Skip to main content

ประสิทธิ์  เมฆสุวรรณ
ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้     
                               

สถานการณ์ปัจจุบัน

ปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร เฉพาะห้วงเวลาตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ความถี่ของการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น 5,460 ครั้ง(1) แยกเป็นพื้นที่ นราธิวาส 2,074 ครั้ง ปัตตานี 1,656 ครั้ง และยะลา 5,460 ครั้ง และในบางพื้นที่ของจังหวัดสงขลา 318 ครั้ง นับเป็นเวลาความรุนแรงในระดับสูงสุดเท่าที่สังคมภาคใต้ตอนล่างเคยประสบมา

จากเหตุรุนแรงดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว จำนวน 1,730 คน บาดเจ็บ 2,513 คน รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระยะเวลาเพียง 32 เดือน มีจำนวนมากถึง 4,243 คน ขณะเขียนบทวิเคราะห์นี้(2) ได้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มอีกจำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะยุติลงเมื่อใด

จากปรากฏการณ์ความรุนแรงที่ยึดเยื้อต่อเนื่องมาดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบอย่างทั่วทุกด้าน ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมทุกสิ่งเลวร้ายลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากองค์กรและผู้เกี่ยวข้องโดยทั่วไปยังเพิกเฉย ไม่ตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงดังกล่าวนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานคนไทยทุกคนคงได้เห็นในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตของตนก็อาจเป็นได้

เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนคนไทยทั่วไป ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบและเปิดมุมมองหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงใคร่ของอนุญาตนำเสนอข้อวิเคราะห์ และมุมมองในฐานะของคนที่อยู่ในพื้นที่และสนใจศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี ดังนี้

สถานการณ์ฝ่ายรัฐ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 จนกระทั่งบัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยผ่านไป 3 ปีเต็ม (2547-2549) ไม่น่าเชื่อว่ากลไกอำนาจรัฐไทยจะยังไม่มีความชัดเจนถึงตัวตนของคู่ต่อสู้ ว่าใครคือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่แท้จริง

และกลุ่มดังกล่าวได้มีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไร ที่กล้าสรุปว่ายังไม่มีความชัดเจนก็เนื่องจากได้พิจารณาท่าทีที่แสดงออกต่อสาธารณะของคณะผู้นำในรัฐบาลหลาย ๆ ท่าน เช่น ฯพณฯนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและท่านผู้บัญชาทหารบกที่มีท่าทีให้ผู้ฟังคิดไปในทำนองว่า  เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดจากรัฐบาลเก่าใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดก่อน จนประชาชนทนไม่ไหว ลุกขึ้นโต้กลับด้วยความรุนแรงในระดับที่ทัดเทียมกันหรือยิ่งกว่า

แนวคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้น่าจะเป็นที่มาในการกล่าวคำขอโทษของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายก รัฐมนตรีซึ่งภายหลังได้กล่าวเพิ่มเติมผ่านสื่อว่าจะให้ไปปูผ้ากราบใครที่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เหตุการณ์สงบและเกิดสันติสุขอย่างถาวรได้ ในชั่วข้ามคืน นอกจากคำกล่าวขอโทษและคำพูดที่แสดงความจริงใจอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาดังกล่าว ผู้ใหญ่หลายท่านก็ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันอีกว่า รัฐบาลจะใช้แนวทางสมานฉันท์ สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาอย่างแน่วแน่กลไกของรัฐทุกระดับจะใช้ความอดทนอดกลั้นเข้าแก้ปัญหาไม่ใช้ความรุนแรง หรือวิธีการที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ แต่จะใช้ยุทธวิธี  การเข้าใจ  การเข้าถึง  และพัฒนา ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

สรุปว่า หากประเมินจากท่าทีของคณะผู้นำรัฐบาลดังกล่าว อาจสรุปได้ว่ารัฐบาลกำลังใช้ความสมานฉันท์ และสันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์ ใช้การอดทนอดกลั้น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาลดเงื่อนไขทางสังคม เป็นยุทธวิธี

สถานการณ์ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จากฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และ นักวิชาการจำนวนหนึ่ง ได้พยายามรวบรวมหลักฐานที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนผู้ต้องหา   ผู้เข้ามอบตัว และหลักฐานที่ได้จากการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายแล้วนำมาประมวลผลความน่าจะเป็น ทำให้เห็นภาพของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนี้

