ซุกกรียะห์ บาเหะ
ทศวรรษของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2557 ยังคงคุกรุ่นและเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หากรวบรวมจำนวนของสถานการณ์ความรุนแรงในรอบทศวรรษ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 8,540 ครั้ง ผู้เสียชีวิต จำนวน 5,325 คน บาดเจ็บจำนวน 9,965 คน ซึ่งผลพวงความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 65 คน ยังก่อให้เกิดเด็กกำพร้าจำนวน 5,000 คน สตรีผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจำนวน 2,000คน และจำนวนเด็กพิการจากสถานการณ์จำนวน 650 คน[1] โรงเรียน หน่วยงานราชการถูกเผาและวางระเบิด
รัฐบาลไทยกับนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในปี พ.ศ.2548 รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๖๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 รวมงบประมาณที่รัฐได้ไปในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ตั้งแต่ปี 2547-2557 จำนวน 208,323 ล้านบาท ส่วนงบประมาณโดยสังเขปประจำปี พ.ศ. 2557 ตั้งงบประมาณดับไฟใต้ จำนวน 25,921 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ, 2557)
ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) จากนั้นคณะกรรมการ กยต. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อกำหนดแนวทางในการดูแลช่วยเหลือติดตามและเฝ้าระวัง รวมทั้งวางแผนและประเมินสภาพจิตใจในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว ต่อมาจึงมีการจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตในโรงพยาบาลของจังหวัดชายแดนภาคใต้
งบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งพบว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ได้รับผลทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีมากกว่า 6,000 คน ดังข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2557 (10 ปีแห่งความรุนแรง) พบว่า จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบตลอดจนผลกระทบเชิงประจักษ์จากการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากสถานการณ์ความรุนแรง เช่น การกราดยิงในศาสนสถาน การปะทะระหว่างผู้ที่เห็นต่างจากรัฐกับเจ้าหน้าที่รัฐ การวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการเรียกร้องการเยียวยาจากภาครัฐเพื่อดูแลครอบครัวและสมาชิกที่เหลือยู่ในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเหล่านี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นหัวหน้าครอบครัว การเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมเห็นถึงการใส่ใจต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การประกอบสร้างความหมายเชิงสัญญะ ของการเยียวยา[2]ผู้ได้รับผลกระทบ[3]ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวคิดมายาคติการตีความการประกอบสร้างความหมายเชิงสัญญะ[4]ของผู้ได้รับผลกระทบมุมมองการประกอบสร้างความหมายเกี่ยวกับการเยียวยาของรัฐบาลไทย โดยผลพวงจากการอนุมัตินโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะที่เปิดกว้างในการเยียวยากลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาล ด้วยการสร้างการรับรู้ในสังคมไทยให้เกิดขึ้นในสมองของผู้คนในสังคม อันส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนต่อรัฐบาลไทย ซึ่งก่อนหน้าปี พ.ศ. 2548 ยังไม่มีการเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลไทย การเยียวยาจากภาครัฐส่งผลให้เกิดช่องทางของรัฐบาลในการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบที่ลดลงในบางช่วงและทวีความรุนแรงขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆจึงกระตุ้นความสนใจของผู้เขียน เมื่อความหมายเชิงสัญญะของการเยียวยาจากภาครัฐต่อครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่มีทั้งครอบครัวที่ยอมรับการเยียวยาจากภาครัฐ และครอบครัวที่ไม่ยอมรับการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการประกอบสร้างความหมายการเยียวจากภาครัฐ เพราะความหมายเชิงสัญญะเหล่านี้มีพลังครอบงำความคิด กำหนดความเชื่อ และพฤติกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายเชิงสัญญะของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ถูกประกอบสร้างและสื่อสารผ่านการกำหนดนโยบายการเยียวยาของภาครัฐ เป็นช่องทางที่มีศักยภาพในการสื่อสารความหมายในวงกว้าง ผ่านเจ้าหน้าที่เยียวยาจังหวัด เยียวยาอำเภอ ผ่านการมอบเงินเยียวยา จึงเป็นที่มาของวัตถุประสงค์การเขียนบทความครั้งนี้
