แถลงการณ์
กรณีการขอตรวจสอบสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ)
นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
จากกรณี เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ยะรัง ได้ขอเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ บิดา มารดา และบุคคลในครอบครัว เพื่อนำส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน (ศพฐ.๑๐) โดยอ้างว่าตกเป็นผู้ต้องสงสัยกรณีเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พื้นที่บ้านใหม่ หมู่ ๑ ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาและถูกขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นั้น
จากกรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งในข้อมูลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการใช้วิธีการนำภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ทั้งหมดให้พยานชี้ เป็นวิธีการที่เหวี่ยงแหที่อาจกระทบต่อบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากประสบการณ์ในการทำคดีความมั่นคงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พบว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนได้นำภาพบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามและมีภูมิลำเนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสารบบ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อมูลเดิมที่ซ้ำกัน บางคนถูกดำเนินคดีแล้วก็อายัดตัวซ้ำ เหตุเพราะภาพถ่ายตามบัตรประชาชนของบุคคลอาจไม่ตรงกับปัจจุบัน และมีโอกาสที่พยานจะชี้ผิดตัว นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่เป็นข้อมูลเดิมที่ไม่มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน มีลักษณะการสืบสวนที่มุ่งแต่จะแสวงหาพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดจากผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่ได้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ทั้งที่ เห็นได้ชัดว่าการถูกคุมขังของนายมูฮาหมัดอัณวัร อยู่ในความสนใจของสาธารณชน และรับรู้กันอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ไม่มีระบบในการขอเก็บและตรวจสอบตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) บุคคลต้องสงสัยเพียงคนเดียวแต่ขอตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เหมารวมถึงบิดา มารดา และคนในครอบครัว ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย ซึ่งถือว่าเกินความจำเป็นในการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งมีผลกระทบต่อความรู้สึกทางด้านจิตใจของผู้ถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เห็นว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลต่อระบบการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้ความกระจ่างต่อสาธารณชนในกรณีนี้ และจัดทำสารบบ ฐานข้อมูลผู้ต้องสงสัยให้ถูกต้องตรงต่อความจริง รวมถึงกระบวนการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด โดยตระหนักต่อพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีนี้จะเป็นกรณีสุดท้ายที่จะทำให้ระบบในการสืบสวนสอบสวนได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพ สุดท้ายต่อกรณีดังกล่าวขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแสดงความรับผิดชอบโดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดีนี้ และขอให้การแจ้งผลการดำเนินการสู่สาธารณชนต่อไป
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