแง่คิดเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า สมรภูมิข่าวสารเป็นพื้นที่การรบหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่เป็นคู่ปฏิปักษ์ต่อกัน ย่อมต้องการครอบครองพื้นที่ข่าวในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่าอีกฝ่ายทั้งสิ้น  
 
“จุดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องพิจารณากันว่า ในภาวการณ์แบบนี้เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นหรือไม่ เพราะความสำเร็จของคนที่ทำหน้าที่สื่อก็คือ เราจะทำอย่างไรไม่ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเบื่อหน่ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วรู้สึกชินชาจนนำไปสู่การทอดทิ้งไม่ใยดีต่อความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้” 
 
โจทย์ที่บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศราตั้งขึ้น ดูจะเป็นโจทย์ใหม่อีกข้อหนึ่งที่รัฐไทยกำลังเผชิญ เพราะสภาพการณ์ที่สัมผัสได้อย่างแจ่มชัดในปัจจุบันย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยรู้สึกชาชินกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง ถึงขนาดที่พูดได้ว่าสังคมให้ความสนใจกับ “สงครามนางฟ้า” ทั้งที่เป็นบทละครในจอโทรทัศน์และเรื่องราวนอกจอ มากเสียยิ่งกว่าสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียอีก 
 
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ฝ่ายใดคือผู้ที่ได้เปรียบจากความชินชาที่เป็นอยู่?
 
อย่างไรก็ดี การค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่านี้ ดูจะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากความเห็นจากนักสังเกตการณ์ในดินแดนด้ามขวานฟากหนึ่งก็มองว่า การละสายตาหรือการเมินเฉยของสังคมไทยจากปัญหาชายแดนใต้ เป็นสภาพการณ์ที่ “เข้าทาง” กลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะมันคือการนับหนึ่งของกระบวนการแยกดินแดน
 
ขณะที่ความเห็นของนักสังเกตการณ์อีกฟากหนึ่ง กลับมองว่าการที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์ในในพื้นที่มากนัก คือการเปิดช่องว่างให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างเสรี และในบางกรณีก็เสมือนเป็นการอนุญาตให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ หากสังคมเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การยุติเหตุร้ายรายวัน หรือหากจะกล่าวในที่สุดก็คือ สังคมจะได้ไม่ต้องรับรู้เรื่องราวร้ายๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 
 
นั่นหมายถึงว่ารัฐไทยกำลังช่วงชิงความได้เปรียบเหนือกลุ่มก่อความไม่สงบจากภาวะ “ชินชา” ของผู้คนในสังคม 
 
กระนั้นก็ตาม ยังมีปมปัญหาที่น่าหยิบมาวิเคราะห์ต่อ ก็คือการเลือกใช้ปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายความมั่นคงด้วยการ “ปลุกกระแสรักชาติ” เป็นระยะเมื่อเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครู ตำรวจ ทหาร หรือบุคลากรทางสาธารณสุขก็ตาม เป็นยุทธวิธีที่ส่งผลดีแน่หรือกับสถานการณ์สงครามในสมรภูมิแห่งนี้
ทางออกของรัฐไทย 
 
เป็นที่แน่ชัดว่าการควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อ ย่อมไม่ใช่คำตอบของการเอาชนะใน "สงครามข่าวสาร" เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะสร้าง "วัน วอยซ์" ให้เกิดขึ้นได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ดังเช่นปัจจุบัน 
 
ฉะนั้นทางออกของรัฐไทยก็คือต้องหายุทธวิธีที่ดีเพื่อเอาชนะใน "สงครามข่าว" แต่ยุทธวิธีที่ดีดังว่านี้ก็ยังเป็นคำถามอยู่เหมือนกันว่า มันคืออะไรกันแน่?
 
