เรื่อง: สมัชชา นิลปัทม์
ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร deepsouth bookazine Vol.3, 2551
หลังฤดูฝนจาง ทุ่งสีทองก็พลันแปลงไปเป็นรวงเพื่อรอการเก็บเกี่ยว ณ ช่วงเวลานี้อากาศจะเริ่มดี ลมพัดโชยเย็นสบายไม่อบอ้าว อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศทอดยาวจรดลงไปจนถึงปลายคาบสมุทร
‘ลมตะเภา’ ต้นลมสำคัญจะกางใบเรือสำเภาเพื่อนำพาพ่อค้าวาณิชจากต่างแดน เข้ามาทำการค้าขายในเมื่องท่าสำคัญที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาล ขณะเดียวกันบนแผ่นดินใหญ่ในช่วงเวลานั้น ทั่วท้องฟ้าของคาบสมุทรนี้จะดารดาษไปด้วยว่าวรูปร่างแปลกตา
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทว่าก็แปลกที่เรากลับพบว่า ผู้คนทุกชาติทุกภาษารู้แสวงหาประโยชน์จากลม ทั้งเพื่อใช้งานและการละเล่นบันเทิง เราจึงพบว่า แทบทุกชาติล้วนแล้วแต่รู้จักการทำ ‘ว่าว’ ไว้เพื่อเล่นกันในฤดูกาลที่มีลมชุม
ภูมิปัญญาของคนโบราณจึงรู้จักการประดิษฐ์ว่าว ด้วยการใช้โครงไม้ไผ่ติดผ้าหรือกระดาษบางๆ ปล่อยให้ลอยขึ้นไปในอากาศ โดยมีเชือกหรือป่านยึดไว้ บ้างก็ใช้ว่าวเพื่อเป็นเครื่องรางกันภูติผี บ้างก็ใช้ในการศึกสงครามเพื่อวัดระยะสำหรับขุดอุโมงค์เข้าตีข้าศึก นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์บางคนยังเคยใช้มันเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการตรวจอากาศ ถ่ายภาพ และการส่งสัญญาณวิทยุ
แต่เหนืออื่นใดนั้น ‘ว่าว’ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความรื่นรมย์ของมนุษย์
1.
หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่าในแต่ละถิ่น ล้วนมีว่าวที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ภาคกลางของไทย มีว่าวจุฬาและปักเป้า ญี่ปุ่นมีว่าวรูปปลา ว่าวทรงเครื่องร่อนของชาวตะวันตก หรือว่าวที่มีรูปร่างเลียนแบบสัตว์ตามแต่จินตนาการของคนในท้องถิ่นนั้นๆ
พี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่ได้รังสรรค์ว่าวทรงแปลกตา มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกว่า ‘ว่าววงเดือน’ บ้างก็ว่า ‘ว่าวบุหลัน’ ซึ่งแผลงมาจากสำเนียงมลายูถิ่นที่เรียกว่า ‘แวบูแล’
มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ‘ว่าวบุหลัน’ มีการกำเนิดที่แนบแน่นสัมพันธ์กับผู้คนในดินแดนแห่งนี้ เพราะนาฏยศิลป์เก่าแก่ประจำถิ่นที่มีอายุยาวนานกว่า 500 ปี มาแต่ครั้งยุคทองของ ‘รายาฮิเยา’ อย่าง ‘เมาะโย่ง’ หรือ ‘มะโย่ง’ กล่าวถึงว่าวบุหลันไว้ในบทละครยอดนิยมเรื่องหนึ่งคือ ‘เดวามูดอ’ ซึ่งมีเรื่องย่อว่า