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการก่อเหตุร้ายรายวันอยู่ในขณะนี้ คือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีขบวนการ BRN Coordinate เป็นแกนนำ มีเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่บางอำเภอในเขตจังหวัดสงขลา ออกจากการปกครองของรัฐบาลไทย จัดตั้งเป็นรัฐเอกราชปาตานี ดารุสลาม ใช้ยุทธศาสตร์ดำเนินการสร้างอัตลักษณ์มลายู มุสลิม ปัตตานีให้โดดเด่น ขับไล่คนต่างเชื้อชาติและศาสนาออกจากพื้นที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างเชื้อชาติ มุ่งสู่การพัฒนา ยกระดับเป็นสงครามศาสนา เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขให้องค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ ผลักดันให้องค์การสหประชาชาติ(UN) เข้าแทรกแซงและมองเห็นความจำเป็นของการเกิดรัฐใหม่ ที่ลักษณะเฉพาะทางด้านเชื้อชาติและศาสนา ใช้ยุทธวิธีสร้างความน่าสะพรึงกลัว ด้วยการก่อวินาศกรรมก ทำลายสถานที่ราชการ ก่อภัยสยองต่อผู้บริสุทธิ์ เช่น ฆ่าแล้วเผา ตัดหัวแยกร่าง เพื่อให้ ความกลัวปกคลุมอยู่ทั่วไปในหมู่ประชาชน สร้างความสับสนด้านข้อมูลข่าวสาร ปล่อยข่าวลวง ปฏิบัติการก่อการร้ายแล้วป้ายสีให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ การส่งแนวร่วมแทรกซึมองค์กรราชการ พยายามเข้าถึงชั้นความลับแล้วส่งข่าวแก่ขบวนการ จัดสายลับสองหน้าเข้าเกาะติดผู้นำการเมืองฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร กุมสภาพนโยบายยึดครองสื่อหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อประชาสัมพันธ์ทั้งด้านกว้างและด้านลึกเอื้อประโยชน์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

จากการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ชัดเจน การเกาะติดคู่ต่อสู้อย่างชาญฉลาดของกลุ่มก่อความไม่สงบดังกล่าว ทำให้ปฏิบัติการของฝ่ายก่อการอยู่ในท่ารุก และรุกอย่างต่อเนื่อง สะสมชัยชนะ ยึดพื้นที่ กุมจิตใจประชาชนเพิ่มขึ้นทุกวัน

สถานการณ์การต่อสู้

หากติดตามสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทั้งสภาพของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ เราจะพบระดับพัฒนาของฝ่ายก่อความไม่สงบค่อนข้างชัดเจนขณะเดี่ยวกันเราก็เห็นภาวะชะงักงัน ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวคือ หลังจากที่รัฐบาลเก่าเริ่มจะจับทางถูกในช่วงท้ายๆ ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดกับกลุ่มติดอาวุธ ลดเงื่อนไขกับแนวร่วมชั้นใน และพัฒนาคุณภาพชีวิตมวลชนพื้นฐานกับและร่วมชั้นนอกยังไม่เกิดผลก็หมดอำนาจ รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย พล. อ.สุรยุทธ์   จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้ามารับช่วงต่อได้ประกาศนโยบายสมานฉันท์ สันติวิธีทันที หากมองผิวเผินก็คล้ายกับว่า รัฐบาลใหม่สามารถสานต่อนโยบายได้อย่างทันกาล น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ความรุนแรงก็น่าจะลดลง ตามที่ฝ่ายความมั่นคงคาดหมายไว้แต่เวลาผ่านไปสามเดือนเศษ แทนที่ความรุนแรงจะลดลง กลับยกระดับเพิ่มขึ้น เหตุร้ายเกิดถี่สยดสยองและเหี้ยมโหดมากขึ้น

การยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยพุทธกับคนไทยมุสลิมเริ่มได้ผล กลุ่มประชาชนที่ถูกกระทำอย่างหนักหน่วงและรุนแรง กำลังคิดหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วยการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธในรูปแบบของกองกำลังป้องกันตนเอง กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มไม่เชื่อคำชี้แจ้งจากรัฐบาลว่า หากใช้ความรุนแรงตอบโต้ก็จะเข้าทางโจร พวกเขากลับเห็นว่า เมื่อผู้ก่อการใช้ความกลัว ความสยดสยอง และความสับสนมาบีบบังคับวิถีชีวิตจนไม่มีที่ไป พวกเขาก็ควรที่จะมีสิทธิ์ตอบโต้อย่างรุนแรงในระดับเดียวกัน จึงสามารถหยุดฝ่ายก่อการได้ ไม่เช่นนั้นคนดีมีแต่จะถอยหนี อำนาจรัฐจะยิ่งย่อหย่อนและหดแคบ มวลชนส่วนใหญ่ไม่มีที่พึ่ง พวกเขาก็จะหันไปพึ่งอำนาจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแทน อันนี้ต่างหากคือประเด็นที่เข้าทางโจร