ในมุมของ ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แม้เขาจะไม่ได้สรุปตรงๆ ว่าการปลุกกระแสรักชาติเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้องเพื่อเอาชนะในสงครามข่าวหรือไม่ แต่ข้อเสนอของเขาที่ให้ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับฝ่ายรัฐ ก็น่าจะเป็นคำตอบได้ในระดับหนึ่ง
 
"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องให้ทำ ไอโอ ได้เยอะ แต่เรายังทำกันไม่เป็น สมมติว่ามีชายคนหนึ่งถูกฆ่า ถ้าคุณไปถ่ายรูปทำข่าวว่ามีคนถูกฆ่า ก็เป็นการนำเสนอได้ระดับหนึ่งว่ามีคนบริสุทธิ์ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากคุณไปสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้ตายว่าเขารู้สึกอย่างไรที่สามีของเขาถูกฆ่า ไปคุยกับลูกว่ารู้สึกอย่างไรที่พ่อต้องมาตาย ให้ลูกตั้งคำถามว่าฆ่าพ่อเขาทำไม หรือถ่ายรูปลูกที่กำลังร้องไห้กอดศพพ่อ แล้วก็นำไปสื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ อย่างนี้ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่า” 
 
ภุมรัตน์ บอกว่า การส่งสารในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การบิดเบือน เพราะทั้งหมดเป็นความจริง เพียงแต่ว่าจะหยิบมุมไหนมานำเสนอเท่านั้น 
 
“หรืออย่างกรณีโรงเรียนถูกเผา การที่คุณถ่ายรูปโรงเรียนที่ถูกเผาจะไม่มีผลเท่ากับคุณถ่ายรูปเด็กนักเรียนที่ยืนแล้วร้องไห้เมื่อเห็นซากโรงเรียน หรือภาพของเด็กที่กำลังขุดคุ้ยเถ้าถ่านเพื่อหาหนังสือเรียน หรือไปสัมภาษณ์เด็กที่พูดว่า มาเผาโรงเรียนของหนูทำไม”  
 
ภุมรัตน์ ระบุว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แต่รัฐไทยยังอ่อนมาก ทั้งๆ ที่ในระดับสากลมีความอ่อนไหวมากกับเรื่องราวของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อ ถ้าข่าวเหล่านี้ออกไปเยอะๆ จะส่งผลสะเทือนอย่างมากมาย
 
อดีต ผอ.สขช. ยกตัวอย่างการทำความเข้าใจกับต่างประเทศในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร ไม่เฉพาะกับระดับองค์กรระหว่างประเทศอย่าง โอไอซี. (องค์การการประชุมชาติอิสลาม) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง ฮิวแมน ไรท์ วอชท์ ด้วย
"รายงานที่ออกมาครั้งหลังๆ ของ ฮิวแมน ไรท์ วอชท์ แม้ 10% ยังโจมตีเราอยู่ แต่อีก 90% ก็ประณามกลุ่มก่อความไม่สงบ นั่นเป็นเพราะเราให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเขา ฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องการให้ข้อมูล เนื่องจากมันไม่ใช่ความลับ อย่าลืมว่า ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เขียน กับสื่อไทยเขียน ผลสะเทือนมันต่างกันมาก เพราะรายงานของ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ กระจายไปทั่วโลก" 
 
ภุมรัตน์ สรุปว่า การเอาชนะในสงครามข่าวจะเป็นการเพิ่มมิตร ลดศัตรู อันจะส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ดีขึ้นได้ในที่สุด 
 
สามจังหวัดใต้คือคนไทยด้วยกัน 
 
อย่างไรก็ดี การใช้ ไอโอ ให้เป็น ดูจะยังมีบริบทอื่นๆ ที่ลึกซึ้งกว่าการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐไทยหรือฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น เพราะในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ในฐานะนักยุทธศาสตร์ของกองทัพ เห็นว่า สาระที่เป็น "ความจริง" ในสารที่ถูกส่งออกไป มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารูปแบบ
 
"หลายๆ ครั้งผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่เห็นน้องๆ ทหารหรือตำรวจใช้ ไอโอ ในแบบที่ไม่เข้าใจคอนเซปท์และสภาวะแวดล้อมในภาคใต้ เพราะต้องตระหนักว่าในภาคใต้นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัตรู ฉะนั้นคุณจะมาใช้ ไอโอ กวาดไปหมดแบบที่ใช้ๆ อยู่อย่างนี้ มันจะส่งผลเสียทีหลัง" 
 