อีกทั้งวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญญะและกลยุทธ์ของนโยบายการเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การวิเคราะห์การประกอบสร้างความหมายเชิงสัญญะนโยบายการเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบระหว่างปีพ.ศ. 2548-2556 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญในบริบทด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เช่น
· การประกาศใช้นโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๖๐/๒๕๔๘ อย่างต่อเนื่อง
· การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) จากนั้นคณะกรรมการ กยต. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
· การจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตในโรงพยาบาลของจังหวัดชายแดนภาคใต้
· ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบแนวทางและหลักเกณฑ์คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๙ (๗) ได้บัญญัติให้ศูนย์ อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีภารกิจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับ ความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ตามระเบียบ กพต. กำหนดทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับตามกฎหมายอื่น
· มติ ครม. เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ถ่ายโอนภารกิจการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แก่ ศอ.บต. โดยได้ถ่ายโอนงานต่าง ๆ คือ งานคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านงบประมาณ ด้านระบบฐานข้อมูล และด้านงานบุคลากร
· นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ วัตถุประสงค์ของ นโยบายข้อที่ ๓ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชน ด้วยกันให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญ และแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยปรับปรุง พัฒนาระบบ และการะบวนการ เยียวยาให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยกระบวนการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปโดยโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ล่าช้า และมีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสวงและเอื้อประโยชน์ของการเยียวยาจากทุกฝ่าย
· ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การเพิ่ม ประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การอำนวยความเป็นธรรม การบังคับใช้ กฎหมาย การส่งเสริมนำหลักศาสนาหรือยุติธรรมชุมชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง
· การเยียวยา 16 ครอบครัว กรณีบุกฐานนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556
สัญวิทยากับการเยียวยา
สัญวิทยาเป็นวิธีการวิเคราะห์ความหมายตามทัศนะการประกอบสร้าง (Constructionist approach) ซึ่งไม่เชื่อว่าวัตถุต่างๆบนโลกจะมีความหมายในตัวของมันเอง แต่มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้ประกอบสร้างความหมายให้กับวัตถุต่างๆ (Thing don’t mean, we construct meaning) ผ่านระบบภาพตัวแทนที่ผสานแนวคิดและระบบสัญญะเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นความหมายจึงไม่เคยมีหนึ่งเดียวหรือหยุดนิ่ง (ณัฐวิภา สินสุวรรณ,ปาริชาต สถาปิตานน์, 2555, น. 308)
สัญญะที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีหลายประเภท เช่น สัญญะแบบเบาๆ เช่น วัตถุ สินค้า รูปภาพ และสัญญะแบบหนักหนัก เช่น สัญญะทางการเมือง ศีลธรรม เพศ เทคโนโลยี นอกจากนั้นสัญญะแต่ละประเภทยังมีมูลค่าและคุณค่า (Value) (กาญจนา แก้วเทพ, 2544, น. 140)
ความต้องการเชิงสัญญะนั้นถูกปรุงแต่งขึ้นมาอีกมากมาย เช่น ปรารถนาเพื่อจะมีความหมายทางสังคม (Desire for Social Meaning) (กาญจนา แก้วเทพ. 2544. น. 137) เช่นการยอมรับการเยียวยาจากภาครัฐ เพื่อไม่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเหมารวมว่าเป็นกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวปลดปล่อยปาตานี การปกป้องจากการใช้กฎหมายพิเศษกับสมาชิกในครอบครัว รวมถึงความต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนบางคนเรียกร้องให้มีการชดเชย เยียวยาครอบครัวผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐเพื่อมิให้กลุ่มเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์และลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐไทย
การประกอบสร้างความหมายการเยียวยาของภาครัฐ เช่น ความดี ความเป็นมิตร การดูแลปกป้องครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ความรับผิดชอบ การเอาใจใส่ประชาชน ความเอื้ออาทรของรัฐ การรับรู้ถึงความทุกข์ยากของครอบครัวที่สูญเสียเสาหลัก การไม่เลือกปฏิบัติของรัฐบาล การสร้างความไว้วางใจ การลดความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การให้เกียรติ การให้เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ การเยียวยาเนื่องจากรัฐบาลมีมนุษยธรรม ปกป้องดูแลสิทธิของประชาชนที่เป็นพลเมือง การชักจูงเพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาล
การประกอบสร้างความหมายของครอบครัวผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง เช่น เมื่อรับการเยียวยาจากภาครัฐคือการเลือกข้าง เข้าข้างฝ่ายรัฐ ยอมสิโรราบให้กับรัฐ เจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ่อยรู้สึกไม่ปลอดภัย การเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานี การยุติการค้นหาหรือเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการซ้อมทรมาน การยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมลายู คนไร้อุดมการณ์เห็นแก่เงิน สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการมากกว่าการเยียวยาด้วยเงิน คือการเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรม เฉกเช่นการหาคนกระทำผิดมาลงโทษ การไม่จับแพะ อันนำไปสู่ความโกรธแค้นของผู้บริสุทธิ์ การขอโทษต่อประชาชนในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ
การประกอบสร้างความหมายของครอบครัวมุสลิม[5]ที่รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ เช่น เป็นมิตรและใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ การเอาใจใส่ของรัฐ รัฐไม่ทอดทิ้งประชาชน ความจำเป็น ความยากจน การเหมารวม (stereotype) ว่าเป็นปฏิปักษ์กับขบวนการปลดปล่อยปาตานี
การประกอบสร้างความหมายของครอบครัวไทยพุทธที่รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ เช่นรู้สึกดีที่รัฐมาเยียวยาความสูญเสียที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ กลุ่มไทยพุทธมีจำนวนน้อยต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยพุทธ หากไม่มีการเยียวยาจากภาครัฐ คนไทยพุทธจำเป็นต้องอพยพเนื่องจากความหวาดกลัว มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ใกล้ๆแล้วอุ่นใจ มีเจ้าหน้าที่เยียวยามาถึงบ้านรู้สึกสบายใจขึ้น
การเยียวยาตามสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
หลักเกณฑ์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้ได้รับผลกระทบ
|
จำนวนเงินที่เยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ (บาท)
|
ตำรวจ,ทหาร,ข้าราชการ
|
500,000
|
ผู้นำศาสนาอื่นๆ
|
200,000
|
ประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือราชการในการรักษาความสงบในพื้นที่
|
200,000
|
อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
|
200,000
|
นักเรียนปริญญาตรี
|
100,000
|
นักเรียนประถม,อนุบาล
|
100,000
|
นักท่องเที่ยวต่างชาติ
|
100,000
|
พระสงฆ์
|
100,000
|
ประชาชนทั่วไป
|
100,000
|
แรงงานต่างด้าว
|
20,000
|
ผู้ถูกดำเนินคดี
|
วันละ 400
|
ผู้ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี
|
15,000
|
ที่มา: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2557
การเยียวยา กรณีสะบ้าย้อย, กรณีมัสยิดอัลฟุรกอน, กรณีวัดพรหมประสิทธิ์
กลุ่มเป้าหมาย
|
ประเภท
|
จำนวนเงินเยียวยา (บาท)
|
กรณีสะบ้าย้อย 28 เมษายน (พ.ศ.2547)
|
เสียชีวิต
|
7,500,000
|
กรณีวัดพรหมประสิทธิ์(พ.ศ.2548)
|
เสียชีวิต
|
4,000,000
|
กรณีมัสยิดอัลฟุรกอน (พ.ศ. 2552)
|
เสียชีวิต
|
4,000,000
|
ที่มา: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2556
กรณีการเยียวยาจากภาครัฐต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้นใช้ระบบมูลค่า เช่น การเยียวยาเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม จะมีมูลค่าสูงกว่าการเยียวยาประชาชนทั่วไป พบว่าการเยียวยา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ จำนวน 500,000 บาท การเยียวยาประชาชนทั่วไป จำนวน 200,000 บาท หากตรวจดูจำนวนเงินที่เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต เราตั้งคำถามว่าทำไมจึงมอบเงินเยียวยาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐสูงกว่าจำนวนเงินที่มอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นประชาชนทั่วไป ทำไมการเยียวยาของกรณีสะบ้าย้อยในเดียวกันกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่กรือเซะในปี พ.