Skip to main content

ทุกๆ เช้าผมและพี่ๆ ที่เดินทางมาร่วมโครงการฯ มักเดินไปขึ้นถนนที่ป้ายรถโดยสาร ห่างจากอพาร์ทเม้นท์ประมาณเกือบสิบนาที ระหว่างที่รอรถโดยสารอยู่นั้น ผมมักจะเป็นคนใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางอยู่ไม่น้อย ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาปั่นตอนเช้าๆ ที่อากาศกำลังเย็นสบาย ผมทราบว่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยจำนวนมากเลือกใช้รถจักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางมาเรียน

          หากจะสังเกตบรรยากาศในเมืองโดยทั่วไปแล้ว เมดิสันเป็นเมืองที่เดินทางได้สะดวก บนถนนมีทางสำหรับรถโดยสาร มีเลนสำหรับรถจักรยาน ที่รถทุกประเภทสามารถใช้ถนนร่วมกันได้ แต่ต้องขับทางใครทางมัน

          การสัญจรบนท้องถนนที่เมดิสันไม่วุ่นวายนัก เป็นการจราจรแบบเด็กๆ ไปเลยหากเราเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย ที่เมดิสัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐวิสคอนซิน เป็นเมืองที่เป็นมิตรและยุติธรรมกับผู้ใช้ถนนทุกคน

       ยิ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนไทยอย่างเรา บนถนนที่ชื่อว่า “University Ave.” ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ผ่านใจกลางมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เราจะเห็นเลนสำหรับรถจักรยานอยู่เกือบใจกลางถนน ผู้ใช้จักรยานก็ใช้กันอย่างสบายใจ ไม่มีเสียงบีบแตรไล่เหมือนในประเทศไทย วันหนึ่งผมสังเกตเห็นวัยรุ่นหลายคนเดินทางด้วยสเก็ตบอร์ด พวกเขาก็ใช้ถนนเลนเดียวกับจักรยานเช่นกัน

          ส่วนฟุตบาธสำหรับคนเดินเท้านั้นไม่ต้องพูดถึง ที่นี่มีฟุตบาธสำหรับเดินเท้าได้อย่างสบายใจ ไม่มีร้านค้า หรือบ้านเรือนของประชาชนของข้างทางนำอะไรมาวางไว้กีดขวางราวกับว่าเป็นพื้นที่ของตนเองเหมือนในบ้านเรา นานๆ สักครั้งถึงจะเห็นจุดที่ปรับปรุงหรือก่อสร้างเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วง แม้ว่าจะก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ เขาก็มีกั้นพื้นที่ไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่มีการเปิดฝาทอไว้ หรือเปิดหลุมบนฟุตบาธอย่างเปล่าเปลือยให้คนเดินเท้าสะดุดหรือตกท่อระบายน้ำ

          ผมไม่แน่ใจว่าที่นี่ เขามีกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามโทรศัพท์ระหว่างขับรถหรือไม่ แต่สังเกตเห็นว่า คนขับรถยนต์ที่นี่ หลายคนโทรศัพท์ระหว่างขับรถด้วย ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราที่มีกฎหมายห้ามการโทรศัพท์ระหว่างการขับรถ แต่พวกเราก็ยังโทรศัพท์กันอยู่ดี

          สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองที่นี่เขามีการคิดกันอย่างเป็นระบบ นอกจากเขาคิดว่าจะสร้างถนนให้ใครใช้บ้างแล้ว ตามอาคารต่างๆ สถานที่ราชการ ร้านค้า หน้าอพาร์ทเม้นท์ สวนสาธารณะ ต่างก็มีจุดจอดรถจักรยานพร้อมที่เกี่ยวสำหรับล็อครถด้วย

จุดบริการจักรยานสาธารณะเหรียญของเมืองที่สามารถคืนจุดบริการใดก็ได้

          รถโดยสารเอง นอกจากจะขับไม่เร็ว จอดตามป้าย และมาตรงเวลาตามที่กำหนดในโปรชัวร์หรือป้ายตรงจอดรถแล้ว รถโดยสารยังมีที่สำหรับขนรถจักรยานด้วย โดยมีการทำที่วางรถจักรยานไว้ด้านหน้านอกตัวรถเพิ่มเติม รถจักรยานเสีย หรือเหนื่อยสำหรับการปั่นแล้วก็ยังขนขึ้นรถโดยสารได้ แสดงให้เห็นถึงการคิดอะไรที่มันเชื่อมโยงกันเป็นระบบ และยุติธรรมสำหรับทุกคนทุกฝ่ายในเมือง

          การข้ามถนนนอกจากจะต้องข้ามตามสัญญาณไฟแล้ว หากจุดแยกใดที่ไม่มีสัญญาณไฟ ก็ไม่ต้องกลัวหรือพะวงหน้าพะวงหลัง เพราะรถที่นี่ขับรถช้า ไม่น่ากลัวเหมือนบ้านเรา และรถไม่เยอะเกินไป เหมือนจะเป็นกฎของคนขับรถยนต์ คือ ต้องมองว่ามีคนข้ามถนนหรือไม่ หากมีก็ต้องจอดให้คนข้ามถนนก่อน มิติการคิดแบบนี้แตกต่างจากคนไทย ที่คนเดินถนนหรือข้ามถนนต้องมองดูเอาเองว่ามีรถผ่านมาหรือไม่ นี่คือวิธีคิดที่แตกต่างกัน