พล.อ.ไวพจน์ อธิบายว่า ไอโอ ในแบบที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กันอยู่ในภาคใต้ คือ ไอโอ ตามแบบทฤษฎีของตะวันตก หมายถึงการใช้ ไอโอ เป็นเครื่องมือเพื่อลดขีดความสามารถในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม และลดการสนับสนุนที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับจากประชาชน ซึ่งเขามองว่า ไอโอ ลักษณะนี้หากนำมาใช้ในภาคใต้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หลงทาง และยิ่งสร้างความแตกแยก 
 
"การใช้ไอโอแบบกวาด เช่นออกทีวีประณามฝ่ายตรงข้าม และพยายามจะทำให้ประชาชนหรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายไหนเข้าใจอย่างนั้นไปด้วย ถ้ายกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสหรัฐจะชัดมาก คือสหรัฐในสงครามอิรัก เขาทำ ไอโอ ได้เต็มสเกล เพราะคนอิรักไม่ใช่ประชาชนอเมริกัน สหรัฐก็ใช้ ไอโอ เป็นแค่เครื่องมือให้หน่วยของเขาปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนอิรักมาทำร้ายทหารอเมริกัน แต่ไม่ใช่ทำไอโอแบบหวังดีกับคนอิรัก" 
 
"แต่สถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้นั้น ประชาชนในพื้นที่คือประชาชนของเราเอง ทุกคนเป็นคนไทย ถ้าเราทำ ไอโอ จะต้องทำอีกแบบหนึ่ง" 
 
พล.อ.ไวพจน์ เสนอว่า การทำ ไอโอ ในภาคใต้ต้องให้ความจริง (Fact) เพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ให้ข่าวสารในแบบที่มุ่งลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามเหมือนที่ทำกันอยู่  
 
"การสร้างความเข้าใจสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เข้าใจว่าถ้าคนในพื้นที่หันมาช่วยรัฐบาล จะทำให้เกิดความสงบ และมันก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่เอง เป็นประโยชน์กับเด็กรุ่นหลังๆ หรือไม่ก็ยกตัวอย่างให้เห็นเลยว่า ถ้าขัดแย้งกันแบบนี้ต่อไป เราอยากให้ประเทศเป็นแบบอิรักหรืออัฟกานิสถานหรือเปล่า ประเทศเหล่านั้นถอยหลังไป 20-30 ปี แล้วทุกคนลำบากหมด ผมว่าทุกคนก็ไม่อยากเห็น ไม่อยากเป็น ฉะนั้นเรายังมีโอกาส และยังมีจุดร่วมที่ว่ารัฐบาลก็พร้อม เพียงแต่ต้องหันมาร่วมมือกัน เราพูดอย่างนี้กับประชาชนได้ เพราะนี่คือความจริง" เขายกตัวอย่าง 
 
บทสรุป
 
จากองค์ความรู้และมุมมองต่อสถานการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ดังที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่าสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ในการคลี่คลายปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ การเอาชนะทางความรู้สึกในแง่ของสาระ และในแง่ของการปฏิบัติจริง 
 
กล่าวคือนอกจากการต่อสู้บนข้อมูลข่าวสารด้วยการให้ “ความจริง” กับประชาชนแล้ว ยังต้องให้ความจริงใจ ไม่เลือกปฏิบัติ และยุติการกระทำที่ทำให้พี่น้องมลายูมุสลิมรู้สึกว่าพวกเขาคือ “ชนชั้นสอง” หรือเป็น “อาณานิคม” ของรัฐไทยด้วย หาใช่สาละวนอยู่แต่ในสมรภูมิเสมือนจริงจนลืมปลดชนวนปัญหาจริงๆ ที่ฝังรากลึกมานาน
 
เพราะการเอาชนะทางความรู้สึกจะเป็นชัยชนะที่จริงแท้ในสงครามแย่งชิงมวลชน !