Skip to main content

กองบรรณาธิการศูนย์ข่าวอามาน
http://voicepeace.org/

การจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้ของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) หรือ Communist Party of Malaya กับรัฐบาลมาเลเซียนานกว่า 40 ปีจบลงด้วยการเจรจาโดยมีฝ่ายไทยเป็นคนกลาง โดยการลงนาม 3 ฝ่าย ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2532 หรือเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมากลายเป็นประวัติศาสตร์การวางอาวุธของกองกำลังก่อความไม่สงบที่บั่นทอนรัฐบาลกลางมาเลเซียมายาวนานว่า 33 ปี แต่การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น หากทัศนะของฝ่าย ‘จอมโจรคอมมิวนิสต์มลายา’ ยังมองว่า “ข้อตกลง 3 ฝ่ายยังมีมลทิน”

 

 

วานนี้  (30 พ.ย. 2552) เป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากบรรดาอดีตสมาชิก พคม. กว่า 1000 คนร่วมงานรำลึก 20 ปี ของการลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทย มาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ณ โรงแรมลี การ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และไฮไลท์งานใหญ่ครั้งนี้เป็นการปรากฏตัวของ ‘จีนเป็ง’ หรือนาย หวัง เหวิน หัว อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. พร้อมทั้งสหายที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่ายในวันดังกล่าวด้วย แม้ว่ายังขาดมิตรสหายหลายคนที่จากไปไม่มีโอกาสเข้าร่วมงานในวันนี้  

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายถาวร  เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีกล่าวให้โอวาทในนามรัฐบาลไทย พร้อมด้วยนายภานุ อุทัยรัตน์ ผอ.ศอ.บต. คนใหม่ พล.อ.พิศาล รัตนวงศ์คีรี อดีต แม่ทัพภาค 4 พล.ท.จำลอง คุณสงค์ รอง.แม่ทัพภาค 4 ตลอดจนข้าราชการจากจังหวัดสงขลาอีกจำนวนมาก ในส่วนของฝ่ายมาเลเซียนั้นประกอบด้วยตัวแทนจากสถานกงสุลมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลาเข้าร่วม  

นายถาวร เสนเนียมกล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสันติภาพความปรองดองและความสมานฉันท์คือสิ่งสำคัญในการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งแก่สังคมของมนุษยชาติ  ในอดีตประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนใต้ –มาเลเซีย ก่อนปี 2532 เป็นดินแดนแห่งการสู้รบด้วยกำลังอาวุธและพื้นที่ขัดแย้งด้วยอุดมการณ์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ งบประมาณและโอกาสในการพัฒนาพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างมหาศาล รวมทั้งความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดระเวลาหลายสิบปี ได้สร้างความหวาดระแวงขึ้นระหว่างประชาชนในพื้นที่ประเทศมาเลเซียและไทยอีกด้วย 

“สันติภาพเกิดขึ้นจากข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความจริงใจ ความมีมิตรไมตรี และความมุ่งมั่นของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ต้องการให้ภูมิภาคแห่งนี้มีความสงบร่มเย็น มีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างฉันท์มิตร อันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีและรุ่งเรืองของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าว  

ส่วน นายหวัง  เหวิน หัว หรือ ‘จีนเป็ง’ อดีตเลขาธิการ พคม. กล่าวขอบคุณด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ให้ความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตสมาชิก พคม. โดยพระราชทานที่ดินเพื่อปลูกที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณพัฒนา 9-12 และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ดำเนินการและปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา 3 ฝ่ายเมื่อ 2 ธันวาคม 2532 ทุกประการ และรู้สึกผิดหวังในรัฐบาลมาเลเซียที่ไม่ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ในสัญญาดังกล่าว เพราะจนถึงวันนี้ทางการมาเลเซียยังไม่อนุญาตให้เขากลับเข้ามาเลเซียเพื่อไปเคารพหลุมศพและเยี่ยมครอบครัวในบั้นปลายของชีวิต  

“รัฐบาลมาเลเซียกีดกั้นผมไม่อนุญาตให้ผมกลับบ้านเกิด (รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย) ผมต้องการกลับเคารพหลุมศพของบรรพบุรุษและเยี่ยมครอบครัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ในบั้นปลายของชีวิตผม การกระทำของรัฐบาลมาเลเซียจะทำให้ข้อตกลง 3 ฝ่ายมีมลทิน ในสายตาของผู้ที่เคารพในสิทธิมนุษยชน”นายจีนเป็งกล่าวด้วยสีหน้าที่ผิดหวัง 

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ก่อตั้งเมื่อปี 2473 โดยพลเมืองมาเลเซียเชื้อสายจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก  เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซีย  ไม่ให้ความสำคัญต่อพลเมืองเชื้อสายจีน มี "ไล่เด๊อะ" เป็นหัวหน้าใหญ่  มี "จีนเป็ง" เป็นเลขาธิการพรรค  ต่อมา พคม.เข้ามาปฏิบัติการในฝั่งไทย  สร้างฐานที่มั่นตามแนวพรมแดนไทยบริเวณ อ.แว้ง จ.นราธิวาส อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งคนไทยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)" ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ทำการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กำลังทหาร ตำรวจ และร่วมมือกับกองทัพมาเลเซีย จัดตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อดำเนินการปราบปราม  

กระทั่งปี 2523 รัฐบาลไทยประกาศใช้คำสั่งที่ 66/2523 ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงมีการปรับแนวทางการต่อสู้กับ จคม. โดยใช้การปราบปรามควบคู่กับการเจรจา จนกลุ่ม จคม. ยอมรายงานตัวกับทางการ และมีการลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2532 ที่โรงแรมลีการ์เด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายา กับรัฐบาลมาเลเซีย โดยฝ่าย ไทยเป็นพยาน 

 

สำหรับนายหวัง เหวิน หัว หรือ จีนเป็ง  นั้น เคยเรียกร้องหลายครั้งเพื่อให้ตนเองและสมาชิก พคม.เดินทางกลับเข้าฝั่งมาเลเซียได้ ซึ่งก็ถูกกีดกันจากทางการมาเลเซียโดยตลอด ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การกลับมาของอดีตผู้นำที่ก่อความไม่สงบนั้น จะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อบรรดาวีรชนของชาติและครอบครัวของพวกเขาที่ต้องสูญเสียในห้วงการก่อความไม่สงบของ PKM หรือ พคม.ตั้งแต่ปี 1948 จนถึง ปี 1981 (พ.ศ. 2491-2524)  

อย่างไรก็ตาม นายจีนเป็งยังให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวเบอร์นามาว่ามีความใฝ่ฝันที่จะพบกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในระหว่างเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้เพื่อขออนุญาตเข้าประเทศมาเลเซีย และเขายังกล่าวว่า ครั้งนี้คงเป็นคำกล่าวครั้งสุดท้ายของชีวิตเขาเนื่องจากปีนี้มีอายุ 85 ปี แล้ว โดยคำกล่าวสุดท้ายด้วยภาษามลายูว่า  

“Selamat tinggal dan selamat berjuang” ลาก่อนและจงต่อสู้ต่อไป