“เจ้าชายองค์หนึ่งเป็นราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์ วงศ์อสัญแดหวา วันหนึ่งเจ้าชายได้รับเชิญจากเจ้าหญิงซึ่งเป็นเทพธิดา โดยจารึกคำเชิญที่กลีบบัวลอยมาตามกระแสน้ำ เป็นผลให้เจ้าชายขอยืมว่าววิเศษจากพระมารดาเป็นพาหนะไปสู่ทิพยวิมาน พร้อมด้วยมหาดเล็กคนสนิท 2 คน
“เมื่อถึงอุทยานสวรรค์เจ้าชายและมหาดเล็กปลอมกายเป็นแมวและหนูวิ่งตรงมายังตำหนัก ต่อมาเจ้าชายได้ลักลอบเข้าไปพบเทพธิดา ในที่สุดความลับก็รั่วไหล เพราะพี่เลี้ยงเจ้าหญิงได้ยินเสียงสนทนาจากห้องบรรทม ตกเย็นวันหนึ่ง เมื่อเจ้าชายเสด็จหนีออกจากบัญชรก็ถูกลอบยิงด้วยธนูถึงกับสิ้นพระชนม์
“มหาดเล็กจึงนำพระศพกลับสู่บ้านเมืองด้วยว่าววิเศษ ระหว่างงานพระศพปรากฏว่า เทพธิดาแปลงองค์เป็นยายแก่เก็บสมุนไพรมาถวายให้เจ้าชายคืนชีพ เมื่อได้ผลแล้วเทพธิดาก็อันตรธานจากไป เป็นเหตุให้เจ้าชายควบม้าวิเศษตามเจ้าหญิงไปยังสรวงสวรรค์และมีความสุขด้วยกัน”
แม้ตำนาน ‘เดวามูดอ’ จะหลากหลายสำนวนและแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่ศิลปินเมาะโย่งเชื่อถือก็คือ ‘เดวามูดอ’ เป็นทั้งบรรพบุรุษและครูต้นของศิลปิน แต่อย่างไรก็ตามทุกสำนวนล้วนต้องกล่าวถึง ‘ว่าว’ ด้วยเสมอ
สมาน โซโดมิ หรือ ‘แบมัง’ นักวัฒนธรรมท้องถิ่นแห่ง อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวถึงว่าวว่า คนมลายูรู้จักเล่นว่าวมานานแล้ว ว่าวที่นิยมมากที่สุด คือ ว่าวบุหลัน หรือว่าววงเดือน ว่าวนก ว่าวปลาหรือว่าวกีกิ๊ นอกจากนี้ยังมี ว่าวในตำนาน ‘เดวามูดอ’ ที่เรียกว่า ‘ว่าวเบอร์มัส’ หรือว่าวทอง ว่ามีแอกสองตัวที่มีเสียงไพเราะราวกับวงปี่พาทย์
‘แบมัง’ เล่าอีกว่า จากตำนานที่มี ‘ว่าว’ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่นี่เอง ทำให้มันกลายส่วนประกอบสำคัญในเชิงพิธีกรรมบางอย่างไปด้วย เขายกตัวอย่างว่า ในพิธีโรงครูของเมาะโย่ง นายโรงผู้ทำพิธีบำบัดปัดเป่าอาการเจ็บป่วย จะยก ‘ว่าวบุหลัน’ ทาบทับเข้ากับหลังผู้ป่วย ก่อนจะร่ายมนต์เพื่อปัดเสนียดจัญไร แล้วจึงนำว่าวนั้นปล่อยขึ้นฟ้าเพื่อนำพาความชั่วร้ายออกไปจากร่างกายเสีย โดยมีญาติพี่น้องของผู้ป่วยช่วยกันสาวสายป่านนั้น
ในทางมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ ตีความว่า โครงว่าว เปรียบได้ดั่งร่างกายของคน ส่วนจะลอยได้สูงหรือต่ำนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ‘จิต’ เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง กายและจิต – รูปและนาม ที่สอดประสานกันอย่างแยกไม่ออก ว่าวยังหมายถึง ‘สื่อกลาง’ ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ คือพาหนะนำพาไปสู่สองภพดังปรากฎในในตำนานข้างต้น ส่วนญาติพี่น้องที่ร่วมกันดึงสายป่านนั้น ก็ถูกเปรียบว่าบรรดาลูกหลานทั้งหลายล้วนแต่ถือกำเนิดมาจากสายสะดือในครรภ์เดียวกัน พิธีกรรมเช่นนี้ได้ซ่อนนัยของการสร้างความกลมเกลียวของชุมชนและเครือญาติเอาไว้ได้อย่างแยบยล
2.