ศ. 2547 จึงมอบเงินเยียวยามากกว่ากรณีมัสยิดอัลฟุรกอนในปี พ.ศ. 2552 และกรณีวัดพรหมประสิทธิ์ และเหตุใดจึงต้องมีการเพิ่มเงินเยียวยาให้กับกรณีกรือเซะและกรณีตากใบ ในกรณีของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ภาพการเยียวยาที่ขยายวงกว้างขึ้น เนื่องจากบริบททางการเมืองของสังคมเปลี่ยนแปลงไป การผลักดันให้ใช้ยุทธศาสตร์ การเมืองนำการทหาร จึงมีการเปลี่ยนแปลงการเยียวยาให้มีจำนวนเงินที่สูงขึ้นและจ่ายเงินเยียวยาเท่ากันทุกคนตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความหมายเชิงสัญญะ คือการให้คุณค่าของทุกคนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น การสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี การเผยแพร่นโยบายการเยียวยา สร้างความหมายให้คนในสังคมรับรู้ ดังนั้น “การเยียวยา” ถูกมอบหมายความหมาย” (Meaning assignment) ให้กลายเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยียวยาแปรสภาพเป็น “สัญญะ” ได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ การถูกมอบหมายความหมาย
Saussure สนใจวิเคราะห์ความหมายของสัญญะต่างๆว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และพบว่า การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างและคำตอบของ Saussure ก็คือ “ความหมายเกิดขึ้นได้เพราะความแตกต่าง (Difference) ระหว่างสัญญะต่างๆ ภายในโครงสร้างหนึ่งหนึ่ง” เช่น หากจะสร้างความหมายของ การขัดขืนอำนาจ ก็ต้องสร้างการยอมรับอำนาจมาเทียบเคียง (กาญจนา แก้วเทพ, 2555, น. 34)
ผู้เขียนอภิปรายว่าการเยียวยาของภาครัฐที่เกิด ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ชาวบ้านบางส่วนมีการแสดงออกถึงการต่อต้านการเยียวยาจากภาครัฐโดยใช้วาทกรรมความยุติธรรมเป็นเครื่องมือ สิ่งที่สังเกตเห็นได้เด่นชัดในการสัมภาษณ์ครอบครัวผู้ที่คิดต่างจากรัฐและได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีการปฏิเสธความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ มีการพูดถึงการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดต่อคนมลายู และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างเปิดเผยกับองค์กรภาคประชาสังคมที่เยี่ยมครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นวิธีการสั่นคลอนการประกอบสร้างความหมายการเยียวยาเพื่อทดแทนความสูญเสียของภาครัฐ
ผนวกรวมกับเนื้อหาที่สื่อมวลชนสื่อสารเพื่อตอกย้ำการประกอบสร้างความหมายของรัฐ ดังนั้นสื่อสมควรนำเสนอข่าวรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในการกำหนดนโยบายและแนวคิดการแก้ไขปัญหา ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจจะเป็นความคิดเห็นของฝ่ายต่างต่าง ต่อนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ โดยความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นระหว่างภาครัฐกับฝ่ายต่างต่าง ได้แก่ ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ตลอดจนสถาบันทางศาสนา เช่นๆ กรณีการชุมนุมประท้วงภาครัฐโดยกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่แล้วมีการสลายการชุมนุมโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือความขัดแย้งทางกายภาพระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่เป็นคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิม สื่อมวลชนไทยมักเสนอแค่เพียงเรื่องราวของการปะทะคารมหรือการต่อสู้ในเชิงความคิดเห็นหรือการตอบโต้ของคู่ขัดแย้ง (เสริมศิริ นิลดำ, 2555, น. 81-82)
การนำเสนอด้วยภาพ หรือด้วยงานเขียน การชี้ชวนให้เราเห็นว่าวิทยาการในการนำเสนอแบบต่างๆนั้น มิใช่เครื่องมือในการสื่อสารที่ไร้เดียงสา หรือเป็นกลาง แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความหมาย ความคิด ความรับรู้ต่างต่าง การบันทึก ใส่ รหัส หรือตอกย้ำความหมาย ความทรงจำ คุณค่าชุดหนึ่งลงบนพื้นที่นั้นๆ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2554, น. 174)
นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรได้อนุมัติเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ การเรียกร้องการเยียวของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจึงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เช่นการเรียกร้องการเยียวยาของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การผลักดันขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อให้รัฐเยียวยาครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ต่อมาพลเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต.ได้จัดสัมมนาเยียวยาผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำนราธิวาสในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงได้มีการเยียวยากลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ หรือการเยียวยาในรูปแบบการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ. ความมั่นคง) มาตรา 21 ที่ไม่ดำเนินคดีกับผู้ที่สร้างสถานการณ์ความไม่สงบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหล่านี้คือความพยายามหาทางออกในการดับไฟใต้ เพื่อมิให้เกิดความรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ
หลังเหตุการณ์การโจมตีฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 โดยกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานี เสียชีวิตจำนวน 16 คน ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) แทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้มีการ “เยียวยา” ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 16 ครอบครัว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่รัฐบาลยอมเยียวยาให้กับครอบครัวขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่บุกฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์ในวันนั้นกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีเสียชีวิตลงจำนวน 16 คน
แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ต้องขัง กรณีผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวหรือผู้คุมขังตาม พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผลการ ดำเนินงานพบว่า เจ้าพนักงานปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด หรือพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาให้บุคคลเหล่านี้ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุขโดยมีแนวทาง และมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน รวดเร็ว ต่อเนื่อง ให้ผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงระบบการ ช่วยเหลือ ฟื้นฟูได้ง่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนมีทัศนคติและความเข้าใจที่ดีต่อความรับผิดชอบ ของ ภาครัฐ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2556, น.1)
ความหมายเชิงสัญญะของการเยียวยา
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า การเยียวยาจากภาครัฐที่ให้กับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ นั้นถูกต้อง เนื่องจากการมอบเงินเยียวยาให้กับการเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ จะสามารถสร้างความพึงพอใจ ความรุนแรงจะลดน้อยลง ประชาชนจะให้ความร่วมมือและเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และอุดมการณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนจะหมดบทบาทลงไป ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบความรุนแรงจะลดลงผ่านการเยียวยาครอบครัวผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐหรือไม่นั้น คงจะต้องตอบด้วย “ความเป็นจริง” มิใช่ “ความคิดเห็น” และความเป็นจริงบางส่วนเสี้ยวก็ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า การเยียวยาของภาครัฐต่อครอบครัวผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา เพราะการเยียวยา แก้ไขความรู้สึกเรียกร้องการนำเจ้าหน้าที่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือสร้างความไว้วางใจกับเจ้าหน้าที่รัฐแก่บางครอบครัวไม่ได้
แต่ทว่า ก็มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่พิสูจน์ว่าสัญญะของการ “การเยียวยา” จากภาครัฐ ไม่ได้ลดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งหมด การเรียกร้องการปกครองตัวเองของคนในพื้นที่ก็ยังคงมีอยู่ เพราะความรุนแรงทำให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โหยหาสันติภาพ และความยุติธรรมมากกว่าการโหยหา เงินตรา ดั้งนั้นการลดความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในพื้นที่มีเหตุปัจจัยในการตีความที่หลากหลาย
ในแง่ของมายาคติ (Myth) ตามทัศนของ Rothenbuhler ได้นิยามคำว่ามายาคติเป็นรูปแบบการแสดงออกชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการจะส่งเสียงบ่งบอกถึงความวิตกกังวลของสังคมออกมาต่อทุกคน เป็นความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อและคุณค่าลึกลึกของสังคมนั้นนั้น เป็นวิธีการที่จะผนึกสังคมและผู้คนให้เข้ากับบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ หรือเป็นวิธีการที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มายาคติจะไม่เล่าว่า “อะไร” แต่จะบอกว่า “นี่หมายความว่าอะไร” (กาญจนา แก้วเทพ, 2554, น. 114)