สำหรับฝ่ายของกลุ่มความไม่สงบ สถานการณ์การสู้รบที่ใช้รูปแบบสงครามกองโจรมาตั้งแต่ต้นได้พัฒนายกระดับคุณภาพมากขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร ในด้านการเมืองพวกเขาเป็นต่อในเรื่องอุดมการณ์เชื้อชาติ ศาสนาและมาตุภูมิ การจัดตั้งก็สามารถสร้างเครือข่ายแนวร่วมขึ้นได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ จังหวัด ระดับชาติและระดับสากล

การสร้างพลังทางจิตวิญญาณ พวกเขาสามารถหลอมประเด็นการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวมลายูปัตตานีกับภารกิจญิฮาดตามหลักศาสนา สามารถมีฐานที่มั่นในเมืองได้อย่างมั่งคงและปลอดภัย ทำให้ครูสอนศาสนาบางส่วนกลายเป็นนักโฆษณาปลุกระดม  นักจัดตั้งและกลายเป็นนักรบเพื่อพระเจ้าได้ในเวลาเดียวกัน

การหล่อหลอมมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้กลุ่มก่อการสามารถมีโครงสร้างสงครามที่แข็งแกร่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ การปฏิบัติการในระยะหลัง ๆ  สามารถดำเนินการไปได้พร้อมๆ กัน ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และในระดับสากล แม้ใช้เพียงการตั้งรับในสงครามตามแบบก็สามารณรุก และรุกอย่างต่อเนื่องได้ในสงครามนอกแบบตลอดเวลาและในขณะนี้ รอเพียงให้การต่อสู้ยกระดับเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างเชื้อชาติ  สถานการณ์ก็จะพัฒนาตัวเองเป็นสงครามศาสนาไปได้อย่างต่อเนื่องทันที

ข้อพิจารณา

จากระยะเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ความไม่สงบมาตั้งแต่ปี  2547 จนกระทั่งวันนี้  (2550)  เวลาสามปีเต็ม  กลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศยังไม่สามารถกำหนดเป้าหมายผู้ก่อการที่ชัดเจนได้  เมื่อยังไม่รู้จักตัวตนของศัตรู  การรู้เข้ารู้เรายังทำไม่ได้  เมื่อยังไม่รู้ว้าคู่ต่อสู้คือใคร  และยังไม่มีรายละเอียดใดๆ  การกำหนดเป้าหมาย  ยุทธศาสตร์  ยุทธวิธีแผนงาน โครงการและกิจกรรม  ก็จำเป็นต้องทำกว้างๆ  จับเอาประเด็นที่มีลักษณะกำปั้นทุบดินมากำหนดเป็นแนวทางแก้ไข  ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นไปในลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  หรือขี่ช้างจับตั๊กแตน  เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง  ตำรวจ  ทหาร  อาสาสมัครและประชาชนผู้บริสุทธิ์เกือบห้าพันคน  ต้องบาดเจ็บล้มตาย  เพราะความหลงประเด็นและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของฝ่ายนำในรัฐบาลไปอย่างน่าอนาถ

การให้ความเห็นผ่านสื่อ  ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง  ควรให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ  หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วอย่างรอบด้านและควรเป็นเอกภาพด้วย  เพราะที่ผ่านมา  ผู้ปฏิบัติในพื้นที่มักเกิดความสับสนเนื่องจากการส่งสัญญาณที่ไม่แน่นอนของฝ่ายบริหารระดับบนอยู่เสมอ

รายละเอียดของข้อมูลเชิงลึกที่เป็นระบบและรอบด้านนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตในพื้นที่ในขณะนี้  เมื่อมีข้อยุติเรื่องใด  การประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนก็มีความสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุดเช่นกัน  ไม่เช่นนั้น  เวลายิ่งนานไป  สถานการณ์ความมั่งคงของประเทศก็จะยิ่งเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่

แนวทางแก้ไข

การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้ประสบผลสำเร็จนั้น  ผู้เขียนเชื่อว่า  คณะผู้บริหารในรัฐบาลต้องมีความเชื่อพื้นฐานว่า  ความไม่สงบครั้งนี้  เกิดจากการปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่มีการจัดตั้งในลักษณะขบวนการปฏิวัติ มีองค์กรนำ กองกำลัง และแนวร่วมที่แน่นอน  ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าของเถื่อนกลุ่มค้ายาเสพติด  กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น  ฯลฯ  เป็นเพียงกลุ่มที่มีบทบาท  เป็นส่วนประกอบเสริม