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ‘ว่าวบุหลัน’ นั้น สามารถสะท้อนได้ทั้งภูมิปัญญาอันล้ำลึกและอารมณ์อันสุนทรีย์ของคนมลายู ที่ทำให้ว่าวตัวหนึ่งเป็นมากกว่าโครงไม้ไผ่ติดกระดาษลอยฟ้า ให้เป็นได้ทั้งว่าวสวยงามและว่าวแข่ง
จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ลวดลายใบเทศมลายูอันวิจิตรกับภู่ที่หัวและปลายปีกอันโอ่อ่า กับเสียงของแอกใบลานที่ติดกับตัวว่าว ที่ครางราวกับเสียงดนตรีอันไพเราะยามเมื่อฉวัดเฉวียนในอากาศ เมื่อล่องลอยอยู่เหนือทุ่งทองในยามหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะไม่ใช่ภาพที่น่าชม
อีกด้านหนึ่งว่าวรูปทรงใกล้เคียงกันนี้ กลับได้ถูกสร้างให้ตัวโครงถูกลดทอนสั้นลงจนแลดูกะทัดรัด กรุกระดาษที่เรียบง่ายไร้ลวดลายให้สง่างามราวประหนึ่งเครื่องบินรบ ‘ว่าวแข่ง’ จึงเป็นการวัดฝีมือทางเชิงช่าง ไม่ใช่แค่การประดิดประดอย แต่คือการวัดฝีไม้ลายมือด้วยการแข่งขันว่า ว่าวของใครจะโต้ลมได้สูงกว่ากัน
ภูมิปัญญาทั้งหมดของคนที่เป็นช่างว่าวถูกเรียกมาใช้ ผ่านการลองผิดลองถูก ครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผ่านความรู้กันรุ่นต่อรุ่นจนเป็นเคล็ดลับที่ไม่ยอมเปิดเผยโดยง่าย จนอาจถือได้ว่านี่คือวิชา ‘อากาศพลศาสตร์’ (aerodynamics) นอกตำราของฝรั่ง
ว่าวแข่งจึงเป็นทั้งสนามวัดฝีมือและสนามวัดใจลูกผู้ชายเลยทีเดียว
3.
มะเซะ มะแลเม็ง ผู้เฒ่าวัย 81 อดีตผู้ใหญ่บ้านกือเม็งผู้นี้ เป็นที่รู้กันดีในแถบบ้านใกล้เรือนเคียงว่าอาเยาะห์นั้นมีฝีไม้ลายมือในเรื่องการหัตถกรรมหลายประเภท เป็นทั้งช่างกลึงงานไม้แบบพื้นบ้าน ช่างประดิษฐ์กรงนกลวดลายวิจิตร แล้วยังเป็นนักเลงต่อไก่ป่ามือฉมัง ที่สำคัญ เขาคือนักเลงว่าวตัวจริงเสียงจริงแห่งรามัน เพราะใครในแถบนี้รู้ว่า ว่าวของอาเยาะห์นั้นบินได้สูงกว่าใคร
วันนี้มะเซะเลิกทำว่าวมา ๒ ปี แต่เขาก็ยังมีว่าวรักเก็บเอาไว้อีกหลายตัว ตัวที่รักมากๆ เมื่อแข่งเสร็จก็จะถอดแยกเก็บเป็นชิ้นๆ ไว้รอขึ้นโครงกรุกระดาษแข่งในปีต่อๆ ไป แม้สังขารที่ร่วงโรยได้บั่นทอนกำลังให้ถดถอยลงจนไม่สามารถรั้งสายป่านได้ดังเดิม แต่ถึงกระนั้นแววตาคู่นั้นกลับคืนประกายเมื่อถูกรบเร้าให้เขาเล่าถึงว่าวแข่ง
“ว่าวนี้รูปร่างจะกะทัดรัดปราดเปรียว ช่วงตัวจะสั้นกว่าว่าวสวยงาม รูปปีกก็มีทั้งแบบปลายแหลมธรรมดาและแบบปลายมน ซึ่งในว่าวสวยงามจะไม่ทำปีกปลายมน”
นักเลงว่าวแห่งรามันสาธยายความแตกต่างของว่าวแข่งกับว่าวสวยงามให้ฟังว่า ว่าวแบบปลายมนจะช่วยให้กินลมดีกว่าและบินได้สูงกว่า
