Skip to main content
 อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก  ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
http://www.oknation.net/blog/shukur
 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ศ.ดร.อับดุล ราชิด โมเต็น (อาจารย์ของผู้เขียน) คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย กล่าวว่า บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คัมภีร์อัลกุรอ่าน (Al-Quran) และ ซุนนะฮฺ (Sunnah ; วัจนศาสดา) ต่างไม่ได้กำหนดถึงรูปแบบปกครอง และไม่ได้อรรถาธิบายถึงแนวทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญใดๆ ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้น การเมืองแบบอิสลามจึงเป็นได้หลายรูปแบบวิธี ซึ่งก็ขึ้นกับมุสลิมในยุคสมัยต่างๆ จะเลือกสรรเอาตามสมควรแก่คณะตน

อย่างไรก็ตาม คัมภีร์กรุอ่าน และ วัจนศาสดา ได้ให้เค้าโครงที่ชัดเจนของแบบแผนทางการเมือง ซึ่งสามารถทำให้บรรลุได้ในทุกสถานการณ์

นักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันว่า ระบบการเมืองแบบอิสลามวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างหลักศรัทธาต่อพระเจ้า กับหลักนิติศาสตร์อิสลาม ตามหลักการแห่ง อัลกุรอ่าน และ วัจนศาสดา, al-adhaliah การสถาปนาความยุติธรรม, เสรีภาพ-สิทธิที่จะกระทำการภายใต้การเชื่อฟังต่อหลักการนิติศาสตร์อิสลาม ความเสมอภาค-โอกาสอันเทียมเท่ากันของปัจเจกบุคคลชายและหญิง, และชูรอ (ปรึกษาหารือ) รากฐานองค์ประกอบสำคัญของอำนาจทางการเมืองนี้ก็คือ หลักการอุมมะห์หรือประชาชาติ อันเป็นระเบียบทางสังคมแบบอิสลาม

ระบบการเมืองแบบอิสลาม คือ รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่ภายใต้หลักการแห่งนิติศาสตร์อิสลาม โดยผู้นำสูงสุดจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้รับผิดชอบบริหารกิจการภาครัฐ และต้องอยู่ภายใต้หลักการ นิติศาสตร์อิสลาม การละเมิดหลักการดังกล่าว มุสลิมทุกคนมีสิทธิยกเลิกความจงรักภักดีต่อเขา ดังนั้น ผู้นำที่มีทั้ง อิสระและถูกจำกัดอำนาจอยู่ในเวลาเดียวกัน

การเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกสรรจากประชาชน และโครงสร้างระบบการเมืองลักษณะนี้ ก็คล้ายคลึงกับการปกครองในระบบสภาปัจจุบัน เพียงแต่จะต้องถูกควบคุมโดยหลักนิติศาสตร์อิสลาม

กล่าวคือ การตรากฎหมายใดๆ ก็สามารถจะกระทำได้อย่างเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการนิติศาสตร์อิสลามเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 มีนาคม  2557 เป็นการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา

สำหรับหน้าที่สำคัญของ ส.ว.

1. การกลั่นกรองกฎหมาย 
ส.ว.มีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย โดยสามารถแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อให้การออกกฎหมายเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน 
หน้าที่ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษางานด้านต่างๆ ให้มีการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพื่อให้มีข้อสังเกต คำแนะนำ และกระตุ้นเตือนรัฐบาล รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาล

3. การเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบ 
กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้วุฒิสภา ทำหน้าที่เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆโดยเฉพาะองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

4. การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 
วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ เป็นไปด้วยความระมัดระวัง และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ดังนั้น มุสลิมประเทศไทยซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ไปเลือกตั้งเหมือนคนไทยทุกคน ถึงแม้ไม่สามารถอยู่ภายใต้หลักการเมืองตามอุดมคติการปกครองอิสลาม โดยตรงมุสลิมเองควรไปเลือกตั้งและคัดเลือกคนตามหลักการศาสนา

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง รายงานข่าวเกี่ยวกับเงื่อนงำ เล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองและหัวคะแนนในการพยายามซื้อเสียงยิ่งปรากฏเด่นชัดในหลายพื้นที่ เช่น ให้ไปซื้อของในร้านเท่ากับจำนวนเงินที่ไปซื้อเสียง และถ้าซื้อไม่ครบก็จะทอนเงินให้ รวมทั้งมีการทำประกันอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ ยังมีการแจกเงิน ตั้งแต่ 100-1,000 บาท แจกเสื้อวินมอเตอร์ไซค์พร้อมกับเงิน 300 บาท  อื่นๆอีกมากมาย

นักการเมืองซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น มีภาพปรากฏพร้อมเงินและหลักฐานอื่นๆ ย่อมปฏิเสธ เพราะคงไม่มีใครยอมรับ ต้องดิ้นรนด้วยคำแก้ตัวต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นการเชื่อได้ยาก ค้านกับสภาพความเป็นจริง

การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หัวคะแนนและประชาชนทั่วไป ตามทรรศนะอิสลามและหลักศาสนาถือว่าเป็นบาปอย่างมหันต์ เป็นส่วนของการรับสินบน (ในหลักศาสนาเรียกว่า al-Rishwah) ตามที่พระเจ้าได้ทรงห้ามในคัมภีร์อัลกุรอ่าน (ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 41) ในขณะศาสนฑูตมุฮัมมัดได้วัจนไว้ความว่า อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ที่ให้และรับสินบน (บันทึกโดยอิหม่ามตุรมีซีย์)

ดังนั้น เพื่อเป็นคู่มือแด่ทุกคน ทั้งผู้เลือกตั้งและผู้ถูกเลือกตั้งได้นำหลักและคุณสมบัติของผู้นำตามศาสนธรรมที่พระเจ้าได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอ่านและวัจนศาสนฑูตมุฮัมมัดมาเป็นกรอบในการพิจารณาดังนี้

1.ผู้นำต้องมีศาสนธรรม ความรู้ ความสันทัด ความสามารถในการในบทบาทหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้ว มิใช่ด้วยเหตุผลการสืบทอดและความร่ำรวย (ซูเราะห์ อัล-บะก่อเราะห์ อายะห์ที่ 247)

2.ผู้นำต้องมีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน ผู้นำเมื่อมีการบิดพลิ้วก็จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำ จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอ่านความว่า แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงมีบัญชาแก่พวกเจ้าให้พวกเจ้ามอบความไว้วางใจ (ให้รับผิดชอบการงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ) แก่ผู้ทรงสิทธิของมัน และเมื่อพวกเจ้าทำการตัดสินในระหว่างมนุษย์ พวกเจ้าจงตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงเป็นการดียิ่งที่พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงมองเห็น (ซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 58)

3.ตำแหน่งผู้นำและอำนาจการที่ได้รับนั้นคือ อามานะห์ (ความไว้วางใจ) อย่างหนึ่งที่กลุ่มชนได้มอบความไว้วางใจ มอบภารกิจอันทรงเกียรติให้ท่านรับผิดชอบ เพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนแก่ท่านอบี ซัรรีน (สหายศาสดา) ความว่า อำนาจการที่ได้รับนั้นคืออามานะห์ และในวันกิยามัต (สิ้นโลก) มันจะมีแต่ความอัปยศและความเสียใจ เว้นเสียแต่ผู้ที่นำมันมาด้วยความชอบธรรมและดำเนินการตามภาระที่มีอยู่ (บันทึกโดยมุสลิม)

4.อย่าบิดพลิ้วต่อประชาชนผู้มอบความไว้วางใจ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอ่านความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าบิดพลิ้วต่ออัลลอฮฺและศาสดา และอย่าบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (ที่ผู้อื่นมอบแก่) พวกเจ้า ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็รู้ดี (ซูเราะห์ อัล-อัมฟาล อายะห์ที่ 27)

5.ทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบเพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนความว่า พวกเจ้าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบ และพวกเจ้าทุกคนต้องถูกสอบถาม จากความรับผิดชอบในบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแล

6.ให้ความสำคัญกับผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน เพราะประชาชนทั่วไปยังคงมีอำนาจอยู่ในการปกครองและตรวจสอบผู้ที่เขาเลือกไปเป็นตัวแทนของเขาด้วย

การเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิของทุกๆคนในสังคม และสิทธิในการที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของพวกเขา เพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนความว่า ผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ (หมายถึงอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคือความศรัทธาที่อ่อนแอที่สุด บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม

วันที่ 30 มีนาคม  2557 นี้ นั้นอนาคตของชาติอยู่ในมือท่าน อย่าให้อำนาจเงิน ความเป็นเครือญาติ และการทุจริตทุกประเภทอยู่เหนือความถูกต้องที่อยู่ภายใต้หลักคุณธรรมและจริยธรรม

ที่สำคัญการเมืองของท่านและทุกคนหรือที่เรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง (citizen politics) หรือการเมืองภาคพลเมือง (citizen politics) มิใช่หยุดแค่ 30 มีนาคม  2557  เท่านั้น เพราะประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในวันนี้ ยังใช้ระบบหัวคะแนนและยังให้ความสำคัญกับ การเมืองของนักการเมือง หรือที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยโดยอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนราษฎร (representative democracy) เสียมากกว่า ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งผู้เขียนมีความวิตกว่าหากปล่อยให้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเดียวหลังเลือกตั้งเสร็จ ก็จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหลังเลือกตั้งเช่นกันดังเช่นในปัจจุบันที่ผ่านมา ประชาชนที่เป็นรากแก้ว ก็จะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ในระดับชาติหรือมิติอื่นๆ อีก

ดังนั้น การเมืองภาคประชาสังคม (civil society) หรือการเมืองภาคพลเมือง (citizen politics) จะต้องมีความเข้มแข็ง และสามารถปฏิเสธ ธนาธิปไตย ซึ่งเงินซื้อไม่ได้ ประชาชนเป็นตัวของเขาเอง เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญ ประชาชน ต้องร่วมมือกับ นักวิชาการน้ำดี บวกกับ สื่อมวลชนที่มีจรรยาบรรณ ร่วมขจัดคนซื้อเสียงและปัญหาของชาติก็จะบรรเทาเบาบางลงในที่สุด