ฝ่ายรัฐจะต้องสืบหาข้อมูลให้รู้จักฝ่ายตรงข้ามให้ถ่องแท้ว่าเขามีอุดมการณ์พื้นฐานเป้าหมาย  นโยบาย  ยุทธศาสตร์  และยุทธวิธีอย่างไร  เพื่อที่จะได้นำมากำหนดเป็นขั้นตอนการแก้ปัญหาทั้งระบบของฝ่ายรัฐ  เมื่อฝ่ายรัฐได้กำหนดอุดมการณ์  เป้าหมาย  ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่แน่นอนได้แล้ว  การเฟ้นหาตัวบุคคลเข้ารับผิดชอบงานก็จะต้องคัดกรองพอสมควรเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพเข้ามาปฏิบัติงาน  ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่ควรคำนึงในทางปฏิบัติก็มีอยู่ไม่น้อย  แต่ที่สำคัญและควรพิจารณาก่อน  คือ  บุคลากรในระดับปฏิบัติควรเป็นบุคคลในพื้นที  การปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนภารกิจเสร็จสิ้น  การปฏิบัติต่อมวลชนทุกกลุ่มต้องแยกแยะผิดถูกชัดเจนการบังคับใช้กฎหมายต้องเข้มงวดการเยียวยาต้องทั่วถึง ไม่ลำเอียงหรือเอื้อประโยชน์เป็นพิเศษกับฝ่ายใด  การปฏิบัติภารกิจเรื่องใหญ่ๆทุกขั้นตอนต้องสื่อกับประชาชนให้ชัดเจน ขณะที่สถานการณ์กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ  กองกำลังด้านความมั่นคงต้องเกาะติดพื้นที่  เพื่อเป็นหน่วยระวังหลังให้แก่ข้าราชการพลเรือนได้กล้าเข้าไปปฏิบัติงาน  และประชาชนผู้บริสุทธิ์จะสามารถใช้ชีวิต  ไปตามปกติได้

เรื่องสุดท้ายที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ  คือ  การใช้กฎหมายพิเศษสำหรับพื้นที่ทีมีเหตุร้ายรุนแรง  หรือที่ฝ่ายทหารกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง  น่าจะยังมีความจำเป็นที่จะต้องนำ  พ.ร.ก.  บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  หรือนำกฎอัยการศึกมาใช้  ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสภาพคล่อง  ให้การคุ้มครองเจ้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวโน้มของสถานการณ์ในปี  2550 

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  หากเราพิจารณาจากปรากฏการณ์การก่อความไม่สงบที่กลุ่มก่อการได้ปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่ปี  2547  จะเห็นได้ว่า  พวกเขาได้เน้นการรุกทางการทหารเป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพราะเขาหวังผลสำคัญสองประการ คือ  ความสับสน  และความหวาดกลัว  ยิ่งความสับสนเกิดขึ้นในหมู่เจ้าที่รัฐมากเท่าใด  ความอ่อนแอก็จะเกิดขึ้นในกระบวนการแก้ปัญหามากขึ้นเท่านั้น  และหากความน่ากลัวเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนมาก  การตีตนออกหางจากรัฐ  การอพยพออกนอกพื้นที่  ความท้อแท้สิ้นหวังก็จะตามมาอย่างรวดเร็ว  การยอมรับอำนาจรัฐซ้อนก็จะเพิ่มมากขึ้น  ถึงแม้จะเป็นไปเพราะความหวาดกลัวก็ตาม  ผู้รับผิดชอบระดับสูงในรัฐบาล อาจจะเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่เลวร้ายมากนัก แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ก็คือ สังคมกำลังวิกฤตและในอัตราเร่งที่รวดเร็วมาก

ด้านรัฐบาลหากตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในปี 2550 นี้  จะพบว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางสำคัญอะไรมากนัก  ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรง  เช่นสภาพความมั่นคงแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี  กระทรวงกลาโหม  และกระทรวงมหาดไทย  ต่างก็ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าแผนงานทุกอย่างได้กำหนดไว้พร้อมแล้ว  เพียงแต่รองบประมาณในเดือนมกราคม ทุกๆ อย่างก็จะเริ่มต้นขับเคลื่อนไปตามแผนที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว  กลับรู้สึกว่าห้วงเวลาสามปีที่ผ่านมา  สถานการณ์มีแต่ทรงกับทรุด  แม้รัฐบาลจะเพิ่มกองกำลังลงเต็มพื้นที่แล้วก็ตาม  เหตุร้ายเกิดได้ตลอดเวลา จากความเป็นไปดังกล่าวทำให้เชื่อว่าในปี  2550 สถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้น  แต่กลับมีแนวโน้มว่าจะยิ่งทรุดลงมากกว่าเดิม

-------------

1) รายงานการวิจัย .32 เดือนแห่งความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (1 มกราคม 2547 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2549) ของผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2) บทวิเคราะห์นี้เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2550