เขาเล่าต่อว่า กว่าจะมาเป็นว่าวแข่งนั้นต้องทำการเลือกไม้ไผ่ที่ใช้ทำว่าว โดยจะเลือกไผ่ตงหรือไผ่สีสุกที่แก่จัดเนื่องจากสปริงตัวดี มีความยืดหยุ่นอยู่ในตัว ในการเตรียมไม้ไผ่เพื่อนำมาเป็นตัวโครง ช่างจะใช้มีดพร้าผ่าเป็นเส้นๆ แล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็นำไปแช่น้ำให้เนื้อไม้อิ่มน้ำ แล้วก็นำมาตากแดดจนแห้ง ส่วนระยะเวลานั้นก็แล้วแต่วิชาที่ตัวเองได้เรียนรู้มา ก็จะได้ไม้ไผ่ที่เหมาะกับการเหลาเป็นโครงว่าว
มะเซะ เล่าด้วยว่านอกจากไม้ไผ่แล้ว ว่าวยังสามารถทำจากไม้ ‘เอจอง’ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น แต่มีความเหนียว สปริงตัวดีเหมาะกับการทำว่าวเช่นกัน เขายังเผยเทคนิคที่สำคัญของการเหลาไม้ไผ่ให้เรียวกลมกลึงว่าอยู่ที่การใช้มีด ‘ซาราโฮะ’ หรือมีดตอกให้ชำนาญ หากส่วนที่เป็นข้อไม้ไผ่ ถ้าแข็งนักก็จะใช้ตะไบถูช่วย แล้วจึงเก็บงานด้วยกระดาษทรายให้เรียบเนียนตลอดทั้งเส้น แล้วจึงนำมามัดด้วยเชือกตามสัดส่วนให้ได้น้ำหนักที่สมดุล
“ตอนช่วงก้นกบของตัวว่าวที่โค้งรูปเป็นวงเดือน เป็นส่วนที่ทำยากที่สุด เพราะหากไม่ชำนาญ ว่าวตัวนั้นจะลอยได้ไม่ดี จะลอยส่ายไป ส่ายมา”
การกรุกระดาษว่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกมองข้าม ล้วนแล้วแต่มีเทคนิคลูกเล่นปนอยู่ มะเซะบอกว่า คุณภาพของกระดาษสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกันบ้างเล็กน้อย เขาจะใช้กระดาษที่เรียกว่ากระดาษว่าวมาขยำให้ยับทั่วทั้งแผ่นเสียก่อนเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในตัว เพราะหากไม่เช่นนั้น เมื่อว่าวโดนแดดร้อนๆ กระดาษจะตึงตัวแล้วจะขาดได้ง่าย ส่วนกาวที่ใช้ก็เป็นกาวลาเท็กซ์ทั่วๆ ไป บางทีถ้าไม่มีก็จะใช้น้ำยางพาราสดๆ เลยก็ได้
เมื่อกรุเสร็จทั้งตัวแล้ว ว่าวก็จะถูกร้อย ‘สายคันซุง’ หรือ ‘สายการดุ๊ก’ ตามภาษาถิ่น เพื่อเชื่อมตัวว่าวกับสายป่าน นักเลงว่าวที่ชำนาญจะรู้ว่าควรจะผูกแบบไหนเพื่อให้สามารถควบคุมว่าวให้ลอยขึ้นเหมาะสมกับสภาพลมและได้มุมเงยที่พอเหมาะ
เคล็ดลับเหล่านี้แม้จะถูกพัฒนาตามประสบการณ์ของเขาที่เพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลา การผ่านสนามแข่งมามากแต่เขาก็ไม่เคยลืมวิชาที่ได้เรียนมาจาก ‘วอมะ’ นักเลงว่าวแห่งบ้านซิโป ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
‘มะเซะ’ เล่าว่า เขาคนนั้นคือช่างว่าวที่ครบเครื่อง ทั้งว่าวสวยงามและว่าวแข่ง และสามารถบอกผู้อื่นได้เต็มปากเต็มคำว่าคือ ‘ครู’
4.
“ว่าวจะสวย ว่าวจะดี วัดกันที่เมื่อลอยในเวหา” บางทีภาษิตของนักเลงว่าวบางคนคงจะจริง เพราะหากได้ลองยืนอยู่กลางทุ่งกว้างๆ ลมดีๆ แล้วแหงนขึ้นไปบนฟ้าก็จะรู้สึกได้ว่าว่าวสวยๆ ที่แขวนไว้ข้างฝา คงไม่สง่างามเท่ากับเมื่อมันได้ล้อลมในอากาศ
ที่แน่ๆ การแข่งว่าวของคนที่นี่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ กติกาจะดูว่าวที่บินสูงกว่าใครนั้นวัดจากสายป่านที่ตึงและรั้งให้มีความชันเหนือตัวอื่นๆ ว่าวแข่งชั้นดีจะต้องกินลมในระดับที่พอเหมาะกับสภาพลมในขณะนั้น การที่ว่าวสามารถลากสายป่านไปยาวกว่าตัวอื่นแต่สายหย่อนตกท้องช้างนั้นไม่ถือกันว่าบินได้สูงแต่อย่างใด แต่ว่าวที่รั้งให้สายป่านจนตั้งดิ่งเกือบจะเข้าใกล้ 90 องศาเท่านั้นถึงจะถือว่าดีจริง
การจะวัดว่าว่าวตัวใดลอยสูงเท่าใดจะมี ‘โฆร์’ ไม้ฉากเป็นเครื่องมือเพื่อทาบวัดความชันของสายป่าน ชั่วเวลาของกะลาจมน้ำในขวดโหล 5 นาทีโดยเฉลี่ยก็นานพอที่จะวัดว่าว่าวตัวไหนจะล้อลมได้สูงกว่ากัน
นักเลงว่าวรู้ดีว่า เวลาแข่งมักนำว่าวไปหลายตัว เพื่อดูสภาพลมที่ได้เปรียบกับว่าวของตนเอง ซึ่งบางคนอาจนำว่าวไปแข่งถึง 10 ตัว เคล็ดที่นำชัยชนะให้ ‘มะเซะ’ เสมอนั้น เขาบอกว่า การวางว่าวของเขาก่อนที่จะส่งขึ้นฟ้า ต้องเลือกเอาเหนือลมเสมอ และกล่าวคาถา ‘ว่าวเบอร์มัส’ ที่อยู่ในตำนาน ‘เดวามูดอ’ ก่อนจะให้ลมนำพาว่าวขึ้นชิงชัย
แม้คาถา ‘ว่าวเบอร์มัส’ แท้จริงแล้วอาจเป็นแค่การเรียกกำลังใจ ที่เหนือกว่านั้นคือความชาญฉลาดในการดูลม ดูความเอนไหวของยอดไม้ ที่โยก เบาหรือช้า การสังเกตสังกา บอกเขาให้รู้ว่า ถ้าลมแรง ว่าวต้องเอาตัวที่กินลมมาก ปีกแข็ง หากลมอ่อนก็เอาตัวปีกนวลขึ้นโต้ลม
การแข่งว่าวยังเป็นกีฬาที่ชิงไหวชิงพริบ เพราะบางคนแต่งว่าวให้ลอยฉวัดเฉวียนกินว่าวตัวอื่น หากโฉบว่าวเราตกพื้น ก็แพ้เอาได้ง่ายๆ เรื่องนี้คือกฎเหล็กที่ต้องระวัง
เขายังเล่าว่า การแข่งว่าวก็มีการพนันติดปลายนวมอยู่เหมือนกัน โดยราคาเดิมพันส่วนใหญ่ คือ 110 บาท อีก 10 บาท เป็นค่าน้ำให้กรรมการกลางหรือเจ้าภาพที่จัดแข่ง แต่ส่วนใหญ่การแข่งขันก็เป็นการแข่งระหว่างหมู่บ้านหรืออำเภอ ซึ่งพวกที่สนใจแข่งขันจะรู้กันเองแล้วก็บอกต่อๆ กันไปเมื่อมีประกาศ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ยังสนใจเล่นว่าวอยู่หรือไม่ มะเซะบอกว่า ยังนิยมอยู่ แต่มักไม่ทำเล่นเอง เพราะเป็นงานฝีมือ ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่ๆ จึงไม่ใคร่สนใจฝึกทำ แต่จะไปควานหาช่างรุ่นเก่าๆ มาทำให้แล้วแบ่งเงินทองเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา
5.
ฤดูร้อนหนึ่งในยามแดดอ่อนแรง ลมเย็นๆ พัดผ่านทุ่งกว้าง สายตาของเด็กหนุ่มหลายคนจับจ้องอยู่กับวัตถุที่ลอยอยู่ในอากาศ ใจของเขาสัมพันธ์กับมือที่คอยรั้งสายป่านโต้แรงลม จังหวะและทิศทางจึงขึ้นอยู่กับผู้ที่ควบคุมมัน
ขณะที่ใครคนหนึ่งปล่อยใจไปตามสายป่านไกลเท่ากับว่าวที่ล่องลอย ยังคงมีความหวังลึกๆ ว่า
“หลังฤดูเกี่ยวข้าวปีนี้ลมตะเภาจะช่วยลดความร้อนรุ่มของไฟใต้ลงไปในสักครา”
หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณ ‘แบมัง’ ในการติดต่อประสานงานและเล่าตำนานย่อของ ‘เดวามูดอ’ ขอขอบคุณ ‘มะเซะ’ นักเลงว่าวแห่งรามันที่ให้ข้อมูล และ อ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับข้อมูลเรื่อง 'เมาะโย่ง'