หากเทียบกับ “การเยียวยา” ที่รัฐให้ความหมายว่า การดำเนินการเยียวยาเพื่อการปกป้องดูและประชาชนของรัฐ ความรับรู้ถึงความสูญเสียของประชาชนในพื้นที่ แม้รัฐบาลทุกยุคสมัยพยายามสร้างภาพลักษณ์ของการเยียวยาในแง่ของการปกปักษ์รักษา ปกป้องคุ้มครอง ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือการประกอบสร้างความหมายของการเยียวยาของรัฐ ทำหน้าที่เฉพาะการตีค่า ชีวิตที่ถูกปลิดทิ้งและสร้างข้อกังขา และบั่นทอนความมั่นคงของรัฐอยู่เป็นระยะ การเยียวยา ในแง่มุมของประชาชน คือการนำคนกระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม มิใช่การปล่อยให้สถานการณ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างความหวาดระแวง และทิ้งข้อสงสัยกับผู้คนในสังคม โดยเฉพาะกรณี บุคคลสูญหาย การลอบยิง การวิสามัญฆาตกรรม การยิงเด็กโดยไร้มนุษยธรรม ดังนั้นการคลี่คลายปัญหาที่ซ้อนทับระหว่างความสูญเสีย และโหยหาความยุติธรรมภายใต้ความรู้สึกภายในจิตใจควรเยียวยาด้วยการนำคนกระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อนั้นการเยียวยาด้วยการตีมูลค่าผ่านตำแหน่งทางสังคม หรือการมอบความสวามิภักดิ์ให้กับรัฐไม่ใช่ทางออกที่ประชาชนทุกเชื้อชาติ และศาสนาต้องการ ดังวลีที่ว่า “ไม่มีสันติภาพ หากปราศจากความยุติธรรม”
บรรณานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ. (2544). การศึกษาสื่อมวลชนด้วยทฤษฎีวิพากษ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กาญจนา แก้วเทพ. (2554). การสื่อสารในพิธีกรรม พิธีกรรมในการสื่อสาร. ใน สื่อเก่า-สื่อใหม่ ใจเชื่อมร้อย. (หน้า 114). กรุงเทพ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
กรุงเทพธุรกิจ. (2557). 10 ปีไฟใต้งบทะลุ 2 แสนล้าน. สืบค้นเมื่อ1 มีนาคม 2557, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20140105/553854/10
เพชรดาว โต๊ะมีนา. (2553). สรุปผลการำเนินงานคณะทำงานเยียวยาผู้พิการที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2553. สงขลา: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2554). วาทกรรมกับการพัฒนา อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลัษณ์ และความเป็นอื่น. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิภาษา
เพชรดาว โต๊ะมีนา. (2556). การดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้. ใน วารสารสุขภาจิตใจแห่งประเทศไทย ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 .ม.ป.ท.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. 2557. เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2557, http://164.115.9.55/southernrelief/สทธทพงได/ตรวจสอบสทธ/tabid/91/Default.aspx
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. 2556. รายงานผลการดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2557, http://www.sbpac.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&layout=item&id=955&Itemid=592
ณัฐวิภาพ สินสุวรรณ และ ปาริชาต สถาปิตานนท์. (2555). การวิเคราะห์ตัวบทและการถอดรหัสความหมายเชิงสัญญะของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย. ใน สื่อเก่า-สื่อใหม่ สัญญะ อัตลักษณ์ อุดมการณ์. (หน้า 308). กรุงเทพ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
เสริมศิริ นิลดำ. (2555). คุณค่าข่าวในภาวะวิกฤตทางสังคม. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[1] ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://www.deepsouthwatch.org/node/5168
[2] “การเยียวยา” ในที่นี้หมายถึง การบำบัดเพื่อบรรเทาทุกข์โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายผู้ได้รับ ผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถอยู่ ในสังคมได้อย่างปกติสุขและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
[3] ผู้ได้รับผลกระทบ หมายความว่า ทายาทของผู้เสียหาย หรือบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของ เจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
[4] ความหมายเชิงสัญญะ หมายถึง ความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) ของการเยียวยาที่เกิดจากการประกอบสร้างแนวคิดหรือคุณค่าผ่านสัญญะต่างๆ เพื่อให้การเยียวยาจากภาครัฐมีความหมายมากกว่าการมอบเงินชดเชย
[5] ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า ชาวมุสลิม