   ครั้งหนึ่งผมนั่งรถยนต์ไปกับ “Ron Seely” อาจารย์ที่ Life Science Communication School เพื่อไปมหาวิทยาลัย Ron บอกว่า เราขับรถจะต้องระวังนิดหนึ่ง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนคาบเรียนของนักศึกษา ซึ่งช่วงนี้เราจะเห็นนักศึกษาจำนวนมากเดินเต็มฟุตบาธเพื่อเปลี่ยนไปเรียนยังตึกอื่น หรือบางคนก็ปั่นจักรยานไปก็มีไม่น้อย

          Ron เลือกจอดให้นักศึกษาข้ามจนหมดขบวนนักศึกษานับสิบๆ คนผ่านไปจนหมดก่อน จุดนี้ไม่มีสัญญาณไฟสำหรับการข้ามถนน Ron จอดให้นักศึกษาข้ามจนหมด แถบยังเรียกให้นักศึกษารีบวิ่งมาข้ามถนนจนเกลี้ยงถึงจะขับรถต่อไป

          นี่คือวินัยของคนขับรถยนต์ที่เมดิสัน

          เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่าวัยรุ่นคนหนึ่งขับรถยนต์ชนเด็กอายุ 10 ขวบเสียชีวิตกลางถนน ส่วนพ่อของเด็กได้รับบาดเจ็บ สาเหตุที่ทำให้เด็กวัยรุ่นดังกล่าวชนคนตายเพราะเมาแล้วขับ ผ่านมาไม่กี่ชั่วโมงตำรวจก็สามารถจับตัวคนร้ายได้ พร้อมนำมาเผยแพร่ในโทรทัศน์ทันที หากข่าวนี้เกิดขึ้นในบ้านเราก็คงเป็นข่าวที่นำเสนอไปเพียงครั้งเดียวแล้วก็จบกันไป แต่นี่ผ่านมาเกือบสัปดาห์แล้ว สื่อโทรทัศน์ที่นี่ก็ยังนำเสนอกันทุกวัน ราวกับว่า “นี่เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องปกติ” ที่จะเกิดขึ้น

          ผมสังเกตว่า การรายงานข่าวโทรทัศน์เกี่ยวกับอุบัติเหตุในเมืองนี้ เราจะไม่เห็นภาพของเด็กหรือเหยื่อที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลย อาจมีบ้างที่นำภาพนิ่งหรือภาพถ่ายอื่นๆ ของเหยื่อมานำเสนอแทน ภาพข่าวส่วนใหญ่จะเน้นไปที่สภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติมากกว่า ซึ่งทำให้ผู้ชมเห็นภาพต่างๆ อย่างชัดเจน แม้ไม่รู้จักพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม

          การรายงานข่าวก็มักจะสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุของอุบัติดังกล่าวอย่างรอบด้าน สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่หลากหลายเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติขึ้น เช่น พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเหยื่อ ผู้เห็นเหตุการณ์ ตำรวจ ประชาชนทั่วไป ฯลฯ ทำให้ผู้ชมเห็นมุมมองที่หลากหลายต่อข่าวที่เขานำเสนอ ขณะที่ความเคยชินในการรายงานอุบัติเหตุของเมืองไทย คือ มุ่งนำเสนอแต่ความเลวร้ายของเหตุการณ์ มักรายงานข่าวที่เป็นอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เน้นการเร้าอารมณ์ผู้ชม และให้พื้นที่กับผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว ยกเว้นว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นมีความร้ายแรง ละเว้นการนำเสนอข่าวที่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนน้อย

          ผมสังเกตเห็นว่า ข่าวอุบัติเหตุในบ้านเราส่วนใหญ่ มักนำเสนอแต่เหตุการณ์เป็นสำคัญ บ่อยครั้งไม่มีแม้กระทั่งการนำเสนอความคิดเห็นของแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง หรือมีก็มักไม่เอ่ยชื่อหรือตำแหน่งแห่งที่ของแหล่งข่าว มักบอกแค่ว่า “ชาวบ้านแถบนั้น” บอกว่า.....แล้วก็จบ หรือบอกแค่ว่า อุบัติเหตุเกิดจากสาเหตุโน้นนี่นั่น โดยไม่มีแหล่งข่าวอ้างอิง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการโมเมของผู้สื่อข่าว หรือเอาเสียงร่ำลือเสียงเล่าอ้างของชาวบ้านมาใส่ในข่าวโดยไม่ได้มีการอ้างอิงแหล่งข่าว

          ลักษณะการรายงานข่าวอุบัติเหตุในบ้านเรา เท่าที่สังเกต สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสืบสวนสอบสวนที่ลงลึกไปถึงสาเหตุของการอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และยังสะท้อนว่าข่าวอุบัติเหตุเป็นข่าวประเภท Routine หรือข่าวประจำ ที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรมากนัก ยกเว้นว่ามีคนตายมาก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยต่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

 

 

(บันทึกนี้เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการได้รับทุนเพื่อฝึกอบรมต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนตุลาคม 2556-มกราคม 2557 โดยได้รับทุนจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล มูลนิธิศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประจำประเทศไทย)